Skip to main content
sharethis

สภา กทม. ผ่านข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … หรือกฎหมายรถเมล์อนาคต เปลี่ยนรถเมล์ทั้ง กทม. เป็น EV มอบอากาศสะอาดกว่าเดิมให้คนกรุงฯ ใน 7 ปี

4 ต.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานต่อสื่อมวลชนว่า สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวภายหลังที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … หรือกฎหมายรถเมล์อนาคต ที่เสนอโดย ส.ก.พรรคก้าวไกล ด้วยคะแนนเสียง 30:0 

พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ผลักดันร่างข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต และประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณสมาชิกทุกคน วันนี้ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทยและสภา กทม. ที่จะเดินหน้าไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน หลังจากนี้ยังมีร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวที่จะขับเคลื่อนต่อไป ขอให้สมาชิกทุกคนร่วมกันผลักดันเพื่อประชาชนชาว กทม.

โดยก่อนมีมติดังกล่าวในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในญัตติดังกล่าวว่า ข้อบัญญัตติรถเมล์อนาคตฉบับนี้ เป็นข้อบัญญัติแรกในรอบ 22 ปีที่ถูกเสนอโดยฝ่ายสภากรุงเทพมหานคร และหวังว่าจะเป็นฉบับแรกที่ถูกเสนอและผ่านโดยสภากรุงเทพมหานครเช่นกัน

เมื่อ 135 ปีก่อน กรุงเทพมหานครมีระบบขนส่งสาธารณะชนิดแรกคือรถราง ในเวลานั้นก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นตกใจกับกระดานไม้หุ้มเหล็กที่มีล้อวิ่งอยู่กลางเมือง ทำให้ประชาชนเริ่มปรับตัวใช้ชีวิตกับการขนส่งสาธารณะ รัฐเองก็ปรับปรุงตัวรถรางอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่หุ้มเบาะฟองน้ำให้นั่งสบาย เสริมแนวกั้นเพิ่มความเป็นส่วนตัวตามการใช้งานของประชาชน

เมื่อมีการขยายตัวของเมือง ประชาชนเริ่มใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น รถรางที่กินพื้นที่ถนนและช้ากว่ารถคันอื่นๆ จึงถึงเวลาสิ้นสุดลง ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีรถเมล์เข้ามาแทนที่

ในปี 2450 รถเมล์สายแรกที่ใช้ม้าลากจูงเริ่มวิ่งในกรุงเทพมหานคร จนต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเครื่องจักร มีการปรับแต่งรถเมล์ให้ตอบสนองต่อการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น การเริ่มใช้รถปรับอากาศ การเพิ่มรอบวิ่งกะกลางคืนถึงเช้า ขยายทางขึ้นลงของประตูใหญ่และรองรับผู้ใช้งานที่หลากหลายตามหลัก Universal design การปรับมาใช้ NGV เพื่อลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงความพยายามที่จะใช้ระบบ E-ticket แทนเงินสดโดยกระทรวงคมนาคมในปี 2560 ปัจจุบันรถเมล์ก็ยังมีการพัฒนาควบคู่กับสังคมที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ภัทราภรณ์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เรื่องการขนส่งสาธารณะของประเทศไทยมีมายาวนาน นวัตกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาล้วนเคยเป็นเรื่องใหม่ที่กลายเป็นเรื่องปกติทั้งสิ้น และครั้งนี้ก็เป็นอีกวันที่กรุงเทพมหานครจะทำสิ่งใหม่ โดยการออกข้อบัญญัติให้รถเมล์ EV เท่านั้นที่จะสามารถวิ่งในกรุงเทพมหานครได้ในอีก 7 ปีข้างหน้า

“ในช่วงชีวิตการเมืองที่ไม่แน่นอนของการเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เรามีเวลาสั้นๆ กันเพียงสมัยละ 4 ปีเท่านั้น หลายครั้งดิฉันถามตัวเองว่าจุดสูงสุดของการทำงานนี้คืออะไร อะไรคือตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการทำงานของเรา มันใช่คะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างที่เขาว่ากันหรือไม่ มันคือการตอบสนองอีโก้ในตัวเราแค่เพียงเท่านั้นหรือไม่ พวกเรา ส.ก.ก้าวไกล ได้ดำรงตำแหน่งมาเป็นระยะเวลา 1 ปีครึ่ง เราได้ร่วมหัวจมท้ายฝ่าฟันเรียนรู้อะไรกันมามากมาย จนวันนี้ดิฉันได้พบแล้วว่า จุดสูงสุดของการเป็นนักการเมือง คือการได้ทิ้งคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ให้พี่น้องประชาชน แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้วก็ตาม” ภัทราภรณ์ กล่าว

ส.ก.เขตบางซื่อ กล่าวอีกว่า ข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตนี้ จะอยู่กับลูกหลานของท่านไปอีก 20-30 ปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 จากรถเมล์สาธารณะจะต้องลดลงอย่างแน่นอน และหากรัฐบาลรับลูกการส่งเสริมรถไฟฟ้าอย่างจริงจัง จะเกิดการจ้างงานอย่างมหาศาลทั้งแรงงานทักษะการประกอบรถ แรงงานในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีภายใน และยังสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้โชว์ผลงาน โดยมีกรุงเทพมหานครของเราเป็นผู้ปักธงในสนามแรก

จึงขอให้เพื่อนสมาชิกทุกท่าน พิจารณาโหวตรับร่างข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตนี้ในวาระที่ 2 และ 3 เพื่อยืนยันว่าเราจะใช้อำนาจรัฐที่เรามีในวันนี้ คืนอากาศสะอาดให้พ่อแม่พี่น้องกว่า 10 ล้านคนในกรุงเทพมหานคร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net