Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง และวิกฤตภัยธรรมชาติที่ถาโถมประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ การเปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนถกเถียง ถึงสภาพการณ์ปัจจุบัน แนวทางแก้ไขและทางออกในสังคมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในครั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวที่คลุกคลีและทำงานในขบวนการเรียกร้องสิทธิเพื่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศมานานกว่า 20 ปี อีกทั้งเป็นเจ้าของงานเขียน เรื่อง “ไพร่สู้: บนเส้นทาง 78 ปี ประชาธิปไตย (2475-2553) หรือ Voter’s Uprising” และผู้จัดทำการลงรายชื่อเรียกร้องสหประชาชาติในช่วงการปราบปรามเมื่อเดือนพฤษภาคม รวมถึงเจ้าของเว็บบล็อกและเว็บไซต์ Time Up Thailand
 
การทำงานและงานเขียนของเธอ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเผยแพร่ งานวิเคราะห์ วิจัย และวิพากษ์การเมือง สังคมและเศรษฐกิจไทย ที่เชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียน และสังคมโลก อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยด้วย ผู้เขียนจึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ตามนี้
 


ถาม: มีความเห็นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนคนคนเสื้อแดงที่มีมาอย่างต่อเนื่องอย่างไร 

ตอบ: มองสถานการณ์ตอนนี้ว่า ความตื่นตัวของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงถือเป็นจุดแข็ง แต่ท้ายที่สุดแล้ว เสื้อแดงเองก็ไม่ใช่คำตอบ 

แต่คำตอบคือการขยายวงกว้างมากขึ้นของประชาชนที่รู้จัก ตระหนักเรื่องสิทธิ และลุกขึ้นมาจัดตั้งกระบวนการต่อรอง เข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกต่างๆ ในสังคม และทำหน้าที่การตรวจสอบจัดการกับรัฐ ไม่ใช่แค่การจัดการกับการคอรัปชั่นเพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงการจัดการกับระบอบอุปถัมภ์ที่ปลูกฝังในสังคมไทยมาอย่างยาวนานอีกด้วย 

คิดว่าการแก้วิกฤตการเมืองในขณะนี้ อาจต้องมองในภาพที่กว้างและไกล โดยการขยายและเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนสามารถลุกขึ้นมาทำงานได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อสังคม นั่นหมายถึงทุกๆ ภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันแก้ไขวิกฤตที่ประเทศเผชิญอยู่ร่วมกัน จะบอกว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้

อย่างไรก็ตาม  ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะที่กฎหมายไม่เที่ยงธรรม แต่การแก้วิกฤตการเมืองจะมองแต่กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราจะเห็นว่ามีผู้เล่นอยู่หลายตัว ทั้งพรรคการเมือง ข้าราชการ  สถาบันต่างๆ ในสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม  และสื่อ ทุกส่วนต่างมีบทบาทที่สำคัญ

สื่อออนไลน์กลับกลายเป็นความหวังอย่างหนึ่ง เพราะว่าภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองของไทยไม่สามารถปราบลงได้ทั้งหมด  สภาวะทางการเมืองในปัจจุบันจึงคิดว่ายังมีทางออก ส่วนหนึ่งก็ด้วยสื่อออนไลน์และช่องทางการสื่อสารผ่านในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ที่สื่อทางเลือกนั้นยังไม่เข้มแข็งพอ ปัจจุบันสื่อทางเลือกเข้มแข็งมาพอ ฟื้นตัวเร็ว และด้วยธรรมชาติของสื่อ ทำให้มันเติบโต หาช่องทางออกได้ [ภายใต้การบีบคั้น กดดันจากระบอบที่มีเสรีภาพจำกัดได้ -ผู้สัมภาษณ์] 

อีกทั้งด้วยศักยภาพ  และคุณภาพของคนที่สูงขึ้นด้วย ฉะนั้น “ประชาชนที่มีคุณภาพก็จะเรียกร้องให้เกิดสื่อคุณภาพสูงขึ้นด้วย”  หากรัฐและสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยเข้าใจในสิ่งนี้  เข้าใจโลกาภิวัตน์ เข้าใจมวลชน  ก็ต้องปรับตัวไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะมิเช่นนั้นก็จะดำรงอยู่ในสังคมยากลำบากมากขึ้น

ถาม: จากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเวลานี้ และการแก้ไขปัญหาของรัฐที่ถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพ และล่าช้า สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางการเมืองที่เรื้อรังของไทยหรือไม่ อย่างไร

ตอบ: เมื่อมองวิกฤติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ นั่นเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมต้องการจัดการที่ชาญฉลาด ซึ่งการจัดการที่ชาญฉลาดนี้ก็ต้องมาจากคนทำงานบริหารที่ชาญฉลาดด้วยเช่นกัน “ที่สำคัญคือการจัดการทางการเมืองที่ฉลาดนั้นจำเป็นมาก” การป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้ง ต้องเกิดจากการจัดการวางแผนมาอย่างยาวนาน 

ประเทศไทย นับแต่การรัฐประหารปี 2549 จนถึงปี 2553 นี้ มีรัฐบาล 6 ชุดในช่วง 5 ปี กลไกทางการเมือง-รัฐบาลไม่สามารถวางแผน  สร้างกลไก หรือมีโครงการใดๆ เพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนและสังคมอย่างต่อเนื่องได้เลย นอกจากการเล่นเกมทางการเมือง 

บัดนี้จึงถึงเวลาแล้ว  ที่ประชาชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสภาวะความขัดแย้งในสังคม วิกฤตการเมือง ความอยุติธรรมในสังคม ว่าใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งในครั้งนี้ และสถาบันใดก็ตามที่อ้างว่าไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง ก็ต้องถูกตั้งคำถามด้วยว่าจริงหรือไม่ 

ในยามที่ประชาชนเรือนแสนลุกขึ้นมาเรียกร้องถือว่าประเทศตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ  ทุกสถาบันในสังคมไทยต้องถูกตั้งคำถามต่อบทบาทหน้าที่ และความจำเป็นของการมีอยู่ของสถาบันตนในสังคมไทย และสังคมโลก เพราะท่ามกลางวิกฤตการเมืองเช่นนี้ ทุกภาคส่วนในสังคมต้องออกมารับผิดชอบร่วมกัน ทุกๆ ฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออกและแก้วิกฤต

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมานี้ การที่สถาบันกษัตริย์อ้างว่าอยู่เหนือกฎหมาย แต่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือทหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมืองนั้นย่อมทำไม่ได้ ทหารถือว่าเป็นคู่อริ มีกรณีกับประชาชนมาโดยตลอด สถาบันฯ และทหารต้องปรับตัว และเข้าใจโลกาภิวัตน์ หรือสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ควรลุกขึ้นมาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชาญฉลาด และแสดงท่าทีจุดยืนที่สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ

แม้ว่าในอดีตมีการพึ่งพิงทหารในการจัดการกับคอมมิวนิสต์ แต่เงื่อนไขแบบนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ชัดเจน แน่นอน และกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนที่ชอบทักษิณเท่านั้นอีกต่อไป แต่คนที่เข้ามาร่วมคือคนที่เข้าใจประชาธิปไตย เข้าใจสังคม และต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางสังคม การเมือง ซึ่งนับวันจะยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 

ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการให้ประเทศก้าวข้ามพ้นการเมืองน้ำเน่า  ระบบอุปถัมภ์ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และกลุ่มคนเหล่านี้ รัฐบาลจะปรามได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดการให้มีระบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับได้เพียงเท่านั้น 

ถาม: นอกจากการตั้งคำถามกับสถาบันต่างๆ ในสังคม รัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ในภาคขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ในระยะหลังมานี้ก็ถูกตั้งคำถามอย่างมากเช่นเดียวกัน ต่อประเด็นเรื่องการทำงานเพื่อประชาชนท่ามกลางความขัดแย้งทางเมืองที่เข้มข้นนี้ ในฐานะคนทำงานเคลื่อนไหวคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้

ตอบ: ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ กลับไม่เน้นประเด็นเรื่องประชาธิปไตยเลย ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนกระหายประชาธิปไตย แต่องค์กรที่ทำงานกับประชาชน และอ้างว่าทำเพื่อประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชน กลับไม่ออกมาเรียกร้อง เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเลย

แม้ว่านักพัฒนาเอกชนหลายคน คัดค้านนโยบายลัทธิเสรีนิยมใหม่ เสรีทางการค้า และการแปรรูปในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลทักษิณเป็นอย่างมาก  แต่คำถามในวันนี้คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์มีความต่างอย่างไรบ้าง รัฐบาลชุดนี้ก็เดินตามรอยทักษิณเช่นกัน อภิสิทธิ์เข้าสู่อำนาจได้ไม่นาน ก็กู้เงินธนาคารโลก เดินหน้าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ทำค้างไว้ตั้งแต่ปี 40 ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย จึงน่าสงสัยว่า เหตุใดองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่เคยคัดค้านเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านการกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์เลย

ไม่เพียงเท่านั้น  หากประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน  องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งไทย  และต่างประเทศ องค์กรระดับภูมิภาคและนานาชาติ  ก็จะทำได้ลำบากมากขึ้น  ไร้เสรีภาพ และองค์กรเหล่านี้จะทำงานภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ได้อย่างไร การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนา ปัญหาความยากจนภายในประเทศ และในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นพม่า จะทำได้อย่างไร หากสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทย และหน่วยงานที่ทำงานในประเทศไทยยังถูกริดลอน ถูกจำกัดอยู่เช่นนี้ 


ถาม: ประเทศไทยจะพัฒนาประชาธิปไตยในเติบโตได้อย่างไร หากยังมีกฎหมายที่ละเมิด และลิดรอนสิทธิมนุษยชน หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอยู่

ตอบ: ใช่ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์ นับแต่กันยายน 2549 วิกฤติการเมืองซ้ำวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดความขัดแย้งและความเดือดร้อนไปทั่วทุกภาค บุคคลหรือฝ่ายที่มีอำนาจ มีบทบาททางการเมือง ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ลดความขัดแย้ง แต่กลับเป็นตัวเพิ่มความขัดแย้งในสังคมให้มากยิ่งขึ้น 

จะเห็นว่า ปัจจุบันมีคดีเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพจำนวนกว่า 2,000 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ อีกทั้งจำนวนเว็บบล็อกและเว็บไซต์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามต่อสถาบันระดับสูงในสังคมไทย เป็นเว็บไซต์ที่กระทรวงไอซีทีต้องจับตามองและต้องปิดไปเนื่องจากเข้าข่ายกระทำความผิดตามกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ หากมองในมุมกลับแล้ว “ประเด็นที่สำคัญคือ อะไรกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะเหตุใดจึงมีประชาชนเริ่มตั้งคำถามกับสถาบันฯ เพิ่มมากขึ้น”  ไม่ใช่มองเพียงแต่ว่าเป็นเว็บไซต์หมิ่นต้องปิดให้หมด

เพราะการปิดกั้นสื่อ การปกป้องสถาบันโดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์  หรือเท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม การปิดกั้นพื้นที่ในการถกเถียง แลกเปลี่ยนในสังคม โดยไม่พยายามสร้างความเข้าใจ และหากทางออก การปรับเปลี่ยนร่วมกัน ยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้แล้ว การไม่มองให้เห็นถึงภาพรวมว่า มีกลุ่มคนจำนวนมาก ทหาร ข้าราชการ นักการเมือง กลุ่มธุรกิจ กำลังได้รับผลประโยชน์จากความขัดแย้งทางการเมือง และได้รับประโยชน์จากการใช้ และการคุ้มครองกฎหมายหมิ่นฯ นี้อย่างเข้มแข็งอยู่นั้น นั่นก็ไม่ช่วยให้เราแก้ไขปัญหา หรือหาทางออกทางการเมืองได้

หากไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบหักมุมอย่างรุนแรง  เช่นที่เกิดขึ้นในรัสเซีย เนปาล และฝรั่งเศส การเปิดพื้นที่ให้มีถกเถียง พูดคุยแลกเปลี่ยนในสังคม เกี่ยวกับการดำรงอยู่ บทบาทหน้าที่ของสถาบันต่างๆ ในสังคม ร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัว 

จึงขอย้ำว่าการยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ  และการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง คนที่คิดต่างแล้วถูกจับกุม นักโทษคดีหมิ่นกว่าหนึ่งพันคน จะช่วยลดความขัดแย้ง และถือเป็นทางออกทางการเมืองที่ทำได้ในเวลานี้

ถาม: การมองถึงเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดจากความไม่มั่นคงของการเมืองไทย ปัญหาการละเมิดสิทธิ  ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษมานี้ กับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติที่เราเผชิญอยู่ ในระยะยาว จริงๆ แล้ว รัฐบาลชุดใดก็ตามที่เข้ามาบริหาร ควรมีบทบาทหน้าที่อย่างไร

ตอบ: ปัญหานำ้ท่วมนำ้แล้งไม่ใช่วิกฤตที่แก้ไม่ได้ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราไม่มีกลไกระบบรัฐสภาที่ทำงานได้อย่างจริงจัง ต่อเนื่องเลย ไม่ได้มีการพูดคุย เตรียมแผนแก้ปัญหาวิกฤติใดได้ อีกทั้งวิกฤติเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยโครงการ 2 แสนล้าน อย่างโขง-ชี-มูล หรือการสร้างเขื่อนแก่งเสื้อเต้นได้ การฟื้นคืนความชุ่มชื้นให้ภาคอีสาน ต้องคืนพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายมาตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่าน่มา ต้องฟื้นฟูระบบเกษตรผสมผสาน เกษตรที่ปลูกพืชหลากหลายให้กับประชาชน ไม่ใช่การส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออกเท่านั้น 

หากเรามีสภาพทางการเมืองที่ินิ่งพอ มีนโยบายที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องพิ่งพิงเงินหลายแสนล้านบาท 

กอปรกับเศรษฐกิจโลกขาลง  จำนวนคนตกงานที่เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา และทั่วยุโรป ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนย่อมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต่างก็ผลิตส่งออกสินค้าประเภทเดียวกัน หากกำลังซื้อในตลาดสหรัฐและยุโรปลดหายไป แรงงานไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องเริ่มใช้หนี้ที่กู้มาในปีหน้า จำนวนเงินกว่า 8 แสนล้านบาท รัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน

วิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ รวมถึงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประเทศต้องการรัฐบาล  พรรคการเมือง และสถาบันต่างๆ ในสังคม ที่เข้มแข้งเข้ามาทำงานจัดการกับปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลที่เข้าใจโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงของโลก 

นอกจากนี้ ขอยำ้ว่า การเข้ามาแทรกแซงของทหาร  ที่พยายามบอกว่าจะลุกขึ้นมาปฏิวัติเพื่อความมั่นคงของประเทศชาตินั้น ทหารไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะทหารเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และเป็นตัวคุกคามความมั่นคงของชาติ และความเป็นอยู่ของประชาธิปไตยของชาติมาโดยตลอด

และ “รัฐบาลที่เป็นคนดีไม่ได้ช่วยอะไร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากคนดีก็ไม่ได้ช่วยอะไร” สิ่งที่ประชาชนต้องการในเวลานี้คือ  “Democracy First, Election Now!” การเลือกตั้งที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net