Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.สับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ ทำตัวเหนือรัฐธรรมนูญ ประกาศล่ารายชื่อขอถอดถอนตามบทบัญญัติ มาตรา 270

0 0 0 0 0

 

คำแถลงกรณีศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งรัฐสภา
ในการลงมติวาระ 3 ร่างเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291

โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ 4 มิถุนายน 2555

ปฏิบัติการของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องของ 1. พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม และคณะ 2. นายวันธะชัย ชำนาญกิจ 3. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ 4. นายวรินทร์ เทียมจรัส 5. นายบวร ยสินทรและคณะ รวม 5 คำร้องไว้พิจารณา ตามคำร้องที่อ้างว่า คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธรและนายภราดร ปริศนานันทกุลและคณะ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งอาจมีผลทำให้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และตุลาการที่ลงมติรับคำร้องมีรายชื่อดังต่อไปนี้คือ

  1. 1. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์          ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  2. 2. นายจรัญ ภักดีธนากุล            ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  3. 3. นายจรูญ อินทจาร                ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  4. 4. นายเฉลิมพล เอกอุรุ              ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  5. 5. นายนุรักษ์ มาประณีต            ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  6. 6. นายบุญส่ง กุลบุปผา            ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
  7. 7. นายสุพจน์ ไข่มุกด์                ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

พิจารณาแล้ว เรามีความเห็นต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปฏิบัติการนี้ว่าขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

กล่าวคือ การรับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้พิจารณา เพื่อยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น มีปัญหาต้องพิจารณาได้หลายประการ

ประการแรก ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ

ประการที่สอง ทำตัวเหนือกว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ห้ามมิให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือให้ได้มาที่อำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ปัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิได้ เพียงเพราะตามมาตรา 68 วรรคแรกท่านก็ไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ เพราะการยื่นร่างขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่มีอำนาจหน้าที่ตามอำนาจนิติบัญญัติที่แบ่งแยกอำนาจการเมืองการปกครองไว้ชัดเจน ไม่มีเรื่องล้มล้างการปกครองใด ๆ เพราะเป็นการขอแก้ไขตามมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้ได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ความวิตกจริตของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่มายื่นคำร้องไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญลุเกินอำนาจหน้าที่ให้ไว้ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ท่านจะอยู่ใต้อาณัติหรือความเชื่อของคณะผู้ร้องเท่านั้น กล้าก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติที่ประชาชนทั้งประเทศให้อำนาจมาออกกฎหมาย และกระทำการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กระทำนอกระบบรัฐสภาและนอกระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ยิ่งเมื่อพิจาณาวรรคสองที่กล่าวว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใด กระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

พิจารณาวรรคสองแล้ว การกระทำของตุลาการรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 68 วรรคสองชัดเจน จะใช้ระเบียบ กฎหมายอื่นและความคิดที่ว่า ทำให้ช้าเพื่อไต่สวนความจริงมาใช้โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองมิได้ เพราะหน้าที่กลั่นรองตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของอัยการสูงสุด ไม่ใช่ตุลาการรัฐธรรมนูญ เร่งรีบ รวบรัด ตัดตอนมาทำเอง และจะอ้างมาตรา 212 ที่ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ์หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ วรรคสองมาตรานี้กล่าวว่า การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่ต้องใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว

โดยที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้เกิดนิติรัฐที่มีนิติธรรมในประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับอนาคตของประเทศไทยว่า จะนำไปสู่ความสงบสุขได้หรือไม่?

ดังนั้น นปช. ในฐานะองค์กรประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมมีความเห็นว่า การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของคณะรัฐมนตรี ล้วนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวงเล็บ 1-7 แสดงว่ารัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้มีการแก้ไขได้ เพิ่มเติมได้ ไม่มีเหตุใดที่จะอ้างรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อหยุดยั้งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการมอบอำนาจของประชาชน ตรงข้าม คณะตุลาศาลรัฐธรรมนูญมาจากการคัดสรรของคณะบุคคลและวุฒิสภาที่ครึ่งหนึ่งมาจากการคัดสรรแต่งตั้ง เป็นวงจรอุบาทว์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย

  • ถ้าเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าคณะบุคคลในนามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเกินอำนาจหน้าที่ และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และการออกคำสั่งให้รัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดให้อำนาจไว้ แต่ไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 มาใช้ (การเอากฎหมายศักดิ์ต่ำกว่ามาใช้ก็เป็นเรื่องที่ตุลาการรัฐธรรมนูญนำมาใช้หลายครั้งแล้ว)

สรุปคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจกระทำการในการตรวจสอบร่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีอำนาจสั่งการให้ฝ่ายนิติบัญญัติยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญเอง แล้วยังล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

จึงสมควรอย่างยิ่งที่ประชาชนจะเข้าชื่อขอถอดถอนตามบทบัญญัติ มาตรา 270
ขอให้รัฐสภายืนหยัดในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net