Skip to main content
sharethis

เครือข่ายภาคประชาชนไทยเดินทางร่วมเวทีประชาชนรากหญ้าอาเซียนเล่าประสบการณ์ร่วมเคลื่อนไหวกับประชาชนกัมพูชา-อาเซียน ก่อนได้ข้อเสนอ 5 ด้าน ส่งถึงผู้นำอาเซียน

 
 
ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย.55 เครือข่ายภาคประชาชนในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) สลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในประเทศกัมพูชา และจากประเทศในอาเซียน จัดในเวที “สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน (ASEAN Grassroots People's Assembly - AGPA)” ที่ประเทศกัมพูชา ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ย.55
 
การรวมตัวของคนรากหญ้าในอาเซียนครั้งนี้ก็เพื่อยื่นหนังสือในข้อเรียกร้องส่งต่อรัฐบาลกัมพูชาไปจนถึงรัฐบาลในอาเซียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และรับรู้ถึงปัญหา ถึงผลกระทบในการด้านนโยบายการลงทุนของรัฐบาลในอาเซียน ที่จะส่งผลถึงคนรากหญ้า ทั้งในเรื่องที่ดิน การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความมั่นคงในอาหาร
 
ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา พีมูฟ ได้รวมกันผลักดันรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาของเครือข่าย มาตลอด โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1-2 พ.ย.55 ภายหลังที่ได้นัดรวมพลกันนับพันคนในวันที่อยู่อาศัยสากล รวมทั้งได้ปักหลักชุมนุมบนถนนพิษณุโลกข้างทำเนียบรัฐบาล ในที่สุดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุมรับฟังปัญหาด้วยตนเอง และรับปากเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ พีมูฟ
 
 
...
 
การมาร่วมในเวทีสมัชชาประชาชนรากหญ้าฯ นอกจากจะมาร่วมกันระดมปัญหากับองค์กรภาคประชาชนในกัมพูชาและในภูมิภาคอาเซียน จากกรณีโครงการพัฒนาของรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมถึงผลกระทบที่จะได้รับต่อไปในอนาคต ทั้งในเรื่องสิทธิแรงงาน ค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินทำกิน ปัญหาการไล่รื้อคนจนทั้งในเมืองและชนบท รวมทั้งในเรื่องความมั่นคงและอิสรภาพทางอาหารซึ่งเป็นผลมาจาการค้าเสรีแล้ว เวทีดังกล่าวยังถือเป็นครั้งแรกที่องค์กรภาคประชาชนไทยได้เกิดการขยายตัวร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน
 
ด้านสหพล สิทธิพันธ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เล่าถึงการมาร่วมเรียนรู้ สร้างสัมพันธ์ระหว่างประชาชนภูมิภาคอาเซียนในเวทีดังกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ร่วมเดินทางมาพร้อมกันกว่า 40 คน ในเช้าวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางช่องผ่านแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แรกเริ่มเข้ามารู้สึกแปลกใจ ที่ทางเจ้าหน้าที่ด่านชายแดนไทย ถามทุกคนว่าจะไปทำอะไรกัน
 
ต่อมาเครือข่ายฯ ได้เข้าพักที่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นสถานที่ของเครือข่ายนักกิจกรรมรากหญ้าในกัมพูชาที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิสตรีและผู้ใช้แรงงาน ทั้งยังเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ด้านข้อมูล ข่าวสาร เช่น สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน รวมทั้งในเรื่องของกฎหมาย ให้ข้อแนะนำต่อผู้ที่ถูกเอาเปรียบในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
 
 
 
พิธีเปิดงาน ในวันที่ 13 พ.ย.55 ช่วงประมาณ 15.00 น. ทางเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาได้เข้าทำการขัดขวางไม่ให้ภาคประชาชนรากหญ้าจัดมีการประชุม แต่หลังจากพยายามต่อรองจนเป็นผลสำเร็จ เจ้าหน้าที่ยินยอมให้จัดการประชุมต่อไป แต่ก็ได้ทำการตัดไฟไม่ให้ใช้เครื่องขยายเสียง
 
สำหรับวันที่ 14 พ.ย.55 กำหนดการจัดให้มีเวทีย่อยของแต่ละองค์กรที่ร่วมกันระดมความคิดเห็น เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นที่จะนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย ก่อนนำไปสู่เวทีใหญ่ในวันที่ 15 พ.ย.55 โดยมี 3 ประเด็นที่ร่วมกันปรึกษาคือ เรื่องที่ดิน ความมั่นคงทางอาหาร และความไม่มั่นคงในที่ดินเมืองและชนบทที่ถูกไล่รื้อ
 
ในวันที่ 15 พ.ย.55 มีการจัดสมัชชาใหญ่ระดมปัญหาร่วมกัน เพื่อร่างเอกสารยื่นเสนอต่อรัฐบาลกัมพูชาให้ส่งผ่านไปยังผู้นำอาเซียน การประชมในวันนี้นอกจากเจ้าหน้าที่กัมพูชาจะขัดขวางไม่ให้มีการกางเต็นท์แล้ว รอบๆ บริเวณยังมีการจัดเวรยามของเจ้าหน้าที่ให้ประจำการโดยรอบที่ประชุม จนกระทั่งการปราศรัยระดมปัญหาของภาคส่วนต่างๆ จบลงในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.
 
....
 
สหพล เล่าถึงสถานการณ์ในกัมพูชาว่า ช่วงคืนวันที่ 15 พ.ย.55 เครือข่ายฯ ในต่างจังหวัดของประเทศกัมพูชา ที่พักอยู่ตามโรงแรมต่างๆ ในกรุงพนมเปญ เพื่อรอเข้าร่วมการนัดหมายเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 16 พ.ย.55 ถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปขับไล่ออกจากโรงแรมที่พัก ทำให้ต้องเข้ามาอาศัยค้างคืนในสถานที่ขององค์กรที่พีมูฟพักอยู่
 
กรณีดังกล่าวสร้างความหวาดหวั่นแก่ภาคประชาชนที่มารวมตัวกัน เพราะเกรงว่าจะถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ถึงอย่างไรในคืนนั้นก็ถูกกระทำเพียงแค่ตัดน้ำ ตัดไฟในที่พัก ถือเป็นการสร้างแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่กัมพูชาเพื่อไม่ให้มีการชุมนุมกันในวันรุ่งขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ในเช้าวัน 16 พ.ย.55 สมาชิกเครือข่ายรากหญ้าทั้งในกัมพูชาชาติต่างๆ ของอาเซียนในนาม “สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน” ก็ได้ชุมนุมตามนัดหมายที่หน้าอาคารรัฐสภากัมพูชา
 
ในการเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องของสมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน มีทั้งหมด 5 ด้าน ประกอบด้วย ข้อเรียกร้องด้านสิทธิแรงงาน ข้อเรียกร้องด้านสิทธิที่ดิน ข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงทางอาหาร ข้อเรียกร้องด้านการค้าและการลงทุน และข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
 
เจ้าหน้าที่กัมพูชายอมให้ส่งตัวแทนสมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียนเข้าไปภายในที่ทำการรัฐสภา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลกัมพูชาเพื่อส่งต่อไปยังผู้นำประเทศอาเซียนที่จะเข้าร่วมการประชุมอาเซียนช่วงสุดสัปดาห์นี้ จากนั้นจึงมีการยุติการชุมนุมไปในเวลาราว 11.00 น.
 
 
ข้อเรียกร้องของสมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน มีทั้งหมด 5 ด้าน มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์ร่วมสมัชชาประชาชนรากหญ้าแห่งอาเซียน
15 พฤศจิกายน  2555
กรุงพนมเปญ ,กัมพูชา
 
 
เรา สมัชชาประชาชนรากหญ้าแห่งอาเซียน (AGPA) ซึ่งเป็นเกษตรกร ชาวประมงพื้นบ้าน นักต่อสู้ด้านป่าไม้ นักต่อสู้ด้านที่ดิน คนพื้นเมือง นักต่อสู้ด้านสิทธิสตรี แรงงาน แรงงานทางเพศ เยาวชน นักต่อสู้ต่อการไร่รื้อ, นักต่อต้านทุนนิยม นักต่อสู้เพื่อคนเพศที่สาม ผู้ได้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ศิลปินและนักร้อง เราอยู่ที่นี่กับพันธมิตรในภูมิภาคของเราและเพื่อนของเรา เราไม่ได้รวมกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล เราเป็นคนที่รักความสงบและมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมโดยไม่ใช้ความรุนแรง เราเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนของผู้คนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และนี่คือเหตุผลที่เราได้จัดสมัชชาครั้งนี้ขึ้น
 
เรามารวมตัวกันในครั้งนี้เพื่อต้องการส่งเสียงและบอกกล่าวถึงประเด็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการตอบรับ ไปยังรัฐบาลของประเทศกัมพูชา ผู้นำรัฐบาลในอาเซียน และผู้นำประเทศต่างๆ ต่อการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555 นี้
 
สมัชชาประชาชนรากหญ้าแห่งอาเซียน หรือ AGPA มีกิจกรรมทั้งหมดสี่วัน เพื่อนำประชาชนในระดับรากหญ้ามาพบเจอกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสังคม, ชีวิตที่ดีขึ้น และสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน เรามารวมกันเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหา เรารู้ว่าหากประชาชนและรัฐบาลทำงานร่วมกัน จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดีและยั่งยืนในอนาคต นี่คือเป้าหมายที่เรามารวมกันในครั้งนี้
ในวันแรกของการชุมนุม เราประสบปัญหาถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และในวันที่สอง ซึ่งมีการจัดสัมมนากลุ่มย่อยในประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอและแถลงการณ์ ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปราบปรามและขัดขวางเสรีภาพในการสัมมนา
 
จนกระทั่งถึงวันนี้ที่เราได้มาชุมนุมร่วมกัน เราต้องการนำเสนอความเป็นจริงของชีวิตของเรา ความหวังอันแรงกล้า และความฝันสำหรับอนาคตของเราในประเทศกัมพูชาและในอาเซียน
 
ผู้นำ: เรากำลังพูดคุยกับท่าน ฟังเสียงของเรา รับรู้ปัญหาของเรา !
เรา เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราต้องการที่จะทำงานร่วมกับคุณในการแก้ปัญหาของเรา
 
ข้อเสนอ/ข้อเรียกร้อง
1. สิทธิแรงงาน (แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงามข้ามชาติ)
 
•เราเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายแรงงานในประเทศกัมพูชา
•เราเรียกร้องสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและการชุมนุมโดยปราศจากความรุนแรง
•เราเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมกับชีวิตคนงานและปรับอัตราค่าจ้างข้าราชการประจำที่พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ
•เราเรียกร้องบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสในประเทศกัมพูชา
•เราเรียกร้องให้ยุติการทำสัญญาการจ้างงานที่กำหนดระยะเวลา
•เราเรียกร้องการลงทุนซึ่งจะช่วยให้แรงงานในระบบได้รับการดำรงชีวิตที่ดี
•เราเรียกร้องให้เกิดการรับรองและเคารพประเด็นสิทธิมนุษยชนสำหรับการเจรจาต่อรองของแรงงานในระบบ
•เราเรียกร้องเงินประกันสังคมสำหรับแรงงานในระบบ
•เราเรียกร้องให้เกิดการลดราคาน้ำมันเบนซินในประเทศกัมพูชาเช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้าน
•เราเรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิที่จะจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน
•เราเรียกร้องให้รัฐบาลอาเซียนตระหนักและมีการบังคับใช้กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ; แรงงานต้องมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกันและการบริการสาธารณะอื่น ๆ เช่นเดียวกับแรงงานท้องถิ่น
•เราแรงงานทางเพศขอเรียกร้องเสรีภาพในการเคลื่อนไหวสำหรับมนุษย์ทุกคนในอาเซียน
•งานบริการทางเพศเป็นงาน
•เราต้องการเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายในทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะปกป้องสิทธิของแรงงานทางเพศ รวมทั้งแรงงานทางเพศ ที่เป็นเพศที่สาม
•เรา ผู้ขับรถตุ๊กตุ๊กและ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขอเรียกร้องให้ยุติการให้เช่ารถจักรยานและมอเตอร์ไซค์ในสถานที่ท่องเที่ยว
 
2. สิทธิด้านที่ดิน
•เราเรียกร้องให้รัฐบาลประเมินและแก้ไขผลกระทบด้านลบของการสัมปทานที่ดินเพื่อเศรษฐกิจ
•เราเรียกร้องให้ยุติการบังคับ ขับไล่ประชาชนและการดำเนินการที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ซึ่งมีโครงการพัฒนา
•เราเรียกร้องให้ยุติการใช้ระบบตุลาการและการกระทำความรุนแรงโดยรัฐ และไม่ใช่รัฐ ซึ่งถือเป็นอาชญากร และเป็นการโจมตีนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้ด้านที่ดิน
•เรา สมาชิกของชุมชนที่ถูกไร่รื้อ ขอเรียกร้องรัฐบาลกัมพูชาให้การรับรองเราอย่างเป็นทางการด้วยเอกสารว่า เราเป็นประชาชนตามกฎหมาย (ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน) เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงที่ดินและได้รับการชดเชยค่าที่ดิน
•เราเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้ด้านที่ดินที่ถูกคุมขังในเรือนจำให้เป็นอิสระ
•เราเรียกร้องให้ประเทศกัมพูชาให้ความเคารพประเด็นสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและหยุดแบ่งแยกคนจน
•เราเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนานโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดิน เขื่อน เหมืองแร่ และพลังงานน้ำ ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน
•เราเรียกร้องให้มีการยกเลิกของนโยบายการให้สัมปทานที่ดินเพื่อเศรษฐกิจในประเทศอาเซียน
•เราเรียกร้องให้อาเซียนพัฒนากลไกและนโยบายในการกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชน
•เราเรียกร้องให้รัฐบาลอาเซียนปกป้องพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
•เราเรียกร้องนโยบายการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียนเคารพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิเมือง และไม่ปล่อยให้เกิดการบังคับ ขับไล่และมีการเลือกปฏิบัติต่อคนจน
•เราขอให้รัฐบาลอาเซียนออกแถลงการณ์ร่วม เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านที่ดินในอาเซียน
 
3. ความมั่นคงด้านอาหารและอธิปไตยทางอาหาร
•เราเรียกร้องตลาดที่เป็นธรรมและราคาที่เป็นธรรมสำหรับผลิตภัณฑ์ของเรา
•เราเรียกร้องเงินกู้รายย่อยจากรัฐบาลด้วยอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี
•เราเรียกร้องการสนับสนุนเทคนิคทางการเกษตรจากรัฐบาล
•เราปฏิเสธกฎหมายทางการเกษตรใด ๆ ซึ่งขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายแผ่นดินของเรา
•เราเรียกร้องกฎหมายเพื่อปกป้องอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ผลิตทางการเกษตรรายย่อย และผู้ซื้อ/ผู้ค้า
 
4. สิทธิการค้าและการลงทุน
•เราเรียกร้องว่าการพัฒนาจะต้องไม่ทำให้ประชาชนยากจนลง
•สิ่งสำคัญอันแรกก่อนด้านการค้าและการลงทุนควรเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น, การผลิต, ความสามารถของมนุษย์ในประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน ผลกำไรของนักลงทุนไม่ควรจะมาก่อนผลประโยชน์ของประชาชน
•เราต้องการเข้าถึงหลักการดูแลสุขภาพสากลและสิทธิสำหรับประเทศของเราที่จะมีสิทธิในการผลิตยาสามัญของตัวเอง
•เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเพื่อคุณภาพของการศึกษาและการจ้างงานเพิ่มขึ้น
•รัฐบาลอาเซียนควรสร้างประชาคมระดับภูมิภาคผ่านความยุติธรรมและสันติภาพ ไม่ใช่การสกัดกั้น การทำลายและการแสวงหาผลประโยชน์
•รัฐบาลต้องทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของผู้คนในประเทศของตัวเอง ไม่ใช่ของ บริษัท และชนชั้นนำ
•นโยบายการค้าและการลงทุนระดับประเทศและในระดับภูมิภาคต้องส่งเสริมอธิปไตยด้านอาหาร งานที่มีคุณค่า การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และศักดิ์ศรีในชีวิตของทุกคน
•รูปแบบการพัฒนาของรัฐบาลอาเซียนจะต้องเปลี่ยนแนวทางใหม่โดยต้องให้ความเท่าเทียมกันระหว่างคน สิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนผลประโยชน์ของบริษัทและชนชั้นนำ
 
5. สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
•เราเรียกร้องให้มีระบบตุลาการที่เป็นอิสระในประเทศกัมพูชา
•เราปฏิเสธปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนในใช้อยู่ในปัจจุบัน
•เราเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับชนพื้นเมือง
•เราเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายและนโยบายทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คุกคามผู้มีรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์เฉพาะทางเพศโดยทันทีและ ให้การรับรองสิทธิของคนเพศที่สาม ให้เป็นส่วนหนึ่งที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน กฎหมายในประเทศ และหลักการสากล
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net