Skip to main content
sharethis

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 41/2566 กสม. หารือ สธ. วางแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ จับมือวุฒิสภาขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน - ตรวจสอบกรณีสภาทนายความฯ กำหนดให้ผู้จบอนุปริญญาเฉพาะมหาวิทยาลัยบางแห่งขอตั๋วทนายได้ เป็นการควบคุมมาตรฐานทางวิชาชีพ ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 41/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. หารือ สธ. วางแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพของประชาชน จับมือวุฒิสภาขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าพบ นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) หัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนหน่วยงานสาธารณสุข ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รองอธิบดีกรมอนามัย รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยได้หารือถึงแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันสวัสดิการในระบบสุขภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการข้าราชการ ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคม และผู้ได้รับประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน มีสิทธิประโยชน์และข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขแตกต่างกัน กสม. จึงเสนอให้มีการกำหนดแนวทางในการจัดบริการสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มให้มีมาตรฐานขั้นต่ำเช่นเดียวกัน

กสม. ยังได้หารือกับ สธ. ถึงแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion and Prevention : P&P) โดยได้รับทราบว่าปัจจุบัน สธ. อยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนในการรับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กสม. ยังได้นำเสนอประเด็นการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าวซึ่งขึ้นทะเบียนและซื้อประกันสุขภาพตามกฎหมาย แต่ประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการ เช่น ไม่มีสถานพยาบาลในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่เพียงพอ เป็นต้น โดยได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจการบริหารจัดการกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่ง สธ.ได้รับทราบปัญหาและมอบหมายให้กองเศรษฐกิจสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาแนวทางแก้ไขต่อไป

นอกจากการประสานความร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566 กสม. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา เพื่อหารือถึงความร่วมมือในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเกี่ยวโยงกับสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยของประชาชนอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และ ครม.มีมติ เมื่อปี 2553 กำหนดทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2564 – 2573) ประกอบกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากเหตุที่ป้องกันได้ให้บรรลุเป้าหมายในปี 2570

ในการนี้ กสม. เห็นควรร่วมมือกับคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยที่ผ่านมา กสม. เคยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปยังรัฐบาลเพื่อให้เกิด

การคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยบนท้องถนนของประชาชนแล้ว ซึ่งมุ่งเน้นที่การป้องกันและลดอุบัติเหตุในระดับนโยบาย อย่างจริงจัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการประกันความปลอดภัยของยานพาหนะอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถโดยสารสาธารณะและรถที่มีการดัดแปลงสภาพ ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. กับ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา มีนโยบายที่จะทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนจากอุบัติเหตุร่วมกัน โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันต่อไป
            
“สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การได้รับการรักษาพยาบาล และสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องคุ้มครองและส่งเสริมให้แก่ประชาชนทุกคน กสม. จึงเห็นถึงความสำคัญในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ เช่น กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานนิติบัญญัติ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายและในทางปฏิบัติ” นายวสันต์ กล่าว
         
2. กสม. ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีสภาทนายความฯ กำหนดเงื่อนไขการเข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความก่อนการขอรับใบอนุญาตว่าความหรือขอตั๋วทนายสำหรับผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญาเฉพาะสถาบันการศึกษาบางแห่ง ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ แนะประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ

นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ระบุว่า สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ถูกร้อง) กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ศึกษาสาขานิติศาสตร์ในประเทศไทย ด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ในลักษณะที่เป็นคุณต่อบุคคลที่จบการศึกษาระดับอนุปริญญาทางนิติศาสตร์จากสถาบันการศึกษาเพียง 10 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ โดยให้สามารถยื่นขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความได้ ขณะที่ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตทนายความที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่นต้องใช้วุฒิการศึกษานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรี ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เวลา และการศึกษาอบรม จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล และมาตรา 27 บัญญัติว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องการศึกษาอบรมอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่กำหนดให้รัฐภาคีรับรองความเสมอภาคและความเท่าเทียมของบุคคล และต้องคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคและปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใด

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรณีตามคำร้องเป็นกรณีที่อยู่ในขั้นตอนการขอสมัครเข้ารับการฝึกอบรมวิชาว่าความ ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนการขอรับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกร้อง โดยสถาบันการศึกษาทั้ง 10 แห่ง เป็นสถาบันที่หลักสูตรการศึกษาในระดับอนุปริญญาได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากผู้ถูกร้อง คือ สภาทนายความฯ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีหลักสูตรนิติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาที่ผู้ถูกร้องให้การรับรองในระดับอนุปริญญา รวมจำนวน 19 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยภาครัฐ 11 แห่ง กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวน 8 แห่ง ซึ่งเป็นไปตาม พระราชบัญญัติสภาทนายความ พ.ศ. 2528 และระเบียบสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความว่าด้วยการรับรองมาตรฐานการศึกษาวิชานิติศาสตร์ พ.ศ. 2563 อันมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางการตรวจพิจารณามาตรฐานการศึกษาวิชานิติศาสตร์ เนื่องจากวิชาชีพทนายความมีความใกล้ชิดกับประชาชน การทำหน้าที่ของทนายความจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อการธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมของสังคม อันเป็นเหตุผลและความจำเป็นที่สภาทนายความฯ ในฐานะองค์กรวิชาชีพต้องกำกับดูแลมาตรฐานหลักสูตรนิติศาสตร์ของสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี อนุปริญญา และประกาศนียบัตร เพื่อให้สถาบันการศึกษาสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่วิชาชีพทนายความ อันเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกับการพิจารณาคุณสมบัติผู้ขอจดทะเบียนรับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา

กสม. เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวแม้จะเป็นการกำหนดเงื่อนไขและมีผลเป็นการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่มีคุณวุฒิอนุปริญญาจากสถาบันการศึกษาที่ผู้ถูกร้องรับรองกับสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้รับรอง แต่เมื่อผู้ถูกร้องดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมมาตรฐานทางวิชาชีพและเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องการศึกษาอบรมอันเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาค และไม่เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ โดยเผยแพร่หลักสูตรนิติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาที่ผ่านการรับรองโดยสภาทนายความแล้ว รวมถึงเผยแพร่หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำขอให้พิจารณารับรองมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาผ่านช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของสภาทนายความ เพื่อเป็นการอำนวยความเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยทั่วไปที่มีความสนใจจะศึกษาสาขานิติศาสตร์ และสถาบันการศึกษาที่ยังไม่ได้รับรองมาตรฐานทราบและใช้ประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net