Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ (22/02/2555) ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จำนวน 3.5 แสนล้านบาท และพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ก็เป็นอันรู้ผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 และ 2 ผู้เขียนจะไม่พูดเกี่ยวกับรายละเอียดเนื้อหาของคำวินิจฉัย เพราะสามารถอ่านได้จากคำวินิจฉัยของศาลอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะพูดถึงก็คือ ความเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลออกมา โดยมีการกล่าวกันว่า หากพระราชกำหนดดังกล่าวถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานวิปฝ่ายค้านที่กล่าวในที่ประชุมพรรคว่า หากพระราชกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1329828809&grpid=00&catid=&subcatid=) ด้วยความเคารพต่อความเห็นของประธานวิปฝ่ายค้าน ผู้เขียนไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับความคิดเห็นดังกล่าว ในระบบการเมืองการปกครองแบบรัฐสภานั้น หลักการที่สำคัญคือ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาหรือได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาในการบริหารประเทศ เนื่องจากรัฐสภาเป็นผู้เลือกหัวหน้ารัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง ในอีกทางหนึ่งก็ใช่ว่ารัฐบาลกับรัฐสภาจะทำงานกันอยู่เพียงสองฝ่าย หากแต่ยังมีฝ่ายตุลาการหรือศาลในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกันของแต่ละฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายจะไมก้าวก่ายอำนาจกัน สำหรับพระราชกำหนดนั้น ในทางกฎหมายแล้วต้องถือว่า เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลโดยแท้ อันมีความแตกต่างจากพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ จุดประสงค์ของการให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายโดยที่ยกเว้นการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติตามขั้นตอนปกติ ก็เป็นไปเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ เนื่องจากในบางกรณี อาทิ เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน หากฝ่ายบริหารต้องรอการออกพระราชบัญญัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ ก็จะทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันเวลาหรือเกิดความเสียหายมากขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ การให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายนั้น ก็ไม่ได้ตัดอำนาจในการตรวจสอบออกไป โดยมีทั้งการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติภายหลัง กล่าวคือ ฝ่ายบริหารก็ต้องนำพระราชกำหนดฉบับนั้น กลับเข้ารัฐสภาเพื่อขอคำรับรองจากรัฐสภา ส่วนอีกหนึ่งการตรวจสอบที่สำคัญก็มาจากฝ่ายตุลาการ คือ การวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ การตรวจสอบพระราชกำหนดโดยฝ่ายตุลาการ จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ “การตรวจสอบ” กฎหมายของฝ่ายบริหารมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดเท่านั้น หาใช่ “ความรับผิดชอบ” ต่อศาลของรัฐบาลที่มีต่อรัฐสภาไม่ หากพระราชกำหนดดังกล่าวถูกวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนดดังกล่าวก็เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องเก็บไปพิจารณาเป็นแนวทางว่า พระราชกำหนดลักษณะนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่สมควรที่จะตราขึ้นอีกในอนาคต ลองคิดดูว่าหากรัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภา เนื่องจากพระราชกำหนดขึ้นที่ตราขึ้นถูกศาลตีตกไป ในอนาคตก็คงไม่มีรัฐบาลใดตราพระราชกำหนดขึ้นอีก เพราะรัฐบาลไม่มีทางรู้เลยว่าพระราชกำหนดของตนจะขัดต่อกฎหมายตามแนวทางการตีความของศาลหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้ได้จริง นอกจากนั้นหากรัฐบาลสามารถรู้อย่างแน่ชัดว่าพระราชกำหนดของตนทุกฉบับไม่มีทางขัดต่อรัฐธรรมนูญ นั่นก็เท่ากับว่ารัฐบาลได้กลายเป็นศาลเสียเอง เช่นนี้แล้วเราจะมีศาลไว้ตรวจสอบรัฐบาลเพื่ออะไร ในเมื่อรัฐบาลทำตัวเป็นศาลเสียแล้ว สำหรับเรื่องที่รัฐบาลต้องยุบสภาผู้เขียนเห็นว่า ยิ่งไปไกลกันใหญ่ เนื่องจากในระบบรัฐสภาการยุบสภาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลกับรัฐสภามีความขัดแย้งกัน จนไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ นอกจากนั้นยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายรัฐบาลมีต่อฝ่ายรัฐสภา กล่าวคือ ฝ่ายรัฐสภาสามารถถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลด้วยการลงคะแนนไม่ไว้วางใจถอดถอนหัวหน้ารัฐบาลได้ ฝ่ายรัฐบาลเองก็ถ่วงดุลอำนาจของรัฐสภาได้โดยมีอำนาจในการยุบสภาเช่นกัน การที่ฝ่ายศาลทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจออกกฎหมายของรัฐบาล จึงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายรัฐสภาเลย เราจึงเห็นได้ว่าในระบบรัฐสภา หากรัฐบาลเสนอกฎหมายแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลจึงต้องลาออก เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา ทั้งนี้ ตามหลัก “ความรับผิดชอบ” และ “หลักความไว้วางใจ” ของรัฐบาลที่มีต่อรัฐสภา ส่วนการที่ศาลทำหน้าที่วินิจฉัยพระราชกำหนดของรัฐบาลนั้น เป็นไปตามหลัก “การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย” ดังนั้น การเสนอให้รัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภาในกรณีเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าระบบรัฐสภาไทยได้เปลี่ยนอำนาจ “การตรวจสอบ” ของศาลไปเป็นหลัก “ความรับผิดชอบต่อศาล” ของรัฐบาล ซึ่งในความเห็นผู้เขียนเป็นการแทรกแซงอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ อันเป็นการผิดหลักการปกครองในระบบรัฐสภา และยังส่งผลให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีจำเป็นเร่งด่วนของประเทศถูกบิดเบือนไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net