ฟรีดอมเฮาส์ลดชั้นไทยสู่กลุ่มประเทศ "ไม่เสรี" - สนช.โต้คนไทยมีความสุข-ใช้ชีวิตปกติ

"ฟรีดอมเฮาส์" เผยรายงานจัดอันดับเสรีภาพโลก-พบลดต่ำสุดในรอบ 9 ปี ทุกภูมิภาคเผชิญกำปั้นเหล็ก-ประชาธิปไตยถดถอย "ไทย-บุรุนดี-ลิเบีย-อูกันดา" ถูกลดชั้นสู่กลุ่มประเทศ "ไม่เสรี" มีประชากร 2.6 พันล้านคนใน 51 ประเทศร่วมกลุ่มรวมทั้ง "รัสเซีย-อิหร่าน-จีน-เกาหลีเหนือ-ซีเรีย" ขณะที่ "ตูนีเซีย" เป็นชาติอาหรับที่ได้รับการเลื่อนชั้นสู่กลุ่ม "เสรี" - ด้าน สนช. แถลงโต้-ยืนยันคนไทยมีความสุข ใช้ชีวิตปกติ

30 ม.ค. 2558 - เมื่อวันที่ 28 ม.ค. องค์กรฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชน ที่รายงานเรื่องสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพพลเมือง ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงาน "FREEDOM IN THE WORLD 2015 Discarding Democracy: Return to the Iron Fist" หรือ "เสรีภาพในโลกปี 2015: ละทิ้งประชาธิปไตย: กลับสู่กำปั้นเหล็ก" (อ่านรายงานฉบับเต็ม [ออนไลน์], [pdf])

รายงานเสรีภาพโลกโดยฟรีดอมเฮาส์ ทุกภูมิภาคเผชิญภาวะกำปั้นเหล็ก-ประชาธิปไตยถดถอย

หน้าออนไลน์ของรายงาน "FREEDOM IN THE WORLD 2015 Discarding Democracy: Return to the Iron Fist" หรือ "เสรีภาพในโลกปี 2015: ละทิ้งประชาธิปไตย: กลับสู่กำปั้นเหล็ก" รายงานโดยองค์กรฟรีดอมเฮาส์

แผนที่เสรีภาพในโลกปี 2015 จัดอันดับโดยฟรีดอมเฮาส์ (ที่มา: Freedom House/ชมภาพขยาย)

โดยในรายงานระบุว่า ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมที่ใช้ชั้นเชิงแบบก้าวร้าวมากขึ้น และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ได้ทำให้เสรีภาพของโลกในปี 2014 ตกต่ำลง และรายงานเสรีภาพในโลกปี 2015 พบว่า ภาวะเสรีภาพในโลกลดลงต่ำสุดในระยะ 9 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ หากถือว่าการยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองหลักของโลก และระบอบการเมืองระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์ประชาธิปไตย ปี 2014 ที่ผ่านมา นับเป็นภัยคุกคามและความถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดของประชาธิปไตยในรอบ 25 ปี

ทั้งนี้จากรายงานมีประเทศที่พัฒนาการด้านเสรีภาพดีขึ้น 61 ประเทศ ถดถอยลง 33 ประเทศ โดยนับเป็นสถิติที่ตกต่ำที่สุดนับจากการสำรวจในรอบ 9 ปีมานี้ โดยภูมิภาคที่พัฒนาการเสรีภาพถดถอย เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, ยูเรเชีย, ซับซาฮาร่าในทวีปแอฟิกา, ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และเกิดขึ้นแม้แต่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในประเทศซีเรีย ผู้นำเผด็จการได้ติดหล่มอยู่ในสงครามกลางเมือง เกิดความแยกแตกทางเชื้อชาติ และเผชิญกับลัทธิก่อการร้ายที่ไม่อาจควบคุมได้ จึงทำให้เป็นปีที่อันดับคะแนนรวมด้านเสรีภาพต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ

ขณะที่ความถดถอยด้านประชาธิปไตยเพิ่มปรากฏขึ้นทั่วโลกอย่างชัดเจน แต่มีประเทศหนึ่งที่ต้องยกเว้นนั่นคือ ตูนิเซีย ซึ่งกลายเป็นประเทศในกลุ่มอาหรับที่เข้าสู่กลุ่มประเทศ "เสรี" เป็นประเทศแรก นับตั้งแต่เลบานอนต้องเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ท่ามกลางความแตกต่าง มีจำนวนประเทศซึ่งประสบปัญหา ทั้งที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ มีอำนาจทางเศรษฐกิจ มีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาค แต่กลับมีพัฒนาการด้านเสรีภาพถดถอย ได้แก่ รัสเซีย เวเนซุเอลา อียิปต์ ตุรกี ไทย ไนจีเรีย เคนยา และอาเซอร์ไบจาน ในขณะที่ฮังการี ซึ่งเป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรปเองก็มีพัฒนาการที่ถดถอย ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2010

ทั้งนี้ ฟรีดอมเฮาส์ ยังให้คะแนนสิทธิทางการเมือง และเสรีภาพพลเมือง ของประเทศต่างๆ โดยคะแนนเรียงลำดับจาก 1 คือดีที่สุด ไปจนถึง 7 คือแย่ที่สุด โดยฟรีดอมเฮาส์ จัดกลุ่มประเทศแบ่งออกเป็น ประเทศ "เสรี" (สีเขียว) ประเทศ "กึ่งเสรี" (สีเหลือง) และ ประเทศ "ไม่เสรี" (สีม่วง) โดยกลุ่มประเทศเสรี จะได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ในลำดับ 1.0 - 2.5 ประเทศกึ่งเสรี ได้คะแนนในลำดับ 3.0 - 5.0 ส่วนประเทศไม่เสรีจะได้คะแนนในลำดับ 5.5 - 7.0 เป็นต้นไป

ในปีที่ 2014 ผ่านมา ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศ "เสรี" อยู่ที่ 89 ประเทศ หรือร้อยละ 46 ของ 195 ประเทศและเขตปกครองในโลก รวมประชากรราว 2.9 พันล้านคน หรือร้อยละ 40 ของประชากรโลก จำนวนประเทศ "เสรี" เพิ่มขึ้นมา 1 ประเทศ เมื่อเทียบกับรายงานในปี 2013

ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดอันดับในกลุ่มประเทศ "กึ่งเสรี" อยู่ที่ 55 ประเทศ หรือร้อยละ 28 ของประเทศและเขตปกครองในโลก รวมประชากรราว 1.7 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อนละ 24 ของประชากรโลก จำนวนประเทศ "กึ่งเสรี" ลดลง 4 ประเทศ เมื่อเทียบกับปีก่อน

ขณะที่มี 51 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย ถูกจัดอันดับในกลุ่มประเทศ "ไม่เสรี" คิดเป็นร้อยละ 26 ของประเทศและเขตปกครองในโลก รวมประชากรที่อาศัยอยู่ในภาวะ "ไม่เสรี" อยู่ที่ 2.6 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อย 36 ของประชากรโลก มีความสำคัญที่จะบันทึกไว้ว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเหล่านี้อาศัยอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่จำนวนประเทศ "ไม่เสรี" เพิ่มขึ้น 3 ประเทศ เมื่อเทียบกับปี 2013

จำนวนประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งอยู่ที่ 125 ประเทศ หรือเพิ่มจำนวนขึ้น 3 ประเทศ เมื่อเทียบกับปี 2013 มี 5 ประเทศที่ได้รับสถานะประเทศประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ได้แก่ ฟิจิ โคโซโว มาดากัสการ์ มัลดีฟส์ และหมู่เกาะโซโลมอน ในขณะที่มี 2 ประเทศที่สูญเสียสถานะประเทศประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง 2 ประเทศ คือ ไทย และลิเบีย

สำหรับประเทศตูนีเซีย ได้รับการจัดอันดับเพิ่มขึ้นจากประเทศ "กึ่งเสรี" เป็น "เสรี" ขณะที่กินีบิสเซา ได้รับการจัดอันดับเพิ่มขึ้นจากประเทศ "ไม่เสรี" เป็น "กึ่งเสรี" ขณะที่มี 4 ประเทศ ถูกลดอันดับจากประเทศ "กึ่งเสรี" เป็น "ไม่เสรี" ได้แก่ บุรุนดี ลิเบีย ไทย และอูกันดา

 

โซนเอเชีย อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ได้เลือกตั้งเสรี ส่วนไทยเจอรัฐประหาร-กฎอัยการศึก

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์เสรีภาพในเอเชียแปซิฟิก รายงานของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า พลเมืองของประเทศหลักในเอเชียได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในปี 2014 เพื่อเลือกผู้นำของพวกเขา ด้วยการแสดงฉันทามติอย่างหนักแน่น ผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ผลสำเร็จนี้ขัดแย้งอย่างยิ่งกับรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่กองทัพได้ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ระงับการใช้รัฐธรรมนูญ ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งมีผลทำให้สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองถอยหลังกลับอย่างรุนแรง

กรณีพม่า ซึ่งยกเลิกอำนาจของกองทัพไปบางส่วน เริ่มหันเหออกจากเส้นทางประชาธิปไตย มีผู้สื่อข่าวและผู้ประท้วงเผชิญกับข้อจำกัดเป็นอย่างมาก ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยาได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติจากทางการ ขณะที่มีร่างกฎหมายซึ่งจะมีผลห้ามการเปลี่ยนศาสนาและการแต่งงานข้ามศาสนา ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านมุสลิมในพม่า

ทั้งนี้พม่าได้รับการจัดอันดับด้านเสรีภาพพลเมืองลดลง จาก 5 ไปสู่ 6 เนื่องจากข้อจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน รวมไปถึงการจับกุมและคุมขังนักข่าวจำนวนมาก โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ "ไม่เสรี"

กรณีของฮ่องกง อันดับด้านสิทธิทางการเมืองอยู่ที่ 5 และเสรีภาพพลเมืองอยู่ที่ 2 เฉลี่ยรวม 3.5 อยู่ในกลุ่มประเทศ "กึ่งเสรี" ทั้งนี้ถูกตัดคะแนนลงเนื่องจากข้อจำกัดด้านเสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม ในเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านกรณีรัฐบาลจีนสงวนสิทธิการเลือกผู้สมัครผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกงไว้ให้เฉพาะคณะผู้เลือกตั้งที่ผ่านการคัดลือกมาจากกลุ่มคนวงการต่างๆ

ส่วนสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศ "เสรี" โดยสิทธิทางการเมืองอยู่ในระดับ 1 เสรีภาพพลเมืองอยู่ในระดับ 2

ขณะที่มาเลเซีย ได้คะแนนรวมทั้งด้านเสรีภาพและสิทธิทางการเมือง 4.0 โดยที่ถูกลดอันดับคะแนน เนื่องจากรัฐบาลใช้กฎหมายว่าด้วยการปลุกระดมยุยงในการจัดการนักการเมืองฝ่ายค้าน นอกจากนี้ยังมีการจับกุมและการละเมิดที่เพิ่มสูงขึ้นต่อชาวมุสลิมชีอะห์ และคนข้ามเพศชาวมาเลเซีย นอกจากนี้ยังใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอย่างเข้มข้นเพื่อทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เงียบลง

ไทยถูกลดอันดับ จาก "กึ่งเสรี" สู่ "ไม่เสรี"

กรณีของประเทศไทย สิทธิทางการเมือง ถูกลดอันดับลงจากอันดับ 4 ไปสู่อันดับที่ 6 ขณะที่เสรีภาพพลเมือง ถูกลดอันดับลงจากอันดับ 4 ไปสู่อันดับ 5 โดยอันดับรวมอยู่ที่ 5.5 ทำให้สถานะของประเทศไทยถูกลดอันดับลง จากเมื่อปี 2013 อยู่ในกลุ่มประเทศ "เสรีบางส่วน" (สีเหลืองในแผนที่) ไปสู่กลุ่มประเทศ "ไม่เสรี" (สีม่วงในแผนที่) ทั้งนี้รายงานระบุว่าสาเหตุเนื่องมาจากการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งผู้นำรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และบังคับใช้มาตรการเข้มงวดต่อการแสดงความเห็นและการรวมตัวสมาคม

ทั้งนี้ภายหลังการออกรายงานของฟรีดอมเฮาส์ ข่าวสดรายงานว่า ที่รัฐสภา วานนี้ (30 ม.ค.) นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นอกจากจะแถลงตอบโต้ปาฐกถาของ ยแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังโต้รายงานของฟรีดอมเฮาส์ด้วย โดยกล่าวว่า ขณะนี้จะบอกว่าประเทศไทยไม่มีอิสรภาพ ไม่มีประชาธิปไตยเลยคงไม่ได้ เพราะประชาชนก็ยังมีความสุข ใช้ชีวิตได้ตามปกติ อยู่ที่คนไทยเองว่าจะคิดอย่างไร อย่าให้โลกภายนอกเข้ามาแทรกแซงความคิดกันเกินไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท