Skip to main content
sharethis

พท.ท้า ปชป.เลิกค่าแรง300 หากเป็นรัฐบาล

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยหวังว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะ เปลี่ยนพฤติกรรมทางการเมืองและทำตัวเสียใหม่ โดยหันมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ และตรวจสอบนโยบายแบบเน้นที่เนื้อหาสาระ ไม่ใช่เอาแต่ประดิษฐ์วาทกรรมโจมตีพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอย่างไร้สาระ ไม่มีมูลความจริง ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบาย และมุ่งเสียดสีตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว

"พรรคเพื่อไทยอยากเชื้อเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์มาร่วมแข่งขันนำเสนอ นโยบายที่ดีให้ประชาชนได้เลือก และหากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีความกล้าหาญทางการเมืองมากพอก็ขอให้แสดงจุดยืนและประกาศเป็นนโยบายว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากประชาชนเลือกพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล พวกท่านจะล้มเลิกนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและจะยกเลิกการขึ้นเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท รวมทั้งจะยกเลิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งหากนายอภิสิทธิ์ไม่กล้าก็กรุณาสงบปากสงบคำ เลิกพูดจาตอดเล็กตอดน้อย ทำให้ประชาชนสับสนเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลเสียที" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว

ร.ท.หญิง สุณิสา โดยเฉพาะการที่ นายอภิสิทธิ์และลูกพรรคประชาธิปัตย์มักพูดบิดเบือนว่า รัฐบาลผิดสัญญากับประชาชน เพราะเลื่อนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการไปเป็นปี 2557 ซึ่งเป็นการพูดจากำกวม และอาจทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดว่า รัฐบาลยังไม่ดำเนินการใดๆ เลย ในการปรับเงินข้าราชการ และ อาจทำให้สังคมสับสนว่า ต้องรอไปอีก 2 ปีข้าราชการจึงจะได้เงินครบ 15,000 บาท ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง ข้าราชการที่เพิ่งบรรจุใหม่ในปี 2555 ได้เงินเดือน 15,000 บาท ตามฐานเงินเดือนใหม่แล้วทุกคน ส่วนข้าราชการเก่า ก็มีเม็ดเงินอยู่ในมือ 15,000 บาท แล้ว ในรูปของเงินเดือนบวกกับเงินค่าครองชีพพิเศษ ไม่ใช่ว่าต้องรออีก 2 ปี จึงจะได้เงิน อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามบิดเบือน

ส่วนเรื่องการทยอยปรับฐานเงินเดือนภายใน 2 ปี นั้น ก็เป็นเรื่องการใช้ภาษาของนักบัญชี ที่จะต้องปรับปรุงระบบบัญชี ให้สอดคล้องกับงบประมาณแผ่นดินต่อไป แต่ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ว่า ขณะนี้ ข้าราชการมีเงินในมือขั้นต่ำ 15,000 บาท แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ควรเลิกบิดเบือนข้อเท็จจริงเสียที

(กรุงเทพธุรกิจ, 15-4-2555)

ปชป.เล็งบี้ "ยิ่งลักษณ์" ลาออก ฐานขึ้นค่าแรงไม่ได้จริง

นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะตั้งกระทู้สดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทวงคำมั่นสัญญาจากรัฐบาล ที่หาเสียงไว้ว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ รวมถึงให้เงินเดือนขั้นต่ำของคนที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท แต่ปรากฏว่ามาถึงปัจจุบัน รัฐบาลสามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้เพียงแค่ 7 จังหวัดเท่านั้น ขณะที่เกิดผลกระทบต่อคนหลายกลุ่มไปแล้ว

"การขึ้นค่าแรง 7 จังหวัดนั้น ส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขณะที่ผู้ใช้แรงงานในจังหวัดอื่นๆ ต้องผิดหวังที่ยังไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรง ทั้งที่ตั้งใจเลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเพราะนโยบายดังกล่าว แต่พอบริหารประเทศจริงแล้วกลับไม่สามารถทำได้ แล้วกลายเป็นว่าผู้ใช้แรงงานก็ตกงานมากขึ้น"

นายนคร กล่าวอีกว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถปฏิบัตินโยบายดังกล่าวดังที่เคยหาเสียงไว้ได้ ก็อยากให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ดี มีหลักฐานทั้งคลิป สถิติ เตรียมพร้อมสำหรับทวงหาความรับผิดชอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์

(กรุงเทพธุรกิจ, 16-4-2555)

ผลสำรวจพบผู้สูงอายุในไทยยังทำงานกว่า 3.2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ

กรุงเทพฯ 16 เม.ย.-รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยภาวะการทำงานของผู้สูงอายุ ของไทย ปี 2554 พบว่า ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีของประเทศไทย ที่มีอยู่ทั้งหมด 8.3 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงานกว่า 3.2 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานในฐานะแรงงานนอกระบบถึง 2.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองจากการทำงาน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นแรงงานในระบบ ที่มีจำนวนเล็กน้อยเพียง 310,000 คน คิดเป็นร้อยละ 9.7

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานในระบบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขั้นพื้นฐานต่างๆ คือ ด้านการขายร้อยละ 25.4 รองลงมาเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้าร้อยละ 16.7 พนักงานบริการและพนักงานขายในร้านค้าร้อยละ 16.4 ผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและประมงร้อยละ 11.8 และผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโส และผู้จัดการร้อยละ 10.6

ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและประมงร้อยละ 67 รองลงมาเป็นพนักงานบริการและพนักงานขายในร้านค้าร้อยละ 19.9 และผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้าร้อยละ 6.8

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงค่าจ้างและเงินเดือนของผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานในระบบพบว่า โดยภาพรวมมีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 12,609 บาท ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาคการค้าและบริการได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่ สุดประมาณ 18,417 บาท รองลงมาภาคการผลิต 7,381 บาท และภาคเกษตรกรรม 4,427 บาท ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบมีค่าจ้างเฉลี่ย 3,833 บาทเท่านั้น โดยในภาคการผลิตได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดประมาณ 4,754 บาท รองลงมาเป็นภาคการค้าและการบริการประมาณ 3,898 บาท ขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ในแรงงานนอกระบบ ภาคเกษตรกรรมได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่สุดประมาณ 3,464 บาท

(สำนักข่าวไทย, 16-4-2555)

เตือนแรงงานระวังอันตรายจากการพาบุตรหลานไปที่ทำงานด้วยในช่วงปิดภาคเรียน

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งผู้ปกครองที่เป็นแรงงานอาจนำบุตรหลานไปยังสถานที่ทำงานด้วย ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงห่วงเรื่องความปลอดภัยเพราะสถานที่ทำงานบางแห่งมีเครื่องมือเครื่องจักร ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก ดังนั้น จึงขอเตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งนายจ้างดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวดและไม่ควรให้เด็กเข้าไปในบริเวณ สถานที่ทำงานอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้นอกจากเรื่องของความปลอดภัยแล้ว อาจถูกมองเรื่องการใช้แรงงานเด็กด้วย ซึ่งเรื่องนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับโดยที่ผ่านมาทางผู้แทนองค์กรแรงงานระหว่าง ประเทศไทย (ไอแอลโอ) และผู้แทนจากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาตรวจสอบและลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง ปรากฏว่าไม่พบปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมยืนยันไม่มีการปกปิดข้อมูลและไม่มีการใช้แรงงานเด็กอย่างแน่นอน

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 17-4-2555)

กรมการจัดหางาน เร่งอบรมเจ้าหน้าที่รองรับเว็บไซต์ร้องทุกข์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนหางาน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้ดำเนินการตามกรอบขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยการเปิดรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบบริการข้อมูลออนไลน์ ภายใต้โครงการ “ Going back-Moving on” ซึ่งเป็นการเสริมพลังทางเศรษฐกิจและสังคมแก่แรงงานย้ายถิ่นและผู้เสียหายจาก การค้ามนุษย์ที่เดินทางกลับจากประเทศยุโรป ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบข้อเท็จจริงใช้ระยะเวลามาก จึงทำให้แรงงานที่ประสบปัญหาเปลี่ยนที่ทำงานหรือย้ายที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ร้องทุกข์เป็นไปด้วยความ ยากลำบาก กรมการจัดหางานจึงได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่รับ เรื่องร้องทุกข์เพื่อพัฒนาทักษะความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานรับเรื่องร้อง ทุกข์ผ่านระบบข้อมูลออนไลน์ขึ้น จำนวน 2 รุ่น โดยคาดว่า โครงการการดังกล่าวจะช่วยให้การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ของผู้ร้องทุกข์และคนหางาน เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงการร้องทุกข์และข้อมูลเกี่ยว กับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้จากทุกมุมโลก รวมทั้งสามารถทบทวนแนวปฏิบัติจากสถิติรายงานจากระบบข้อมูลได้ ผ่าน www.ipd-doe.com ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้งานได้ในเดือนพฤษภาคมนี้

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 17-4-2555)

รฟท.ปรับเพิ่มอัตรากำลัง 2,438 อัตรา

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบยกเว้นในการปฏิบัติตามมติครม. เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 เพื่อขอเพิ่มอัตรากำลังพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 2,438 อัตรา โดยการรถไฟฯ จะต้องทำแผนฟื้นฟูรายได้มาเสนอให้ที่ประชุมรับทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ จากมติเห็นชอบตามมติครม. นั้น จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลได้ 355.74 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ผลิตภาพมีแนวโน้มสูงขึ้นร้อยละ 0.58 ล้านบาทต่อคน ได้สร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคนิครถไฟเฉพาะทาง โดยผ่านทางโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟและสถาบันระบบรางภาคพื้นอาเซียน เพื่อตอบสนองตัวชี้วัดและเป้าหมายตามธุรกิจการรถไฟ ปี 2555-2565 และเพื่อความปลอดภัยในการเดินรถด้วย

(มติชน, 17-4-2555)

กห.ชงครม.อนุมัติปรับฐานเงินเดือนทหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติครม.ในกรณีที่กระทรวงกลาโหมเสนอการปรับปรุงอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการ เลื่อนชั้นเงินเดือนเพื่อชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของกระทรวงกลาโหมนั้น รายละเอียดที่สำคัญของมติครม.นี้คือ มติครม.วันที่ 31 ม.ค.2555 เห็นชอบให้ปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยการปรับเงิน เดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนผู้ได้รับผลกระทบตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบาย ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2554 ที่ต้องยกระดับรายได้ขั้นต่ำของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และระดับต่ำกว่าปริญญาตรีให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,000 บาท โดยให้ดำเนินการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ในวันที่ 1 ม.ค. 2555

คณะกรรมการข้าราชการทหาร กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการทหารให้ เท่าเทียมกับข้าราชการพลเรือนสามัญที่เสนอสภากลาโหมไปเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2554 ดังนี้กรณีที่มีคุณวุฒิต่างกันให้ปรับอัตราเงินเดือนโดยคงค่าความต่างของ อัตราเงินเดือนกับคุณวุฒิหลักที่ใช้อ้างอิงโดยให้ดำเนินการเป็นสองระยะคือ วันที่ 1 ต.ค.2553 ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการทหารทุกคุณวุฒิตามแนวทางของข้า ราชการพลเรือนสามัญตามมติครม.วันที่ 16 ส.ค.2553 และวันที่ 1 ม.ค.2555 ปรับอัตราเงินเดือนเงินเดือนของข้าราชการทหารทุกคุณวุฒิตามแนวทางของข้า ราชการพลเรือนสามัญตามมติครม.วันที่ 31 ม.ค.2555

ส่วนการชดเชยแก่ข้าราชการทหารที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับอัตรา เงินเดือนแรกบรรจุโดยกระทรวงกลาโหมจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีเลื่อนชั้นเงิน เดือนแก่ข้าราชการทหารที่บรรจุเข้ารับราชการมาก่อนตามหลักการเดียวกันกับการ ชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการพลเรือนสามัญคือ การเลื่อนชั้นเงินเดือนชดเชยจะต้องไม่ทำให้ผู้เคยได้รับเงินเดือนสูงกว่า กลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าของผู้ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกันในคุณวุฒิ เดียวกันและไม่ต่ำกว่าผู้ได้รับการบรรจุใหม่ โดยการดำเนินการจะกระทำสองระยะและให้มีผลใช้บังคับพร้อมกันกับวันที่มีการ ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยใช้งบประมาณที่จะใช้ดำเนินการนั้น 952 ล้านบาทเศษ

(กรุงเทพธุรกิจ, 17-4-2555)

เตือนแรงงานไทยไปมาเลเซียตรวจเข้ม การเข้าเมืองผิดกฎหมาย

นายรัฐ จำเดิมเผด็จศึก หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางฯ นครราชสีมา แจ้งว่าจากการที่ประเทศมาเลเซีย ดำเนินนโยบายปราบปรามการเข้าเมือง และการทำงานโดยผิดกฎหมายของคนต่างด้าว มีรายงานข่าวการจับกุมคนต่างด้าวอย่างต่อเนื่องและมีคนไทยถูกจับกุมดำเนิน คดีรวมจำนวนนับร้อยรายแล้ว    สถานทูต สถานกงสุลไทย ในประเทศมาเลเซีย ยังคงได้รับแจ้งทั้งจากทางการมาเลเซีย  และคนไทยที่ถูกจับกุม  เพื่อขอรับการให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ

ล่าสุด สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ต้องทำงานอย่างหนัก ในการติดต่อกับสถานีตำรวจท้องถิ่นถึง 10 แห่ง รวมทั้งสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในรัฐกลันตัน เพื่อตรวจสอบว่ามีคนไทยถูกจับกุมดำเนินคดีอยู่หรือไม่ เนื่องมาจากคนไทยที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่ไม่เปิดเผยชื่อจริง นามสกุลจริง ไม่ต้องการให้ทางการไทยเข้ามายุ่งเกี่ยว ทำให้การประสานกับหน่วยงานของมาเลเซียเกิดข้อยุ่งยาก

หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางฯ นครราชสีมา กล่าวว่าสถิติของสถานกงสุลใหญ่ ฯ นับแต่ปลายปี 2554 จนถึงขณะนี้ คาดว่ามีคนไทยที่ถูกจับกุมในรัฐกลันตัน ด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายกว่า 20 คดี ส่วนใหญ่เป็นคนไทยจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เดินทางเข้ามาเลเซียโดยไม่มีเอกสารเดินทาง ซึ่งหากทางการมาเลเซียจับได้ จะส่งตัวขึ้นศาลและถูกปรับในอัตราสูงถึงคนละ 50,000 -100,000 บาท หากไม่มีเงินชำระค่าปรับ ผู้ต้องหาจะถูกจำคุกอย่างต่ำ 3 - 6 เดือน ที่ผ่านมา สถานกงสุลฯ ช่วยเหลือได้เพียงเจรจาขอลดหย่อนโทษและค่าปรับลงได้เล็กน้อยเท่านั้น

ทางสำนักงานฯ จึงขอเตือนคนไทยอย่าเดินทางเข้าหรือทำงานในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 17-4-2555)

สถิติฯ โชว์ค่าแรงผู้สูงอายุ ได้ค่าจ้างแค่ 3 พันกว่าบาท

สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยภาวะการทำงานของผู้สูงอายุไทย ปี 2554 พบว่า ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี มีทั้งหมด 8.3 ล้านคน ยังทำงานอยู่ 3.2 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2.9 ล้านคนอยู่ในแรงงานนอกระบบ หมายถึงเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองจากการทำงานจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครอง

โดยผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในด้านการเกษตรและประมงร้อยละ 67 พนักงานบริการและพนักงานขายในร้านค้าร้อยละ 19.9 และผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้าร้อยละ 6.8 ในส่วนของค่าจ้าง ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานในระบบจะได้รับเงินเดือนละประมาณ 12,609 บาท ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบได้เดือนละประมาณ 3,833 บาท ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบในภาคการเกษตรจะได้ค่าจ้างต่ำสุดเพียง 3,464 บาท

(อินโฟเควสท์, 18-4-2555)

ค้าปลีกวอนรัฐแก้ปม 300 บ. จ้างพาร์ทไทม์แต่จ่ายเต็มวัน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ ในนามของคณะกรรมการธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ได้ทำหนังสือส่งถึง หอการค้าไทย เพื่อให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาลต่อไปเพื่อให้พิจารณาเรื่องค่าแรง งานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันกับกลุ่มพนักงานที่ทำงานเป็นรายชั่วโมง (พาร์ทไทม์)

เนื่องจากกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างกับพนักงานที่ทำงานเต็มวัน เพราะผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีกและภาคบริการไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่พนัก งานพาร์ทไทม์ แบบเดิมเป็นเป็นรายชั่วโมงได้ แต่จะต้องจ่ายเป็นรายวัน วันละ 300 บาท เช่น ต้องการจ้างพนักงานวันละ 4 ชั่วโมง แต่ต้องจ่ายค่าจ้างเป็นรายวันทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถทำได้ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายเล็ก กลุ่มเอสเอ็มอี และภาคบริการจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะภาคบริการ มีการใช้แรงงานสูงประมาณ 10-12 ล้านคน แต่ประเมินว่า กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีพนักงานไม่ เกิน 100 คน มีบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ประมาณ 14,500 กิจการ และมีอีก 2.9 ล้านบริษัทที่ไม่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ แต่คาดว่าคงไม่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่มากนัก

สำหรับภาพรวมธุรกิจค้าปลีกไทยในปีนี้ นายฉัตรชัยประเมินว่า คงจะเติบโตประมาณ 7-8% ตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ประกอบกับไม่มีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น

ส่วนช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประเมินการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกยากมาก เพราะผู้บริโภคบางส่วนยังมีความกังวลจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปีก่อนอ ยู่ ทำให้ยังใช้จ่ายเงินไม่ปกติ แต่ในขณะนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-4-2555)

กสร.ชี้ปรับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงผิดกฎหมาย

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มธุรกิจร้านอาหารเปลี่ยนการจ้างงาน จากรายวันเป็นรายชั่วโมง เพื่อลดต้นทุนจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีกร้อยละ 40 ว่า นายจ้างไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินจากรายวันเป็นรายชั่วโมงเพราะถือ ว่าเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องมีการเจรจาตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเท่านั้น อีกทั้งการเปลี่ยนค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงก็ไม่ทำให้ต้นทุนลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง แต่มีการจ่ายค่าจ้างใน 2 รูปแบบคือ รายวัน ที่คำนวณจากวันทำงานจริง หรือรายเดือน ที่นำค่าจ้างรายวันคูณด้วย 30 วัน หรือคำนวณแบบเหมาจ่าย ส่วนการคำนวณค่าจ้างรายชั่วโมงครอบคลุมเฉพาะการจ่ายค่าโอที และการทำงานพิเศษนอกเวลาเรียนของนักเรียน นักศึกษาเท่านั้น

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดใน 18 จังหวัด เกี่ยวกับการสอบถามและร้องเรียนจากสถานประกอบการและลูกจ้างในเรื่องการปรับ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-12  เม.ย. ซึ่งพบว่ามีการร้องเรียน และสอบถามกรณีนายจ้างขอลดหรือยกเลิกสวัสดิการ โดยนำมารวมคิดเป็นค่าจ้าง การปรับลดโอที ว่าทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ กสร.จังหวัดต่างๆ เร่งทำความเข้าใจกับสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เวลา 14.00 น.

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเชิญผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี มาประชุมที่กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างและหามาตรการช่วยเหลือต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 18-4-2555)

เตือนคนไทยไปทำงานที่รัสเซีย

19 เม.ย. 55 - ด้วยกระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เกี่ยวกับคนไทยที่ลักลอบเดินทางไปทำงานที่สหพันธรัฐรัสเซียและปัญหาแรงงาน ไทยที่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง ในการนี้  กระทรวงการต่างประเทศจึงขอแจ้งเตือนคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางเข้าไปทำงานที่ สหพันธรัฐรัสเซีย โดยเฉพาะในสาขาสปาและนวดแผนไทย ดังนี้

๑. การเดินทางเข้าสหพันธรัฐรัสเซียเพื่อทำงานต้องได้รับการตรวจลงตราประเภททำ งาน Working Visa รหัส ๐๐๖ จากสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยก่อน ทั้งนี้ หากบุคคลใดที่เดินทางเข้ารัสเซียเพื่อการท่องเที่ยว ก็จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าประเทศ หรือหากจะเดินทางไปเพื่อธุรกิจก็จะได้รับการตรวจลงตราประเภทธุรกิจ แต่หากใช้โอกาสและการตรวจลงตราประเภทธุรกิจ หรือ อื่นๆ เพื่อลักลอบทำงานในรัสเซียก็จะถือว่าบุคคลนั้น เดินทางเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย  ดังนั้น หากเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องขอรับการตรวจลงตราให้ถูกต้อง

นอกจากนี้ การพำนักเกินกำหนดในรัสเซียก็ถือเป็นความผิดและต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน

๒.  ปัจจุบันมีบริษัทสปาไทยและนวดแผนไทยในรัสเซียและเขตอาณาประมาณ ๗๐ บริษัทและมีคนไทยทำงานอยู่ประมาณ ๗๙๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย เมื่อประสบปัญหาหรือประสงค์จะกลับประเทศไทยและขอรับความช่วยเหลือจากสถานเอก อัครราชทูต ณ กรุงมอสโก แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่คาดหวัง เพราะต้องเสียค่าปรับและรับผิดชอบค่าบัตรโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทยเอง

๓. ในปี ๒๕๕๔ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายกลับประเทศแล้ว ๔๐ คน และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับนายจ้างอีกกว่า ๖๐ คน  ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศขอให้คนไทยที่สนใจจะไปทำงานในรัสเซีย โปรดอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ขอให้อ่านสัญญาจ้างอย่างรอบคอบ และโปรดรายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกเมื่อเดินทางถึงประเทศรัสเซีย

ทั้งนี้ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทการตรวจลงตรา(วีซ่า) การต่ออายุวีซ่า และการเดินทางกลับประเทศไทยได้ที่เว็ปไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกที่ http://th.thaiembassymoscow.com

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th

(กระทรวงการต่างประเทศ, 19-4-2555)

ส.อ.ท.ถกแรงงานชงเลื่อนค่าจ้าง 300 บ. เป็นปี 58

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 20 เม.ย.นี้ส.อ.ท.จะหารือร่วมกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานถึงข้อคิดเห็นต่อผลกระทบการปรับเพิ่มขึ้นอัตราค่าจ้างแรง งานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนำร่อง 7 จังหวัด โดยจะเสนอให้ภาครัฐได้เลื่อนเวลาการปรับค่าจ้าง 300 บาทต่อวันที่จะมีผลทั่วประเทศ 1 ม.ค. 2556 ออกไปเป็นปี 2558 แทนเพื่อลดผลกระทบโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)
      
นอกจากนี้ควรจะมีมาตรการลดผลกระทบต่อค่าแรงที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกับเอส เอ็มอีในเรื่องของการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ลดลงจาก 30% เหลือ 23% หรือลดลงไป 7% แต่เอสเอ็มอีกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือโดยควรจะลดลง 7% เช่นกันจากขณะนี้ธุรกิจมีรายได้ 1 แสน-1 ล้านบาท เสียภาษี 15%, 1-3 ล้านบาท เสียภาษี 25% ซึ่งถ้าปรับลดลงก็จะเป็น 1 แสน-1 ล้านบาท เสียภาษี 8%, 1-3 ล้านบาท เสียภาษี 18%

ขณะเดียวกันยังต้องการให้มีซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อที่จะนำไปซื้อเครื่องจักรวงเงิน 1-2 หมื่นล้านบาท โดยให้ดอกเบี้ยที่ถูกลงประมาณ 3% ในระยะเวลา 5-6 ปี พร้อมให้ช่วยส่งเสริมในเรื่องทักษะของแรงงานให้มีทักษะมากขึ้นและโครงการ อบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อลดต้นทุนในการผลิต เช่นเดียวกับภาษีโรงเรือนที่ขณะนี้เสีย 12.5%ซึ่งเป็นอัตราที่สูงควรจะลดลงมา 40% ให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติมีความรวดเร็ว ลดขั้นตอนต่างๆ ให้สะดวกขึ้น

รวมไปถึงทบทวนกองทุนผู้พิการแก้กฎหมายให้มีความเป็นธรรมและให้สอดคล้อง กับความเป็นจริง เงินสมทบกองทุนแรงงานต่างด้าวที่มีการนำเงินเข้ากองทุนจำนวน 3.5% นั้น อยากให้มีการตั้งคณะศึกษาว่าในส่วนกองทุนนี้ไม่มีได้หรือไม่รวมถึงการลดการ ส่งค่าประกันสังคมจาก 5% เหลือ 3% เป็นต้น

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการส.อ.ท.กล่าวว่า เมื่อรัฐเลื่อนการปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาทเป็นปี 2557 ได้ก็อยากให้รัฐเลื่อนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปเป็นปี 2558 ส่วนที่จะต้องขึ้นทั่วประเทศ 1 ม.ค.นี้ แต่ 7 จังหวัดนั้นมีผลไปแล้วคงไม่มีปัญหาเพราะ 7 จังหวัดนั้นมีค่าครองชีพสูงกว่าอยู่แล้วซึ่งเวลานี้เอสเอ็มอีลำบากมากเชื่อ ว่าถ้าขึ้นทั่วประเทศจะเห็นการปิดกิจการเพิ่มแน่นอนและควรจะหามาตรการเยียว ยาผลกระทบเพราะขณะนี้รัฐไม่มีมาตรการมาดูแลใดๆ ทั้งเอสเอ็มอี 2.9 ล้านรายเหล่านี้เป็นคนไทย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-4-2555)

'เผดิมชัย' หักข้อเสนอเอกชนขอยืดขึ้นค่าแรง 300 บาท

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการรองรับการ ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะขยายเวลาไปถึงปี 2558

เพราะได้มีการยืดระยะเวลามาให้แล้ว 1 รอบคือจากวันที่1มค. เป็น1เมย.ที่ผ่านมา ดังนั้น จึงขอยืนยันตามนโยบายเดิมคืออีก70จังหวัดจะขึ้นในวันที่1มค.2556

นอกจากนี้ ช่วยผลักดันให้เกิดการจ้างแรงงานไทยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคน ขณะที่ยังมีแรงงานไทยว่างงานถึง 4% ของแรงงานทั้งหมดและเพิ่มมูลค่า ค่าจ้างแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ ในวันจันทร์ที่ 23 เม.ย.นี้ นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานซึ่งจะเสนอในส่วนของมาตราการภาษีรายได้ นิติบุคคลของเอสเอ็มอี ลดลง 7% คือกลุ่มธุรกิจที่มีกำไร 1 ล้านบาท - 3 ล้านบาท บากเดิมเสียภาษี 25% เหลือ18% และกลุ่มธุรกิจที่มีกำไร 1 แสนล้าน - 1 ล้านล้านบาท จากเดิมเสียภาษี 15% เหลือ 8%

อย่างไรก็ตาม ในการหารือวันนี้ได้รับฟังและรับรู้ปัญหาต่างๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเป็นข้อมูล และนำไปสัมมนาอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง

(กรุงเทพธุรกิจ, 20-4-2555)

ทีดีอาร์ไอเผยเหตุคนไทยว่างงาน มุ่งเรียนสูงหวังเงินเดือนเพิ่ม

20 เม.ย. 55 - นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เผยเหตุคนไทยมุ่งเรียนต่อปริญญาตรีและ ปวส. หวังได้ค่าตอบแทนเพิ่ม และอนาคตที่มั่นคงกว่า แต่กลับไม่สนองตลาดแรงงานทำให้เกิดการว่างงาน

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน (ความต้องการกำลังคน) และนโยบายการศึกษา ระบุว่าผู้จบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในอนาคตต้องมีสมรรถนะหรือคุณภาพสูงเท่า นั้นจึงจะเอาตัวรอดได้ โดยการศึกษาพบว่าตลาดแรงงานของไทยโดยเฉพาะด้านอุปสงค์มีความผันผวนเหมือน เศรษฐกิจ ทั้งนี้ หลังจากปี 2533 เป็นต้นมา ภาคอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการผลิตแบบกึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาให้เรียนฟรีจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ทำให้มีผู้เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากขึ้น และกลายเป็นกำลังแรงงานให้ภาคการผลิตและบริการได้ขยายตัวถึงร้อยละ 8 ต่อปี

นายยงยุทธ กล่าวว่า ความจริงควรจะมีผู้จบการศึกษาระดับกลางสายสามัญและสายอาชีพเข้าสู่ตลาดแรง งานมากกว่านี้ แต่ผู้เรียนทั้งสองกลุ่มกลับมุ่งเรียนต่อปริญญาตรีและ ปวส. โดยคิดว่าจะได้ค่าตอบแทนและอนาคตที่สดใส มั่นคงกว่า แต่สภาพเป็นจริงอุปสงค์ของตลาดแรงงานภาคการผลิตและบริการยังไม่สามารถขยาย ตัวได้ทันกับการเพิ่มขึ้นของผู้จบทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ ถึงแม้ในปี 2553 การขยายตัวของภาคการผลิตและบริการสามารถจ้างงาน 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสัดส่วนถึงร้อยละ 9.9 และ 5.7 ตามลำดับ ผลตามมาคือ เกิดการว่างงานทั้งในระดับ ปวส. และปริญญาตรี กระจายอยู่ทั่วประเทศ ปัญหาที่สะสมจากการใช้นโยบายการขยายสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งของภาค เอกชนและยกระดับวิทยาลัยครูเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้จบการศึกษาออกมาจำนวนมาก เกิดปัญหาการว่างงานในระดับปริญญาตรีรวมกันมากกว่า 100,000 คน ทำให้ดับฝันของผู้เรียน ปวส. และโดยเฉพาะปริญญาตรีไปจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตระหนักเรื่องนี้ดี จึงได้พยายามปรับทิศทางนโยบายการศึกษาใหม่ โดยกำหนดให้แผนการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 (2552-61) เน้นพัฒนาสมรรถนะหรือคุณภาพของผู้เรียนอย่างเร่งด่วน โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพครู คุณภาพสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการทางการศึกษาให้มีความรับผิดชอบกับผู้จบการศึกษามาก ขึ้น โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้ผู้จบสายอาชีพและอุดมศึกษามีงานทำได้มาก ขึ้นจนลดปัญหาการว่างงานในหมู่ผู้มีการศึกษาสูงได้ในช่วงการปฏิรูปการศึกษา รอบสองนี้

(สำนักข่าวไทย, 20-4-2555)

ครม.รับข้อเสนอสภาอุตฯ เลื่อนค่าแรง 300 บ.อีก 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาลส่งอีเมลถึงสื่อมวลชนว่า นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์การเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ และการเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ณ กรุงโตเกียว ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะว่า ภาคธุรกิจจีนและญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นแกนกลางการพัฒนาความ สัมพันธ์ระหว่างไทยและอาเซียน รวมถึงกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง การเดินทางมาครั้งนี้สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งจีนและญี่ปุ่น ล้วนมีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการกระชับความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน อาทิ ความร่วมมือด้านรถไฟ พลังงาน การสื่อสาร การเกษตร รวมถึงการลาดตระเวนร่วมในแม่น้ำโขง

"โดยเฉพาะไทยกับจีนตั้งเป้าผลักดันมูลค่าการค้าการลงทุนให้ทะลุแสนล้าน ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2554 ที่ 65,000 ล้านดอลลาร์" นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กรณีภาคเอกชนเตรียมยื่นข้อเสนอ 9 ข้อ เพื่อลดผลกระทบปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และขอเลื่อนขึ้นค่าจ้าง 70 จังหวัดไปเป็นปี 2558 พร้อมเสนอตั้งกองทุน 1-2 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เอสเอ็มอี ว่าต้องขอขอบคุณ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล แล้วก็มีข้อเสนอมา รัฐบาลยินดีรับฟัง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรม มีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าได้ รัฐบาลพร้อมที่จะรับมาพิจารณา แต่รัฐบาลเห็นว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น เป็นการเพิ่มศักยภาพของภาคแรงงานของประเทศไทยให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้มากขึ้น รัฐบาลรู้สึกเห็นใจทุกฝ่าย แต่ก็อยากให้ผู้ที่มีอันจะกิน เห็นใจผู้ใช้แรงงานที่หาเช้ากินค่ำบ้าง

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้มากขึ้น รวมทั้งขณะนี้รัฐบาลกำลังศึกษาแนวทางที่แน่นอนมารองรับในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลเดินทางมาเปิดตลาด ขยายโอกาสให้กว้างขึ้น สำหรับภาคเศรษฐกิจการลงทุน ผู้ประกอบการภายในก็ต้องมีความพร้อมก้าวให้ทันกับสากล และทุกฝ่ายต้องพยายามทำให้ภาคการเมืองนิ่งที่สุด โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน ต้องเลิกนิสัยเด็กช่างเอาชนะคะคาน เป็นเด็กๆ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่พยายามจะบอกว่า ทำก่อน ไปก่อน ตัดหน้าก่อน ต้องเลิกนิสัยนี้ให้ได้ และเราไม่ควรจะมาทุ่มเถียงกันด้วยเรื่องเด็กๆแบบนี้ จริงอยู่แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้นำการขับเคลื่อนนโยบาย แต่เมื่อลงมือดำเนินการแล้ว จะถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ควรสร้างการมีส่วนร่วมร่วมกัน เป็นเจ้าของร่วมกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ คนละไม้ คนละมือ รับรองประเทศเราดีแน่นอน

(กรุงเทพธุรกิจ, 21-4-2555)

ก.แรงงาน-IM” เปิดทดสอบแรงงานไทยไปญี่ปุ่นที่โคราชเตือนระวังถูกหลอก

21 เม.ย.55 - ที่อาคารโรงอาหาร โรงเรียนโคราชพิทยาคม อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายซึโตมุ โคบายาชิ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์องค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ หรือ IM พร้อมด้วย นางยุวลี ญาณเตโช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และ น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกันตรวจสอบและอำนวยความสะดวกการจัดการสอบคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึก อบรม เพื่อจัดส่งไปฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 โดยมีผู้สนใจเดินทางมาจากทั่วประเทศเพื่อเข้ารับการทดสอบคัดเลือกจำนวนทั้ง สิ้น 334 คน

นายซึโตมุ โคบายาชิ ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติประเทศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ หรือ IM เปิดเผยว่า IM ได้ร่วมกับกรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรม เพื่อจัดส่งไปฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2555 โดยผู้สมัครไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่ยังไม่มีงานทำ และต้องการเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมาย

โดยที่ผ่านมา ได้มีการเปิดรับสมัครคัดเลือกส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วหลาย พันคน และอยากฝากเตือนผู้ที่สนใจต้องการเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยว่า การส่งแรงงานไปทำงานเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น จึงยืนยันได้ว่าไม่มีผู้ใดสามารถช่วยเหลือให้เดินทางไปทำงานที่ประเทศ ญี่ปุ่นได้

นอกจากต้องเข้ารับการทดสอบตามมาตรฐานที่กำหนดผ่านเท่านั้น ซึ่งหากพบผู้ใดมาแอบอ้าง และเรียกรับผลประโยชน์ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการจับกุมได้ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ และสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และเว็บไซต์ www.overseas.doe.go.th ได้ในวัน และเวลาราชการ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-4-2555)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net