Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ซิปปอร่า เซน เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ที่มาของภาพ: เฟซบุคเพจ Naw Zipporah Sein

 

นอว์ ซิปปอร่า เซน (Naw Zipporrah Sein) ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมสมัชชาสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU)  เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ KNU โดยที่บิดาของเธอ คือ นายพล Tamla Baw ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสหภาพฯ

ซิปปอร่า เซน เป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ KNU ท่ามกลางทั้งเสียงสนับสนุนและคำปรามาส ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเชื่อมั่นในประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมาของซิปปอร่า เซนในฐานะเลขาธิการองค์กรสตรีกะเหรี่ยง (Karen Women’s Organisation -KWO) ฝ่ายที่ปรามาสเธอนั้นไม่เชื่อว่าเซนจะมีความสามารถนำองค์กรได้เท่าเทียมกับ Mahn Sha อดีตเลขาธิการ KNU คนก่อนที่ถูกลอบสังหาร

แต่เซนบอกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง กระบวนการเจรจาทางการเมืองเพื่อให้บรรลุสันติภาพนั้นมิอาจเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหากปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในระดับการตัดสินใจ เธอบอกว่าตลอดระยะเวลายาวนานของการทำสงครามประชาชนในพม่า ผู้หญิงถูกกระทำให้อ่อนแอ และต้องแบกรับปัญหามากมายที่พวกเธอไม่ได้เป็นต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าประสบการณ์ในการทำงานเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้  ทำให้ผู้หญิงมีความเชี่ยวชาญในการที่จะทำงานทางการเมืองร่วมกับผู้ชายเพื่อนำสันติสุขมาสู่สังคม

เซนเห็นความรุนแรงของสงครามมาตลอดชีวิต เธอเกิดและเติบโตในพื้นที่สู้รบของชนชาติกะเหรี่ยงกับรัฐบาลพม่า บิดาของเธอเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธ มารดาของเธอต้องพาลูกๆแปดคนหลบลี้ภัยการสู้รบอยู่เกือบตลอดเวลา เธอถูกส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองร่างกุ้งอยู่ช่วงหนึ่งและกลับมาเรียนต่อหลักสูตรครูและภาษาอังกฤษที่รัฐกะเหรี่ยง

เซนเล่าถึงความยากลำบากในการเป็นครูในพื้นที่สู้รบว่า เธอพบว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะสอนให้เด็กๆเข้าใจคำว่า “สันติภาพ และความมั่นคง” เพราะความเป็นจริงที่รายล้อมเด็กๆรวมทั้งเธออยู่ตรงนั้นคือสงคราม เกือบทุกปีในช่วงกลางเทอม โรงเรียนต้องถูกปิดลงเพราะรัฐบาลพม่าส่งทหารเข้ามาโจมตีในพื้นที่ บรรดาเด็กผู้ชายต้องถูกส่งไปแนวหน้าเพื่อช่วยดูแลผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุในหมู่บ้านของพวกเขา หลายคนไม่มีโอกาสกลับเข้าห้องเรียนอีกเลย

นอว์ ซิปปอร่า เซน สอนหนังสือในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สู้รบในรัฐกะเหรี่ยงมานานถึง 20 ปี ก่อนที่จะหนีข้ามแดนมาเป็นผู้พักพิงในค่ายผู้หลบภัยจากการสู้รบที่ชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2538 ที่ค่ายผู้หลบภัยฯแห่งนี้ นอว์ ซิปปอร่า เซน ช่วยงานฝ่ายการศึกษา โดยทำหน้าที่ฝึกหัดครูเพื่อสอนหนังสือให้เด็กๆชาวกะเหรี่ยง และเริ่มงานในฐานะผู้ประสานงานองค์กรสตรีกะเหรี่ยง (KWO) ไปพร้อมกันด้วย  เซนทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือชุมชนชาวกะเหรี่ยงในค่ายผู้หลบภัยสงคราม 7 แห่งที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และยังเสี่ยงภัยกลับเข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนกะเหรี่ยงที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่าด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงที่เป็นเลขาธิการองค์กรสตรีกะเหรี่ยง เซนได้ริเริ่มโครงการโรงเรียนผู้นำสำหรับเด็กหญิงชาวกะเหรี่ยง และจัดหลักสูตรต่างๆเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงกะเหรี่ยงโดยรวมด้วย เช่น โครงการการศึกษาของผู้ใหญ่ การพยาบาล รวมไปถึงการสร้างเซฟเฮ้าส์สำหรับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ  เธอมีบทบาทสำคัญในการจัดทำรายงานการทารุณกรรมทางเพศที่เกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง และจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ"Shattering Silence" หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “ข่มขืน ขื่นขมในความเงียบ” โดยคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 60 ปี ออง ซาน ซูจี และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

ปัจจุบัน ในฐานะเลขาธิการ KNU เซนเป็นหนึ่งในผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่า เธอบอกว่าการเจรจาที่บรรลุข้อตกลงหยุดยิงเพียงอย่างเดียวนั้นมิอาจทำให้เกิดสันติภาพได้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องถกกันในโต๊ะเจรจาโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์

“การเจรจาทางการเมืองจะต้องให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้กำหนดนโยบายที่จะเพิ่มผู้แทนสตรีในการเจรจาสันติภาพครั้งต่อๆไปกับรัฐบาลพม่าไว้แล้ว”

เซนเป็นหนึ่งในจำนวนผู้หญิง 1000 คนจากทั่วโลกที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2548 

เธอได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชน Perdita Huston Human Rights Award ปี 2550 ในฐานะที่ทำงานส่งเสริมสตรีชนชาติกะเหรี่ยงในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม

 

Perdita Huston Human Rights Award ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 โดย the United Nations Association of the National Capital Area (UNA-NCA) เพื่อเป็นเกียรติกับ Perdita Huston นักข่าวและนักเขียนสตรีชาวอเมริกันที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ทุกปีจะมีการมอบรางวัลนี้ให้กับสตรีที่มีบทบาทโดดเด่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีในประเทศกำลังพัฒนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net