Skip to main content
sharethis

6 พ.ค. 54 - พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงเรียกร้องผู้นำอาเซียนซึ่งจะพบกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 18 ณ กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย ให้ดำเนินการยกเลิกเขื่อนไซยะบุรีใน สปป.ลาวโดยทันที การเรียกร้องนี้ได้รับการสนับสนุนจากเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ASEAN Civil Society Conference (ACSC)/ ASEAN Peoples’ Forum (APF) ซึ่งจัดขึ้นในกรุงจาร์กาต้าเช่นเดียวกัน ในระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 1,300 คน พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงและแนวร่วมจี้รัฐบาลลาวให้หยุดการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่เขื่อน เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยกเลิกแผนการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี การเรียกร้องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากองค์กรภาคประชาสังคมเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน ซึ่งได้ผลักดันให้เกิดเสาหลักที่สี่ด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียนมาตั้แต่ปี 2552 เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล ได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมวาระพิเศษเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ไฟเขียวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งจะสร้างบนลำน้ำโขงสายหลักในเขตแดนทางตอนเหนือของ สปป.ลาวหรือไม่ ในการประชุม ลาวเสนอให้เดินหน้าเขื่อนต่อไป แต่ไทย กัมพูชาและเวียดนามขอให้ยืดกระบวนการตัดสินใจออกไปอีก เพราะยังหวั่นเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน พร้อมเสนอให้ศึกษา และปรึกษาหารือเพิ่ม ทั้งนี้ ทั้งสี่รัฐบาลได้เห็นพ้องกันว่าจะเลื่อนการตัดสินใจให้เข้าสู่การประชุมในระดับรัฐมนตรีแทน อย่างไรก็ตาม พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงวิตกว่า ในความเป็นจริง โครงการกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า เนื่องจากมีรายงานข่าวสืบสวนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์วันที่ 17 เมษายน ซึ่งได้เผยให้เห็นว่างานก่อสร้างเบื้องต้นของเขื่อนไซยะบุรีได้ดำเนินไปแล้วในพื้นที่ นอกจากนั้นกระบวนการหารือต่อไปในระดับภูมิภาคก็ยังคงคลุมเครือ สดใส สร่างโศก ตัวแทนจากเครือข่ายสิ่งแวดล้อมจากอีสานซึ่งได้เข้าร่วมการสืบพยานภาคประชาชน (Peoples’ Testimony) กรณีเขื่อนไซยะบุรีซึ่งจัดขึ้นในเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนได้กล่าวในเวทีว่า “กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนควรจะต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าเขื่อนไซยะบุรีเป็นมหันตภัยต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขง และควรจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้” นอกจากนี้ ในเวทีเดียวกัน หวี่ ถิ แค็ง ผู้ประสานงานของเครือข่ายแม่น้ำเวียดนามกล่าวว่า “แม่น้ำโขงไม่ควรจะถูกใช้เป็นสนามทดลองในการพิสูจน์หรือเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อาเซียนควรจะมีบทบาทในการทำให้พันธมิตรด้านการพัฒนาร่วมกันส่งเสริมทางเลือกใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำและพลังงานของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่งคั่งของภูมิภาคอาเซียน” อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกเสนอขึ้นมาในเวทีอาเซียนภาคประชาชน/ การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน คือ ความจำเป็นที่จะต้องทบทวนแผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนโครงข่ายพลังงานอาเซียน (ASEAN Power Grid) ผู้เข้าร่วมให้ความเห็นว่าแผนดังกล่าวควรจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของแต่ละประเทศในอาเซียน และอาเซียนโดยภาพรวม มากกว่าที่จะคอยสนองผลประโยชน์ของภาคเอกชน ที่ผ่านมา กลุ่มต่างๆ จากภูมิภาคแม่น้ำโขงได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี และขอให้อาเซียนมีบทบาทในการแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขงมากขึ้น “เขื่อนไซยะบุรีจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการดำรงชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของประชาชนนับล้านในภูมิภาคที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง” ชิต สัม อาท จากเอ็นจีโอ ฟอรัม กัมพูชากล่าว “ด้วยเหตุผลนี้ เราขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนเข้ามาตรวจสอบเขื่อนไซยะบุรีด้วย” “เราขอให้ผู้นำอาเซียนแสดงความมุ่งมั่นต่อการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคด้วยการเรียกร้องให้มีการยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี” ชิง เล เหวียน จากองค์กร People and Nature Reconciliation กล่าว ความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในอาเซียนและคณะกรรมการแม่น้ำโขงไม่อาจเป็นจริงได้ หากประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตามกระบวนการตัดสินใจที่เห็นพ้องร่วมกัน และไม่เคารพผลประโยชน์ที่จำเป็นต้องมีร่วมกัน” “คำพูดและการกระทำของรัฐบาลลาวแสดงให้เห็นว่าลาวจะผลักดันเขื่อนนี้ต่อไป แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านจะแสดงความไม่สบายใจเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดจากเขื่อน หรือมีข้อตกลงร่วมกันของภูมิภาคว่าจะให้ระดับรัฐมนตรีตัดสินใจแทน” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว “การที่รัฐบาลลาวเพิกเฉยต่อข้อตกลงร่วมกัน และไม่ฟังเสียงคัดค้านเขื่อนของคนอื่นจะทำให้ภูมิภาคเกิดความตึงเครียดยิ่งขึ้น และทำให้วิถีชีวิตของคนริมโขงนับล้านต้องพบกับหายนะ” แม่น้ำโขงมอบทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ให้กับประชาชนในภูมิภาค แม่น้ำโขงจึงเป็นศูนย์กลางการดำรงชีพของคนนับล้าน และเป็นดั่งเส้นหล่อเลี้ยงชีวิตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม่น้ำโขงมีความสำคัญต่อชีวิต นิเวศวิทยา และวัฒนธรรมของภูมิภาค ดังนั้นการปกป้องแม่น้ำโขงจึงต้องเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจให้ความสำคัญสูงสุดเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นการปกป้องความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นการสร้างความผาสุกและมั่งคั่งให้กับภูมิภาค สามารถดูแถลงการณ์ถึงอาเซียนของพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงที่: http://www.savethemekong.org/admin_controls/js/tiny_mce/plugins/imagemanager/files/ASEAN_Thai3May11.pdf ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดูที่เว็บไซต์ www.savethemekong.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net