Skip to main content
sharethis

สภาทนายความชี้การที่กระทรวงแรงงานไม่ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้ ภายใน 2 ปี ทำให้แรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการทำงานที่ผิดกฎหมาย และการเก็บเงินเข้ากองทุนส่งกลับจากตัวแรงงานต่างด้าวถึง   2,100 - 2,400 บาท ต่อคน จะส่งผลให้แรงงานไม่เข้าระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย กลายเป็นแรงงานเถื่อนใต้ดิน และเอื้อต่อขบวนการค้าแรงงานที่ผิดกฏหมาย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานและจำนวนเงินที่ลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งเงิน การออกใบรับ หนังสือรับรอง และใบแทนหนังสือรับรองการส่งเงิน พ.ศ. 2553  มีเนื้อหาสำคัญ คือ ให้นายจ้างหักเงินจากลูกจ้างส่งให้รัฐเพื่อเป็นค่าส่งคนต่างด้าวกลับ โดยลูกจ้างชาวพม่าและลาว เสียรายละ 2,400 บาท และลูกจ้างชาวกัมพูชา เสียรายละ 2,100 บาท น่าจะเป็นการดำเนินการที่ขัดกฏหมายและความมั่นคงสงบสุขของประเทศ

อนุกรรมการด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ จึงมีความเห็นว่า
1.กระทรวงแรงงานมิได้ออกกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ซึ่งบทเฉพาะกาล มาตรา 57 ได้กำหนดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี ระหว่างภายใน 2 ปีนี้นายทะเบียนสามารถอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานได้ แต่ปัจจุบันพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว นายทะเบียนจึงไม่สามารถอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานได้เลย ต้องรอกฎกระทรวงกำหนดงานที่คนต่างด้าวอาจทำได้ตามมาตรา 7 เสียก่อน  ดังนั้นการอนุญาตให้คนต่างด้าว ทำงานในปัจจุบัน 2 อาชีพ คือ งานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน จึงเป็นการอนุญาตที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

2. กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวข้างต้น ยังมิได้มีการออกแบบและวิธีการขอเงินคืนจากกองทุนตามมาตรา 19 มาเป็นคู่ขนานจึงเป็นการออกกฎหมายที่เอารัดเอาเปรียบแก่ลูกจ้าง ทั้งนี้ยังมิได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายคนเข้าเมืองที่ไม่อนุญาตให้ที่ลูกจ้างซึ่งไม่อาจพิสูจน์สัญชาติ (ไม่มีหนังสือเดินทาง) ยื่นแบบรายการเดินทางกลับประเทศของตนได้ จึงทำให้ลูกจ้างไม่สามารถที่จะกลับในเวลาที่ตนต้องการ และใช้ค่าใช้จ่ายของตนในการเดินทางกลับ

3. การกำหนดให้ลูกจ้างตามมาตรา 13 (2) ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับยังมิได้มีการพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างผู้นั้นเป็นคนสัญชาติพม่า หรือลาว หรือกัมพูชา การเก็บเงินเข้ากองทุนจึงไม่อาจก่อประโยชน์ที่แท้จริงเพื่อส่งลูกจ้างผู้นั้นกลับภูมิลำเนา เพราะทางการไทยมิอาจส่งคนซึ่งไม่ทราบสัญชาติกลับไปยังประเทศที่ทางการต้องการส่งกลับได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงที่ผ่านมาลูกจ้างเหล่านี้ก็กลับเข้าสู่ประเทศไทยใหม่ การใช้เงินกองทุนในการส่งกลับจึงไม่เกิดผลแต่ประการใด

4. การเรียกเก็บเงินจากลูกจ้างตามข้อ 3. คนละ 2,100 -2,400  บาท เป็นจำนวนที่สูงเกินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจริง และไม่เกิดผลสำเร็จในการส่งกลับ ส่งผลให้นายจ้างและลูกจ้างไม่ยอมขึ้นทะเบียน หรือไม่ขอต่อใบอนุญาตทำงานอีก ทำให้ความพยายามที่จะให้มีแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ประสบผล และเกิดขบวนการค้าแรงงานใต้ดินอย่างผิดกฎหมาย

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ทบทวนกฎกระทรวง และดำเนินการตามกฎหมายอย่างรอบคอบ และถึงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อพิจารณาแนวนโยบายของรัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากส่งผลโดยตรงถึงการจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net