Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๙ คน (คนที่ลาออกไป ๑ คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก ๘ คน) มีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทนนายชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งลาออกไปเมื่อวันที่ ๑๐ เดือนเดียวกัน และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อพิจารณานำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป การกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายว่า เป็นการกระทำที่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะมีขั้นตอนใดที่จะมีการคานอำนาจของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก ๘ คน และจะต้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของวุฒิสภา ผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม ๙ คน จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จะต้องประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๒๐๔) การดำเนินการเมื่อประธานหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง เมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือก่อนครบวาระ จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งหมด จะต้องเริ่มดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลผู้จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน ๙ คน ชุดใหม่ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิมพ้นจากตำแหน่ง (๒) ในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งนอกจากกรณีพ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งหมดตามข้อ (๑) จะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลผู้จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ตามสายงานของคนที่พ้นจากตำแหน่ง ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คนเดิมพ้นจากตำแหน่ง กรณีที่จะเกิดขึ้นตามข้อ (๒) นี้ได้แก่ การพ้นจากตำแหน่งตามวาระบางส่วน และการลาออกทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนครบวาระ ฯลฯ ในกรณีที่ผู้พ้นจากตำแหน่งตามข้อ (๑) และ (๒) เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ได้รับเลือกมาใหม่ ๙ คน หรือผู้ได้รับเลือกมาใหม่และตุลาการคนเดิมที่เหลืออยู่ จะต้องประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ) หมายความว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปด้วย ไม่ใช่พ้นเฉพาะตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น การกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนเก่าทั้ง ๙ คน ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ แล้วเลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยไม่ให้ศาลฎีกาประชุมใหญ่เลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาคนหนึ่งไปแทนนายชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากศาลฎีกา และลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคสอง (๑) เพราะในกรณีผู้พ้นจากตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการเลือกผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แทนก่อน แล้วคนใหม่และคนเก่าที่เหลืออยู่ร่วมประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ คนเก่าทั้ง ๙ คน จะร่วมประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญดังเช่นที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ได้ หากจะพูดอย่างนักกฎหมายก็พูดได้ว่า ในกรณีที่ผู้พ้นจากตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะข้ามไปใช้มาตรา ๒๑๐ วรรคสี่ทันที (โดยคนเก่า ๙ คนประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ) ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๑๐ วรรคสอง ซึ่งให้สายงานเดิมของอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญไปเลือกผู้ที่จะมาแทนก่อนไม่ได้ หากใช้มาตรา ๒๑๐ วรรคสี่ทันที ก็เท่ากับมาตรา ๒๑๐ วรรคสองกลายเป็นหมันไป และการประชุมเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ กลายเป็นการประชุมของคนเก่าทั้งหมด ไม่มีผู้ได้รับเลือกให้มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่เข้าร่วมประชุมด้วย จึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๒๐๔ วรรคสาม การคานอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีกรณีประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง เป็นการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) เมื่อศาลอื่นส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลนั้นจะใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ (มาตรา ๒๑๑) (๒) เมื่อมีบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๑๒) (๓) เมื่อประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่ ๒ องค์กรขึ้นไปเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น (มาตรา ๒๑๔) (๔) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีอื่นที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง จึงไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ (มาตรา ๒๑๖ วรรคห้า) ทั้งการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็เป็นการกระทำอันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีส่วนได้เสียโดยตรง การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมไม่เป็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาดได้ การคานอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีเช่นนี้จึงอยู่ที่ขั้นตอนประธานวุฒิสภานำความขึ้นกราบบังคมทูล และคณะองคมนตรีถวายความเห็น กล่าวโดยสรุป การที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนเก่าทั้ง ๙ คน ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ แล้วเลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยไม่ให้ศาลฎีกาประชุมใหญ่เลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาคนหนึ่งไปแทนนายชัช ชลวร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากศาลฎีกาและลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคสอง (๑)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net