Skip to main content
sharethis

กป.อพช.ใต้ ร่วมศูนย์ข้อมูลชุมชน จัดสัมมนาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิมนุษยชนภาคใต้ เรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรภาคใต้” แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาละเมิดสิทธิ

 
 
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และศูนย์ข้อมูลชุมชน จัดเวทีสัมมนาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิมนุษยชนภาคใต้ เรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรภาคใต้” เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนและการใช้กระบวนการยุติธรรมในภาคใต้
 
การเสวนา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชาวบ้านและภาคประชาชน เข้าร่วมประมาณ 100 คน อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก – หินกรูด เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เครือข่ายรักษ์ละแม เครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิชุมชนและการใช้กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้
 
นอกจากนั้นตัวแทนจากครือข่ายต่างๆ ยังร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาการต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน เช่น กรณีการต่อสู้คัดค้านท่อส่งก๊าซ-โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มีคดีความที่ผู้ชุมนุมเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมยังสืบพยานอยู่ในชั้นศาลทั้งที่ฟ้องมายาวนานเป็นเวลา 10 ปีแล้ว กรณีชาวบ้านเทือกเขาบรรทัดโดนฟ้องในข้อหาทำให้โลกร้อน ชาวบ้านที่เกาะยาว จ.พังงา ต้องถูกฟ้องคดีข้อหาบุกรุก ทั้งที่เป็นผู้ปกป้องป่าสงวนแห่งชาติ และการถูกฟ้องศาลแพ่งเป็นเงิน 64 ล้านของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาทั้งที่ปกป้องภูเขาที่เป็นสาธารณสมบัติ
 
 
จากนั้น ช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนอภิปรายปัญหาและทางออก “กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร” โดย นางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด-บางสะพาน นายถาวร เกียรติทับทิว รองอธิบดีศาลปกครองสงขลา นายนิตสิต ระเบียบธรรม อธิบดีอัยการ ภาค 9 ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ม.มหิดลและอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและป่า และนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ
 
ในการเสวนามีการเสนอมุมมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้พิทักษ์ทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเห็นว่าปัญหาใหญ่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่พัฒนาประเทศในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายทุน มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลต่อทัศนคติในการจัดการปัญหาในกระบวนการยุติธรรมในทุกระดับ โดยตัวแทนผู้พิพากษาได้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายและกลไกทุกอย่างครบแล้ว ขาดแต่การทำให้กฎหมายนั้นถูกบังคับใช้ได้จริง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นบรรทัดฐานของสังคม
 
ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ความเห็นว่า การพิจารณาคดีควรคำนึงถึงสาเหตุการกระทำของประชาชนผู้ตกเป็นจำเลยโดยเฉพาะการกระทำที่มีเจตนาเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติ เช่น การดูแลบ้านเกิด การปกป้องป่าสงวน ให้แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป ไม่ตัดตอนพิจารณาเพียงเฉพาะเหตุการณ์นั้นๆ หรืออาจแยกเฉพาะเป็นศาลคดีป่าไม้-ที่ดิน รวมทั้งไม่สืบพยานเพียงในห้องพิจารณาคดีแต่เข้าไปสืบในที่เกิดเหตุเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงของปัญหา
 
นางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนบ้านกรูด ยกตัวอย่างความแตกต่างของคำพิพากษากรณี “ล้มโต๊ะจีน” ซึ่งถูกโรงไฟฟ้าเป็นโจทก์ฟ้องว่า จากคำพิพากษาแสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นคำนึงถึงการปกป้องสิทธิชุมชนซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกากลับมีความเห็นเหมือนหน่วยงานรัฐทั่วไป นั่นคือเห็นว่าการดูแลปกป้องบ้านเกิดของจำเลยไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยทั้งๆ ที่จำเลยยกประเด็นนี้มาต่อสู้อย่างชัดเจนจึงพิพากษาจำคุกจำเลยโดยไม่รอลงอาญา
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 มีการจัดสัมมนาต่อ เรื่องการสร้างอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนภาคใต้ โดยจะให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ร่วมเป็นอาสาสมัครในการปกป้องพิทักษ์สิทธิชุมชน ทำงานร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษย์ชนในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net