Skip to main content
sharethis

รบ.กัมพูชายันไม่ถอนทหารจากพื้นที่พิพาทจนกว่าจะมีผู้สังเกตการณ์จากอินโดฯ ในฐานะตัวแทนอาเซียนเข้ามาปฏิบัติภารกิจ สื่อกัมพูชามองสองประเทศไม่ถอนทหารจากพื้นที่พิพาทในเร็ววัน ส่วนสื่อตะวันตกประเมิน ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาอาจดีขึ้นใน รบ.ใหม่ “นิวยอร์กไทมส์” ชี้กลุ่มชาตินิยมไทยถึงคราวพ่าย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค. 54) สืบเนื่องจากคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่สั่งให้พื้นที่พิพาทรอบปราสาทพระวิหารเป็นเขตปลอดทหารชั่วคราวนั้น จนในขณะนี้ ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชายังคงไม่มีการดำเนินมาตรการตามคำสั่งของศาลโลกใดๆ ที่ชัดเจน โดยวานนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีรักษาการ ได้แถลงว่า เนื่องจากการถอนทหารในบริเวณดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการหารือกันทั้งจากฝ่ายไทยและกัมพูชา และได้มอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมไปหารือในแนวทางต่อไป วันนี้ (20 ก.ค.) หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชา ได้รายงานคำพูดของ Phay Siphan โฆษกคณะรัฐมนตรีของกัมพูชาที่เห็นว่า ทั้งสองประเทศสามารถดำเนินการถอนทหารได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการหารือใดๆ และย้ำว่า ทางกัมพูชา จะไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท จนกว่าผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียจะมาถึงในพื้นที่ดังกล่าว และรายงานว่า ทางแม่ทัพภาคที่สามของกัมพูชา Srey Doek ยังไม่ได้รับคำสั่งให้มีการดำเนินการถอนทหารเช่นกัน นอกจากนี้ สม รังสี (Sam Rainsy) ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชา ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลฮุนเซน โดยระบุว่า คำสั่งของศาลโลกเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายของรัฐบาลฮุนเซน และได้เรียกร้องให้รัฐบาลฮุนเซนลาออก เนื่องจาก”ไม่อาจดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีในการรักษาดินแดน และปกป้องผลประโยชน์ของกัมพูชาจากการรุกรานของต่างชาติได้... หลังจากที่ถูกประเทศไทยรุกรานและล่วงล้ำพรมแดนของประเทศไทยมากว่าสามปี” และมองว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก เป็นการนำเงื่อนไขเดียวกันมาใช้ทั้งต่อผู้บุกรุกและผู้ที่ถูกกระทำ ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า เป็นการยากที่จะฟันธงว่าทั้งสองฝ่ายจะยึดถือคำสั่งของศาลโลกหรือไม่ และมองว่า ชัยชนะในครั้งนี้ เป็นของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เท่าๆ กับเป็นของอินโดนีเซีย เนื่องจากคำตัดสินนี้ จะสามารถช่วยให้อินโดนีเซียใกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสองประเทศได้ง่าย มากขึ้น ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยสามารถชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล โดยที่กัมพูชาเองมีความใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เคยแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ จึงน่าจะดีขึ้นจากในสมัยของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เป็นคู่ปรับของทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ วิเคราะห์ต่างออกไปว่า ถึงแม้คำตัดสินดังกล่าวจะออกมาแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาก็ยังคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมองว่า ประเด็นพิพาทเรื่องเขาพระวิหารนี้ ยังคงเป็นประเด็นให้กลุ่มทางการเมืองในประเทศเอามาใช้กล่าวหาอีกฝ่ายว่าขาย ชาติให้แก่กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายชาตินิยมไทยก็ล้มเหลวในการได้รับความสนับสนุนต่อการจุดประเด็นดังกล่าว และสุดท้ายต้องค่อยๆ สลายกำลังไปในที่สุด นอกจากนี้ ความไม่ประสบความสำเร็จดังกล่าว ยังสะท้อนจากการที่ สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร ผู้ซึ่งใช้ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารในการหาเสียง ไม่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาเลย หมายเหตุ: แก้ไขข้อมูลล่าสุด เมื่อ 21 ก.ค.54 10.50น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net