Skip to main content
sharethis

 หลังจากการตัดสินคดีพ.ร.บ. คอมพ์ของผอ. เว็บไซต์ประชาไท มีปฏิกิริยาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งรวมถึงนานาชาติอย่างอียู โดยนอกจากจะประณามผลการตัดสินของศาลแล้ว ยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพ์ด้วย 

 สืบเนื่องจากการตัดสินคดีของจีรนุช เปรมชัยพรเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (30 พ.ค. 55) ในมาตรา 14 และ 15 ของพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ที่ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 30,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษจำเลย 1 ใน 3 เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท และจำเลยไม่เคยกระทำความผิดให้รอลงอาญา 1 ปีนั้น

คำตัดสินดังกล่าว นำมาซึ่งปฏิกิริยาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น Freedom House, Human Rights Watch, International Commission of Jurists และ Asian Human Rights Commission ที่ออกแถลงการณ์ต่อกรณีคำพิพากษาดังกล่าวทันที โดยส่วนใหญ่มีจุดยืนแสดงความกังวล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความกลัวในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่ผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตในเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสารของไทย นอกจากนี้ องค์กรสิทธิบางแห่งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ด้วย

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่าพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มีบทลงโทษที่ไม่สมเหตุผลเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ "บทลงโทษดังกล่าวเสมือนเป็นการข่มขู่ต่อผู้ที่โฮสต์และประกอบการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เพราะพวกเขาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ซึ่งอาจจะนำไปตีความในทางที่ไม่สมเหตุผล" นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อผู้สื่อข่าวอาวุโสนสพ. เดอะ เนชั่น ประวิตร โรจนพฤกษ์ด้วย

ศูนย์เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและเทคโนโลยี ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า การตัดสินลงโทษจีรนุชนับว่าเป็นการส่งสัญญาณที่น่าสะพรึงกลัวต่อตัวกลางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า ต่อไปนี้คุณจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ผู้ใช้ของคุณกระทำ โดยซินเธีย วอง ผู้อำนวยการโครงการเสรีภาพอินเทอร์เน็ตสากล กล่าวว่า "การลงโทษเว็บมาสเตอร์เพียงเพราะเนื้อหาจากผู้ใช้ ไม่เพียงแต่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น เนื่องจากเธอเป็นเพียงผู้ส่งสาร แต่ยังเป็นการข่มขู่การแสดงออกของผู้ใช้ เพราะมันจะทำให้เว็บไซต์อื่นๆ ต้องรีบเอาโพสต์ของผู้ใช้ลงถ้ามันมีโอกาสละเมิดกฎหมาย หรืออาจจะไม่เปิดให้มีส่วนการแสดงออกของผู้ใช้เลยก็ได้" 

พันธมิตรสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 15 ในพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อคุ้มครองตัวกลางอินเทอร์เน็ตว่า พวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผล และให้มีการระบุแนวทางการใช้กฎหมายให้ชัดเจนด้วย 

ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรจัดลำดับเสรีภาพสื่อในโลก ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกาชี้ว่า การตัดสินคดีของจีรนุชแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ให้คุณค่าของการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของพลเมือง และระบุว่า ประเทศไทยต้องทำให้การหมิ่นประมาททั้งออนไลน์และออฟไลน์ไม่เป็นอาชญากรรม เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้เมื่อปี 2539 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยอธิบายเหตุผลของคำพิพากษาดังกล่าว ที่ทำให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกลดลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ไทยเป็นสมาชิกในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองโดยไม่มีการแทรกแซงหากไม่จำเป็น (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่ ประเทศไทย: คำพิพากษาที่สำคัญอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก)

องค์กรคุ้มครองสิทธินักสิทธิมนุษยชน Front Line Defenders ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ แสดงความยินดีที่จีรนุชไม่ต้องถูกจำคุก แต่ก็แสดงความกังวลถึงการใช้พ.ร.บ. คอมพ์และกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่จะถูกนำไปใช้ปิดปากนักกิจกรรม นักข่าว และนักสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แสดงความหวังว่า ศาลอุทธรณ์ของไทย จะตระหนักถึงข้อปัญหาทางกฎหมายของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่ไม่สอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชน และแก้ไขให้ถูกต้องได้ในอนาคต

ด้านตัวแทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อผลการตัดสิน ที่เอาผิดตัวกลางในอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net