Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางข่าวลือสะพัดว่ารองประธานาธิบดีสายแข็ง "ทิน อ่อง มินต์ อู" ยื่นใบลาออก โดยขณะนี้ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลพม่า เช่นเดียวกับ ส.ส.พรรครัฐบาล "ออง ต่อง" ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุลอบทำร้ายขบวนรถหาเสียงของ "ออง ซาน ซูจี" เมื่อปี 2546 ก็ถูกปลดจากทีมเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยแล้วเช่นกัน 

ข่าวลือเรื่องการลาออกของรองประธานาธิบดีพม่า ทิน อ่อง มินต์ อู (อ่านข่าวย้อนหลัง) ยิ่งถูกสื่อมวลชนพม่ากล่าวถึงมากขึ้น หลังจากที่เมื่อวันศุกร์นี้ (11 พ.ค.) มีการเผยแพร่ภาพการประชุมคณะรัฐมนตรีโดยไร้เงารองประธานาธิบดีเข้าร่วมประชุม

ภาพการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่รองประธานาธิบดี "ทิน อ่อง มินต์ อู" ไม่เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งปกติทิน อ่อง มินต์ อู จะนั่งถัดจากประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ท่ามกลางกระแสข่าวลือ "ลาออก" แพร่สะพัด (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า)

ภาพที่แสดงให้เห็นว่าทิน อ่อง มินต์ อู ไม่เข้าประชุมถูกนำไปตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์รัฐบาล "นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์" ฉบับวันเสาร์ที่ 12 พ.ค. อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานหรือประกาศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลพม่าว่ารองประธานาธิบดีคนที่หนึ่ง ทิน อ่อง มินต์ อู ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือไม่ (ที่มา: นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 12 พ.ค. 55 หน้า 8)

 

โดยในเว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อวันศุกร์นี้ ได้มีการเผยแพร่ภาพการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งประธานาธิบดีเต็ง เส่งนั่งเป็นประธานการประชุม แต่ทิน อ่อง มินต์ อู ซึ่งปกติจะนั่งอยู่ถัดจากประธานาธิบดีกลับไม่ปรากฏในภาพ ซึ่งขัดกับภาพของ นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีคนที่สอง ซึ่งยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งเดิม

โดยภาพนี้ ยังถูกเผยแพร่ซ้ำในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ฉบับวันเสาร์ (12 พ.ค.) อีกด้วย

ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่า ทิน อ่อง มินต์ อู อายุ 61 ปี ได้ยื่นใบลาออกตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ หลังจากที่เขาเพิ่งกลับมาจากการรักษาตัวที่สิงคโปร์ โดยรองประธานาธิบดีผู้นี้ไม่ปรากฏตัวในที่สถานะ หรือในสื่อของรัฐเลยนับตั้งแต่มีกระแสข่าวการลาออกของเขา

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอิระวดี ของสื่อมวลชนพลัดถิ่นพม่าก็รายงานข่าวว่านายออง ต่อง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส. พรรครัฐบาลในสภา "สายแข็ง" ก็ออกจากทีมเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยแล้วเช่นกัน โดยเจ้าตัวให้เหตุผลเรื่องสุขภาพ

ทั้งนี้แม้ว่าก่อนหน้านี้ ออง ต่อง จะประสบความสำเร็จในการเจรจาหยุดยิงกับกองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA/SSPP) และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) แต่คาดว่าเหตุผลที่ออง ต่อง ถูกปลดจากทีมเจรจาสันติภาพของรัฐบาลพม่า เนื่องจากเขาไม่สามารถเจรจากับกองกำลังแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ในรัฐคะฉิ่นได้ ซึ่งกองทัพพม่าเข้าไปรบในรัฐคะฉิ่นมากว่า 11 เดือนแล้ว และภาพของออง ต่อง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับกรณีนำมวลชนผู้สนับสนุนรัฐบาลไปทำร้ายขบวนรถหาเสียงของนางออง ซาน ซูจี ที่หมู่บ้าน "เดปายิน" ทางตอนเหนือของพม่า เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2546

ส่วนข่าวลือเรื่องการลาออกของรองประธานาธิบดี "สายแข็ง" นั้น สำนักข่าวอิระวดี รายงานด้วยว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลเองก็ยังไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับตำแหน่งของเขา กระทั่งมีการห้ามสื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานข่าวดังกล่าว โดยอิระวดียังให้ความเห็นด้วยว่าภาพล่าสุดจากเว็บไซต์ทำเนียบประธานาธิบดีอาจจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทิน อ่อง มินต์ อู ลาออก แต่อย่างไรก็ตามผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองพม่าถือเอาภาพดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญ

สาเหตุการลาออกของทิน อ่อง มินต์ อู ยังมีหลายกระแส โดยแหล่งข่าวซึ่งใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่าอ้างว่าเพื่อให้ทิน อ่อง มินต์ อู ไปทำหน้าที่อื่น หรือลดบทบาทความรับผิดชอบลง เนื่องจากเกรงว่าการดำรงตำแหน่งของทิน อ่อง มิ้นต์ อู จะเป็นอุปสรรคต่อการที่ชาติตะวันตกจะพิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่า

ทั้งนี้ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลทหารพม่าให้ความนิยมชมชอบต่อทั้งเต็ง เส่ง และทิน อ่อง มินต์ อู และเลือกพวกเขาให้เป็นผู้นำพรรคการเมืองที่กองทัพสนับสนุนคือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ลงเลือกตั้งเมื่อปี 2553 นอกจากนี้ยังเชื่อกันด้วยว่า พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย เป็นผู้วางตัวทั้งสองให้มีตำแหน่งในรัฐบาลปัจจุบัน

อิระวดี รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ยังมีข่าวติดต่อกันมาตั้งแต่ปีก่อนว่าทั้งเต็ง เส่ง และทิน อ่อง มินต์ อู เกิดไม่ลงรอยกันเนื่องมาจากความแตกต่างของทั้งสองคน มากกว่าที่จะเป็นเรื่องแย่งชิงอำนาจ โดยเต็ง เส่งมีภาพลักษณ์คอรัปชั่นน้อยที่สุดในบรรดาอดีตผู้นำทหารพม่า โดยเขาและครอบครัวจนถึงบัดนี้ยังไม่มีข่าวออกมาว่ามีสายสัมพันธ์ใดกับนักธุรกิจใหญ่ในพม่า

นอกจากนี้ อิระวดียังรายงานด้วยว่า ตัวประธานาธิบดีเต็ง เส่งออกก็ไม่ได้รับการสนับสนุนภายในรัฐบาลเท่าใด โดยเป็นที่รู้กันว่ามีผู้ไม่พอใจการทำงานของรัฐมนตรีในทำเนียบประธานาธิบดีเท่าใด ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและเรื่องคอรัปชั่น แม้แต่ตัวประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เองก็ถูกวิจารณ์จาก "ฉ่วย มาน" อดีตผู้นำรัฐบาลทหารคนสำคัญ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาประชาชนพม่า โดยฉ่วย มาน วิจารณ์เต็ง เส่ง ว่าดำเนินการปฏิรูปอย่างเชื่องช้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net