Skip to main content
sharethis

วอชิงตันโพสต์มีบทความเกี่ยวกับประเทศตูนิเซียที่กองทัพมีส่วนในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตย เหตุใด กองทัพตูนิเซียถึงกลายเป็นฝ่ายเกื้อหนุนประชาธิปไตยได้ นักวิชาการผู้ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ จากบริบททางประวัติศาสตร์ความความสัมพันธ์เชิงอำนาจในตูนิเซีย

ทหารตูนิเซียออกมาปฏิบัติหน้าที่แทนตำรวจ ภายหลังการลุกฮือในเดือนมกราคมปี 2554 (ที่มา:  Habib M’henni/Wikipedia/CC BY-SA 3.0)

17 มี.ค. 2558 ชาราน เกรวัล ผู้วิจัยเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย การปฏิวัติ ระบอบอำนาจนิยม และพรรคการเมืองศาสนา จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตันเขียนบทความลงในเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ถึงกรณีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศตูนิเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในหมู่ประเทศที่เกิดการลุกฮือของประชาชนที่เรียกว่าปรากฎการณ์ 'อาหรับสปริง' โดยมุ่งสำรวจว่ากองทัพตูนิเซียมีบทบาทอย่างไรในการทำให้ตูนิเซียเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้

เกรวัลระบุว่ากองทัพในตูนิเซียมีความแตกต่างจากกองทัพอื่นๆ ในภูมิภาคอาหรับคือเป็นผู้ที่สนับสนุนการปฏิวัติโค่นล้มเผด็จการและเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะในสมัยของผู้นำซีเน เอล-อบีดีน เบน อาลี กองทัพถูกทำให้ไม่มีบทบาท ในขณะที่ผู้นำเน้นใช้ตำรวจในการรักษาอำนาจตัวเองมากกว่า นั่นทำให้กองทัพไม่มีแรงจูงใจใดๆ  ในการกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมแบบเดิม

จากงานวิจัยของมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ระบุว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในตูนิเซีย มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ออกห่างจาก 'รัฐตำรวจ' แบบยุคของเบน อาลี มีการจัดสรรอำนาจอย่างสมดุลระหว่างหน่วยความมั่นคงในตูนิเซียในแบบที่ทำให้กองทัพมีบทบาทมากขึ้นหลังจากที่ถูกลดอำนาจมานาน ทำให้กองทัพในตูนีเซียมีอิทธิพลในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

ตูนิเซียมีการลดกำลังของกองทัพตั้งแต่ช่วงยุคสมัยประธานาธิบดีคนแรกคือฮาบีบ บูรฺกุยบา ในปี 2499 เนื่องจากเห็นว่าในประเทศละแวกนั้นมีการรัฐประหาร แล้วมีการหันมาใช้ตำรวจกับหน่วยคุ้มกันประเทศแทน ซึ่งเกรวัลมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สมเหตุสมผลสำหรับตูนิเซียที่มีขบวนการเรียกร้องเอกราชที่เป็นไปอย่างสันติโดยส่วนใหญ่และไม่มีกองกำลังแห่งชาติที่เป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม รวมถึงมีภัยความมั่นคงจากภายนอกอยู่น้อย

บทความในวอชิงตันโพสต์เล่าถึงประวัติศาสตร์ตูนิเซียต่อไปว่าในยุคสมัยของเบน อาลี เดิมทีเขาแสดงท่าทีว่าจะให้อำนาจกองทัพมากขึ้นแต่หลังจากที่มีการพยายามรัฐบาลประหารแบบอำพรางจากตำรวจและพรรคการเมืองที่อิจฉาในปี 2534 ก็ทำให้เบน อาลี ถูกบีบให้ผลักกองทัพออกไปเป็นชายขอบมากขึ้น เบน อาลี ให้อภิสิทธิ์ตำรวจทั้งทางวัตถุและทางการเมืองมาตลอดสองทศวรรษหลังจากนั้น

บทความของเกรวัลระบุว่า แต่หลังจากที่มีการปฏิวัติอาหรับสปริงมีความเสี่ยงต่อภัยความมั่นคงทำให้มีการเพิ่มงบประมาณกลาโหมมากขึ้นจากเดิมที่งบประมาณกลาโหมมีน้อยกว่างบประมาณกระทรวงกิจการภายในเกือบครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากภายนอกทั้งสัญญาซื้อขายอาวุธใหม่และความร่วมมือจากนานาชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ทำให้ตูนิเซียได้รับการช่วยเหลือด้านกองทัพมากขึ้น 3 เท่าในปี 2558 นอกจากนี้ในตูนิเซียยังมีการแต่งตั้งคนจากกองทัพเป็นผู้ว่าการรัฐมากขึ้นด้วย

เกรวัลระบุว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้นำหลังการปฏิวัติได้รับความนิยมคือการลดอำนาจของฝ่ายกิจการภายในทำให้กองทัพมีความภักดีต่อรัฐบาลด้วยการโยกย้ายคนที่เคยอยู่ในภาคส่วนขาดโอกาสให้ขึ้นมามีบทบาทในระดับผู้นำเป็นการส่งสัญญาณว่าระบบเล่นพรรคเล่นพวกกำลังจะจบลง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เกษียณอายุยังเข้าไปทำงานอยู่ในภาคประชาสังคมของตูนิเซียที่กำลังเติบโตหลังจากที่ได้รับเสรีภาพในการชุมนุมจึงมีการจัดตั้งกลุ่มภาคประชาสังคมหลายกลุ่มที่สามารถล็อบบี้รัฐบาลและส่งอิทธิพลต่อการถกเถียงสาธารณะในประเด็นของกองทัพ

เจ้าหน้าที่เกษียณอายุเหล่านี้ยังคอยให้คำแนะนำในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2557 ให้คำแนะนำผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในเรื่องนโยบายกลาโหม นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากนโยบายกลาโหมที่นำเสนอโดยกระทรวงกลาโหมแล้วได้รับการอนุมัติจากสภา อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือแนะนำจากทั้งภาคประชาสังคม รัฐสภา และพันธมิตรนานาชาติด้วย

เกรวัลระบุว่าการจัดสรรอำนาจใหม่เช่นนี้จะทำให้กองทัพมีความสามารถในการต่อต้านการก่อการร้ายมากขึ้น และทำให้อำนาจการล็อบบี้ของฝ่ายตำรวจลดลงเปิดโอกาสให้มีการกดดันกระทรวงกิจการภายในให้ปฏิรูปตัวเอง

อย่างไรก็ตามกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยอาจจะกังวลเรื่องที่กองทัพเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในตูนิเซียยุคใหม่ แต่การรัฐประหารก็อาจจะยังไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ในช่วงใกล้ๆ นี้เพราะขั้วอำนาจฝ่ายตำรวจและหน่วยคุ้มกันประเทศยังคงมีอำนาจมากพอในการถ่วงดุลกับฝ่ายกองทัพ แต่ก็มีความกังวลว่าถ้าหากผู้นำคนใหม่รวบอำนาจทั้งฝ่ายกองทัพและฝ่ายตำรวจเข้าด้วยกันก็อาจจะทำให้เขาใช้อำนาจตามอำเภอใจได้

แต่ในเรื่องนี้เกรวัลก็ระบุว่าอาจจะเกิดขึ้นถ้าหากชาวตูนิเซียมีความไม่เชื่อใจในการเปลี่ยนผ่านและเรียกร้องให้มีผู้นำที่ใช้กำลังอำนาจ แต่ความเข้มแข้งของภาคประชาสังคมตูนิเซียและความยึดมั่นในพันธสัญญาร่วมกันของเหล่าพรรคการเมืองใหญ่ๆ ในด้านฉันทามติและการประนีประนอมก็ทำให้ตูนิเซียยังคงมีความหวัง

 

เรียบเรียงจาก

How Tunisia’s military has changed during its transition to democracy, The Washington Post, 08-03-2016 https://www.washingtonpost.com/news/monkey-cage/wp/2016/03/08/how-tunisias-military-has-changed-during-its-transition-to-democracy/

ข้อมูลผู้เขียน

http://scholar.princeton.edu/grewal/home

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net