Skip to main content
sharethis

เปิดคำให้การ 'พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์' เพื่อขอลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย ฉบับแปลภาษาไทย หลังจากที่รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นำเรื่องคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาเข้าอภิปรายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2558 ซึ่งเป็นยุคที่ คสช. เรืองอำนาจ และ พล.ต.ต.ปวีณ เป็นตำรวจผู้รับผิดชอบหลักในคดีนี้

23 ก.พ. 2565 - หลังออกหมายจับ พล.ท.มนัส คงแป้น ทหารของ กอ.รมน. จำนวนหนึ่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเรือ ในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา และสร้างความไม่พอใจให้กับคณะรัฐประหาร คสช. นำไปสู่การออกคำสั่งส่งตัวไปชายแดนใต้ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ เหมือนจะเพียงต้องการเกษียณอายุและอยู่ในไทยต่อไปอย่างเงียบๆ เพื่อดูลาดเลาไปก่อน แทนที่จะถูกฆ่าโดยน้ำมือของขบวนการค้ามนุษย์ใน จ.ยะลา ซึ่งขณะนั้นยังคงปฏิบัติการชุกชุม

เรื่องควรจะจบอยู่แค่การลาออก แต่จู่ๆ เขาก็ได้รับข้อเสนอจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับวังให้เลือกระหว่าง (1) การเข้าไปทำงานในหน่วยราชองครักษ์ (2) การทำงานในคดีค้ามนุษย์ต่อไปภายใต้ตำแหน่งใหม่ที่สูงกว่าเดิม หรือ (3) ลาออกจากราชการ เขาเลือกที่จะทำงานเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ต่อไป แต่เขากลับถูกบอกให้ “ลาออกและอยู่เงียบๆ ไว้” เนื่องจากกลัวว่าจะถูกใส่ร้ายในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาจึงลี้ภัยออกไปด้วยความกลัว

ใน พ.ศ.2558 ยุคที่เผด็จการทหารยังเรืองอำนาจกว่าวันนี้ และประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนรัชกาล ลำพังเพียงการถูกส่งตัวไปยังชายแดนใต้ ยังไม่พอทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ เดินทางลี้ภัยออกจากประเทศไทย สิ่งที่ทำให้ พล.ต.ต. ปวีณ ต้องลี้ภัยด้วยความกลัว แท้จริงแล้วมาจาก ‘มาตรา 112’ และข่าวการบังคับสูญหายหรือเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในช่วงดังกล่าว

คำให้การขอลี้ภัยฉบับภาษาไทย

เอกสารคำให้การความยาว 18 หน้า แบ่งเป็น 7 ส่วน รวมทั้งหมด 70 ย่อหน้า ได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาไทยแล้ว สามารถอ่านได้ด้านล่างนี้ ในเอกสารฉบับนี้เต็มไปด้วยเหตุการณ์พลิกผันของชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งที่บอกกับรัฐบาลออสเตรเลียว่า ตนปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์มาโดยตลอดและบอกกับเพื่อนร่วมงานว่า “มีรถส่วนตัวเพียงคันเดียว” เมื่อถูกขอให้เปลี่ยนรถที่ใช้อยู่เพื่อความปลอดภัยจากการลอบทำร้าย

เอกสารฉบับนี้มีการป้ายดำปิดข้อความอย่างน้อย 78 ครั้ง ก่อนถูกนำเผยแพร่ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติโดยรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในช่วงที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกพาดพิงในเอกสารคำให้การนี้อย่างน้อย 5 ครั้ง ตามเอกสารฉบับนี้ ตำรวจที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลบอกกับพล.ต.ต.ปวีณ โดยอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พอใจอย่างมากที่ พล.ต.ต.ปวีณ ออกหมายจับ พล.ท.มนัส จากกรณีนี้ บีบีซีไทยรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับสื่อว่า “เขาออกไปเองไม่ใช่หรือ ใครจะไปทำอะไรเขาได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีกฎหมายอยู่”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถูกพาดพิงในเอกสารนี้อย่างน้อย 8 ครั้ง โดยตามเอกสารอ้างว่าทีมตำรวจของ พล.อ.ประวิตร ติดต่อ พล.ต.ต.ปวีณ ให้ประกันตัว พล.ท.มนัส หากยอมมอบตัว  ในประเด็นนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร ตอบว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น หากมีชื่ออยู่เบื้องหลังขอให้เปิดออกมา จะดำเนินการอย่างถึงที่สุด

ตามเอกสารดังกล่าว พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ยังนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจในวันที่มีการออกคำสั่งให้ส่ง พล.ต.ต.ปวีณ ไปประจำที่ศูนย์จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งที่ พล.ต.ต.ปวีณ ไม่สมัครใจ ในประเด็นนี้ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำมาเป็นประเด็นตั้งคำถาม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่​ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ ยังไม่แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ตามรายงานของมติชนออนไลน์

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกพาดพิงในเอกสารนี้อย่างน้อย 18 ครั้ง หลังเป็นข่าวใหญ่ TOP NEWS นำคำพูดวิจารณ์ พล.ต.ต.ปวีณ ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ มานำเสนออีกครั้ง ในวันนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ เป็นผู้ท้าชิงที่ต่อมาชนะคู่แข่งซึ่งเป็นหัวหน้างานของ พล.ต.ต.ปวีณ ที่หวังทำคดีค้ามนุษย์เอาใจนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายกลับทำให้ “ตำรวจดูไม่ดีต่อหน้ากองทัพ”

นอกจากนี้ เอกสารฉบับนี้ยังพูดถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.ต.ต.ปวีณ ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลียในที่สุด การอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรมถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง หลังรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลออกมาเปิดฉากอภิปราย “ตั๋วช้างภาค 2” ตามด้วยการสัมภาษณ์เปิดสาธารณะที่ พล.ต.ต.ปวีณ ออกมากล่าวว่า “รู้สึกได้รับความเป็นธรรมครึ่งหนึ่งแล้ว”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

หลัง “ตั๋วช้างภาค 2” เป็นข่าวใหญ่ เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ออกมาเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตอบคำถามเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ ขณะที่องค์กรสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตแก่ พล.ต.ต.ปวีณ ด้าน พล.ต.ต.ปวีณเองให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ว่าจะยังไม่เดินทางกลับประเทศไทย หากยังไม่ปลอดภัย

ตำรวจยืนยันความปลอดภัย

หลังจากการอภิปรายในสภาและคำชี้แจงจากผู้นำของรัฐบาล สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ดรายงานว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติระบุกับสื่อว่ายังไม่พบการแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.ต.ปวีณ แต่อย่างใด ส่วนเรื่องความกลัวของ พล.ต.ต.ปวีณ นั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ “ตอบในนามตำรวจ 2 แสนนายว่า ถ้าท่านกลับมาจะดูแลความปลอดภัยให้”

“จริงๆ แล้วถ้าท่านอยากจะกลับไม่มีใครไปห้ามท่าน ผมไม่ทราบรายละเอียดว่ามีใครไปอะไรหรือเปล่า เอาเป็นว่าในหน้าที่ของตำรวจ ถ้าคิดว่าจะกลัวโน่นกลัวนี่ ไม่ปลอดภัย เราดูแลให้ได้ รับประกันว่าไม่มีเรื่อง ไม่มีใครมาทำอะไร” พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าว พร้อมระบุว่าตำรวจยังไม่ได้ติดต่อไปหา พล.ต.ต.ปวีณ และ พล.ต.ต.ปวีณ ก็ยังไม่ได้ติดต่อมา

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแรงกดดันและการข่มขู่ระหว่างการสอบสวนคดีลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า ข้อมูลอาจอยู่ที่ พล.ต.ต.ปวีณ แต่ตนไม่เห็นมีแรงกดดันอะไรในช่วงดังกล่าว ในช่วงนั้นมีผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนเป็นจำนวนมาก และเชื่อว่าหากมีการข่มขู่คงไม่สามารถปิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้หมด

เมื่อถามถึง "ปลาตัวใหญ่" พล.ต.อ.สุวัฒน์ ระบุว่าไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร หากดูในสำนวนการสอบสวนจะพบได้ว่าปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนแล้ว โดยมีการออกหมายจับไว้หลักร้อยคน แต่มีอีกประมาณ 30 คนที่ยังจับไม่ได้ คดีที่ฟ้องส่วนใหญ่ปัจจุบันพิพากษาลงโทษแล้ว และอยู่ในชั้นศาลฎีกา

'กลาโหม' ยันรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา พบใครอยู่เบื้องหลัง ไม่เอาไว้

นอกจากนี้ยังมีปฏิกิริยาจากกระทรวงกลาโหมด้วย เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด โดยฝ่ายความมั่นคงสนับสนุนการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและภาคีเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้านออสเตรเลียด้วย

พล.อ.คงชีพ กล่าวว่ารัฐบาลไทยทำตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่ยังพบปัญหาในแรงงานภาคประมง ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญตามคำแนะนำของสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับปัญหาการค้าประเวณีในพื้นที่และในออนไลน์ด้วย เพราะการบังคับข่มขู่ทรมานจิตใจ ทำร้ายร่างกาย และข่มขืน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ รัฐบาลพร้อมแก้ไขเต็มที่ หากประชาชนมีข้อมูลขอให้ส่งข้อมูลมายังภาครัฐ

พล.อ.คงชีพ กล่าวอีกว่า ปัญหาชาวโรฮิงญาเป็นคดีความตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิดจำนวนมาก พร้อมสืบสวนคนที่อยู่เบื้องหลัง และทำทุกอย่างตามความเป็นจริง ปัจจุบันเชื่อว่าหากพบข้อมูลเพิ่มเติม รัฐบาลก็ไม่เอาไว้ โดยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มีละเว้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับพื้นที่ตามแนวชายแดนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กำชับให้กองกำลังตามแนวชายแดน 7 กองกำลัง ทั้งทางบกและทางน้ำ ดำเนินการสกัดกั้นจับกุมผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีการเพิ่มกำลังป้องกันชายแดนอีก 4 กองร้อย และทำงานร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดน ฝ่ายปกครอง จับกุมตามช่องทางธรรมชาติ พร้อมเพิ่มความถี่ในการตรวจตรา

ในพื้นที่ชายแดนมีการลักลอบของแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะชายแดนไทย-พม่า พบว่าสถิติการจับกุมล่าสุด เฉลี่ยวันละกว่า 200 คน และจับได้เกือบทุกวัน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2565 เพียงวันเดียวสามารถจับกุมชาวพม่าที่ลักลอบเข้าเมืองถึง 248 ราย ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และที่ จ.จันทบุรี สาเหตุมาจากการที่ไทยต้องการแรงงาน และสภาวะเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดน

ขณะเดียวกัน ฝ่ายความมั่นคงมีความพร้อมในการรองรับเปิดด่านชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงเดือน มี.ค. แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศมาเลเซียด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหน ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าพูดคุยตกลงหารือกันแล้ว ไทยก็มีความพร้อม

อ่านคำให้การต่อรัฐบาลออสเตรเลียของ ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ได้ด้านล่าง

เครือรัฐออสเตรเลีย
คำให้การตามกฎหมาย
พ.ร.บ.คำให้การตามกฎหมาย พ.ศ.2502

ผม ปวีณ พงศ์สิรินทร์ [***]

เจ้าหน้าที่ตำรวจเกษียณแล้ว ขอให้การ ตาม พ.ร.บ.คำให้การตามกฎหมาย พ.ศ.2502 ดังนี้

ว่า:

1. ผมเป็นพลเมืองของประเทศไทย อายุ 57 ปี ผมเคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของกองกำลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ.2525 จนถึงการลาออกของผมเมื่อไม่นานมานี้ที่มีผลตั้งแต่ 6 ธ.ค. 2558 ผมมีเส้นทางอาชีพยาวนานและโดดเด่น โดยในช่วงดังกล่าวผมรับใช้ชาติด้วยความซื่อสัตย์และสุจริต แต่ชีวิตของผมตอนนี้ตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามในประเทศไทยจากนักการเมืองและสมาชิกระดับสูงของกองทัพและตำรวจซึ่งไม่พอใจกับการจับกุมที่ผมดำเนินการและการทุจริตที่ผมเปิดโปงระหว่างการสืบสวนคดีการลักลอบค้ามนุษย์ใน พ.ศ.2558 ผมกลัวด้วยว่าจะถูกใส่ร้ายอย่างผิดๆ ว่าดูหมิ่นสมาชิกเชื้อพระวงศ์ ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย หรือภายใต้กฎหมายอื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งให้อำนาจกองทัพในการจับกุมใครก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือเสถียรภาพของชาติ สายสัมพันธ์ของผมในการเมืองและตำรวจไม่สามารถปกป้องผมจากภัยเหล่านี้ที่คุกคามชีวิตของผมได้ เพราะมันมาจากกลุ่มคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศ

2. เนื่องจากภัยคุกคามดังกล่าวและความกลัวของผมต่อความปลอดภัยของผม ผมจึงออกจากประเทศไทยในวันที่ 15 พ.ย. 2558 และบินไปที่สิงคโปร์ ผมอยู่ที่นั่นระหว่างรอการอนุมัติวีซ่านักท่องเที่ยวไปยังออสเตรเลีย ผมมาถึงออสเตรเลียในวันที่ 5 ธ.ค. 2558 โดยหวังว่าผมจะสามารถหาความปลอดภัยได้ที่นี่ หลังขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องนี้ ผมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสมัครเพื่อขอความคุ้มครอง และผมได้รับการอ้างอิงไปยัง Refugee Legal [องค์กรไม่แสวงหากำไรในออสเตรเลียที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ลี้ภัย] ซึ่งตอนนี้ช่วยเหลือผมจนทำเอกสารที่จำเป็นสำหรับการขออนุมัติครบถ้วนแล้ว

3. ผมขอให้การตามกฎหมายเพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนการขออนุมัติความคุ้มครองในออสเตรเลีย ดังนี้

ครอบครัวและภูมิหลัง

4. ผมเกิดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2501 ใน [***] ประเทศไทย

5. [***]

6. [***]

เส้นทางอาชีพของผมในกองกำลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

7. ในปี 2521 ผมเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขณะนั้นผมคิดว่ากองกำลังตำรวจเป็นอาชีพที่ดีและเป็นวิธีที่ดีในการช่วยเหลือประเทศของผม

8. ผมสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจในปี 2525 และทำงานในหลากหลายบทบาทให้กับกองกำลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

9. กองกำลังตำรวจแบ่งออกเป็น 4 ภาคในช่วงที่ผมสำเร็จการศึกษา [ได้แก่] ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ นอกเหนือจากเขตที่แยกออกมาคือกรุงเทพมหานคร ผมเลือกที่จะประจำการอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยเพราะผมไม่เคยเห็นส่วนดังกล่าวของประเทศมาก่อน ภาคใต้ต่อมาแบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ชายแดนภาคใต้ ภาค 8 และภาค 9 ผมใช้เส้นทางอาชีพทำงานในภาค 8 และภาค 9

10. ผมทำงานด้วยความอุตสาหะและได้รับการเลื่อนยศจากความยอมรับต่อผลงานของผมในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมไม่ได้รับการเลื่อนยศเร็วเท่าคนอื่นๆ เพราะผมไม่ยอมจ่ายสินบนหรือใช้เส้นสายทางการเมืองเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพของผม ผมต่อต้านการทุจริตและปฏิเสธที่จะก้าวหน้าในสายอาชีพของผมด้วยวิธีการฉ้อฉลเหล่านี้

11. ผมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งอย่างเคร่งครัด ผมไม่เคยเกรงกลัวที่จะติดตามการสอบสวนไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่เหมาะสม แม้ว่าการทำเช่นนี้จะนำไปสู่การจับกุมผู้มีเงินและผู้มีอำนาจก็ตาม ผมเปิดโปงการทุจริตเมื่อผมตรวจพบ​ และพยายามดำเนินคดีอาญากับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เป็นอาชญากรรม การกระทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบสำหรับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่เสมอไป โดยเฉพาะถ้าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการทุจริต หนึ่งในตัวอย่างการสอบสวนเมื่อไม่นานมานี้ที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องคือผมค้นพบการทุจริตเป็นวงกว้างในการก่อสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศใน พ.ศ. 2556 เรื่องอื้อฉาวครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายพลหลายท่าน ผมมอบหลักฐานที่จำเป็นทั้งหมดแก่รัฐสภาและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยังไม่มีการจับกุมมาจนถึงปัจจุบัน คดีระดับสูงอีกคดีเมื่อไม่นานมานี้คืองานของผมในปี 2557 ในการปราบปรามมาเฟียแท็กซี่ที่ปฏิบัติการอยู่ในภูเก็ต และนำไปสู่การจับกุมประมาณ 100 ราย รวมถึงนักการเมืองด้วย

12. ผมเคยถูกข่มขู่ในอดีตอันเนื่องมาการสอบสวนที่ผมเคยเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่คำขู่เหล่านี้แตกต่างไปจากการคุกคามผมในตอนนี้ เจ้าหน้าที่ที่เป็นเพื่อนร่วมงานของผมและผมสามารถปกป้องตัวเองจากการข่มขู่ของมาเฟียหรือนักการเมืองได้ในอดีต เราไม่ออกไปตามที่สาธารณะในพื้นที่ของเราบ่อยนัก และระมัดระวังเมื่อเราเดินทาง ผมยังคงประจำอยู่ที่ภาค 8 ในช่วงเวลาเหล่านั้น และผมมีเจ้าหน้าที่อาวุโสอยู่เหนือผม ผู้ซึ่งผมเชื่อว่าจะปกป้องผม คำเตือนที่ผมเคยได้รับจากผู้บังคับบัญชาเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบของการสอบสวนเหล่านี้ต่อเส้นทางอาชีพของผมหากผมสร้างปัญหาให้กับคนอื่น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการข่มขู่คุกคามต่อชีวิตของผม แต่สถานการณ์แตกต่างออกไปอย่างมากสำหรับผมในตอนนี้ หลังจากผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีลักลอบค้ามนุษย์ใน พ.ศ.​2558

งานของผมในฐานะผู้สอบสวนการลักลอบค้ามนุษย์ในประเทศไทย พ.ศ.2558

13. ในเดือนมกราคม 2558 การสอบสวนใหม่เริ่มขึ้นเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา หลังมีการพบว่าชาวโรฮิงญาจากพม่ากลุ่มหนึ่งกำลังถูกขนส่งอยู่ในรถบรรทุกที่นครศรีธรรมราชในภาคใต้ของไทย ทีแรกชื่อของผมถูกเสนอให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสอบสวน แต่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.K[***] วีโต้ชื่อของผม เนื่องจากผมเคยทำงานอยู่ใต้เขาสมัยที่ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจภาค 8 และเขาไม่พอใจที่ผมจับกุมอาชญากรบางคนที่มีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองชื่อดัง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 พ.ค. 2558 ผมได้รับโทรศัพท์จาก พล.ต.อ.[***] รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ผู้หญิงและเด็กและการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งสั่งผมให้เดินทางไปยังสถานีตำรวจจังหวัดหาดใหญ่ซึ่งอยู่ใน จ.สงขลา เพื่อเข้าร่วมทีมผู้สอบสวนคดีลักลอบค้ามนุษย์โรฮิงญา ก่อนหน้านั้นเพิ่งมีการค้นพบหลุมฝังศพขนาดใหญ่เมื่อต้นเดือน พ.ค. ในค่ายลักลอบค้ามนุษย์ที่ ต.ปาดังเบซาร์ และมีแรงกดดันจากนานาชาติให้ประเทศไทยสอบสวนเรื่องนี้อย่างละเอียด นายกรัฐมนตรีเคยบอกแล้วว่าเรื่องนี้ต้องมีการสอบสวนและแก้ไขภายใน 10 วัน และ พล.ต.อ.[***] ต้องการขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเขาต้องการผลลัพธ์เพื่อสนับสนุนการเลื่อนตำแหน่งของเขา ดังนั้น เขาจึงแต่งตั้งผมเข้าทีม

14. การลักลอบค้ามนุษย์ โดยเฉพาะ[กรณี]ของชาวโรฮิงญาจากพม่าเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย การกระทำนั้นเป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับผมและเป็นเรื่องสำคัญที่ผมจะต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อหยุดการขูดรีดเหยื่อเหล่านี้และลงโทษกลุ่มคนที่ได้กำไรจากการกระทำนี้ แต่มันก็เป็นงานใหญ่และละเอียดอ่อนทางการเมือง เนื่องจากการกระทำเช่นนี้คงไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดนี้โดยปราศจากความเกี่ยวข้องกับบุคคลในตำแหน่งระดับสูง เมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว มีคนเข้ามาประมาณ 3,000-5,000 คนและพวกเขาจ่ายให้ผู้ลักลอบ 400 ดอลลาร์ออสเตรเลีย [หรือประมาณ 9,000 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน] แต่เรื่องนี้กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จากสถิติที่รวบรวมโดยเอ็นจีโอต่างๆ [พบว่า] ใน พ.ศ.2550-2552 มีคนเข้ามามากกว่า 10,000 คน ในปี 2555 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 35,000 คน และในปี 2557 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 80,000 คน ในช่วง 3 เดือนแรกของ 2558 มีการเข้ามามากกว่า 25,000 ครั้ง ผู้ลักลอบค้ามนุษย์ลักพาตัวพวกเขาและจับพวกเขาเพื่อเรียกค่าไถ่ หากครอบครัวของพวกเขาไม่สามารถจ่ายเงินตามที่เรียกร้องโดยผู้ลักลอบค้ามนุษย์ได้ คนเหล่านี้ก็จะถูกขายให้กับชาวประมงและค่ายใช้แรงงาน และถูกบังคับให้ทำงานในสภาพเหมือนทาส ประเทศไทยถูกลดระดับลงมาอยู่เทียร์ 3 ในด้านการลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งต่ำสุดในการจัดอันดับระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุด 4 คนในสมาชิกของรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกในช่วงที่การลักลอบค้ามนุษย์เฟื่องฟูในประเทศ ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2547-2548) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2553) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ตั้งแต่ ต.ค. 2553-ถึง ก.ย. 2557) และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (ตั้งแต่ 2557-2558) [และ] พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภาค 9 ในปี 2555 ขณะที่การลักลอบค้ามนุษย์เฟื่องฟูในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

15. เมื่อ 6 พ.ค. 2558 ผมเดินทางไปพบ พล.ต.อ.[***] ตามคำสั่งและได้รับแจ้งสรุปสถานการณ์พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 5-6 คนจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ของกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจภูธรภาค 9 (รับผิดชอบ จ.สงขลา สตูล พัทลุง และตรัง) พวกเขารวบรวมข้อมูลได้เป็นจำนวนมากในช่วงหลายเดือนที่พวกเขาทำการสอบสวน แต่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากใครสักคนที่พร้อมดำเนินการและทำให้มั่นใจว่าจะทำการจับกุม แม้ว่าจะมีบุคคลระดับสูงเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม การสอบสวนได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากมีการค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่ด้วย นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาต้องการผม ผมได้รับคำสั่งให้ช่วยเหลือในการวางแผนยุทธศาสตร์การสอบสวน โดยพุ่งเป้าไปที่การรวบรวมพยานและหลักฐานที่จะทำให้ศาลอนุมัติหมายจับผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังขบวนการค้ามนุษย์ดังกล่าว

16. ระหว่างการสอบสวน ทีมพบหลักฐานของพยานผู้เห็น[การกระทำผิดของ]เครือข่ายการค้ามนุษย์โดยตรงคนหนึ่ง [ชื่อว่า] นางสาว [***] แต่พวกเขาไม่รู้ว่าเธออยู่ที่ไหน เธอเป็นภรรยาของชายคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการลักลอบค้ามนุษย์ สามีของเธอถูกฆ่าโดยแก๊งคู่แข่ง เขาชอบพาเธอไปด้วยเมื่อเขาเข้าไปพัวพันกับกิจกรรมหลายอย่าง ดังนั้น เธอจึงรู้ข้อมูลโดยตรงเยอะมาก ผมเป็นผู้รับหน้าที่ในการค้นหาตัวเธอ

17. หนึ่งในเพื่อนร่วมทีมสอบสวนของผม พ.ต.ท. [***] แนะนำให้ผมติดต่อไปหา พล.ต.ต. D[***] ผู้บัญชาการกองสืบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่เคยทำงานอยู่ในทีมสอบสวนเดียวกันเพื่อขอข้อมูลของเครือข่ายการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต. ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลกับผม หลังจากนั้น พ.ต.อ. A[***] และ พ.ต.อ. Ch[***] ซึ่งเป็นสมาชิกของกองสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ซึ่งเริ่มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายการค้ามนุษย์ในอดีตแล้ว และสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการสืบสวนในปัจจุบันได้ ก็ติดต่อมาและยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ให้ข้อมูลใดๆ แก่ทีมที่ผมทำงานอยู่ นี่เป็นเรื่องที่น่ากระอักกระอ่วนมากแต่นี่เป็นเรื่องปกติในประเทศไทย พวกเขากำลังช่วยเหลือหรือปกป้องคนที่อยู่เหนือกว่า พ.ต.ต. D[***] ในขณะนั้นทำงานอยู่ในทีมสอบสวนนำโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ซึ่งเป็นคู่แข่งของ พล.ต.อ. [***] ในการขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นไปได้ว่าพวกเขาปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลกับผมเพราะพวกเขาต้องการให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ประสบความสำเร็จมากกว่าการสอบสวนที่ริเริ่มโดย พล.ต.อ.[***] หรืออาจเป็นเพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนส่งและไม่อยากให้เรื่องนี้แพร่งพราย

18. ผมไม่สามารถหาความช่วยเหลือจากภาค 8 ได้ ดังนั้น ผมจึงทำการสอบสวนด้วยตนเอง และพบว่าพยานหลักของคดีนี้ นางสาว [***] กำลังพักอาศัยอยู่ในมาเลเซีย ทีมสืบสวนของผมประสานงานกับผู้ติดต่อที่เกี่ยวข้องจนกระทั่งเราสามารถระบุตำแหน่งและเข้าพบนางสาว [***] เพื่อ[ขอให้เธอ]​ให้การกับตำรวจ นางสาว[***] ให้ข้อมูลครอบคลุมในเชิงลึกเกี่ยวกับเครือข่ายการค้ามนุษย์ที่ปฏิบัติการในประเทศไทยและเปิดเผยว่าเครือข่ายมีผู้เกี่ยวข้องกว้างขวางอยู่ในหลายจังหวัด ได้แก่ จ.ระนอง ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา และ จ.สตูล ข้อมูลที่ให้โดยนางสาว [***] ระบุว่าเครือข่ายดังกล่าวปฏิบัติการโดยเริ่มจากเอเยนต์ในมาเลเซียติดต่อเอเยนต์ในพม่าและบังกลาเทศเพื่อส่งชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังกลาเทศผ่านประเทศไทยโดยใช้เรือประมงที่ได้รับการปรับแต่งเพื่อให้สามารถรับคนได้มากขึ้น เรือเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยผ่าน จ.ระนอง พังงา และสตูล ผู้ที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายลักลอบ ได้แก่ นักธุรกิจที่เป็นเจ้าของเรือประมงที่ได้รับการปรับแต่งพิเศษเพื่อให้สามารถรับคนขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และผู้ลักลอบที่ควบคุมเรือ จัดเตรียมรถปิ๊กอัพ เฝ้าค่ายพักแรมในป่า และส่งอาหารรวมถึงเสบียงอื่นๆ

19. ในขณะนั้นผมเป็นผู้บริหารทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 80 รายที่กำลังรวบรวมข้อมูล และดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของผมในการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดและตัดสินใจว่าอะไรเกี่ยวข้อง เราจะทำการจับกุมใครและหลักฐานใดที่จำเป็นต้องแสดงต่อศาล มีการออกหมายจับทั้งหมด 153 ครั้งจากการสอบสวน เราต้องขึ้นศาลกว่า 20 ครั้งเพื่อออกหมายจับและผมต้องขึ้นศาลด้วยตัวเอง 10 ครั้งจากจำนวนนี้ เมื่อหมายจับเกี่ยวข้องกับบุคคลระดับสูง

20. ภายในไม่กี่วันหลังการเข้าร่วมทีมสอบสวนของผม มีการออกหมายจับที่เกี่ยวข้องกับบรรจง ปองพล นายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์ กลุ่มนักธุรกิจที่ร่ำรวยใน จ.ระนอง [ได้แก่] สุวรรณ แสงทอง, ปิยวัฒน์ พงษ์ไทย หรือโกหย่ง, วราคม โมฬี หรือโกเนิน [นอกจากนี้ ยังมี] ปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ซึ่งเป็นนักธุรกิจร่ำรวยและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคน และยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีต ส.ส.ในรัฐสภา พรรค[***] อีกด้วย

21. วันที่ 31 พ.ค. ผมไปที่ศาลจังหวัดนาทวี เพื่อขอหมายจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น [เอกสารนี้ระบุว่าเป็น พล.อ. ตลอดทั้งเอกสาร จึงแก้ไขให้ถูกต้องในฉบับภาษาไทย] ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของกองทัพบก ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงในภาคใต้ (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีอำนาจในประเทศไทยและบริหารงานโดยกองทัพ มีสถานะเทียบเท่ากับกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิของสหรัฐอเมริกา หน่วยงานนี้อยู่ภายใต้อำนาจของสำนักนายกรัฐมนตรี) ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผมเป็นผู้ลงนามหมายจับสำหรับผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ แต่ผมต้องลงนามหมายจับของ พล.ท.มนัส ด้วยตนเอง เพราะไม่มีใครอยากลงนามหมายจับของคนระดับสูงและมีเส้นสายมากอย่างเขา และผมยังต้องเป็นคนไปขึ้นศาลเพื่อโน้มน้าวให้ผู้พิพากษาออกหมายจับด้วย ผมต้องไปขึ้นศาลถึง 2 ครั้งเพื่อรับหมายจับ พล.ท.มนัส เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่ศาลเคยออกหมายจับบุคคลระดับสูงและยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเช่นนี้ และแม้ว่าผมจะมีหลักฐานเยอะแต่แรกแล้ว แต่ศาลก็ยังต้องการหลักฐานเพิ่มอีกก่อนออกหมายจับ

22. ศาลอนุมัติหมายจับโดยอาศัยสลิปโอนเงินธนาคารที่ค้นพบระหว่างตรวจค้นบ้านของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลักลอบ ซึ่ง [การตรวจค้น] เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2558 โดยทีมที่นำโดย พ.ต.ท.A[***] รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผมเป็นผู้สั่งการการตรวจค้นครั้งนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของการสืบสวนสอบสวนร่วม อย่างไรก็ตาม เอกสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งให้กับทีม[สอบสวน]การลักลอบค้ามนุษย์ของผมหลังการตรวจค้น และผมเพิ่งรับรู้เกี่ยวกับข้อมูลนี้หลังมีรายงานในสื่อเกี่ยวกับการยึดหลักฐานทางการเงิน หลังจากอ่านรายงานเหล่านี้ ผมได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.อ.D [***] ผู้บัญชาการกองสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 เพื่อขอให้ทีมของเขาส่งหลักฐานการค้ามนุษย์ให้กับทีมสอบสวนของเรา พ.ต.ท.A [***] ส่งหลักฐานนี้ให้กับเราด้วยความลังเลอย่างมาก และต่อมาเขาแจ้งกับเราว่ารายงานการตรวจค้นที่พักและรายการของสิ่งที่ทำการยึดถูกส่งโดยตรงให้กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น และเขาสั่งทีมสอบสวนภาค 8 ว่าไม่ให้ส่งหลักฐานให้กับทีมสอบสวนการลักลอบค้ามนุษย์ หลักฐานดังกล่าวรวมถึงสลิปโอนเงินธนาคารจากผู้ต้องหาลักลอบค้ามนุษย์ส่งถึง พล.ท.มนัส เป็นจำนวนเงินกว่า 14 ล้านบาท หากสื่อไม่ได้รายงานเกี่ยวกับการยึดหลักฐานทางการเงิน ทีมสอบสวนคงไม่สามารถเอาหลักฐานมาได้ และหลักฐานคงถูกทำลายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผมกลับสามารถขอให้ศาลออกหมายจับ พล.ท.มนัส ได้สำเร็จ

23. หลังจากผมได้รับหมายจับสำหรับ พล.ท.มนัส เรียบร้อยแล้ว ผมก็ได้รับการติดต่อจาก พ.ต.ท.[***] เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้ติดตามและรับใช้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ผู้เป็นบุคคลสำคัญที่รับผิดชอบนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน พ.ต.ท. [***] แจ้งว่า พล.อ.ประวิตร อยากรู้ว่า พล.ท.มนัส จะได้รับการประกันตัวหรือไม่เมื่อเขามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ พ.ต.ท.[***] แสดงออก[พูด]ว่า พล.อ.ประวิตรอยากให้ พล.ท.มนัส ได้รับการประกันตัวหากยอมมอบตัว ผมอธิบายกับ พ.ต.ท. ว่าคดีลักลอบค้ามนุษย์เป็นคดีสำคัญต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ ผู้ต้องสงสัยอีกประมาณ 60 คนที่ถูกจับกุมในช่วงเดียวกัน ไม่มีใครได้รับการประกันตัวเลยหลังมีการยื่นคำร้องต่อทีมสอบสวนและศาล คดีนี้เป็นอาชญากรรมร้ายแรงและเป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ ผู้สอบสวนไม่สามารถอนุมัติการปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องสงสัยได้ เพราะมันอาจสร้างความเสียหายต่อการสอบสวนที่ยังดำเนินอยู่และผลประโยชน์สาธารณะของชาติ

24. วันที่ 3 มิ.ย. พล.ท.มนัส ขอมอบตัวกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะเป็นผู้ต้องสงสัยของคดีอาชญากรรมร้ายแรงเช่นนั้น พล.ท.มนัส กลับได้รับการปรนนิบัติด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส ปกติแล้วจะต้องมีการตรวจค้นบ้านเมื่อผู้ต้องสงสัยถูกจับกุม แต่ไม่มีใครตรวจค้นบ้านของเขาเลย เขาได้รับการจัดหาเที่ยวบินที่ดำเนินการโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจากกรุงเทพมายังสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ทหารติดตามเขามาเพื่อประสานงานกับตำรวจคอยอำนวยความสะดวกเมื่อเขาต้องการ

25. พล.ท.มนัส รู้สึกไม่พอใจอย่างมากเมื่อเขาทราบว่าเขาจะไม่ได้รับการประกันตัว เขาบอกว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น เคยอนุญาติให้เขาได้รับการปล่อยตัวแล้ว และรู้สึกโกรธที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเขา อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานเพียงแห่งเดียวที่มีอำนาจในการอนุมัติประกันตัวในคดีประเภทนี้ได้ ไม่ใช่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันนั้น พล.ท.มนัส ข่มขู่พนักงานสอบสวนว่าเขาจะแหกคุกออกมาทำร้ายเจ้าพนักงานสอบสวนทุกคน วันต่อมาเขาเดินทางไปศาลเพื่อขอประกันตัว ศาลปฏิเสธคำร้องของเขา ปัจจุบันเขาก็ยังอยู่ในคุก

26. พล.ท.มนัส มีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคน ขณะที่เขาถูกสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่สอบสวนของตำรวจ เขาพูดคุยทางโทรศัพท์กับ พล.ต.ท. T[***] ผู้บัญชาการสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ [***] พล.ต.ท. เป็นเพื่อนร่วมชั้นของ พล.ท.มนัส ขณะที่เขาเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหาร พล.ต.ท. T[***] ขณะนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 และเข้าร่วมแผนการเพื่อย้ายผมออกจากภาค 8 พล.ท.มนัสพูดคุยกับ พล.ต.อ. T[***] ว่าควรทำอย่างไรในการรับมือกับการสอบสวนและทำอย่างไรเพื่อให้เขาสามารถประกันตัวออกมาได้

27. แม้แต่ในขณะที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนาทวี พล.ท.มนัส ก็ได้รับการปรนนิบัตรต่างจากคนอื่นๆ เพราะตำแหน่งระดับสูงและเส้นสายของเขา เขาได้รับอนุญาตให้เดินเหินอย่างอิสระในอาคารและเดินไปมาได้อย่างอิสระเมื่อตำรวจนำพยานปากสำคัญอย่างนาง [***] เข้ามาในเรือนจำเพื่อระบุตัวผู้ต้องสงสัย เนื่องจากเขาสามารถเดินไปมาได้อย่างอิสระ เขาจึงข่มขู่เธอในห้องพยาน สิ่งนี้สามารถทำให้เธอยุติความร่วมมือได้ แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เธอกลับแจ้งความการข่มขู่พยานของ พล.ท.มนัส และศาลก็อนุมัติหมายจับในคดีนี้

28. นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558 มารดาของนาง[***] ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยยังถูกข่มขู่โดยกลุ่มคนที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์ใน ต.ปาดังเบซาร์ มารดาถูกสั่งให้เตือนนาง [***] ว่าอย่าให้การในคดีลักลอบค้ามนุษย์ มารดาเข้าแจ้งความกับตำรวจเช่นกัน ศาลจังหวัดนาทวีอนุมัติหมายจับบุคคล 3 คนที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการข่มขู่พยานดังกล่าว

29. ระหว่างที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผมไปสอบปากคำผู้ต้องสงสัยที่เรือนจำนาทวี พวกเขาได้พบกับ พล.ท.มนัส ซึ่งขอให้เพื่อนร่วมงานของผมส่งต่อข้อความมาให้ผมว่า "ผมไม่ใช่ตะเกียงที่ไม่มีน้ำมัน ผมยังมีเพื่อนอีกเยอะ ผมจะสู้จนถึงที่สุด คุณควรระวังตัวให้มากๆ" เพื่อนร่วมทีมของผมนำข้อความมาให้กับผม และเตือนให้ผมระวังตัวโดยเฉพาะเวลาเดินทาง พวกเขากลัวว่าผมอาจถูกโจมตีหรือทำร้าย พวกเขาแนะนำให้ผมเปลี่ยนรถที่ผมใช้บ่อย แต่ผมตอบว่าผมเปลี่ยนรถไม่ได้เพราะผมมีรถส่วนตัวแค่คันเดียว 

30. ผมยังได้รับคำเตือนอื่นๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของผมด้วย เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ผมได้รับโทรศัพท์จาก พล.ต. S [***] ผู้บัญชาการสำนักงานจเรทหาร ขณะที่ผมเข้าประชุมกับเจ้าหน้าที่อัยการสูงสุดเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานที่ผมรวบรวมมา เขาย้ำกับผมว่าผู้กำกับดูแล พล.ท.มนัส คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเตือนผมว่าผมควรหยุดสิ่งที่ผมกำลังอยู่ และเตือนผมว่าชีวิตของผมอยู่ในอันตราย ผมพยายามบอกกับเขาว่าการสอบสวนของผมเป็นส่วนหนึ่งของวาระแห่งชาติ และผมกำลังทำสิ่งที่ผมถูกสั่งให้ทำ แต่เขาบอกผมว่าผมต้องหยุด ผมรู้สึกกลัวหลังจากการสนทนาดังกล่าว พล.ต. S[***] [เป็นส่วนหนึ่ง]ของกองทัพและมันจะเป็นผลประโยชน์ของเขาเพื่อตัวเขาเองและคนอื่นๆ ถ้าผมหยุดการสอบสวนของผม ผมไม่รู้สึกว่านี่เป็นการเตือนอย่างเป็นมิตร

31. และอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 ส.ค. หลังการนำเสนอเกี่ยวกับความคืบหน้าของการดำเนินคดีลักลอบค้ามนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 200 คน และผู้เชี่ยวชาญประเด็นการลักลอบค้ามนุษย์จากสหรัฐอเมริกา พล.ต.ตรี K[***] รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเพื่อพูดคุยกับผม เขาบอกผมว่ากองทัพไม่พอใจอย่างมากที่ผมจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น และบอกว่า พล.ต.อ. [***] จะไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการหากกองทัพไม่พอใจ

32. ทีมสอบสวนและผมดำเนินการสอบสวนคดีลักลอบค้าโรฮิงญาต่อ และแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องสงสัยอีกหลายคนในคดีฟอกเงินในช่วงปลายเดือน ส.ค. 2558 หลังจากเราตรวจสอบการโอนเงินของผู้ถูกกล่าวหาในคดีค้ามนุษย์ เราพบว่าการโอนเงินเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่กองทัพประมาณ 2-3 คน ถึงจุดนี้หัวหน้างานของผม พล.ต.อ.[***] รู้เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2558 แล้วว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทนที่เขา และเขากำลังพยายามเจรจาขอตำแหน่งอื่นๆ กับรัฐบาลอยู่ เขาบอกให้ผมไม่ต้องขอหมายจับเพิ่มแล้วโดยเฉพาะกับทหาร อย่างไรก็ตาม ทีมสอบสวนของผมตัดสินใจรักษาความเป็นอิสระและความเป็นกลางของการสอบสวนต่อไปและยังคงพยายามขอหมายจับเพิ่มเติมจากหลักฐานที่เรามี

33. วันที่ 27 ส.ค. ที่ศาลจังหวัดนาทวี เราขอหมายจับเจ้าหน้าที่ทหาร 3 ราย เจ้าหน้าที่ทหารเรือ 1 ราย และผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ อีก 45 ราย ชื่อของเจ้าหน้าที่ทหารที่ศาลอนุมัติหมายจับ มีดังนี้

i. พ.อ.ณัฐสิทธิ์ มากสุวรรณ รองหัวหน้ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัดสตูล (กอ.รมน.), (เฉพาะการลักลอบค้ามนุษย์เท่านั้น)

ii. ร.อ.วิสูตร บุนนาค เจ้าหน้าที่กองทัพในสังกัด กอ.รมน. จังหวัดชุมพร (ลักลอบค้ามนุษย์และฟอกเงิน)

iii. ร.อ.สันทัด เพชรน้อย เจ้าหน้าที่กองทัพในสังกัด กอ.รมน. ชุมพร (ลักลอบค้ามนุษย์และฟอกเงิน)

iv. น.ท.กัมปนาท สังข์ทองจีน กองทัพเรือ ภาค 3 (ลักลอบค้ามนุษย์และฟอกเงิน)

34. หลังหมายจับได้รับการอนุมัติแล้ว เรารายงานต่อ พล.ต.อ.[***] หัวหน้างานของเรา แต่เขารู้สึกตกใจและหวั่นวิตกมาก เขากล่าวตำหนิผมและสั่งให้ผมพยายามยกเลิกหมายจับที่ออกมาโดยศาล ในการทำเช่นนี้ผมจะต้องแถลงต่อศาลว่าทำไมเราถึงต้องการยกเลิกหมายจับและผมไม่สามารถทำเช่นนี้ด้วยความสุจริตใจได้ หลังจากที่แสดงหลักฐานต่อศาลไปแล้วว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องออกหมายจับ ดังนั้น พล.ต.อ. ที่สั่งให้ทีมสอบสวนไม่ให้เปิดเผยหมายจับเจ้าหน้าที่ทหารเพิ่มเติมกับสื่ออีก นี่ชี้ให้เห็นว่าหัวหน้างานของผมตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างรุนแรงจากกองทัพ

35. ทีมสอบสวนของผมสามารถปกปิดหมายจับเหล่านี้ออกจากความตระหนักรู้ของสาธารณะชนได้เกือบเดือน อย่างไรก็ตาม เราได้ส่งจดหมายไปยังหน่วยกองทัพต่างๆ ซึ่งกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ทหารเหล่านี้ เพื่อขอให้กองทัพส่งตัวเจ้าหน้าที่มาสอบปากคำโดยเจ้าพนักงานสอบสวนของตำรวจ ซึ่งทำให้เกิดความโกรธครั้งใหม่ในกองทัพ ในช่วงปลายเดือนกันยายน ร.อ.วิสูตร บุนนาค ยอมมอบตัวกับทีมสอบสวนของเรา เขาบอกกับทีมสอบสวนของเราว่าเขาถูกข่มขู่โดยกลุ่มเพื่อน พล.ท.มนัส พวกเขาแจ้ง ร.อ.วิสูตรไม่ให้มอบตัวกับตำรวจ อย่างไรก็ตาม ร.อ.วิสูตร กลัวว่าผู้ลักลอบค้ามนุษย์อาจฆ่าเขาเพื่อป้องกันไม่ให้เขาเปิดเผยข้อมูลบางอย่าง เขาจึงรู้สึกว่าเขาอาจปลอดภัยกว่าในความดูแลของตำรวจ

36. ในช่วงนี้ เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2558 [***] ได้รับการบอกเล่าจากผู้บัญชาการตำรวจภูธร จ.ภูเก็ต พล.ต.ต.[***] ว่าเขาได้ยินจากเพื่อนเจ้าหน้าที่ทหารของเขา ซึ่งกำลังทำงานอยู่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่พอใจผมเป็นอย่างมาก เขาบ่งชี้ว่านายกรัฐมนตรีอาจดำเนินการบางอย่างเพื่อหยุดไม่ให้ผมทำงานต่อ พล.อ.[***] อยู่บนเที่ยวบินเดียวกับ [***] จากกรุงเทพฯ ไปยังภูเก็ต และเขาให้ข้อมูลนี้กับ [***] เพื่อเตือนอย่างเป็นมิตร เขาบอกว่าเขาอยากช่วยสนับสนุนเรา แต่เขาไม่มีความสามรถในการกระทำที่ว่านี้ นับแต่นั้นเขายังถูกย้ายจากภูเก็ตไปประจำการที่ จ.ราชบุรีในภาคกลางของไทยอีกด้วย ผมรู้สึกกลัวอย่างมากเมื่อผมได้ยินข่าวนี้จาก [***] ที่ผ่านมา ผมทำงานอย่างหนักและการปราบปรามการมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของวาระแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเคยประกาศหลายครั้งในสื่อเกี่ยวกับความสำคัญของงานนี้และความจำเป็นในการจับกุมใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง ผมรู้สึกผิดหวังที่เขาไม่จริงใจในสิ่งที่เขาพูดและผมรู้สึกถูกหักหลัง ผมรู้สึกกลัวด้วย ผมเคยสืบสวนและจับกุมคนมีอำนาจอย่างมาก และตอนนี้ผมพบว่านายกรัฐมนตรีไม่สนับสนุนทีมของผมและตัวผม เขาเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในประเทศนี้ ดังนั้น เขาจึงสามารถทำอะไรกับผมก็ได้ตามที่เขาต้องการหากเขาไม่พอใจผม

37. ทีมสอบสวนของเราถูกบังคับให้มาถึงจุดจบในช่วงปลายเดือน ก.ย. 2558 แม้ว่าจะมีงานอีกมากยังไม่เสร็จ เพราะเราไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการเมืองมากกว่านี้ หัวหน้างานของเรา พล.อ.[***] ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยประกาศตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ยังไม่มีใครได้รับแต่งตั้งมาแทนเขา และเรารู้สึกกังวลว่าหากใครได้รับแต่งตั้งขึ้นมาแทนเขา บุคคลดังกล่าวอาจเข้ามายุ่งกับเอกสารและหลักฐานที่เราเตรียมไว้ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องสงสัยให้หลบหนีจากการดำเนินคดี เราไม่มีงบประมาณแยกเฉพาะสำหรับหน่วยเฉพาะกิจ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานให้กับหน่วยเฉพาะกิจจึงถูกบังคับให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เนื่องจากท้องที่ปกติไม่ต้องการสนับสนุนงานพวกเขาในการปราบปรามการค้ามนุษย์อีกแล้ว หลายๆ คนยุติการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเฉพาะกิจตั้งแต่สิงหาคม เมื่อ พล.ต.อ.[***] ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

38. ดังนั้น เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558 ทีมสอบสวนและผมจึงสรุปคดีลักลอบค้ามนุษย์โรฮิงญาและส่งเรื่องให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด มีแฟ้มทั้งหมด 699 แฟ้ม และกระดาษทั้งหมด 217,300 หน้า คดีนี้เกี่ยวพันกับผู้กระทำผิดที่ถูกกล่าวหามากกว่า 155 คน (ผู้กระทำผิดที่ถูกกล่าวหา 2 คนเสียชีวิตก่อนที่จะมีการอนุมัติหมายจับ) ผู้ต้องสงสัย 91 คนถูกจับกุมหรือควบคุมตัว และอีก 62 คนยังคงลอยนวล รวมถึง เจ้าหน้าที่ทหาร 2 คน และเจ้าหน้าที่ทหารเรือ 1 คน

39. แม้การสอบสวนจะจบลงแล้ว แต่ยังมีงานต้องทำอีกมาก ยังมีคนที่ควรถูกจับอีกมาก หากการสอบสวนสามารถดำเนินต่อไปได้ รวมถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน ซึ่งขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและทำให้ระบบยุติธรรมเสื่อมเสียตั้งแต่เริ่มต้นด้วย

40. แม้ผมจะถูกยับยั้งไม่ให้ทำการจับกุมเพิ่มอีกด้วยการยุบหน่วยเฉพาะกิจ แต่เรายังคงต้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องและผมยังคงพบกับสำนักงานอัยการสูงสุดและไปศาลอาญากรุงเทพ จนกระทั่งผมถูกบังคับให้ต้องออกจากประเทศด้วยความกลัวต่อ[ความปลอดภัยของ]ชีวิตเมื่อ พ.ย. 2558 ผมคงจะยังคงรวบรวมหลักฐานและทำงานร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หากผมได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อไปในภาค 8 และไม่ถูกบังคับให้ต้องออกจากประเทศ แต่ตอนนี้ไม่มีเงินสำหรับหน่วยเฉพาะกิจแล้ว เจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้กับหน่วยเฉพาะกิจก็กลับไปยังท้องที่ของตัวเองแล้ว และมีแต่ตำรวจท้องถิ่นในพื้นที่เท่านั้นที่ยังคงต้องให้ความร่วมมือกับศาล ดังนั้นยังไม่มีการจับกุม ไม่มีการออกหมาย และไม่มีการสืบสวนเพิ่มเติมอีก

การคุกคามและแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง หลังการสอบสวนและการถูกบังคับให้เกษียณอายุจากกองกำลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

41. แม้การสอบสวนจะยุติลงแล้ว แต่ยังคงมีความโกรธและความไม่เป็นมิตรต่อเราจากกองทัพ เนื่องจากการจับกุมที่เราดำเนินการ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 คนใหม่ พล.ต.ท.[***] และเจ้าพนักงานสอบสวนในคดีลักลอบค้ามนุษย์ของภาค 9 เดินทางมาพบกับ พล.ท. V[***] ผู้บัญชาการกองทัพภาค 4 พล.ท. [***] เป็นผู้รับผิดชอบกองกำลังความมั่นคงในภาคใต้และเนื่องจากกองทัพเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด จึงเป็นธรรมเนียมที่ผู้บัญชาการตำรวจคนใหม่ต้องเดินทางไปพบเขาเพื่อแสดงความเคารพ อย่างไรก็ตาม แทนที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ พล.ท. V[***] กลับเรียกร้องขอทราบว่าทำไมทีมจากภาค 9 ถึงจับกุมเพื่อนของเขา พล.ท.มนัส และพวกเขากล้าดีอย่างไรถึงทำเช่นนี้ มันไม่ใช่การข่มขู่อย่างเปิดเผย แต่ทำให้เห็นชัดเจนว่ากองทัพ ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในพื้นที่ ไม่พอใจกับงานที่เราทำ

42. เมื่อ 4 ต.ค. 2558 ผมเข้าร่วมพิธีต้อนรับเพื่อพบกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชันจินดา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งสู่ตำแหน่งดังกล่าวในเดือน ส.ค. 2558 แทนที่จะเป็น พล.ต.อ.[***] หลังการกล่าวต้อนรับ พล.ต.อ. S[***] เขาบอกกับผมว่ากองทัพรู้สึกไม่พอใจกับผมจากการติดตามขอหมายจับกองทัพ และระบุว่าเขารู้สึกโกรธผมที่ทำให้ตำรวจดูไม่ดีต่อหน้ากองทัพ เขาเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น แต่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมีแนวโน้มจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไป เขามีความใกล้ชิดอย่างมากกับ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี

43. ผมเริ่มรู้สึกว่ามีการคุกคามต่อชีวิตของผมอย่างร้ายแรง เมื่อมีการออกคำสั่งโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.) เมื่อวันที่ 21 ตุ.ค. 2558 เพื่อย้ายผมไปที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) การประชุมครั้งนี้มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นประธานเนื่องจากเขาได้รับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี สง.ก.ตร. เป็นคณะกรรมการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของตำรวจ รวมถึงการอนุมัติคำสั่งการย้ายและกฎระเบียบต่างๆ ของตำรวจ ศชต. ตั้งอยู่ที่ยะลา จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งยังคงมีความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างกลุ่มก่อความไม่สงบและกองกำลังความมั่นคงมาตลอด 11 ปี และเป็นพื้นที่ซึ่งผู้ลักลอบค้ามนุษย์ยังคงปฏิบัติการอยู่ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจและเครือข่ายผู้ลักลอบแข็งแกร่งและมีอิทธิพล มีเจ้าหน้าที่ทหาร 2 คนและเจ้าหน้าที่ทหารเรือ 1 คนที่เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้และยังคงลอยนวล และความโกรธอย่างมากที่มีต่อผมและทีมของผมมาจากเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง นักการเมือง และนักธุรกิจที่มีอิทธิพลอื่นๆ เพราะสิ่งที่ผมเปิดโปง การทำงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะทำให้ความเสี่ยงต่อชีวิตของผมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และผมรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผมในทันที

44. ตามกฎและระเบียบของทางการ คำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ ดังนั้น มันอาจเป็นการละเมิดกฎเหล่านี้ในการส่งผมไปยังภาคใต้โดยผมไม่ยินยอม ตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้อาจได้รับผลประโยชน์จากผู้ลักลอบหรือผู้ที่ละเลยหน้าที่ของตนเองในการปราบปรามการค้ามนุษย์ กลับได้รับการเลื่อนตำแหน่งดีกว่า ตัวอย่างเช่น ผู้บัญชาการของ จ.พังงา ที่การลักลอบค้าโรฮิงญาเฟื่องฟูได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 รองผู้บัญชาการที่รับผิดชอบ ต.ปาดังเบซาร์ ซึ่งมีการค้นพบหลุมฝังศพขนาดใหญ่ ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดในทีมสอบสวนของผมได้รับการเลื่อนตำแหน่งเลย และผมกำลังถูกส่งไปอยู่ในพื้นที่ที่ชีวิตของผมอยู่ในความเสี่ยง

45. คำสั่งดังกล่าวมีผลต่อมาในวันที่ 30 ต.ค. 2558 ผมปฏิเสธว่าคำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และในวันที่ 28 ต.ค. ผมแจ้งกับผู้สื่อข่าวของ AFP และวางแผนจะลาออกจากกองกำลังหากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ทบทวนการจัดท้องที่ประจำการของผมไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่กี่วันต่อมา 2 พ.ย. 2558 เดลินิวส์รายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่าคำร้องส่งตัวผมนั้นดำเนินการโดย พล.ต.ท.T [***] ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (ซึ่งเป็นเพื่อนของ พล.ท.มนัส คงแป้น และเป็นผู้ที่ พล.ท.มนัส โทรศัพท์คุยด้วยขณะที่ถูกสอบปากคำที่สถานีตำรวจ) ผมขอให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ทบทวนคำสั่งส่งตัวเพราะผมกลัวว่าชีวิตผมจะตกอยู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอย่างร้ายแรง แต่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยืนยันว่าคำสั่งส่งตัวยังคงอยู่ และผมต้องปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งในจังหวัดชายแดนใต้ ผมพยายามขอความช่วยเหลือจากอดีตหัวหน้างานในคดีลักลอบค้ามนุษย์ พล.ต.อ.[***] ซึ่งถูกส่งตัวไปปฏิบัติหน้าที่เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผมขอให้เขาพูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการส่งตัวผม แต่ พล.ต.อ.[***] บอกผมว่านายกรัฐมนตรียังคงคำสั่งเดิม และผมจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งใหม่ในจังหวัดชายแดนใต้

46. วันที่ 3 พ.ย. ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อแจ้งข้อมูลโดยสรุปต่ออัยการของสำนักงานคดีค้ามนุษย์ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกับเจ้าหน้าที่สอบสวนจากทีมเดียวกัน ขณะผมอยู่ที่นั่น ผมได้พบกับนาย[***] ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานกองเทคโนโลยีภายใต้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งเคยทำงานอยู่ในทีมสอบสวนเดียวกัน นาย[***] เตือนผมว่าผมควรระวังตัวให้มากเพราะ พ.ต.ท.P[***] ผู้อำนวยการใหญ่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เขาฝากข้อความมาบอกว่านายกรัฐมนตรี และ พล.อ.P[***] รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมโกรธผมมาก เนื่องจากพวกเขาคิดว่าผมขอหมายจับเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ไม่ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จริงแล้วมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชื่อปรากฎอยู่ในหมายจับของคดีเดียวกันด้วย แต่สิ่งนี้กลับถูกมองข้ามโดยพวกเขา พวกเขาบอกว่าผมควรให้ความร่วมมือและช่วยกองทัพ การได้รับคำบอกเล่าอีกครั้งว่านายกรัฐมนตรีของประเทศโกรธผมทำให้ผมกลัวว่าชีวิตจะตกอยู่ในอันตราย

47. ผมพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผมรู้ว่าถ้าหากไปที่นั่นคนที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้ามนุษย์จะฆ่าผม เป็นที่ชัดเจนแล้วด้วยว่าไม่ใช่แค่ไม่มีใครในรัฐบาลปกป้องผมเท่านั้น แต่กลุ่มคนที่มีอำนาจที่สุดในประเทศยังเป็นคนที่โกรธผมด้วย เป็นที่ประจักษ์ต่อผมแล้วว่าหนทางเดียวสำหรับผมคือการลาออกจากกองกำลังตำรวจ ผมส่งหนังสือลาออกในวันที่ 5 พ.ย. และมีผลวันที่ 6 ธ.ค. 2558

การเข้ามาเกี่ยวข้องของเชื้อพระวงศ์และความเสี่ยงภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

48. วันที่ 10 พ.ย. ไม่กี่วันหลังการลาออกของผม ผมได้รับการติดต่อจาก พล.ต.ท.T[***] ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่โทรหาผมทางโทรศัพท์และบอกผมว่าข่าวการลาออกของผมได้ยินไปถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ทรงรู้สึกสงสารในสถานการณ์ของผมและไม่อยากให้ผมลาออก ผมได้รับการบอกให้ติดต่อกับ พล.อ.อ.Ch[***] ซึ่งแจ้งผมว่าเขาดีใจมากที่ได้ผมเข้าร่วมทีมของเขา เพราะเขาศึกษาประวัติของผมมาก่อนแล้ว จากนั้นเขาบอกผมเกี่ยวกับการพูดคุยระหว่างเขากับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารว่าคำสั่งส่งตัวผมไปทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความหมายอย่างไรในทางปฏิบัติ พล.อ.อ.Ch[***] บอกผมว่าเขาตอบสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารว่าคำสั่งดังกล่าวหมายถึงการส่งผมไปถูกฆ่า เขาเป็นคนแรกที่พูดเรื่องนี้กับผมอย่างตรงไปตรงมามาก ผมคิดเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่การได้ยินเรื่องนี้จากสมาชิกของทหารราชองครักษ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพลเอกในกองทัพด้วยเป็นการยืนยันความเสี่ยงดังกล่าวต่อผม

49. ผมรู้สึกสับสนกับข้อเสนอดังกล่าวในขณะนั้น เพราะผมไม่เคยเกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานให้กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารมาก่อน ผมเคยทำงานให้กับสมาชิกเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ มาก่อน แต่ไม่ใช่กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผมรู้สึกลังเลที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ[***]ในประเทศไทย โดยเฉพาะ[***]เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก และเป็นเรื่องยากและบ่อยครั้งอันตรายในการทำงานให้กับพวกเขา อะไรก็ถูกตีความว่าเป็นการจาบจ้วงหรือทำให้พวกเขาไม่พอใจได้ และนี่สามารถนำไปสู่การฟ้องคดีข้อหาตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือทำให้บางคนจู่ๆ ก็หายตัวไปเฉยๆ ได้ มีคนหลายกลุ่มที่ทำงานอยู่ในสำนักพระราชวังและมีความขัดแย้งอย่างมากภายในกลุ่มเหล่านี้ ดังนั้น พวกเขาจึงอาจกล่าวหาใส่ร้ายคนอื่นอย่างผิดๆ ได้ และผมรู้สึกกังวลที่เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นกับผม พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เจ้าหน้าที่รัฐภายใต้สังกัดของกรมพระราชวัง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังสนิทกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน นั่นคือ จักรทิพย์ ซึ่งไม่ชอบผม 

50. ต่อมาในวันนั้นผมได้รับโทรศัพท์จาก พล.อ.อ.S[***] เลขาธิการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งบอกกับผมให้เข้าหารือกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ให้ถอนหนังสือลาออก ซึ่งผมจะจำเป็นต้องทำเพื่อทำงานกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อผมเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว พล.ต.ท.R[***] ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ปรากฎตัวด้วย เขาบอกว่าตอนนี้ผมมี 2 ทางเลือก ผมจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่คือรองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อรับผิดชอบคดีลักลอบค้ามนุษย์ หรือผมจะเลือกปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยภายใต้ฝ่ายราชองครักษ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผมรู้สึกโล่งใจเพราะผมยังอยากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ และผมยังต้องการทำงานในคดีลักลอบค้ามนุษย์ ผมไม่อยากทำงานให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แต่อยากทำงานที่ผมอยากทำและสามารถทำได้ หลังจากนี้ ผมได้พบกับ พล.อ.อ.S[***] ราชเลขาธิการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เจ้าหน้าที่รัฐภายใต้สำนักพระราชวัง ซึ่งยืนยันทางเลือกทั้ง 2 ทางเลือกนี้กับผม พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ต่อมาเสนอทางเลือกที่ 3 ให้กับผมอีกด้วย นั่นคือให้คงสถานะการลาออก

51. หลังจากผมได้พบกับ พล.อ.อ.S[***] และบอกกับเขาว่าผมอยากทำงานของผมเกี่ยวกับคดีลักลอบค้ามนุษย์ต่อไป เขาเห็นด้วยอย่างไม่ขัดข้อง ณ ช่วงเวลานั้น และบอกว่าผมจะทำงานกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในอนาคตก็ได้

52. วันที่ 12 พ.ย. ผมไปพบกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ห้องทำงานของเขา ขณะที่ผมรออยู่ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสหลายคนในห้อง รวมถึง พล.ต.ท.T[***] พล.ต.ท.S[***] ซึ่งทั้งคู่เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท. P[***] เจ้าหน้าที่ของสำนักงานจเรตำรวจ เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้ามาในที่ทำงาน เขาสั่งให้เจ้าหน้าที่นำบันทึกข้อความมาให้ผมเพื่อถอนหนังสือลาออก แต่ผมไม่ได้เก็บสำเนาหนังสือดังกล่าวไว้ เนื่องจากเชื่อว่ามันทำขึ้นต่อหน้าเจ้าพนักงานหลายคนในห้อง เมื่อผมเซ็นจดหมาย ผมรู้สึกโล่งใจและคิดว่าสถานการณ์อาจจะดีขึ้นแล้ว และผมจะได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งใหม่ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในคดีลักลอบค้ามนุษย์

53. อย่างไรก็ตาม ต่อมาในคืนนั้น ผมได้รับโทรศัพท์จากผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต้องการพบกับผมในวันถัดมาเกี่ยวกับเรื่องสำคัญ เมื่อผมเข้าไปพูดคุย ผมรู้สึกประหลาดใจอย่างมาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ เดินเข้ามาและนั่งบนเก้าอี้ด้านเดียวกับผมแล้วบอกว่า "คุณกับผม เราไม่ได้มีอะไรไม่พอใจกันมาก่อนนะ แต่คุณต้องลาออกและอยู่เงียบๆ ไว้" ผมรู้สึกตกใจกับคำสั่งของเขามาก ผมสงสัยด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับบันทึกข้อความที่เพิกถอนการลาออกของผมที่ผมเพิ่งเซ็นไป พล.ต.อ.จักรทิพย์ โทรหา พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เจ้าหน้าที่ซึ่งรับใช้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และจากนั้นก็ส่งโทรศัพท์ให้กับผม พล.ต.อ.จุมพล บอกว่าผมต้องลาออกและอยู่เงียบๆไว้ เหมือนกับที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ พูดทุกประการ ผมได้รับการบอกให้โทรศัพท์หา พล.อ.อ. S[***] แต่เมื่อผมโทรหาเขา เขากลับไม่รับสาย สุดท้ายผมจึงข้อความหาเขา และบอกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น

54. เลขาธิการของ[***] ไม่รับสายหรือโทรกลับหาผมอีกต่อไป และผมไม่แน่ใจว่าพวกเขากุเรื่องการอนุญาตให้ผมยังคงเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนอยู่ เพื่อทำให้ดูเหมือนเป็นการดูหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารที่ไม่ยอมรับงานของพระองค์หรือมีอะไรอย่างอื่นที่พวกเขาพยายามทำอยู่หรือไม่ ผมรู้สึกว่ามีบางอย่างน่าสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์ทั้งหมดที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจอย่างรวดเร็ว และผมรู้สึกกังวลว่ามันเป็นแผนในการกล่าวหาผมภายใต้กฎหมายพระบรมหมิ่นเดชานุภาพ ผมตัดสินใจว่าการกระทำที่เหมาะสมที่สุดคงเป็นการออกจากกรุงเทพฯ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นผมจึงบินกลับไปหาภรรยาที่ภูเก็ตในคืนนั้น

ออกจากประเทศไทยและเดินทางไปยังออสเตรเลีย

55. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2558 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชันจินดา ประกาศในโทรทัศน์ไทยว่าเขาอนุมัติการลาออกของผมแล้ว นี่หมายความว่าเขาได้ทำลายคำเพิกถอนการลาออกของผมไปแล้ว แม้ผมจะเซ็นเอกสารนี้ต่อหน้าพยานหลายคนก็ตาม ซึ่งผิดกฎหมาย นี่เป็นการยืนยันว่าเขามีอำนาจและแนวโน้มที่จะทำอะไรก็ได้ที่เขาต้องการทำ โดยไม่สนใจความจริงหรือกฎหมาย ผมรู้สึกกลัวจริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผม ผมรู้ว่าผมไม่สามารถเชื่อใจใครได้อีกแล้ว และผมไม่มีที่ไหนให้ไปภายในประเทศแล้วผมจะปลอดภัย ผมรู้ว่าผมอาจตกเป็นเป้าหมายของผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เพื่อปิดปากผม และผมกังวลว่าตอนนี้อาจมีการพูดบางอย่างที่ไม่จริงเกี่ยวกับผมต่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเกี่ยวกับเหตุผลที่ผมไม่รับข้อเสนองาน ซึ่งจะส่งผลให้ผมถูกฟ้องตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมรู้ว่าเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2 คนที่เคยรับใช้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเสียชีวิตในการควบคุมตัวของกองทัพหลังจากถูกสอบสวน ไม่มีใครสามารถปกป้องผมจากเรื่องนี้ได้

56. [***] ผมกลัวอย่างยิ่งว่าชีวิตผมจะตกอยู่ในความเสี่ยง หากผมอยู่ในประเทศไทยต่อไป [***]

57. ผมรู้ว่าผมไม่สามารถกลับไปยังประเทศไทยได้ แต่เมื่อผมออกจากประเทศ ผมมีความคิดเพียงอย่างเดียวว่าต้องรักษาชีวิตของผมไว้ ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต [***]

58. [***]

59. [***]

60. [***] ในออสเตรเลียเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.

61. [***]

ความกลัวที่ยังมีอยู่ในการเดินทางกลับประเทศไทย

62. ตั้งแต่ผมออกจากประเทศไทยมา ความเสี่ยงต่อชีวิตของผมยังไม่หายไป

63. มีการเผยแพร่ของสื่อเกี่ยวกับคดีของผมอย่างแพร่หลายทั้งในไทยและระหว่างประเทศ ผมเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในสื่อไทยเพราะความเกี่ยวข้องของผมกับคดีระดับสูงในประเทศ รวมถึงคดีลักลอบค้ามนุษย์คดีนี้ด้วย มีการรายงานในสื่อเกี่ยวกับงานของผมเกี่ยวกับคดีนี้เกือบทุกวันเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่ พ.ค.- ก.ย. 2558 ขณะที่ผมกำลังดำเนินการสอบสวน มีการนำเสนออย่างแพร่หลายในสื่อในเดือน พ.ย. เมื่อผมลาออกและเมื่อผมออกจากประเทศไป เมื่อผมมาถึงออสเตรเลีย ผมได้รับการติดต่อจากนักข่าว [***] ที่เคยทำงานเกี่ยวกับประเด็นการค้ามนุษย์ในประเทศไทย นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทำลายชีวิตของคนนับแสนคน และผมไม่อยากให้ประเด็นนี้หายไปจากความคิดของประชาชน รัฐบาลไทยกำลังพยายามบอกว่าตั้งแต่มีการสอบสวนมา แก๊งต่างๆ ถูกทำลายไปแล้ว และไม่มีประเด็นการลักลอบค้ามนุษย์โรฮิงญาในประเทศไทยอีกแล้ว แต่นี่ไม่ใช่ความจริง และผมอยากให้ประชาชนรู้ความจริง นี่คือเหตุผลที่ผมออกมาพูดในสื่อเกี่ยวกับสิ่งทีเกิดขึ้น แต่นี่กลับทำให้ผมตกเป็นเป้ามากขึ้นจากเจ้าหน้าที่ในประเทศไทยหากผมกลับไป รัฐบาลไทยยังออกแถลงการณ์ต่างๆ ในสื่อว่าผมไม่ได้ถูกข่มขู่ และผมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แย่ และผมกำลังทำให้ชื่อเสียงของประเทศเราเสื่อมเสีย มันถือเป็นความผิดร้ายแรงในการดูหมิ่นชื่อเสียงของประเทศเรา และจากแถลงการณ์ที่รัฐบาลทำออกมา ผมเชื่อว่าผมอาจถูกฟ้องในข้อหาทำลายชื่อเสียงของชาติและทำลายความมั่นคงของชาติ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันยังผ่านกฎหมายภายใต้มาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจกับกองทัพในการจับกุมใครก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าภัยต่อความมั่นคงหรือเสถียรภาพของชาติด้วย ข้อกล่าวหาเหล่านี้เพิ่มความกลัวของผมว่าผมอาจถูกกล่าวหาภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรืออาจถูกทำให้หายตัวไปได้อย่างง่ายๆ

64. ยิ่งกว่านั้น คดีลักลอบค้ามนุษย์ที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างกระตือรือร้นก็ยังคงดำเนินอยู่ เรื่องนี้เกี่ยวข้องไปถึง[เจ้าหน้าที่]ระดับสูงสุดของรัฐบาล และส่งผลกระทบต่อหลายคน รวมถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และผูุ้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่อยากให้ผมตามเรื่องนี้ต่อหรือให้หลักฐาน โดยแก่นแท้แล้ว ผมถูกบังคับให้ลาออกจากบทบาทของผมเพราะพวกเขาต้องการให้แน่ใจว่าผมจะไม่สามารถดำเนินการสอบสวนต่อไปได้ หรือกระทำการบนข้อมูลใดๆ ที่ผมทราบมา หากผมอยู่ในประเทศไทย ผมคงยังคงให้หลักฐานต่างๆ ต่อไปในนามของสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการสอบสวนที่ผมดำเนินการและสิ่งที่ผมเป็นประจักษ์พยานมาด้วยตัวเอง คดีนี้สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องมีผมอยู่ที่นั่น ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของทีมผมสามารถเป็นพยานแทนผมได้ แต่พวกเขาไม่ได้รู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากเท่ากับผม ดังนั้น คดีนี้จึงมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อมีผมเป็นพยาน

65. รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์กับสื่อว่าไม่มีการข่มขู่ผมจากการทำงานของผมแต่อย่างใด และผมสามารถเดินทางกลับไทยได้อย่างปลอดภัย นี่ไม่ใช่ความจริง ผมไล่เรียงให้เห็นแล้วข้างบนเกี่ยวกับการข่มขู่ผมและผมคงยังอยู่ในประเทศไทยต่อไป หากผมไม่คิดว่ามีภัยคุกคามต่อชีวิตของผมอย่างร้ายแรงและฉับพลัน มีรายงานหนึ่งที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ S[***] บอกว่าผมทำงานคดีนี้เพียงไม่ถึง 20 วัน และผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องนี้ชัดเจนว่าไม่เป็นความจริง ผมเป็นผู้นำการสืบสวนมาตลอด 5 เดือนตามที่เราได้รับอนุญาตให้สืบสวนและผมยังคงทำงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดหลังจากนี้เพื่อดำเนินคดีกับคนที่เราทำการจับกุม ความเห็นที่ปฏิเสธงานของผมและการคุกคามต่อตัวผมแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของประเทศต้องการบิดเบือนความจริงเพื่อเป้าหมายของตนเอง และพวกเขาพร้อมทำอะไรก็ได้เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผม นี่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาทำอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการกับผมหากผมกลับไป จับผมหรือฆ่าผมก็ได้ เพราะพวกเขาไม่เคารพกฎหมายหรือความจริง

66. ผู้คนที่พยายามทำร้ายผมคือเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของตำรวจ กองทัพ และรัฐบาลในประเทศไทย พวกเขาแสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาไม่ยอมรับความผิดของตนเองตามกฎหมายหรือกฎระเบียบของประเทศ

67. ถึงแม้ว่าผมเคยเป็นตำรวจมานานหลายสิบปีและรู้จักคนที่มีตำแหน่งระดับสูงจำนวนมาก ใครก็ตามที่อาจสนับสนุนการกระทำของผมจะต้องเอาชีวิตและหน้าที่การงานมาเสี่ยง เพราะกลุ่มคนที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศคือกลุ่มเดียวกับที่เล็งผมเป็นเป้าหมาย

68. ผมไม่สามารถอาศัยอยู่ที่ไหนได้อย่างปลอดภัยในประเทศไทย ผมทำให้ผู้มีอำนาจหลายคนโกรธเมื่อผมเปิดโปงการทุจริตในการลักลอบค้ามนุษย์ในประเทศไทย และทำการจับกุมคนของกองทัพ คนเหล่านี้มีอำนาจและเส้นสายอยู่ทั่วประเทศ และไม่มีที่ไหนที่ผมจะยังคงใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยในประเทศไทย

69. ผมไม่มีสิทธิในการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอื่นเลย แม้ผมจะมีวีซ่านักท่องเที่ยวไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ผมไม่รู้เกี่ยวกับกระบวนการขอลี้ภัยจนกระทั่งผมเดินทางมายังออสเตรเลีย เนื่องจากผมอยู่ที่ออสเตรเลียแล้วในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะส่งใบสมัครที่นี่และผมหวังว่าผมจะได้รับโอกาสให้อยู่ที่นี่ต่อไปอย่างปลอดภัย

70. คำให้การตามกฎหมายนี้ได้รับการตระเตรียมโดยความช่วยเหลือจากล่ามไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด และผมยืนยันว่าผมเข้าใจเนื้อหาของคำให้การนี้และเนื้อหาถูกต้อง

ผมทราบว่าบุคคลที่จงใจพูดความเท็จในคำให้การตามกฎหมายมีความผิดตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.คำให้การตามกฎหมาย พ.ศ.2502 และผมเชื่อว่าถ้อยแถลงในคำให้การนี้ถูกต้องทุกประการ

ผู้ให้การ...[ลายมือชื่อ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์]....

ให้การที่คอลลิงวูด
ในรัฐวิคตอเรีย
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net