Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีที่กองทัพบกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่ออาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สะท้อนให้เห็น “ปัญหาขัดแย้งเชิงสัญลักษณ์” ที่แหลมคมและลึกซึ้งอย่างยิ่ง นั่นคือปัญหาขัดแย้งระหว่างสัญลักษณ์แห่ง “เสรีภาพ” กับสัญลักษณ์แห่ง “อำนาจนิยม” ไม่เพียงแต่อาจารย์สมศักดิ์จะเป็นนักวิชาการที่มีเสรีภาพทางวิชาการรองรับ หากยังเป็นอาจารย์แห่ง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์แห่งการก่อเกิดความคิด จิตวิญญาณ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่จะเป็นอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เชื่อกันว่ามีภูมิคุ้มกันเสรีภาพทางวิชาการสูงสุดของประเทศนี้ หากอาจารย์สมศักดิ์ยังเป็นนักวิชาการหนึ่งเดียวในประเทศนี้ที่ซื่อตรงต่อสัจจะและหลักการประชาธิปไตยอย่างยิ่งในประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับความเป็นประชาธิปไตย และไม่เพียงแต่จะซื่อตรงต่อสัจจะและหลักการประชาธิปไตยอย่างยิ่ง หากอาจารย์สมศักดิ์ยังเป็นเพียงนักวิชาการคนเดียวที่แสดงออกถึงความกล้าหาญทางวิชาการ ด้วยการพยายามใช้ทักษะความรู้ความสามารถ ศิลปะ พลังงาน และ/หรือจิตวิญญาณที่รักความถูกต้องทั้งหมดที่ตนมีเพื่อริเริ่มและอภิปรายประเด็นสถาบันอย่างสุดเส้นขอบเขตของเสรีภาพทางวิชาการที่มีอยู่ และเท่าที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องจะเปิดช่องให้พูดหรือเขียนออกมาได้ ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบอาจารย์สมศักดิ์ก็ตาม แต่ไม่มีใครอาจปฏิเสธได้อย่างมีเหตุผลว่า อาจารย์สมศักดิ์ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยฉพาะในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 5 ปีมานี้ ในสถาการณ์ที่กระแสความไม่พอใจต่อการนำสถาบันกษัตริย์มาเครื่องมือทางการเมือง จนเกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบัน 8 ข้อของอาจารย์สมศักดิ์ คือข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่จะทำให้สถาบันมั่นคงภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่จะทำให้ทั้งสถาบันกษัตริย์และประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต่าง win-win ด้วยกันทุกฝ่าย แต่ทว่าเมื่อมองในด้านกลับกัน กองทัพย่อมคือสัญลักษณ์แห่ง “อำนาจนิยม” ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเสรีภาพและประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงเพราะว่าวิธีคิด รูปการจิตสำนึก หรือวัฒนธรรมของกองทัพมีธรรมชาติ หรือ “เนื้อแท้” (essence) ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยอยู่แล้ว หากทว่าประวัติศาสตร์ของกองทัพไทยในมิติที่เกี่ยวพันกับเสรีภาพและประชาธิปไตย คือประวัติศาสตร์แห่งการก่อรัฐประหาร และการปราบปรามประชาชนฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยตลอดมา ฉะนั้น การที่กองทัพออกโรง หรือ “ตบเท้า” เรื่องปกป้องป้องสถาบัน แต่เลือกที่จะออกโรงหรือตบเท้าปกป้องสถาบันเฉพาะจากการใช้เสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการ หรือจากการวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้าม ทว่าไม่สนใจปกป้องสถาบันจากการที่อีกฝ่ายอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง (และกองทัพเองก็อ้างสถาบันเพื่อทำรัฐประหาร 19 กันยา 49 เป็นต้น) จึงเป็นการสะท้อนภาพเชิงสัญลักษณ์ “เสรีภาพ VS อำนาจนิยม” อย่างชัดเจนยิ่ง หากบทบาทของกองทัพไม่ใช่บทบาทของ “อำนาจนิยม” กองทัพย่อมชั่งน้ำหนักได้ว่า ระหว่างการที่นักวิชาการและประชาชนวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน กับการแอบอ้างสถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองและทำรัฐประหาร อย่างไหนก่อความเสียหายแก่สถาบันมากกว่า หรืออย่างไหนที่จะปกป้องสถาบันให้มั่นคงภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมากกว่า กล่าวอย่างจำเพาะเจาะจง ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบัน 8 ข้อ ของอาจารย์สมศักดิ์กับการที่กองทัพอ้างสถาบันเพื่อทำรัฐประหาร อย่างไหนกันแน่ที่ทำให้สถาบันและประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยต่าง win-wjn ด้วยกันทุกฝ่าย! และหากบทบาทของกองทัพไม่ใช่บทบาทของอำนาจนิยม กองทัพย่อมรู้ว่าหน้าที่ของกองทัพในการปกป้องสถาบันนั้นหมายถึง “การปกป้องสถาบันจากการรุกรานของอริราชศัตรู” ไม่ใช่การปกป้องสถาบันจากการวิพากษ์วิจารณ์ “ด้วยเหตุผล” ของนักวิชาการและประชาชนที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตย ฉะนั้น การที่กองทัพออกโรงแจ้งข้อหาหมิ่นฯ แก่นักวิชาการผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย จึงสะท้อนปรากฏการณ์ที่อำนาจนิยมกดขี่เสรีภาพ ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายทั้งต่อนักวิชาการ ปัญญาชน สื่อ รัฐบาลรักษาการ นักการเมืองที่รักประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม ประชาชนทุกคน หรือท้าทายต่อ “ภูมิปัญญา” ของสังคมไทยทั้งสังคมในท่ามกลางการจับตามองของนานาชาติ โจทย์ใหญ่ดังกล่าวนี้ท้าทายว่า เราหรือสังคมเราจะเลือกอะไร ระหว่างเสรีภาพ/ประชาธิปไตย กับอำนาจนิยม? ในอดีตเราสมยอม หรือยินยอมให้อำนาจนิยมเลือกทางเดินให้เราตลอดมา จนพวกอำนาจนิยมเชื่อโดยความเคยชินว่า เขามี “ความชอบธรรม” ในการเข้ามาแทรกแซงหรือเลือกทางเดินให้กับเรา การฟ้องนักวิชาการที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยก็คือบทบาทตามความเคยชินดังกล่าว พวกเขาจึงไม่หวั่นไหวว่านักวิชาการหรือเสื่อจะร่วมลงชื่อต่อต้าน ออกแถลงการณ์ต่อต้าน หรือวิจารณ์บทบาทของพวกเขาอย่างไร เพราะจากประสบการณ์ของพวกเขาใครมีกำลังและอาวุธอยู่ในมือย่อมเป็นฝ่ายชนะเสมอ สำหรับพวกเขา “อำนาจคือความถูกต้อง” แต่ทว่าวันนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนได้ลิ้ม “รสเสรีภาพ” ตามกระแสโลกาภิวัตน์ จนมีประสบการณ์ใน “ความเป็นมนุษย์” ที่สมบูรณ์มากขึ้น สังคมไทยจึงไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว หากฝ่ายอำนาจนิยมไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติตามความเคยชินเดิมๆ และไม่มีวุฒิภาวะ “พอเพียง” ที่จะเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลบนพื้นฐานของเสรีภาพทางวิชาการ ก็เท่ากับผลักดันให้สังคมถึงทางตัน และเมื่อสังคมถึงทางตัน “อำนาจนิยม” ย่อมไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net