Skip to main content
sharethis
  
ชื่อบทความเดิม: เบื้องลึก เบื้องหลัง ปฏิกิริยาของเฟซบุ๊กต่อวิกฤตตูนิเซีย

แปลจาก "
The Inside Story of How Facebook Responded to Tunisian Hacks" (http://www.theatlantic.com/technology/archive/2011/01/the-inside-story-of-how-facebook-responded-to-tunisian-hacks/70044)

โดย ทิวสน สีอุ่น

 

 

 
เมื่อวันคริสต์มาสที่ผ่านมา โจ ซัลลิแวน ผู้บริหารฝ่ายความปลอดภัยของเฟซบุ๊กพบว่ากำลังเกิดเหตุไม่ชอบมาพากลในตูนิเซีย เริ่มมีการรายงานว่ามีหน้าเฟซบุ๊กที่ใช้ประท้วงทางการเมืองถูก "แฮ็ก" ซัลลิแวนเล่าว่า "ตอนนั้นเราได้รับรายงานว่ามีหลายคนเห็นบัญชีผู้ใช้ของตนเองถูกสวมรอยแล้วลบทิ้ง"
 
สำหรับชาวตูนิเซียแล้ว มันแปลว่า "อัมมาร์" กำลังเล่นงานอีกครั้ง "อัมมาร์" (Ammar) คือชื่อเล่นที่ชาวตูนิเซียใช้เรียกหน่วยงานรัฐบาลที่ทำหน้าที่ปิดกั้นอินเทอร์เน็ต การถูกคุกคามแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่นอกเหนือความคาดหมาย
 
เมื่อพ้นวันหยุด ทีมของซัลลิแวนก็เริ่มจับตาดูข้อมูลต่าง ๆ แต่ก็ยังระบุไม่ได้ชัดเจนนักว่าเกิดอะไรขึ้น หากเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา พวกเขาจะสามารถตรวจดูได้ว่ามีหมายเลขไอพีใดจากต่างพื้นที่ที่กำลังพยายามเข้าใช้บัญชีเดียวกันบ้าง แต่เนื่องจากหมายเลขไอพีในตูนิเซียนั้นคล้ายกันทั้งหมด หลักฐานเรื่องการเจาะเข้าบัญชีผู้ใช้จึงยังเป็นแค่เรื่องเล่าปากเปล่า ทีมเฟซบุ๊กยังไม่สามารถพิสูจน์หาข้อมูลที่ผิดปกติได้ จนกระทั่งวันปีใหม่ผ่านพ้นไป ความจริงอันน่าตกตะลึงจึงค่อยปรากฏออกมา
 
ระบบ "อัมมาร์" กำลังพยายามขโมยรหัสผ่านของคนทั้งประเทศ
 
 
* * *
 
 
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนตูนิเซียใต้การปกครองของประธานาธิบดี ไซน์ เอล อาบิดีน บิน อะลี ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่หลังจากการรัฐประหารอย่างสงบเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2530 เหตุประท้วงคราวนี้เริ่มต้นขึ้นที่จังหวัด ซิดี บูซิด ซึ่งเป็นเขตยากจนของประเทศ ไม่นานการออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาสังคมอื่น ๆ ที่มีกำลังมากกว่า โดยเฉพาะ "กลุ่มสหภาพแรงงานทั่วไปในตูนิเซีย" (Union Générale Tunisienne du Travail หรือ UGTT) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานกลุ่มเดียวในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นยังไม่มีใครบอกได้ว่าเหตุโกลาหลนี้จะนำไปสู่อะไร
 
"มันยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นสัญญาณถึงจุดจบของ บิน อะลี หรือไม่" คริสโตเฟอร์ อเล็กซานเดอร์ กล่าวในนิตยสาร ฟอเรย์น โพลิซี เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา "อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองของตูนิเซียตอนนี้คล้ายกับเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2518 - 2519 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นความตกต่ำของ ฮะบีบ บูร์คีบะห์ ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า"
 
นั่นหมายความว่าแม้แต่นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า บิน อะลี จะยังคงอยู่ในอำนาจไปอีกกี่สัปดาห์หรือกี่สิบปี ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้สึกว่า บิน อะลี จะถูกโค่นล้ม การประท้วงและบรรยากาศของการปฏิวัติเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และมันก็ยังไม่ชัดเจนว่าครั้งนี้มันจะเกิดขึ้นจริง
 
มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าทวิตเตอร์นั้นมีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลที่ทำให้ บิน อะลี ต้องหลบออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 14 มกราคมหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าเฟซบุ๊กจะเป็นสื่อที่สำคัญกว่าในการแพร่กระจายการต่อต้าน
 
"ฉันคิดว่าในกรณีนี้ เฟซบุ๊กมีบทบาทมากกว่า" จิลเลียน ยอร์ก นักวิจัยจากศูนย์วิจัยเบิร์กแมนเพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคม ผู้ซึ่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกล่าว "ผู้ใช้เฟซบุ๊กมีจำนวนเยอะกว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์มาก เฟซบุ๊กทำให้เกิดความผูกพันอย่างเข็มแข็งอย่างที่ทวิตเตอร์ทำไม่ได้ มันไม่ได้มีแค่การพูดคุยตอบโต้กันอย่างเดียว"
 
เคยมีสัญญาณเมื่อนานมาแล้วว่าชาวตูนิเซียนั้นตระหนักถึงความสำคัญของเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตัดต่อภาพ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ให้ดูเหมือนถือป้ายที่เขียนว่า "SAYEB SALA7, ya 3mmar!" (หรือ "SAYEB SALAH, ya Ammar!" แปลว่า "อัมมาร์ อย่ามายุ่งกับอินเทอร์เน็ต!" - ผู้แปล) ซึ่งกลายมาเป็นคำขวัญเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกในปลายปี พ.ศ.2553 ซึ่งต่อมายังมีการใช้ภาพของซักเคอร์เบิร์กในการประท้วงที่หน้าสถานทูตซาอุดีอาระเบียเพื่อเรียกร้องให้มีการจับกุม บิน อะลี[1]
 
ยอร์กเล่าว่าบล็อกเกอร์ (blogger คือผู้ที่เขียนบันทึกเรื่องราวบนเว็บไซต์เป็นประจำ มีที่มาจากคำว่า weblog - ผู้แปล) และนักกิจกรรมชาวตูนิเซียบอกเธอว่าเฟซบุ๊กได้รับความนิยมสูงขึ้นเพราะมันใช้ฝากคลิปวิดีโอได้ ในขณะที่เว็บไซต์ฝากคลิปวิดีโออื่น ๆ ถูกรัฐบาลปิดกั้นไปเป็นจำนวนมาก
 
คลิปวิดีโอต่าง ๆ ที่ถูกถ่ายด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือนั้นช่วยถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตยากจนของประเทศไปสู่กลุ่มประชากรที่กว้างกว่า มีคลิปจำนวนมากที่น่าสยดสยอง เช่นคลิปหนึ่งที่ตอนนี้ถูกลบออกไปแล้ว แสดงให้เห็นชายหนุ่มนอนกะโหลกแยกสมองไหลอยู่บนเตียงผู้ป่วยท่ามกลางเสียงร้องไห้ระงม คลิปดังกล่าวถ่ายเล็งไปที่ใบหน้าของชายผู้นั้น และเมื่อกล้องถอยออกมา ก็ปรากฏภาพคนอีกสองคนใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพบาดแผลอยู่ หลายต่อหลายคลิปวิดีโอของเหตุประท้วงนี้แสดงให้เห็นภาพผู้คนที่ก็กำลังยืนถ่ายคลิปวิดีโอในสถานการณ์นั้นเช่นกัน ซึ่งจะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับการใช้เครื่องมือออนไลน์ขยายเรื่องราวของความบาดเจ็บ ความตาย และการประท้วง
 
 
แต่ผู้คนก็ไม่ได้แพร่กระจายเพียงแค่วิดีโอเท่านั้น พวกเขาส่งต่อข้อมูลทุกประเภทให้กัน สำหรับทั้งนักกิจกรรมทางสังคมและคนทั่วไปแล้ว เฟซบุ๊กกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ขาดไม่ได้สำหรับการติดตามสถานการณ์ชนิดนาทีต่อนาที เฟซบุ๊กกล่าวว่าเมื่อถึงวันที่ 8 มกราคม ผู้ใช้จากตูนิเซียมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมนับแสนราย สำหรับประเทศซึ่งมีจำนวนประชากรพอ ๆ กับรัฐมิชิแกนแล้ว หากเราเทียบอัตราส่วนก็จะเหมือนกับมีผู้ใช้จากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 10 ล้านรายในสัปดาห์เดียว นอกจากนี้ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้คนใช้เว็บไซต์ก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
 
 
ริม อาบีดา ที่ปรึกษามืออาชีพด้านการพัฒนา ผู้เกิดที่ตูนิเซียแต่จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและตอนนี้อาศัยอยู่ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เธอ "เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเฟซบุ๊กไปอย่างสิ้นเชิง"
 
 
"มันเปลี่ยนจากที่เป็นแค่เครื่องฆ่าเวลาไปเป็นแหล่งข้อมูลแรกที่ฉันจะใช้ติดตามข่าวสาร" อาบีดาส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กมาให้ผู้สัมภาษณ์ "แม่ฉันอยู่คนเดียวที่ตูนิเซีย และเพื่อน ๆ ที่นั่นก็คอยแจ้งข่าวล่าสุดว่าเกิดอะไรบ้าง มันเป็นเรื่องที่สื่อเจ้าใหญ่ ๆ ไม่ได้เสนอ เช่นหมายเลขโทรศัพท์ของพวกทหารหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเฉพาะในบางพื้นที่"
 
 
สิ่งที่คั่นกลางอยู่ระหว่างความไม่สงบในท้องที่กับคนที่อยู่ไกลออกไปอย่างอาบีดานั้น คือกองทัพบล็อกเกอร์ นักเขียน และผู้ใช้สื่อออนไลน์อื่น ๆ ที่เฝ้าติดตามและแพร่กระจายคลิปวิดีโอสำคัญ ๆ
 
 
เมื่อหน่วยปราบจลาจลเริ่มปะทะกับผู้ชุมนุม ริม แหล่งข่าวอีกคนที่ขอไม่เปิดเผยนามสกุล กำลังนั่งอยู่ในห้องที่เมืองตูนิส (เมืองหลวงของประเทศตูนิเซีย - ผู้แปล) เธอเผยแพร่วิดีโอออกไปทั้งที่ยังอยู่ในชุดนอนเช่นเดียวกับบล็อกเกอร์คนอื่น ๆ การประท้วงขนาดย่อมในมือเธอนั้นกระจายออกไปถึงคนหลายสิบ ซึ่งอาจจะขยายไปถึงคนหลายสิบและอีกหลายสิบในทันที ความเชื่อว่านี่เป็นห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นแผ่ขยายจากเมืองสู่เมืองเร็วกว่าการประท้วงบนท้องถนน
 
 
ริมไม่คิดว่าการปฏิวัติตูนิเซียครั้งนี้จะถูกเรียกว่า "การปฏิวัติด้วยเฟซบุ๊ก" ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญไม่น้อยก็คือช่วงวันที่ 13 นั้นผู้คนลือกันถึงแผนตอบโต้ของรัฐบาลว่า:
 
 
"มีข่าวลือว่าไม่เฟซบุ๊กก็ไฟฟ้าจะถูกตัด" ริมตอบผู้สัมภาษณ์ทางโปรแกรมสนทนาบนอินเทอร์เน็ต "หรือไม่ก็ทั้งคู่"
 
 
* * *
 
 
หลังจากทำการศึกษาวิเคราะห์เป็นเวลากว่าสิบวัน ทีมด้านความปลอดภัยของเฟซบุ๊กก็เริ่มเข้าใจว่าเรื่องที่เลวร้ายมากกำลังเกิดขึ้น นั่นคือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ในตูนิเซียกำลังแอบใช้โปรแกรมดักข้อมูลรหัสผ่านของผู้ใช้เว็บไซต์อย่างเฟซบุ๊ก
 
 
ในวันที่ 5 มกราคม พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจนว่ารหัสผ่านของคนเกือบทั้งประเทศกำลังถูกขโมยท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ซัลลิแวนและทีมของเขาต้องหามาตรการแก้ปัญหาเฉพาะประเทศ และต้องหาให้ได้เร็วที่สุด
 
 
ซัลลิแวนเล่าว่า แม้ว่าเฟซบุ๊กจะเคยประสบปัญหาด้านความปลอดภัยมาหลากหลายรูปแบบ และเคยพัวพันกับสถานการณ์ทางการเมือง แต่พวกเขาก็ไม่เคยพบอะไรแบบที่กำลังเกิดขึ้นในตูนิเซียมาก่อน
 
 
"ที่ผ่านมาเราเคยต้องตกลงกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่พยายามดักกรองหรือปิดกั้นเว็บไซต์เรา" ซัลลิแวนเล่า "ส่วนกรณีนี้ พวกผู้ให้บริการกำลังทำในสิ่งที่เราไม่เคยเจอ คือการพยายามอย่างมากที่จะขโมยข้อมูลผู้ใช้"
 
 
นี่อาจจะเป็นเรื่องเตือนใจถึงทั้งโอกาสและหลุมพรางที่อยู่ในการใช้สื่อออนไลน์เคลื่อนไหวทางการเมือง เครื่องมือที่ผู้คนใช้รณรงค์นี่เองที่กลับมาเป็นสิ่งที่เปิดโปงตัวตนพวกเขา เมื่อนึกถึงสิ่งที่คนอย่าง เคลย์ เชอร์กี และ เอฟเกนี โมโรซอฟ[2] เคยเขียนถึงความหวัง (เชอร์กี) และอันตราย (โมโรซอฟ) ที่มากับการรณรงค์ออนไลน์นั้น แนวคิดทั้งสองอย่างปรากฏออกมาพร้อม ๆ กันในสถานการณ์นี้
 
 
ที่เฟซบุ๊ก ทีมของซัลลิแวนตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีทางเทคนิค ไม่ใช่ทางการเมือง "สุดท้ายแล้วเราคิดว่ามันคือปัญหาด้านความปลอดภัยของรหัสผ่าน และเราก็จะช่วยป้องกันบัญชีผู้ใช้ให้" เขากล่าว "มันเป็นเรื่องของความปลอดภัยที่ชัดเจนแบบขาวกับดำ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องการเมือง"
 
 
โปรแกรมที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตใช้นั้นเรียกได้ว่าเป็นเครื่องดักการกดแป้นพิมพ์ระดับประเทศ โดยจะคอยส่งรหัสผ่านให้กับรัฐบาล โดยผู้ใช้ที่ตั้งค่าให้เข้าระบบแบบไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านนั้นจะไม่เป็นอะไร แต่ผู้ที่ออกจากระบบและต้องพิมพ์รหัสผ่านใหม่นั้นจะถูกโจมตีด้วยวิธีนี้
 
 
ทีมของซัลลิแวนดำเนินการสองขั้นตอนโดยทันที ขั้นแรก การเข้าใช้เฟซบุ๊กจากตูนิเซียจะถูกเปลี่ยนทางไปยังช่องทาง HTTPS ซึ่งเป็นช่องทางการรับส่งข้อมูลที่มีเข้ารหัส ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงไม่สามารถดักจับข้อมูลระหว่างทางได้[3]
 
 
ขั้นตอนที่สองคือการตั้ง "แผงกั้น" สำหรับใครที่ออกจากระบบไปและจะเข้ามาใช้ใหม่ในช่วงนั้น จะต้องตอบคำถามส่วนตัว เช่น บอกชื่อเพื่อนตนเองจากภาพถ่าย จึงจะเข้าใช้ระบบได้
 
 
พวกเข้าเริ่มใช้ระบบนี้กับตูนิเซียทั้งประเทศในเช้าวันจันทร์ หรือห้าวันหลังจากที่พวกเขาทราบเรื่อง ระบบดังกล่าวอาจจะไม่ใช้วิธีที่สมบูรณ์แบบนัก โดยเฉพาะเมื่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสามารถบังคับให้ผู้ใช้ไม่สามารถใช้ช่องทาง HTTPS ได้ แต่ซัลลิแวนกล่าวว่าพวกเขาไม่ทราบว่ามีการทำอย่างนั้นหรือไม่
 
 
แม้ว่าซัลลิแวนจะเป็นคนใจเย็น แต่สถานการณ์ในตูนิเซียนั้นก็ดูเหมือนจะทำให้เขาต้องแสดงอะไรออกมาบ้าง "เมื่อลองคิดดูว่าข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมันถูกส่งไปทั่วโลกอย่างไร ปรากฏว่าข้อมูลที่รัฐบาลเข้าถึงได้นั้นมีจำนวนมหาศาลทีเดียว" เขาตั้งข้อสังเกต
 
 
และถ้ารัฐบาลต่าง ๆ สามารถทำเช่นนั้นได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นสมมติฐาน มันก็เป็นเรื่องน่าสงสัย อย่างที่ จิลเลียน ยอร์ก ก็สงสัยเช่นกัน ว่าทำไมเฟซบุ๊กจึงไม่สร้างเครื่องมือหรือระบบพิเศษให้กับผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือผู้ต่อต้านเหล่านั้นย่อมไม่อยากใช้ชื่อจริงในประเทศที่การรณรงค์เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่เฟซบุ๊กก็ยังยืนกรานไม่เห็นด้วยกับการใช้ชื่อปลอม
 
 
"เราได้รับการเรียกร้องตลอดเวลาในแบบต่าง ๆ ว่าผู้ใช้ต้องการจะปลอมตัวเป็นคนอื่น เช่นจากตำรวจสายสืบหรือไม่ก็นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน" ซัลลิแวนกล่าว "แต่ด้วยภาระหน้าที่และผลิตภัณฑ์หลักของเราแล้ว เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่เฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กคือที่ที่ผู้คนติดต่อกับเพื่อนในชีวิตจริงโดยใช้ตัวตนจริง"
 
 
แล้วเฟซบุ๊กจะทำอะไรเพื่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองบ้างหรือไม่ ซัลลิแวนกล่าวว่าในเบื้องต้นมีการทำระบบร้องเรียนพิเศษสำหรับเอ็นจีโอและนักรณรงค์อื่น ๆ เป็นก้าวแรกของการจัดการปัญหาหนึ่งที่ถูกเรียกร้องมานาน
 
 
อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วเฟซบุ๊กก็ดูจะไม่รู้สึกว่าต้องจัดการอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าเฟซบุ๊กกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะจริง ๆ และต้องการเป็นศูนย์กลางของชีวิตผู้คนที่ก็ต้องมีเรื่องสังคมการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้วนั้น พวกเขาอาจจะต้องคิดให้พ้นไปจากการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคตามสถานการณ์ เฟซบุ๊กต้องรักษาตำแหน่งของตนในฐานะส่วนหนึ่งของกลไกขับเคลื่อนโลก และต้องให้ความคุ้มครองแก่การแสดงออกและผู้แสดงออกทางการเมือง
 
 
เพราะว่าการประท้วงโค่นล้ม บิน อาลี นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ผู้คนอาจจะกำลังมีความหวัง แต่อย่างที่เราได้เห็นหลายต่อหลายครั้งในซีกโลกใต้ การขับไล่เผด็จการขี้ฉ้อคนหนึ่งก็มักจะเป็นการเปิดทางให้อีกคนหนึ่งเข้ามาแทน เพื่อหลีกเลี่ยงชะตากรรมนั้น ชาวตูนิเซียที่ยังมีพลังทางการเมืองอยู่ต้องใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีอยู่ รวมไปถึง - หรืออาจจะโดยเฉพาะ - เฟซบุ๊ก ซึ่งอันที่จริงแล้ว ริมบอกว่ามันกำลังเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใช้ถกเถียงกันถึงรัฐบาลใหม่ และตูนิเซียใหม่ที่ดีกว่าเดิม
 
 
 
 
 
 
 
-------------------------------------
[1] สำหรับครั้งหลังนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ บิน อะลี หลบหนีออกนอกประเทศไปยังซาอุดีอาระเบียแล้ว ป้ายดังกล่าวประกอบไปด้วยภาพของซักเคอร์เบิร์กที่มีข้อความกำกับว่า "THANK YOU" และ "GOOD" คู่กับภาพนักการเมืองประเทศอาหรับหกประเทศที่มีข้อความกำกับว่า "ARAB GOVERNMENT" "EVIL" และ "WHO'S NEXT?" ดูภาพได้จาก http://www.theatlantic.com/technology/archive/2011/01/protesters-mark-zuckerberg-good-ben-ali-evil/69732/
 
 
[2] เคลย์ เชอร์กี (Clay Shirky) เป็นนักเขียนชาวอเมริกันที่เสนอข้อดีของอินเทอร์เน็ตในหนังสือ "Here Comes Everybody" ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงสังคม ส่วน เอฟเกนี โมโรซอฟ (Evgeny Morozov) เป็นนักเขียนชาวเบลารุสที่ตั้งคำถามในหนังสือ "The Net Delusion" ว่าในทางกลับกัน อินเทอร์เน็ตก็อาจเป็นเครื่องมืออันทรงพลังของรัฐ
 
 
[3] โดยปกติแล้ว การรับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตจะถูกกระทำผ่านช่องทางที่เรียกว่า HTTP ซึ่งเป็นการส่งข้อความอย่างเปิดเผย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่อยู่ระหว่างทางจึงสามารถดักจับและอ่านข้อมูลได้ ในทางกลับกัน ช่องทาง HTTPS ที่มีการเข้ารหัสข้อมูล จะช่วยป้องกันการดักอ่านข้อมูลระหว่างทาง ช่องทาง HTTPS นั้นนิยมใช้ในเว็บไซต์ธนาคารและเว็บไซต์อีเมล เว็บไซต์อื่น ๆ ก็อาจให้บริการการเข้ารหัสนี้เช่นกัน โดยสามารถทดลองได้จากการเปลี่ยนคำว่า http เป็น https ในที่อยู่เว็บไซต์ เช่นใช้ https://www.google.com แทน http://www.google.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net