Skip to main content
sharethis

เปิดใจ วัชรพันธุ์ จันทรขจร ในบรรยากาศถูกคุกคาม เล่าเรื่องบทบาทรักษาความปลอดภัยการชุมนุมแดงทั้งแผ่นดิน กับเสียงยืนยัน “เราเป็นฝ่ายรับ ไม่ใช่ฝ่ายรุก”

ความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นำมาสู่ความสูญเสียชีวิตและอิสรภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมรวมทั้งแกนนำ ซึ่งการล่าติดตามตัว “ผู้ต้องสงสัย” ยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่ลดราวาศอก เหตุระเบิดล่าสุด สมานเมตตาแมนชั่น ยังเป็นใบเบิกทางให้ฝ่ายความมั่นคงใช้วาดภาพเชื่อมโยงระหว่างคนเสื้อแดงและเหตุรุนแรงที่ผ่านๆ มา ซึ่งเชื่อว่าจะยังมีอยู่ต่อไป

ในอีกด้าน การรวมตัวของคนเสื้อแดงในหลายๆ โอกาส โดยเฉพาะการรวมตัวกันทุกวันอาทิตย์ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ก็ยังดำเนินอยู่คู่ขนานกันไป การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในด้านหนึ่งจึงดูเหมือนพัฒนาขึ้นสู่ระดับที่มวลชนสามารถมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ แต่ในฟากของฝ่ายความมั่นคง ก็เห็นว่ามีเสื้อแดงอีกแนวทางที่พวกเขายังต่อจิ๊กซอว์ไม่สำเร็จ

ในความเป็นไปนี้ มีความพยายามเชื่อมโยงคนเดือนตุลาในเครือข่ายชินว่า อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา...และที่กำลังดำเนินอยู่....ทว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน นอกจากความพยายามสกัดแบบเทกระจาดของ ศอฉ. ที่สั่งระงับเส้นทางการเงินบุคคลต้องสงสัยจำนวนหลักร้อยราย ความข้อนี้ “ใบตองแห้ง” เขียนอย่างให้เครดิตว่า ถ้าคนพวกนี้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมจริงแล้ว คนเสื้อแดงคงไม่แพ้ง่ายอย่างนี้....แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน

ประชาไทคุยกับวัชรพันธุ์ จันทรขจร อดีตคนเดือนตุลา ที่เคยรับหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับการต่อสู้ของฝ่ายนักศึกษาและประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงรับหน้าที่หลักในการดูความปลอดภัยให้กับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษาคม 2535 โดยใช้ทรัพยากรจากบริษัทรักษาความปลอดภัย แด๊ด ซีเคียวริตี้ ของเขาเอง และยังเป็นผู้ดูแลระบบรักษาความปลอดภัยให้กับผู้นำที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และสมัคร สุนทรเวช

ในฐานะของคนที่ทำงานด้านความปลอดภัยที่ต้องอาศัยเครือข่ายและข้อมูล เขามองว่า การต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่กำลังกระจัดกระจาย พร้อมปัจจัยทางโครงสร้างของประเทศเวลานี้ จะนำพาสังคมไทยเข้าสู่โหมดใหม่ ที่เขาเองก็จินตนาการไม่ได้

ม็อบเป็นเรื่องที่ต้องมีทางลง
“ม็อบเป็นเรื่องของการที่ต้องมีทางออก ทางลง เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง แต่คนที่กำหนดให้คนตาย ไม่ใช่ม็อบ มันมีวิธีอื่นที่จะหลีกเลี่ยงไม่ต้องทำให้คนตายขนาดนี้ได้ มันมีสเต็ปที่จะหยุดการตายของม็อบได้ แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น กลายเป็นห้วงเวลาที่ฟิวส์ขาด คงจำกันได้ว่าวันที่ 18 พ.ค. มี ส.ว. กลุ่มหนึ่งที่พยายามเจรจา แต่ก็หยุดไม่ได้ เกิดการตาย” วัชรพันธุ์ให้ความเห็นเมื่อถูกถามย้อนกลับไปที่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าอะไรคือข้อผิดพลาดที่นำมาสู่ความเจ็บความตายของคนจำนวนมากทั้งฝ่ายทหารและประชาชน

วัชรพันธุ์ บอกว่า เหตุที่เขายังวนเวียนปรากฏกายอยู่ในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ก็เพราะความสนิทสนมกับ “น้องๆ” ที่เป็นแกนนำอยู่ หนึ่งในนั้นก็คือ จตุพร พรหมพันธุ์ 

“ถามว่าพี่ทำอะไรบ้าง พี่ก็ขอบอกว่า น้องๆ ที่อยู่ในกลุ่มนั้นเป็นน้องที่พี่รู้จักกันมานานมาก และมีความสัมพันธ์อันดีตั้งแต่สมัยที่พี่อยู่ในวงการเอ็นจีโอ โดยเฉพาะตู่ จตุพร (พรหมพันธุ์) ยังทำกิจกรรมชาวเขาที่เชียงดาวตั้งแต่อายุสักยี่สิบกว่าๆ และตอนนั้นพี่อยู่องค์การแตร์เดซอมของเยอรมัน ก็ทำงานให้ทุนในการพัฒนา ตอนนั้นเขาทำงานในนามของพรรคนักศึกษา เรารู้จักกันมาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว และในช่วงเวลาที่เรามีความสนิทสนมกันมากก็คือในปี 2534-2535 คือช่วงพฤษภาทมิฬ”

เขาบอกว่าเขาเข้าไปดูการชุมนุมของคนเสื้อแดงบ่อยครั้ง ตั้งแต่ปี 2550 โดยการชุมนุมใช้ชื่อต่างๆ กันไปจนมาหยุดที่ชื่อ นปช.

“ไปดูเป็นระยะๆ คือเซนส์ของพี่คือเซนส์ของการ์ด คือเป็นฝ่ายตั้งรับ ไม่ใช่เซนส์ของทหารซึ่งป็นเซนส์ของการจู่โจม ก็ไปดูการรักษาความปลอดภัยที่ นปช. ตั้งขึ้นมาว่าเป็นอย่างไร เขามีระบบอยู่แล้ว อารี (ไกรนรา) เขาก็ตั้งขึ้นมา ว่าจะมีกี่ชั้นๆ แต่ปรากฏว่าอารีเขาเป็นคนเปิด ก็มีการ์ดเยอะมาก ก็มีอาการมั่ว เราก็เตือนว่า อย่างน้อยวงในต้องมีระบบระเบียบ มีการจัดการกับการ์ดที่แฝงตัวเข้ามา แล้วการที่เปิดให้ใครก็ได้เอาบัตรประชาชนเข้ามาก็เป็นการ์ดได้นั้นไม่ถูก ก็บอกเขา แต่ไม่ได้ไปก้าวก่าย หรือการไปอยู่ที่ราชประสงค์ก็ให้ระวัง ภาษาคือ “สูงข่ม” หรือดูจุดที่ฝ่ายตรงข้ามจะเข้ามาได้ เช่น ศาลาแดง แม้แต่ตรงราชดำเนิน ก็บอกเขาว่า ถ้าเขาจะบุกก็น่าจะมาจากทางสะพานพุทธ หรือทางที่ชุมชนเยอะๆ พูดง่ายๆ ก็ไปดู ใช้ประสบการณ์ที่เคยทำ และก็เข้าไปได้ง่ายๆ เพราะส่วนมากน้องๆ ก็รู้จักกัน พอมีข่าวก็เข้าไปบอก”

ในช่วงที่มีการกระชับพื้นที่ เขาอยู่ใกล้ๆ กับที่เกิดเหตุ และคิดว่าสิ่งที่เกิดไม่ใช่การสลายการชุมนุม แต่มันคือสงครามกลางเมือง

“ช่วงกระชับพื้นที่ มีคนโทรไปบอกว่า จะโดนกระชับด้วย ก็เลยอยู่ในที่ที่ใกล้เหตุการณ์ คือไปนอนโรงแรมแถวๆ นั้น แค่ข้ามสะพานมาก็เจอ เพื่อให้ได้ยินเสียง ได้กลิ่นควัน และรู้สึกสลดใจว่า ในที่สุดก็กลายเป็นอย่างนี้จนได้ ในแง่ของการทำลายล้าง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสภาพของสงคราม ไม่ใช่การปราบแบบปราบจลาจล เป็นสภาพของสงครามกลางเมือง” เขาเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนั้นเป็นเรื่องที่เดินตามสูตรการสลายการชุมนุมซึ่งมีอยู่ในตำราของโรงเรียนเสนาธิการ แต่เรื่องที่น่าตกใจสำหรับเขาก็คือ การเคลื่อนกำลังพลซึ่งเอิกเกริกเป็นประวัติการณ์

“ที่ทำนี่เป็นกองพล ซึ่งถือว่าใหญ่โตมาก เพราะการเคลื่อนกำลังแบบกองพลในประเทศไทยหาได้ยากมาก เคยมีสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งเคลื่อนไปที่ชายแดน ทุกคนก็ทำตามสูตร ขั้นบันไดหนึ่งสองสามสี่ ฉะนั้นที่บอกว่า ไม่มีสไนเปอร์ พี่ไม่เชื่อ เพราะตามสูตรแล้วมีแน่ๆ เพราะเดินตามสูตร”

ในช่วงหลังๆ ของการชุมนุม ข่าวการแตกกันของฝ่ายดูแลความปลอดภัยนั้นสะพัดไปทั่ว กระทั่งไม่กี่วันก่อนที่จะจะถูกสลายการชุมนุม กระสุนปริศนาก็คร่าชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นายทหารนอกแถวที่ออกมาแสดงบทบาทแข็งขันมากในไม่กี่วันก่อนหน้านั้น วัชรพันธุ์บอกว่า ตัวเขาเห็นว่าจุดอ่อนของฝ่ายดูแลความปลอดภัยส่วนหนึ่งก็มาจากความฮึกเหิมของ เสธ.แดง

“ช่วงที่มีการชุมนุมไม่เคยเจอ เสธ.แดง แต่รู้สึกว่าเขากวนน้ำให้ขุ่น และรู้สึกว่า ทำไมต้องพูดอะไรที่มัน...เหมือนกับ...มีคนอยู่สิบคน แล้วพูดว่า กูมีพันคนแล้วกูจะลุยกะมึง ซึ่งนอกจากปากจะพาจนแล้ว ยังพาตายได้ด้วย ที่ผ่านมาก็ไม่เคยคุยกับ เสธ.แดงเพราะไม่อยากคุย คุยกันคงไม่รู้เรื่อง คิดกันคนละแบบ เคยเจอกันแค่สองครั้งในชีวิต ตอนที่ เสธ.แดง พาเจ้าของคาเฟ่ไปพบรองเลขาธิการนายก ในช่วงที่มีการจัดระเบียบสังคม และอีกครั้ง คือกำลังเคลียร์ม็อบที่บ่อนอก กำลังเจรจากับทางคุณจินตนา (แก้วขาว) อยู่ เสธ.แดงก็โผล่มาบอกว่า ค่ำแล้วไม่ต้องคุย เดี๋ยวกลับกรุงเทพฯ ไม่ได้ คุยอะไรกันนักหนา คือกว่าเราจะคุยกันได้ขนาดนี้ กว่าคุณจินตนาจะยอมคุยด้วย ก็เลยคิดว่า คุยกันไม่รู้เรื่อง และคิดว่าน่าจะอันตรายทั้งต่อตัวเองและส่วนรวม”

สังคมไทยกับโหมดใหม่เหนือจินตนาการ
“ในความรู้สึกส่วนตัว วันที่ 19 พ.ค. คือจุดเปลี่ยนในสังคมไทย การชุมนุมครั้งต่อไปคงไม่ใช่อย่างที่ผ่านมา จะมีจุดจบที่คาดเดาลำบาก ถามว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกไหม ตอบจากความรู้สึกส่วนตัวคือ น่าจะเกิดขึ้นอีก แต่ว่าเป็นการเกิดในแบบที่คงไม่จบแบบ 19 พ.ค. คือน่าจะไม่ใช่ดุ่ยๆ ชุมนุม น่าจะเป็นเรื่องของการชุมนุมที่มีบทเรียน คงไม่ทำแบบเดิม คงไม่มาเรียกร้องให้ยุบสภา การชุมนุมน่าจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการแสดงออกอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แล้วที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่ระบายแค้นมันคุมไม่ได้ มันกระจาย ทุกคนมีอิสระที่จะทำ อย่างเมื่อวันก่อนก็มีเรื่องการปาถุงดำที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์” วัชรพันธุ์ ตั้งข้อสังเกต

ในด้านของรัฐ นอกจากการดำเนินการอย่างจริงจังของฝ่ายความมั่นคงแล้ว อีกด้านก็มีคณะกรรมการปรองดอง ที่จนบัดนี้ยังไม่เป็นที่หวังว่าจะลดดีกรีความขัดแย้งลงได้

“วันก่อนผมเจออาจารย์เดชา สังขวรรณ กรรมการปรองดอง ถามว่า เราจะปรองดองได้ไหม ผมตอบว่า ลำบาก เพราะการปล่อยให้คนมาพูดมาระบายเป็นแค่คนกลุ่มเดียว”

เมื่อถูกถามในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับโอกาสเข้าถึงวงในสุดของการดูแลความปลอดภัยของการชุมนุม ว่าเสื้อแดงจับอาวุธจริงหรือไม่ เขาไม่อาจให้ข้อมูลได้ แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือ คนเสื้อแดงไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และขีดความเจ็บแค้นของคนมีหลายระดับซึ่งพร้อมจะระเบิดออกในหลายรูปแบบ

“พี่ไม่รู้จุดนั้นจริงๆ  เพราะอย่างที่บอกแต่แรก คือการทำงานของพี่เป็นฝ่ายรับ เป็นฝ่ายป้องกัน แต่ถ้าเป็นฝ่ายรุก พี่ไม่รู้ว่าระบบเป็นยังไง แต่เท่าที่ดูแล้ว ความเจ็บแค้นของคนมีหลายระดับ ทางออกมีหลายระดับ อย่างคุณนวมทอง ไพรวัลย์ ทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย ทำไมคนซึ่งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เมื่อมีการยิงแล้วถึงวิ่งเข้าหากระสุนปืน มันเกิดขึ้นได้ ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง ถึงจุดหนึ่งมันควบคุมไว้ไม่อยู่ และขึ้นกับประสบการณ์ของแต่ละคนอีกว่า จะแปรความแค้นเป็นอะไร จะเห็นได้ว่า คนที่ตายส่วนใหญ่ไม่มีอาวุธ นั่นแปรความแค้นเป็นความคลั่งในท้องถนน บางคนพี่ก็ไม่รู้ว่าความแค้นจะพัฒนาไปถึงจุดไหน ถ้าจะเป็นห่วงก็คือ ความหลากหลายมากเสียจนใครก็ไม่ฟังกัน ซึ่งอะไรก็สามารถจะเกิดขึ้นได้

“จำได้ไหมว่า ตอนที่ บ.ก.ลายจุดไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขึ้นไปพูดบนรถตำรวจ แล้วคนตะโกนว่า กูมาเอง ไม่ฟังมึง ไม่ต้องมาบอกว่ากูต้องทำอะไร อันนี้น่ากลัว เพราะว่าถ้าเป็นม็อบ มีคนอยู่บนเวที มาไหนไปไหนยังบอกกันได้ แต่ตอนนี้พูดไม่ได้แล้วว่าเป็นขบวนการอันเดียวกัน ไม่มีผู้นำ มันหลากหลายมาก”

และความหลากหลายนี่เองที่เขามองว่าเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด มากเสียยิ่งกว่าการพยายามเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายอย่างที่ฝ่ายรัฐกำลังทำ เขาพูดถึงลูกน้องและเครือข่ายของเขาว่า เขาเองไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่า ใครเข้าร่วมในการชุมนุมบ้าง เพราะส่วนใหญ่น่าจะมาด้วยตัวเอง

“ถ้ามาก็คงเป็นรูปแบบของชาวบ้าน เพราะหลายคนก็เป็นคนอีสานและมีประสบการณ์การต่อสู้หลายแบบ มีคนที่เคยสู้ในสมัยพ.ศ.2534 ถึงพฤษภาคม 2535 ช่วงของ รสช. เป็นช่วงที่ยอมรับว่า บริษัทเข้าไปอยู่จริง แต่เป็นลักษณะของการเข้าไปจัดระบบ แต่ตอนปะทะกันนั้น เป็นลักษณะความฮึกเหิมมากกว่า...แต่ถ้าจะพูดว่างานของพรรค เขาก็กระจายไปหลายที่ เราก็เห็นหน้าเห็นตาน้องๆ ในพรรคอยู่ มีช่วงที่ทำงานช่วยนายกในเรื่องของม็อบ ปากมูล ม็อบจินตนา แก้วขาว ทุกม็อบ แล้วที่พลาดคือ ปี 2545 เดือนธันวา ที่เขาตีม็อบกันที่สงขลา ก็เป็นเรื่องที่เป็นข่าวอยู่ เพราะเราไปวิจารณ์ผู้ใหญ่”

สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเหตุรุนแรงในภายภาคหน้า เขาบอกว่า เหนือจินตนาการของเขาที่จะตอบ ที่แน่ๆ ประวัติศาสตร์คงไม่มีซ้ำรอยอีก

“โหมดอย่างที่ผ่านมานั้น ถือว่าจบแล้ว เป็นบทเรียนแล้ว ถ้าจะมีใหม่ก็เป็นอีกขั้นหนึ่งแล้ว ไม่ใช่แบบที่เคย ตอนนี้ที่สมบัติ บุญงามอนงค์ ทำอยู่ ถือว่าโอเค เป็นการรักษาจิตใจที่ยังไม่ยอมแพ้ และตรงนี้คงพัฒนาคนกลุ่มย่อยไปอีก ต่อไปเราคงเห็นลักษณะที่คิดค้นด้วยตัวเองในหลายจังหวัด เหมือนที่อีสาน มีการทำผ้าป่าทำวิทยุขึ้นมาใหม่ ทางเหนือก็มีแรลลี่ มีการนัดเจอที่อยุธยา และคิดว่า เขาคงรอคอยเวลาซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และถ้าดูจากการเมืองไทยก็ยังสับสน การเลือกตั้งก็จะเกิดวัฏจักรเลวร้ายอย่างเดิม พรรคเพื่อไทยได้คะแนนนำ ตั้งรัฐบาลใหม่ เดี๋ยวก็ต้องมีหลากสี สีอะไรขึ้นมาใหม่ ซ้ำไปซ้ำมา แม้แต่ทหารที่บอกว่า ไม่ก็อาจจะก่อรัฐประหาร แต่นับจากนี้ไปสองสามปี คิดว่าสังคมจะอยู่ในโหมดที่ผมคิดเอาเองว่า น่าจะไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพราะอยู่ในโหมดที่ขมึงเกลียวขึ้นมาแล้ว ทำให้ไม่สามารถจะจินตนาการได้ ไม่เหมือนตอนวัยรุ่นที่จินตนาการประเทศไทยว่า ต้องเป็นสังคมนิยมอะไรก็ว่าไปแบบเด็กๆ”

คนเดือนตุลาในเครือข่ายชิน กับเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2553
วัชรพันธุ์ เคยคลุกคลีกับเอ็นจีโอ โดยทำงานองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรจากเยอรมันที่สนับสนุนทุนให้กับงานด้านการพัฒนา ชื่อ "แตร์เดซอม" และคนในแวดวงเอ็นจีโอเรียกขานเขาอย่างสนิทสนมว่า “พี่โป๊ะ”

เฉกเช่น คนเดือนตุลาทั่วไปที่เลือกยืนข้างทักษิณ ชินวัตร, วัชรพันธุ์ หรือ “พี่โป๊ะ” ของเพื่อนพ้องน้องนุ่งในแวดวงเอ็นจีโอ ถูกวิพากษ์และกล่าวถึงด้วยความผิดหวัง เพราะเคยหวังไว้มากว่า เมื่อพี่ๆ เข้าไปทำงานกับรัฐบาล คิดใหม่ ทำใหม่แล้ว รัฐบาลน่าจะเข้าใจประเด็นความคับข้องใจของชาวบ้านมากขึ้น

ทว่าสุดท้าย สิ่งที่วัชรพันธุ์ทำได้ในยุคทักษิณเรืองอำนาจ ก็คือการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคนในรัฐบาลเดียวกันในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของชาวจะนะ ที่จังหวัดสงขลา จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2545 ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาประสานกับแกนนำมาโดยตลอด พร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม เขายังคงทำงานให้กับทักษิณ นายกรัฐมนตรีที่เขาบอกว่า “ตายแทนได้” โดยรับหน้าที่ในงานที่เขาถนัดตั้งแต่เป็นนักศึกษายุคตุลา นั่นคือการดูแลความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เขาทำมาตั้งแต่การหาเสียงครั้งแรกของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2544 โดยใช้เครือข่ายคนในเครื่องแบบ และประสบการณ์จากการทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งครั้งนั้นใช้ทรัพยากรบุคคลจากบริษัทรักษาความปลอดภัย แด๊ด ซีเคียวริตี้ของเขาเอง

ในช่วงพฤษภาคม 2535 แด๊ด ซีเคียวริตี้ บริษัทรักษาความปลอดภัยของเขาเข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ผลจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไปอารักขาการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็คือ บริษัทของเขาถูกตรวจค้น 2 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราวๆ 30 คน ในปี 2540 บริษัทรักษาความปลอดภัยของเขาล้มลงไปพร้อมปัญหาเศรษฐกิจปี 2540  เขาจึงเข้าไปช่วยงานขยายฐานโทรศัพท์มือถือของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องขยายฐานให้ได้ 400 แห่งภายใน 1 ปี

“ช่วงนั้นเราก็ไม่ยุ่งเลยเรื่องการเมือง การขยายตอนนั้น นายกฯทักษิณตั้งเป้าขยาย 400 ฐานในหนึ่งปี เราทำได้ 380 ก็สนุกสนานมาก จากนั้นก็มาทำงานการเมือง ในช่วงที่ตั้งพรรคไทยรักไทยปี 2543 เรามองเรื่องการรักษาความปลอดภัยของหัวหน้าพรรคค่อนข้างมาก ก็ได้ตั้งระบบความปลอดภัยขึ้นมา ตั้งทีมที่มีทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน แต่ภาพพจน์ของการทำงานรักษาความปลอดภัย เข้าใจว่าติดตัวมาตลอดไม่ว่าจะทำอะไร”

บทบาทของการทำงานที่มี “คน” และ “เครือข่าย” ของเขานี่เอง ที่ผลักให้เขาต้องออกมาพูดหลังจากที่อยู่เงียบๆ มาระยะหนึ่ง และเขาเองก็ได้ “ข่าว” มาเช่นกันว่า ตัวเขาอาจจะกำลังเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเพื่อประกอบภาพความรุนแรงของฝ่ายเสื้อแดงให้เข้ารูปเข้ารอย

 “จำได้ว่าตอนที่กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล อัญชลี ไพรีรักษ์ ก็ปราศรัยหลายครั้งว่า พี่โป๊ะออกมาเถอะ รู้นะว่าทำอะไรอยู่ คุมอะไรอยู่ ซึ่งการพูดแต่ละครั้งก็รู้สึกว่า นี่เขากำลังสร้างภาพของบุคคลคนหนึ่งซึ่งชอบในงานแบบนี้ให้กลายเป็นอะไรที่น่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ” วัชรพันธุ์เท้าความถึงการถูกโยงใยกับเหตุความไม่สงบ ซึ่งเริ่มมีชื่อเขาปรากฏอยู่ในการสนทนาของฝ่ายความมั่นคงมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร และถูกขับเน้นมากขึ้นในช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมา

“ช่วงของการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ไม่ได้ทราบด้วยตัวเอง แต่รู้ว่ามีการพูดถึงตัวบุคคล คือตัวพี่เองว่า น่าจะมีกำลังต่อต้านการรัฐประหาร ในช่วงนั้นถึงขั้นเอาไปพูดกันใน คมช. ว่า พี่จะคุมการเผาเมือง และในช่วงตุลา 2549-มกรา 2550 ก็ต้องหลบเพราะมีการส่งกำลังไปทางเหนือ”

เรื่องในคราวนั้น “บางนา บางปะกง” แห่งค่ายเนชั่น ได้หมายเหตุไว้โดยละเอียดว่า ชื่อของวัชรพันธุ์ ถูกฝ่ายความมั่นคงกล่าวถึงทันทีที่มีเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานครรับปีใหม่ 2550 แต่นั่นก็เป็นการอ้างอิงจากข้อมูลเก่าๆ ของเขา ซึ่งภาพลักษณ์นักบู๊เป็นเรื่องที่ติดตัวลบไม่ออก

มาถึง พ.ศ.2553 วัชรพันธุ์ได้รับรู้อีกครั้งว่า ชื่อของเขาถูกกล่าวขานซ้ำอีก พร้อมให้เครดิตอย่างสูงว่า เขานี่แหละคือคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด หาใช่ เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ไม่

“มีการพูดกันในวงใน มีการจัดทีมกันเรียบร้อยเลยว่า ให้มองคนๆ นี้ว่าอยู่เบื้องหลังทั้งหมด ไม่ใช่ เสธ.แดง เสธ.แดงเป็นแค่ตัวเปิด ก็เลยรู้สึกว่า นี่กำลังเอานิยายอะไรมาบวกกัน มีข่าววงในจากบุคคลที่เชื่อถือได้ ส่งข่าวมาตั้งแต่ เม.ย.ปี 52 ตลอดเวลาว่า กลุ่มนี้นะ ทหารตำรวจสีนี้ๆ ตั้งทีมไว้แล้ว รอเวลา ถ้าหาหลักฐานไม่ได้ ก็พร้อมจะเซ็ตขึ้นมา...ในฐานะที่ไม่ได้เปิดเผยตัวเองมาก อาจจะรู้จักกันเป็นส่วนตัวกับบางคน เราก็รู้สึกว่าน่าจะออกมาพูดอะไรบ้าง”

ชื่อของวัชรพันธุ์นั้น ผูกติดอยู่กับงานด้านความปลอดภัย เนื่องเพราะภาพที่ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยนักศึกษา และเป็นเหตุให้ถูกกล่าวขานถึงเมื่อมีเหตุรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น บ้านพักของเขาที่ จ.เชียงราย มีตำรวจขึ้นไปเยี่ยมเยือนอยู่เนืองๆ โดยบอกกับเจ้าตัวว่า “อยากมารู้จักพี่โป๊ะ”

“รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม โอเค อย่างที่บอก ถ้าจะให้คิดแบบรุก เราก็คิดได้ แต่เราใช้ความสามารถจากประสบการณ์เพื่อให้ความเสียหายของการชุมนุมน้อยที่สุด เพราะว่าทหารเป็นหมื่นเราคงทำอะไรมากไมได้ ทีนี้ ในกรณีที่มีคนยืนยันว่า ดีเอสไอจะออกหมายเรียก ก็ยินดี จะเอาหลักฐานหรือสร้างตรงไหนมา ก็จะได้ชี้แจง ข้อหาที่ได้ยินมาคือ ข้อหาก่อการร้าย ซึ่งมันร้ายแรง

อย่างคุณธาริต (เพ็งดิษฐ์) ตอนนั้นผมทำงานที่ทำเนียบ ก็เคยนั่งทำงานห้องทำงานต่อกัน ตอนนั้นไม่คิดอะไรมาก แต่พอเขาเป็นอธิบดีแล้วก็ใช้ได้เลย ใช้ได้เลย” วัชรพันธุ์กล่าวยิ้มๆ และว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะองค์กรแบบดีเอสไอซึ่งทำงานในฐานะฝ่ายสืบสวนสอบสวนควรจะมีประสิทธิภาพกว่านี้ 

“อันนี้มันน่ากลัว อย่างเอฟบีไอของอเมริกาเขามีประสิทธิภาพมาก แต่ไม่ใช่ว่า ไปฟัง แล้วหยิบโน่นหยิบนี่มาต่อจิ๊กซอว์....”

เมื่อเราถามถึงความสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร นายที่เขาบอกว่า “ยอมเอาตัวบังกระสุนให้ได้” ว่า คุยกันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เขาบอกว่า ไม่ได้ติดต่อนานแล้ว แม้แต่วันเกิดของทักษิณ เขาก็ไม่ได้โทรหา แต่ก็ฝากความเคารพไป เพราะรู้สึกเหมือนพี่ชายคนหนึ่ง

“โอ้โห นานมาก นานมากๆ ที่ได้คุยกันเป็นการส่วนตัว รู้สึกว่าจะเป็นงานศพคุณแม่ของพี่ปี 2547 ที่ท่านเดินทางไปเป็นประธานงานศพ เพราะว่าหลายเรื่องก็ไม่ต้องคุยกัน แต่ช่วงหลังก่อนที่ท่านจะเสียอำนาจ ก็ช่วยดูเรื่องความปลอดภัยในปี 2548-2549 ส่วนมากเป็นการเจรจากับม็อบ เพราะส่วนใหญ่จะรู้จักกับแกนนำ จะไปเจรจาก่อน และก็ส่งคนแฝงดู เชื่อมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตัวจริงเขาอีกที แต่ไม่ได้ใกล้ชิดมากเหมือนเมื่อก่อน ช่วงใกล้ชิดคือ การหาเสียงครั้งแรกช่วงปี 2543-2544

ฝากถึงรัฐบาลและดีเอสไอ
วัชรพันธุ์ ทิ้งท้ายการปรากฏตัวของเขา โดยฝากข้อความถึงดีเอสไอและฝ่ายความมั่นคงภายใต้รัฐบาลปัจจุบันว่า หากอยากได้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับตัวเขา ก็มานั่งคุยกันได้ แต่อย่าให้วิธีส่งซิกลอยลมมาฝากอย่างที่ผ่านๆ มา

“ไม่เคยติดต่อไปที่รัฐบาลเพื่อให้ข้อมูล ตอนแรกๆ ก็เฉยๆ แต่พอมาย้ำกันหลายทาง ถึงกับมีการระบุชื่อ พล.ต.ต.นี้ๆ เป็นทีม แล้วก็ส่งซิกมาว่า หาหลักฐานไม่ได้ก็จะเก็บซะ ทั้งหมดหลัง 19 พ.ค. สี่เดือนมานี้ มีข่าวทำนองนี้ตลอด ในใจลึกๆ ก็รู้สึกว่า มึงจะเอายังไงกะกู บอกว่าเดี๋ยวจะเก็บซะก็ไม่เห็นทำซะที จริงๆ โทรหามานั่งคุยกันอย่างนี้ก็ได้... สื่อถึงดีเอสไอ หรือใครก็ได้ เพราะว่า อายุขนาดนี้แล้ว และผ่านมามากพอสมควรในการดูแลสถานการณ์ซีเรียสหลายๆ อย่างที่เสี่ยง จะทำอะไรก็ทำ หากมีหลักมีฐาน แต่อย่าปล่อยข่าว ถ้าจะทำอะไรก็ให้ชัด ให้ชอบธรรม เอามาเลย กระสุนนี้ของพี่โป๊ะหรือเปล่า กระเดื่องนี่ลายมือพี่ อะไรแบบนั้นเลย”

วัชรพันธุ์กล่าวทิ้งท้าย ก่อนจะกลับไปพร้อมกับคนสนิทที่ติดตามมาด้วยหนึ่งคน  ทุกวันนี้เขาไปๆ มาๆ ระหว่างเชียงรายกับกรุงเทพฯ โดยมีรีสอร์ตเล็กๆ อยู่ที่อำเภอแม่จันต้องดูแล ถ้าไม่มีเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เขาบอกว่า ชีวิตเขาสงบสุขดี และมองหาเขาได้ตามร้านคิโนะคุนิยะ หรือเอเชียบุ๊ก “ถ้าจะจับ ก็ไปจับตามนี้ก็ได้ ชีวิตส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่ในร้านหนังสือ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net