กป.อพช.ใต้ จี้ คสช.ยกเลิกคำสั่งบายพาส EIA-ผังเมือง เพื่อไทยอัดเกาไม่ถูกที่คันขอคืนประชาธิปไตยด่วน

กป.อพช.ใต้ จี้ คสช.ยกเลิก 3 คำสั่ง หยุดใช้อำนาจพิเศษรุกรานสิทธิชุมชน ลั่นเฝ้าติดตามอย่างเข้มข้น พท.ซัดม.44 ปลดล็อกไออีเอ เกาไม่ถูกที่คัน ถอดแบบวิธีคิดก.ม.เช่าที่ดิน 99 ปี จี้คืนประชาธิปไตยด่วน ขณะที่'บัณฑูร-ศศิน' เผย 46 องค์กรเครือข่ายภาค ปชช. จี้เลิกคำสั่ง ม.44 ทำเมกะโปรเจกต์ไม่สนอีไอเอ

11 มี.ค. 2559 หลังจากเมื่อต้นปีนี้ที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3 และที่ 4 /2559 ที่เกี่ยวข้องกับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในบางพื้นที่ และในกิจการบางกรณี  และล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 ตามมาอีก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติม ม.47 ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ซึ่งมีสาระสาคัญว่า “ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการ หรือกิจการด้านค้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดาเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้ดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้

กป.อพช.ใต้ จี้ คสช.ยกเลิก 3 คำสั่ง หยุดใช้อำนาจพิเศษรุกรานสิทธิชุมชน ลั่นเฝ้าติดตามอย่างเข้มข้น

วานนี้ ( 10 มี.ค.59) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ 3 ,4 และ 9 / 2559 ของ คสช.และขอให้หยุดใช้อำนาจพิเศษรุกรานสิทธิชุมชน

กป.อพช.ใต้ มีความเห็นต่อการใช้อำนาจพิเศษของ คสช.นี้ ดังนี้ 1. คสช. ต้องระมัดระวังการใช้อำนาจพิเศษตาม ม.44 โดยต้องคานึงถึงเจตนารมณ์เดิมที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และจะต้องยึดตามหลักธรรมาภิบาลเป็นสาคัญ 2. การออกคำสั่งต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงตัวบทกฎหมาย ระเบียบการ หรือขั้นตอนปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับของสังคมที่มีอยู่เดิม และให้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของคนส่วนใหญ่ มิใช่เพื่อกลุ่มทุนใดบางกลุ่ม 3. ในคำสั่งนั้น ๆ ต้องไม่ละเมิดสิทธิชุมชน และต้องคำนึงถึงการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ และ 4. คสช.ต้องยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 3 , 4 และคำสั่งที่ 9 เพราะขัดกับข้อเสนอดังกล่าวเบื้องต้นทั้ง 3 ข้อ

กป.อพช.ใต้ ยังยืนยันว่าการใช้อานาจดังกล่าว ต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง โดย คำนึงถึงเจตนารมณ์ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ต้องการให้เป็นไปเพื่อการปฏิรูป หรือเพื่อการสมานฉันท์ของคนในสังคมส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง และไม่ควรใช้อานาจนี้เพื่อการประโยชน์เฉพาะกลุ่ม แต่กลับสร้างความเดือนร้อนกับคนส่วนใหญ่ 
 
กป.อพช.ใต้ ยังระบุด้วยว่า จะประสานภาคีเครือข่ายองค์กรนักพัฒนา รวมถึงเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากคาสั่งต่างๆนี้ให้มาพบกัน เพื่อมาร่วมกันกำหนดมาตรการการเคลื่อนไหว อันจะนาไปสู่การยกเลิกคำสั่งที่ 3 ,4 และคำสั่งที่ 9 อย่างถึงที่สุด และจะเฝ้าติดตามการใช้อำนาจพิเศษของรัฐบาล และของ คสช. อย่างเข้มข้นต่อไป
 
พท.ซัดม.44 ปลดล็อกไออีเอ เกาไม่ถูกที่คัน ถอดแบบวิธีคิดก.ม.เช่าที่ดิน 99 ปี จี้คืนประชาธิปไตยด่วน
 
ขณะที่วันนี้ (11 มี.ค.59)  นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 เพื่อเเก้ไขความล่าช้าโครงการที่ต้องรายงานผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (อีไอเอ) ว่า การลัดขั้นตอน EIA และ EHIA เพื่ออนุมัติโครงการให้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเป็นรัฐบาลปรกติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาออกนโยบายลักษณะนี้ จะมีสารพัดม็อบ บุกมาคัดค้านกันคับคั่งอย่างแน่นอน ทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม ข้ออ้างที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการดำเนินโครงการต่างๆของภาครัฐลงได้มากกว่า 2 ปีหรือครึ่งหนึ่งของระยะเวลาเดิม ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในโครงการต่างๆ นั้น วิธีคิดถอดแบบมาจากการแก้ไขกฎหมายเช่าที่ดินจาก 50 ปี เป็น 99 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงกับลักษณะของปัญหา เกาไม่ถูกที่คัน เพราะต้นตอของปัญหาหลักที่แท้จริงคือการปฏิวัติรัฐประหาร มีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และไม่มีส่วนใดเชื่อมโยงกับประชาชนเลย ลองสำรวจตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งการส่งออกเดือน ม.ค.ที่ลดลงถึง 8.91%  ซ้ำเติมจากการส่งออกปีที่แล้วที่ติดลบ 5.78% ขนาดคนไทยเองยังย้ายไปลงทุนต่างประเทศถึง 4 แสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3-4 เท่า ขณะที่การลงทุนในประเทศกลับเหลือเพียงแค่ 2 แสนกว่าล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการหมดความมั่นใจในการลงทุนในประเทศ จึงต้องไปลงทุนที่อื่น การส่งออกที่ทรุดหนัก การลงทุนที่หดหายอัตราการว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ลดลงต่อเนื่อง จนหลายองค์กรทยอยปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยลงเรื่อยๆ 
 
ดังนั้นวิธีแก้จึงไม่ใช่การการลัดขั้นตอน EIA และ EHIA แต่ต้องแก้ด้วยการกลับคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย นำไปสู่การจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ซึ่งประชาชนจะได้ให้คำตอบว่าตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา มีอะไรที่ประชาชนพึงพอใจ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องได้แก้ไขอะไร ดีขึ้นหรือแย่ลง การทำมาหากินคล่องตัวหรือฝืดเคือง ชาวบ้านกินอิ่มนอนอุ่นกันดีอยู่หรือ คำตอบจะอยู่ในคูหาเลือกตั้งและผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชนทั้งประเทศ
 
'บัณฑูร-ศศิน' เผย 46 องค์กรเครือข่ายภาค ปชช. จี้เลิกคำสั่ง ม.44 ทำเมกะโปรเจกต์ไม่สนอีไอเอ
 
โดยก่อนหน้านั้น (9 มี.ค.59) MGR Online รายงานด้วยว่า นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) พร้อมด้วยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า 46 องค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งหัวหน้าค คสช. ที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 59 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีสาระให้กิจการด้านคมนาคม ชลประทาน การป้องกันและสาธารณภัย โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัยไม่ต้องรอให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ สามารถหาทางออกล่วงหน้าได้เลย
       
นายบัณฑูรกล่าวว่า ทาง 46 องค์กรและเครื่อข่ายภาคประชาชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 46 องค์กร ได้มีข้อวิเคราะห์ถึงคำสั่งที่ 9/2559 ดังกล่าว 2 ข้อ คือ 1. คำสั่งที่ 9/2559 เป็นการส่งสัญญาณทางนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นเป้าหมายเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเรื่อง การคมนาคม เช่น ท่าเรือ ระบบรถไฟ ทางด่วน ฯลฯ ชลประทาน เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งมักประสบปัญหาการทำลายนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชนท้องถิ่นตลอดมา การเร่งรัดดังกล่าวเป็นการลดความสำคัญด้านการดูแลคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการโดยที่มาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังมิได้รับความเห็นชอบเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่บกพร่องในการละเว้นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ สาระสำคัญและผลของคำสั่งนี้จึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้แสดงความผูกพันทางการเมืองในทางปฏิบัติ ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
       
นายบัณฑูรกล่าวว่า 2. โครงการหรือกิจการเข้าข่าย คำสั่งที่ 9/2559 เป็นโครงการของหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต แม้ว่าจะยังให้มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป แต่จะสร้างผลกระทบและความเชื่อมั่นต่อความเป็นอิสระในการจัดทำและพิจารณาของ EIA และจะยิ่งทำให้โครงการที่ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว มีปัญหาความขัดแย้ง ความไม่เชื่อถือยอมรับจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่โครงการรวมทั้งจากสาธารณะ แม้ว่าจะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็ตาม
       
นายบัณฑูรกล่าวต่อว่า ทางองค์กรฯ ได้มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ดังนี้ 1. ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เพื่อป้องกันและระงับมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคมไทย และมิให้เป็นคำสั่งที่ขัดแย้งกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาที่ยั่งยืน 2. รัฐบาลควรเร่งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับธรรมาภิบาล สร้างความเชื่อถือและเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งมิให้เกิดความล่าช้าเกินควร ข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างและระบบ EIA ได้มีการจัดทำและเสนอไว้แล้วนับตั้งแต่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555 ข้อเสนอของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ (สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) และข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
       
นายบัณฑูรกล่าวต่อว่า 3. เพิ่มเติมเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดสิทธิและเสรีภาพ (ด้านสิทธิชุมชน) และในหมวดการปฏิรูป เพื่อให้มีบทบัญญัติที่นำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการนำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) มาใช้ดำเนินการ 4. ให้มีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ทั้งฉบับเพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดทำข้อเสนอแนะการยกร่างปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวไว้แล้วโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
       
สำหรับองค์กรและเครื่อข่ายภาคประชาชนฯ จำนวน 46 องค์กร ประกอบด้วย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย เครือข่ายรักษ์ชุมพร สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) มูลนิธิอันดามัน สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท