Skip to main content
sharethis

จัดเวทีประชาสังคม/ภาคประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) ที่กัมพูชา หลังต้องย้ายที่จัดงานถึง 3 ครั้ง โดยอภิปรายกันหลายหัวข้อ ตั้งแต่เรื่องเพศสภาพไปจนถึงเรื่องความมั่นคง พร้อมนำเสนอ "ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน" ฉบับประชาชน หวังใช้คู่ขนานไปกับฉบับที่ผู้นำอาเซียนจะลงนามในวันที่ 18 พ.ย.

พนมเปญ  - เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการจัดเวที "การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/ภาคประชาชนอาเซียน" (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples' Forum 2012) หรือ ACSC/APF ที่ศูนย์ SOVANN KOMAR ชานกรุงพนมเปญ โดยในวันเปิดงานมี Sok Sam Oeun ผู้อำนวยการบริหาร Cambodian Defenders Project

โดยระหว่างกล่าวเปิดงาน นาย Sok Sam Oeun กล่าวขออภัยที่ต้องย้ายที่จัดงานหลายครั้ง เนื่องจากเจ้าของสถานที่มาขอยกเลิกสัญญาจัดงาน ทำให้ต้องหาสถานที่ใหม่ เขากล่าวว่า "ตามกฎหมายกัมพูชา ไม่มีกฎหมายใดห้ามการรวมตัวแบบนี้ ทั้งการจัดเวิร์คชอบ หรือประชุม กัมพูชามีแต่กฎหมายห้ามการชุมนุม แต่ในวันนี้ไม่ได้เป็นจัดการชุมนุม เราแค่มาประชุม อภิปราย และพูดคุยกันเท่านั้น"

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ จากมูลนิธิศักยภาพชุมชน และกรรมการอำนวยการ การประชุม ACSC/APF ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลกัมพูชาได้ปิดกั้นไม่ให้มีการรวมตัวของประชาชน ทั้งกรณีของสมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน "AGPA" ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตัดไฟทำให้การประชุมไม่สามารถใช้เครื่องเสียงได้ และแม้เจ้าหน้าที่จะยังไม่ใช้ความรุนแรง แต่เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ปิดกั้นอย่างมากในการให้ประชาชนมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เพื่อนำเสนอข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่นเดียวกับการประชุม "ACSC/APF" ต้องย้ายที่ 3 ครั้งเพราะเจ้าของสถานทีปฏิเสธไม่ให้ใช้ เพราะมีการติดต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐขอไม่ให้มีการใช้สถานที่

ทั้งนี้รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ไม่สมควรจะเกิดขึ้น เพราะภาคประชาชนอาเซียนถูกบรรจุอยู่ในกฎบัตรอาเซียน ว่าการทำงานของอาเซียนทุกอย่างจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ในความเป็นจริงอาเซียนไม่ได้สนับสนุนประชาชนและไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนพูดคุยเลย

นอกจากนี้ กรณีที่จะมีการออกปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งจะมีการลงนามในวันที่ 18 พ.ย. โดยผู้นำประเทศของอาเซียนนั้น ภาคประชาชนที่ติดตามปฏิญญานี้เห็นว่า ปฏิญญาที่จะออกมานี้ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ทั้งนี้อาเซียนมักอ้างว่ามีค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคมีความต่างจากค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนของยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ค่านิยมสิทธิมนุษยชนในโลกนี้มีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ไหน นับถือศาสนาใด ทั้งนี้กรอบแนวคิดที่มีความต่างกันจึงทำให้การยกร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของภาครัฐเน้นไปที่ตัวสิทธิมนุษยชนที่ตัวกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งมองว่าสิ่งนี้จำกัดการเคารพสิทธิมนุษยชน จึงมีการผลักดันและยกร่างอีกฉบับเป็นร่างสิทธิมนุษยชนอาเซียนฉบับประชาชน โดยจะมีพิจารณากันในการประชุม ACSC/APF ปฏิญญาภาคและภาคประชาชน เอกสารสำคัญของอาเซียนที่จะใช้คู่กันไป ทั้งปฏิญญาสิทธิมนุษยชนจากรัฐ และฉบับที่มาจากประชาชน

ทั้งนี้ตลอด 3 วันของการประชุมนอกจากการเสวนาที่เวทีหลัก แล้วจะมีการแบ่งหัวข้อสัมมนาย่อยออกเป็นหลากหลายประเด็นทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การค้ามนุษย์ สิทธิมนุษยชน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ เยาวชน สันติภาพ ความมั่นคง การศึกษา การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในอาเซียน และในวันสุดท้ายของการประชุมจะมีการออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งรวบรวมมาจากข้อเสนอของเวทีประชุมดังกล่าว มีในวันศุกร์นี้จะมีการนำเสนอปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนฉบับภาคประชาชน และกรอบของกลไกการติดตามและตรวขสอบข้อเสนอที่มาจากแถลงการณ์ร่วม

สำหรับการประชุม ACSC/APF ดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในหลายการประชุมที่จัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มประชาสังคมจากกัมพูชาและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการจัดคู่ขนานไปกับการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่มีรายงานด้วยว่าการประชุมของ "สมัชชาประชาชนรากหญ้าอาเซียน" หรือ "(ASEAN Grassroots People's Assembly - AGPA)" ก็ถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net