Skip to main content
sharethis

 

(23 พ.ค.) หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า มีผู้ใช้บริการของ “เฟซบุ๊ก” สื่อสังคมออนไลน์ในกรุงเทพฯ มากกว่าเมืองอื่นๆ ในโลก

บริษัทวิเคราะห์สังคมออนไลน์ที่มีชื่อเสียงในระดับสากล “โซเชียลเบเกอร์” รายงานผลการสำรวจผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ “เฟซบุ๊ก” พบว่า ในกรุงเทพฯมีผู้ใช้ 8.68 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย 7.43 ล้านคน เป็นอันดับ 2 และ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี 7.07 ล้านคน อยู่ในอันดับที่ 3

ดังนั้น กรุงเทพฯของไทยจึงสามารถเอาชนะเมืองใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย นครนิวยอร์ก และ นครลอสแองเจลิสของสหรัฐ เป็นต้น

ส่วนเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ติดอยู่ใน 20 อันดับสูงสุดของผู้ใช้เฟซบุ๊กก็มี กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ติดอันดับที่ 13 ของโลก มีผู้ใช้ 3.33 ล้านคน สิงคโปร์อันดับที่ 17 มีผู้ใช้ 2.66 ล้านคน

สำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊กในกรุงเทพฯ 8.68 ล้านคน ถือว่ามากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในเขตเมืองซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนถึง 16 ล้านคน ทั้งนี้เป็นตัวเลขประเมินของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

นายไบรอัน เพอร์รี วัย 28 ปี ผู้เฝ้าติดตามสังคมออนไลน์ ในกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การจัดอันดับของ "โซเชียลเบเกอร์" ใช้ข้อมูลที่ได้จากสื่อโฆษณาในเฟซบุ๊ก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่อยู่เขตนอกเมืองของกรุงเทพฯ พยายามเข้าถึงสื่อออนไลน์ตัวนี้ ขณะที่ในเขตเมืองนั้น สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเพราะมีบริการอินเทอร์เน็ตได้มากกว่าในเขตเมือง

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกเหตุผลสำคัญที่ต้องพิจารณาถึงข้อมูลเรื่องผู้ใช้ตรงนี้ด้วย เพราะยังขาดข้อมูลในบางเมืองใหญ่ของทวีปเอเชีย เช่นในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งโซเชียลเบเกอร์ระบุว่า ทั้งประเทศมีผู้ใช้มากถึง 27 ล้านคน นอกจากนั้น ข้อมูลนี้ก็ยังไม่ได้นับถึงฮ่องกง และเมืองอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็สัดส่วนจำนวนประชากรมากเช่นกัน ยกเว้นในประเทศจีน ซึ่งเฟซบุ๊กยังถูกปิดกั้นอยู่ และบางเมืองของจีนก็ไม่ได้อยู่ในรายงานสำรวจข้อมูลนี้

นายเพอร์รี กล่าวต่อไปว่า สังคมออนไลน์เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ จนอาจกล่าวได้ว่า เฟซบุ๊กในประเทศไทยสำหรับคนหลายๆ คนก็คืออินเทอร์เน็ต ซึ่งนอกจากดูคลิปวิดีโอ ส่งข้อความแล้ว ยังสื่อสารกับเพื่อนได้ เล่นเกม โดยไม่ต้องใช้บราวเซอร์อีกต่อไป

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไทยติดเฟซบุ๊กอย่างมากในสังคมไทยก็เพราะมันสำคัญยิ่งในการสื่อสาร หลายคนสนุกกับการโต้ตอบการสื่อสาร แต่ไม่ชอบแสดงความเห็นเกี่ยวกับเพื่อนหรือคนรู้จัก เฟซบุ๊กจึงเป็นเหมือนสิ่งสารพัดประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้เป็นแนวนิยมใหม่สำหรับประเทศไทย หรือเรียกว่าเป็นอะไรที่คนทำได้ทุกอย่างในอินเทอร์เน็ต

โซเชียลเบเกอร์ยังเปิดเผยถึงอัตราส่วนการขยายตัวของเฟซบุ๊กในกรุงเทพฯ ซึ่งสูงถึงร้อยละ 104.8 ซึ่งสูงถึงอย่างมากเมื่อเทียบกับเมือง 10 อันดับ ซึ่งตัวเลขจะอยู่ที่ร้อยละ 20-80 เท่านั้น

แต่สำหรับตัวเลขทั้งประเทศของผู้ใช้เฟซบุ๊กแล้ว โซเชียลเบเกอร์ระบุว่า สหรัฐมีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ตามมาด้วย บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก สหราชอาณาจักร ตุรกี ฟิลิปปินส์ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ส่วนประเทศไทยซึ่งมีประชากร 67 ล้านคน อยู่ในอันดับที่ 16 มีผู้ใช้ทั้งหมด 14 ล้านคน

 

เตรียมตรวจสอบหุ้นเฟซบุ๊กดิ่ง
(24 พ.ค.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เตรียมเข้าไปตรวจสอบหลังมีการร้องเรียนว่า มอร์แกน สแตนลีย์อาจให้ข้อมูลของเฟซบุ๊กแก่ผู้ซื้อหุ้นผิดพลาด จนทำให้ราคาหุ้นเฟซบุ๊กตกลงมากผิดปกติ

มูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กยังลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 นับจากมีการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ โดยลดลงไปอีก 3.03% หลังจากเมื่อวันจันทร์ หุ้นของเฟซบุ๊กตกลงไปแล้วกว่า 11% โดยมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่หุ้นละ 31 ดอลลาร์ จากราคาเปิดตัวที่หุ้นละ 38 ดอลลาร์ มูลค่าหุ้นที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ หรือ FINRA เตรียมตรวจสอบกระบวนการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทว่าเป็นไปอย่างทั่วถึงหรือมีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ หลังมีรายงานว่า มอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้น ปล่อยให้เฟซบุ๊กเพิ่มราคาและจำนวนหุ้นไอพีโอมากเพื่อจำหน่ายให้ผู้ที่ไม่ต้องการถือไว้อย่างจริงจัง ส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้องให้แก่ตลาด

อย่างไรก็ตาม มอร์แกน สแตนเลย์ หนึ่งในผู้จัดจำหน่ายหุ้นของเฟซบุ๊กยืนยันว่า บริษัทดำเนินการขายหุ้นอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ทุกประการ

 

 

 

ที่มา: เดลินิวส์และสำนักข่าวไทย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net