Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความจาก “จันทราภา จินดาทอง” วันที่ “บุญสม” อดีตคนไร้สัญชาติรอคอย ในวันที่เขาได้สิทธิสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2551 บุญสม ไม่ได้เป็นคนไข้ของโรงพยาบาลอุ้มผาง แต่พวกเรารู้จักเขาในฐานะที่เป็นเด็กนักเรียนทุน(ส่วนตัว)ของหมอตุ่ย (นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง) ตอนนี้บุญสมกำลังเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ชั้นปีที่ 1 แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ ที่ N-TECH เทคโนภาคเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ บุญสม มาถึงมือฉันด้วยเพราะข้อเท็จจริงของบุญสมนั้น เขาเป็น “คนไทยตามมาตรา 23” หรือเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ยังไม่สามารถใช้สิทธิความเป็นคนไทยได้ จากการย้อนไปตรวจสอบข้อมูลของบุญสม โดยการทดลองใช้แบบสอบถาม[1] ทำให้พบว่าบุญสม เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2532 ที่บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 1 ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลอุ้มผาง) คลอดโดยหมอตำแย ชื่อ นางสีวรรณา ดวงคำ และมีพยานรู้เห็นคือ นายป๊ก จิตธรรม เป็นเพื่อนบ้าน ปัจจุบันนายบุญสมอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 365 หมู่ 1 ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ในทะเบียนบ้านสำหรับคนอยู่ชั่วคราว อยู่ที่ 178/ช หมู่ที่ 9 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ออกโดยสำนักทะเบียนกลาง นายบุญสมเป็นบุตรชายคนที่ 4 ของนางบุญมี ถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (ไม่ระบุเลข) จากปากคำของบุญมีผู้เป็นแม่ บุญสมเกิดเมื่อ พ.ศ. 2494 ที่ตำบลอุ้มผางโดยหมอตำแยทำคลอดให้ที่บ้าน เป็นลูกของนายผัด และนางน้อย ส่วนพ่อของบุญสมคือ นายขิ่น เชื้อชาติพม่า เกิดเมื่อ พ.ศ. 2495 บุญมีไม่แน่ใจว่าสามีของเธอเกิดที่ไหนในพม่า และปัจจุบันนายขิ่นเสียชีวิตไปแล้ว บุญสมมีพี่สาว 2 คนคือ ณัฐกาณ เกิดเมื่อ 2519 และดาวเรือง เกิดเมื่อ 2522 และมีพี่ชายหนึ่งคนคือ นายศราวุฒิ เกิดเมื่อ 2526 ทั้งสามคนถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 หลังได้รับแบบสอบถามคืนและสอบปากคำเพิ่มเติม พบว่า ไม่สามารถหารายละเอียดหรือบุคคลมายืนยันการเกิดในประเทศของบุญมีผู้เป็นแม่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับพ่อของบุญสม เมื่อนำเรื่องของบุญสมไปปรึกษากับปลัดทะเบียนอำเภออุ้มผาง ก็ได้รับคำแนะนำให้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ณ สำนักทะเบียนของเทศบาลตำบลอุ้มผาง เอกสารพร้อมรายชื่อพยานที่รวบรวมไว้ ก็ไปถึงเทศบาลตำบลอุ้มผางในวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2553 พยานที่ยื่นชื่อไปในวันนั้น ได้แก่ หมอตำแย เพื่อนบ้าน พยาบาลวิชาชีพ ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยขั้นตอนก็คือ วันนั้นปลัดทะเบียนซึ่งรับคำร้อง จะทำการสอบปากคำพยานและรวบรวมเอกสารเสนอต่อนายทะเบียนอำเภอ(นายอำเภออุ้มผาง) เพื่อพิจารณาต่อไป กว่ากระบวนการจะสิ้นสุดกลับใช้เวลาต่อเนื่องกว่าที่คาดคิดไว้ จนนายทะเบียนอำเภออุ้มผาง ได้มีคำสั่งให้นายทะเบียนเทศบาลตำบลอุ้มผางจัดทำประชาคมชาวบ้านในชุมชนที่นายบุญสมอาศัยอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพื่อความรัดกุมในการอนุมัติ” ค่ำวันที่ 10 มีนาคม 2554 ณ ที่ทำการชุมชนแผ่นดินดอย ตำบลอุ้มผาง คือวันนัดทำประชาคม วันนั้น-บุญสมถึงกับหลั่งน้ำตา พร้อมกับให้สัญญาว่าจะเป็นคนดีหากได้รับการพิจารณาให้ลงรายการสัญชาติไทย หลังจากผู้เข้าร่วมทำประชาคมทั้งหมดยกมือรับรองว่า นายบุญสม “เป็นคนที่ชุมชนรู้จักและอาศัยในพื้นที่จริง” วันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2554 นายบุญสมเดินทางไปยังห้องทะเบียนที่ว่าการอำเภออุ้มผาง เพื่อเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านเลขที่ 615 หมู่ 1 ตำบลอุ้มผาง มีเลขประจำตัวประชาชน 8-6308-73001-42-7 และยื่นคำร้องขอจดทะเบียนชื่อสกุล กลายเป็น นายบุญสม ศักดิ์ดาศิริชัย วันเวลาที่รอคอยมาร่วมยี่สิบปีของชายคนหนึ่ง วันที่เขาเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียน แม้จะมีเสียงเย้ยหยันว่า “จะเรียนไปทำไม ถึงจบก็ไม่มีงานดีๆ ทำเพราะไม่ใช่คนไทย” ได้เป็นวันที่พิสูจน์ว่าเมื่อจบสิ้นกระบวนการพิสูจน์ มันได้ยืนยันว่าคนหนึ่งคนสามารถ “ใช้สิทธิในสัญชาติไทย” ได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว นับจากนี้ [1] แบบสอบถามเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ข้อเท็จจริงเพื่อการจัดการปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net