Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ชื่อบทความเดิม: ก้าวข้ามพ้นสีแดงเหลืองแล้วจึงรู้ว่า ประชาชนสู้กับศักดินาและทุนนิยมเพื่อสังคมประชาธิปไตย
  
 
มีบางคนคิดถึง “การจัดตั้ง” แบบปฏิวัติ เพราะเริ่มมีความรู้สึกว่า หากทุนนิยมกับศักดินาปรองดองกันได้ ประชาชนจะได้อะไร ได้อำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงกระนั้นหรือ เมื่อมองการเมือง มองพรรคการเมืองในประเทศไทยแล้ว หนทางที่ประชาชนจะได้อำนาจ “กำกับรัฐ” อย่างแท้จริง ดูยังห่างไกล 
 
หากเรามองว่าความขัดแย้งสำคัญของสังคมอยู่ที่การครอบครองปัจจัยการผลิต ทำอย่างไรจะให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นได้ แน่นอนทั้งสองระบอบไม่ว่าจะเป็นศักดินาหรือทุนนิยมไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรมอยู่แล้ว ผู้คนจึงคิดถึง สังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ (เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ) ซึ่งโดยโครงสร้างใหญ่ๆ มีปัญหาในทางการปฏิบัติหลายประการ และยังต้องหาทางยกระดับทางทฤษฎีอีกไม่น้อย กว่าที่จะพิสูจน์ให้เห็นข้อดีและข้อที่ก้าวหน้ากว่าทุนนิยมได้  
 
แต่สังคมปัจจุบัน มองในขอบเขตทั้งโลก ทุนนิยมก็ยังมีลักษณะ แข่งขัน รุกราน เอาเปรียบ แม้จะมีด้านดีคือความก้าวหน้าด้านพลังการผลิต พัฒนาการทางเทคโนโลยี ทว่าข้อเสียคือกำไรมหาศาลที่มากเกินเหตุผลอันทำให้วิถีชีวิตคนต่างกันราวฟ้ากับดิน คนส่วนน้อยร่ำรวยหรูหราฟุ้งเฟ้อ คนส่วนใหญ่ต่ำต้อยด้อยค่าอดอยากหิวโหย (เหมือนโลกของคนในฮอลลีวู้ดห่างไกลกับโลกของคนทุกข์จนในหลายประเทศ ทั้งๆที่ค่าของคนไม่ต่างกัน) ซึ่งที่สุดเงินก็ชื้อและกำหนดทุกอย่างในโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทุนนิยมให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์และการสงคราม ไม่ว่าจะเพื่อข่มขู่กัน หรือประคองเวลาค้าอาวุธ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นด้านของการทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์ นำความหายนะมาสู่มนุษยชาติมากกว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ
 
สำหรับประเทศไทย เวลานี้ ทุนนิยมใหม่ขัดแย้งกับทุนนิยมเครือข่ายศักดินาอย่างรุนแรง อำนาจรัฐซึ่งถูกควบคุมโดยอำมาตย์และศักดินามายาวนาน ทำท่าจะสูญเสียพื้นที่ให้กับทุนนิยมใหม่ ซึ่งดำเนินนโยบายแบ่งสันปันบางส่วนผลประโยชน์ให้ประชาชนได้ดีกว่า โดยใช้ช่องทางของรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนธรรมดาสามัญ อันจะเรียกว่ารากหญ้าหรือไพร่ก็ตามแต่ เป็นผู้เสียสละเลือดเนื้อชีวิตต่อสู้มาทุกยุคสมัย
 
หากจะกล่าวว่า ปัญญาชนที่ไปเรียนยุโรปเป็นผู้จุดเชื้อไฟให้ติดเมื่อ 78 ปีที่ผ่านมา วันนี้ไฟได้ลุกโชติช่วงขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศอย่างกว้างขวางแล้ว ถามว่า ความแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันคืออะไร ตอบว่า ความแตกต่างก็คือผู้จุดเชื้อริเริ่มในอดีต เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง และระบอบการปกครองอันเป็นเรื่องของปัญญาชน แต่ปัจจุบันมันได้ลงลึกสู่ปัญหา ปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ที่ท้าทายว่า ถึง “ทุน” ก็เถอะ “ทุน” แต่เป็นทุนของใคร แบบไหน อย่างไร
 
ทุนพวกพ้องสมุนบริวารที่มิได้เจือจานสู่ไพร่ฟ้าประชาชน ทุนโฆษณาชวนเชื่อตามวาระโอกาสเพื่อสร้างบารมี หรือทุนเสรีที่แข่งขันกันโดยอิสระ แต่พยายามสร้างประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนโดยส่วนรวม อันเป็นทุนยุคใหม่ที่รู้ว่า “จะต้องเอื้อประโยชน์ให้เกิดต่อทั้งมวล” ได้อย่างไร และประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้ถูกปกครองก็มีขั้นตอนในการเลือก เขาจะเลือกการปกครองของ “ทุนแบบไหน” ทุนแบบ “ทักษิณ” หรือทุน “ศักดินา” หรือทุนของใครก็ตามแต่ ประชาชนย่อมรู้ที่จะเลือกเฉพาะหน้า และเลือกในระยะยาวต่อไป ท่ามกลางการพิสูจน์การทำงานตามเทอมที่กำหนดชัดเจนว่ากี่ปีตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎกติกาประชาธิปไตย (ที่สามารถแก้ให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆ หากประชาธิปไตยมีความต่อเนื่อง)
 
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า มีกฎกติกาที่แฟร์เพลย์หรือเปล่า มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงหรือไม่ โครงสร้างการปกครองสูงสุดเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับกลุ่มอำนาจใด พลังที่ก้าวหน้าหรือล้าหลังกำหนดความเป็นไปของสังคม เพียงแค่ประชาชนจะเดินไปสู่จุดนี้ พวกเขาก็ยังต้องต่อสู้ด้วยความยากลำบากและสับสน ทั้งสูญเสียมากมายมหาศาล
 
ในความเป็นจริง “ทุนนิยม” กับ “ศักดินา” เคยปรองดองกันได้หรือ หากพิจารณาจากทฤษฎีลัทธิมาร์กซ เมื่อกล่าวถึงวิวัฒนาการทางสังคม ลำดับยุคไว้เป็น สังคมบุพกาล,สังคมทาส,สังคมศักดินา,สังคมทุนนิยม,และสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ได้ให้คำตอบว่า สังคมศักดินา ต้องล่มสลายลงก่อน พิจารณาในขอบเขตทั่วโลกก็เป็นเช่นนั้น “ศักดินา” ในโลกนี้จึงเหลือน้อยลงไปเรื่อย ที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นในลักษณะที่ยอมลดทอนอำนาจสมบูรณายาสิทธิราชของตนลง และยอมรับในระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่ไม่ยอมก็มักเกิดเหตุการณ์รุนแรงเสียหายไม่มากก็น้อยในทุกประเทศ ไม่ว่าจะโบราณแบบรัสเซีย,ฝรั่งเศส,เยอรมัน, หรือปัจจุบันล่าสุดอย่างเนปาล  ส่วนสังคมไทยก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งต้องศึกษาและสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์ในชุดของเราเอง รวมทั้งเทียบเคียงถอดถอนบทเรียนจากประเทศอื่นๆพร้อมกันไปด้วย
 
เพราะฉะนั้น คำถามว่า “ทุนนิยม” กับ “ศักดินา” จะปรองดองกันได้หรือ คำตอบก็คือต้องมองความซับซ้อนในมิติของศักดินาให้ออกว่า ศักดินาปัจจุบันมี “ทุนนิยม”เป็นเครือข่ายซ้อนอยู่ อันได้แก่ อำมาตย์ทั้งหลายที่ควบคุมทุน และหรือกลายเป็นทุนเสียเอง  กล่าวอย่างถึงที่สุดจึงเป็นความขัดแย้งระหว่างทุนกับทุนนั่นเอง เพียงแต่ทุนใดจะเลือกแอบอิงอยู่กับประชาชนและประชาธิปไตย และทุนใดจะเลือกแอบอิงกับอิทธิพลศักดินา นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
การเมืองที่เป็นระบบทุนอย่างแท้จริงจึงปรองดองกันได้ เว้นเสียแต่อำนาจมิได้อยู่ในมือทุน ระบบขุนนางขุนศึกขุนทหาร ระบบความยุติธรรมไม่ได้อยู่กับฝ่ายทุน หากอยู่กับศักดินา ซึ่งจะเป็นเรื่องยากเพราะศักดินาไม่มีระบบตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทุนสามารถตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งโค่นล้มลงได้โดยเปิดเผย
 
จึงน่าคิดว่า จะปรองดองกันได้ หรือปรองดองกันไม่ได้ ภารกิจการต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการครอบครองปัจจัยการผลิต และภารกิจต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนก็ยังต้องดำเนินต่อไป
 
เมื่อใช้วิธีคิดเช่นนี้ เราอาจสามารถข้ามพ้นความเป็นเสื้อแดงและเสื้อเหลืองไปได้ เพราะเป้าหมายการต่อสู้ของประชาชนเราไกลกว่าเป้าหมายของบางคนที่เข้าร่วม แกนนำบางคน หรือนักการเมืองบางคน ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร อาจต้องการเป็น สส. สว. รัฐมนตรี และหรือเพื่อผลประโยชน์อื่นๆ ฯลฯ เขาย่อมเดินทางร่วมไปได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น
 
เราได้เห็นอยู่แล้วว่า แนวทางที่สอดคล้องต้องกันเวลานี้ มิได้หมายความว่า อนาคตข้างหน้าจะเหมือนกันตลอดไป ผู้คนที่เคยต่อสู้เอาเป็นเอาตายกับศักดินามาก่อน วันนี้ก็ “คืนดีกับศักดินา” ไปเป็นจำนวนไม่น้อย
 
เพราะฉะนั้น ที่บางคนคิดถึง “การจัดตั้ง แบบปฏิวัติ” นั้น จึงเป็นการโหยหาองค์กรที่ก้าวหน้ากว่าพรรคการเมืองที่ต่อสู้ในระบบ โหยหาองค์กรที่มั่นคง มีการนำรวมหมู่อันชาญฉลาด มีแนวทางอันถูกต้อง และพร้อมจะต่อสู้อย่างยืดเยื้อยาวนาน แน่นอน “การจัดตั้ง แบบปฏิวัติ”ที่ว่านี้ เขาย่อมมิได้หมายถึงแต่ก็ไม่ปฏิเสธการนำอย่าง ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย หรือ นปช.ซึ่งเป็นการนำเดิม หากแต่โหยหาการนำใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อสู้อันสลับซับซ้อน ซึ่งมิได้พูดแค่ “การศึกเฉพาะครั้ง” ที่แพ้ชนะกันแล้วจบลงด้วยค่าว่า ปรองดอง โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรในทางการเมืองขึ้นเลยแม้แต่ข้อเดียว และพ่ายแพ้ซ้ำซากมาอย่างนี้ตลอด
 
ถึงวันนี้ หากมองด้วยเหตุผล พลังเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมของประชาชนได้ก้าวข้ามพ้นทักษิณไปแล้ว ก้าวข้ามเหมือนกับที่เคยก้าวข้ามพลังอื่นๆมาแล้วในสังคม ถ้าทักษิณหยุด ประชาชนจะไม่หยุด ถ้าทักษิณหลง ประชาชนจะไม่หลง ถ้าทักษิณถูกหลอก ประชาชนจะไม่ถูกหลอกด้วย ทักษิณก็จะเหมือนกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยมี แต่วันนี้ไม่มีแล้ว ทว่าประชาชนก็ยังสู้ต่อไป กล้าสู้กล้าเสียสละเหมือนเดิมโดยไม่ต้องการเกียรติยศศักดิ์ศรีวีรชนปฏิวัติที่ใครจะมอบให้ และนี่คือความยิ่งใหญ่ของประชาชนในความหมายของสัจธรรม ที่เรียกขานว่า “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก”  และ “ประชาชนคือวีรชนที่แท้จริง”
 
เชื่อเถิดว่า ที่สุดแล้ว “ประชาชนคือตัวจริง” คณะราษฎร, ปรีดี พนมยงค์, พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทักษิณ ชินวัตร หรือใครก็ตามแต่ เป็นได้แค่แนวร่วมของประชาชน นำประชาชนได้บางระยะประวัติศาสตร์เท่านั้น
 
เพียงแต่คุณมีทัศนะเชื่อมั่นประชาชนหรือไม่
 
เชื่อมั่นในพลังพื้นฐานที่ฆ่าไม่ตายทำลายไม่หมด ประชาชนมีแต่จะเติบใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นพวกทุนนิยมหรือศักดินาก็ควรจะเข้าใจเสียให้ถูกต้องว่า คุณกำลังสู้กับประชาชน มิได้สู้กับทักษิณ ถ้าสู้กับทักษิณคงจบไปนานแล้ว และถ้าทักษิณไม่อยู่ข้างประชาชน ประชาชนก็คง “โบกมือลา”
 
เพราะประชาชนต้องสู้ตลอดไป แม้เมื่อทักษิณ,พรรคเพื่อไทย,หรือพรรคอื่นใด จะเข้ามามีอำนาจก็ตาม หากไม่ทำให้สังคมเกิดความเป็นธรรม ประชาชนอยู่ดีมีสุข ประชาชนก็ต้องสู้กันต่อไป คำถามคือ คุณเชื่อว่า “อุดมการณ์มีจริงหรือไม่” อุดมการณ์ย่อมอยู่กับใจที่ไม่จำนนต่ออิทธิพลและอำนาจเงินตรา หากคุณหัวเราะและขบขันกับเรื่องดังกล่าวว่ามันเป็นความไร้เดียงสาหรือความโง่ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะโลกมีคนไร้เดียงสาและคนโง่เยี่ยงนี้นี่เองที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพราะคนโง่มีมากกว่าคนฉลาด และที่โง่เพราะว่าซื่อ ไม่คิดว่าคนฉลาดจะหลอกลวง,เอาเปรียบ ชั่วช้าสาระเลวขนาดนั้น เมื่อรู้ก็สู้ และจะสู้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ มนุษย์ศรัทธามนุษย์เพราะความดี แม้ศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือกว่ามนุษย์ก็ศรัทธาเพราะความดี หากชั่วร้ายย่อมไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นปีศาจอสูรกายปลอมแปลง.. ก็ต้องสู้กันจนถึงที่สุด
 
การจัดตั้ง แบบปฏิวัติ สามารถฟื้นคืนชีพขึ้นได้ในยุคไฮเทคโนโลยีนี้หรือไม่ สำคัญที่สุดก็อยู่ที่ปัญหาแนวทางการต่อสู้ที่ถูกต้อง ต้องมาก่อน ตามมาด้วยความคิดที่เป็นฝ่ายกระทำ ไม่ใช่ฝ่ายถูกกระทำหรือรอคอยว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น เราต้องคิดไกลไปถึงวาระสุดท้ายของศักดินา รวมถึงพร้อมเผชิญหน้ากับทุนนิยมที่เอาเปรียบ เราต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ข้างหน้า และแม้กระทั่งการเตรียมการที่จะต่อสู้ในแต่ละระยะอย่างมีจังหวะจะโคน
 
ความคิดอย่างนี้มีหรือไม่ สามารถรวมคนที่คิดเหมือนกัน เข้ามาร่วมกัน เพื่อจัดตั้งกันขึ้นอย่างเป็นรูปการ ไปสู่การนำรวมหมู่อันเข้มข้น หากเราถนัดสู้แบบนำเดี่ยว หนทางก้าวสู่ชัยชนะเห็นทีลำบาก การนำเดี่ยวโดยอาศัยความเชื่อมั่นเฉพาะตน ข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมใกล้ชิด ซึ่งบางครั้งกลั่นกรองไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ, จริงใจหรือไม่จริงใจ  สร้างความผิดพลาดมาหลายครั้ง ไม่เข็ดหลาบกันบ้างหรือ ยอมรับและสรุปบทเรียนกันบ้างไหม
 
มองในทางกลับกันพวกศักดินากลับมีการนำรวมหมู่แล้วรวมศูนย์อยู่เป็นองค์เอกภาพ ดำรงฐานะที่หยั่งรากลึกในสังคมสร้างดอกผลมายาวนาน โฆษณาชวนเชื่อทุกวัน วันนี้เขาใช้งบประมาณตั้งหนึ่งพันล้านบาท ให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์สถาบัน ระดมอาสาสมัครแปดแสนคน และใช้งบอีกหลายร้อยล้าน จัดตั้งลูกเสือไซเบอร์ตรวจจับทางอินเตอร์เน็ต ทั้งหน่วยงานอื่นๆอีกสารพัด ภายใต้การบริหารรัฐเบ็ดเสร็จของ กอ.รมน. ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งให้อำนาจกองทัพเหนือรัฐบาล น่าสงสัยว่า ประชาชนจะได้ชัยชนะอย่างไร หากเราเชื่อมั่นการปรองดองอย่างไม่ยั้งคิดและไร้ข้อเรียกร้อง เหมือนพม่าจัดให้มีการเลือกตั้ง ปล่อย ออง ซาน ซูจี ขณะนี้ พม่าเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือ พม่าจริงใจที่จะปรองดองเช่นนั้นหรือ สถานการณ์สากลเล่าเป็นเช่นใด ท่าทีของอเมริกา, ยูเอ็น, กลุ่มเอเชียน, ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านอุษาคเนย์ หากเราไม่มีรูปการจัดตั้ง “ขบวนการประชาธิปไตยไทย” ที่แน่นอน ซึ่งประสานสัมพันธ์งานด้านสากล มีลำพังพรรคเพื่อไทย นปช. และคนเสื้อแดงอื่นๆ ต่างคนต่างนำ ต่างคนต่างทำ ย่อมน่าคิดว่า นั่นจะมิเป็นการปล่อยให้เป็นไปตาม “ยถากรรม” เกินไปดอกหรือ
 
ไม่มีบทสรุปอะไรสุดท้ายนี้ เป็นความเห็นแลกเปลี่ยนกันบนความเชื่อมั่นพื้นฐานว่า พลังที่ก้าวหน้ากว่าต้องเป็นฝ่ายชนะพลังล้าหลังในที่สุด กระแสของโลกสมัยใหม่ และเทคโนโลยี ปูพื้นฐานโดยธรรมชาติให้มนุษย์ฉลาดขึ้น ไม่มีอะไรจะปิดกั้นได้ถาวร คนตาสว่างขึ้นทุกวัน เพียงแต่สังคมขุนศึกศักดินาที่ถูกโดดเดี่ยวในรัฐชาติปัจจุบันบางส่วนบางซีกโลก ยังได้รับการประคับประคองเอาไว้โดยทุนจักรพรรดินิยมเท่านั้นเอง เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์พิสดารอย่างพม่าและไทยยืนระยะยืดเยื้ออยู่ในโลกได้จนถึงวันนี้ ..แต่มันคงจะไปได้อีกไม่นานเท่าไร.
 
(บันทึกเขียนเสร็จ 14 พฤศจิกายน 2010)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net