Skip to main content
sharethis

กกร.ไม่เห็นด้วยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

ต.ค. 53 -  นายดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้หารือถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่าทาง กกร.สนับสนุนอัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศให้มีอัตราเดียวกันนั้น  โดยที่ประชุมเห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำคือ อัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานใหม่ไร้ฝีมือ และการกำหนดแรงงานขั้นต่ำขึ้นอยู่กับปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง  รวมถึงค่าครองชีพแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ซึ่งไม่เท่ากัน  จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดอัตราค่าจ้างเดียวกัน 

นายดุสิต กล่าวว่า ข่าวที่ระบุว่าจะกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดียวกันไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  ที่สำคัญการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี  ซึ่ง กกร.จะไม่เข้าไปยุ่งหรือก้าวก่าย  ส่วนค่าจ้างตามคุณวุฒิวิชาชีพของแรงงาน หรือแรงงานที่มีประสบการณ์และมีฝีมือ  เป็นการกำหนดตามความรู้ความสามารถ  โดย กกร. ร่วมกับสำนักงานอาชีวศึกษาจัดทำโครงการนำร่อง เพื่อวางแผนจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิในวิชาชีพอุตสาหกรรมต่าง ๆ  ไปแล้ว  ซึ่งแนวทางดังกล่าว กกร.เห็นว่าเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาแรงงานและยกระดับขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

นายดุสิต  กล่าวถึงค่าเงินบาทแข็งค่าว่า  ที่ประชุม กกร.ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการอย่าให้เงินบาทผันผวน  เนื่องจากจะกระทบผู้ส่งออกโดยตรง  ซึ่งค่าเงินบาทที่เหมาะสมจะต้องทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้า อยู่ระดับที่ทัดเทียมกัน.

(สำนักข่าวไทย, 4-10-2553)

117 แรงงานถูกหลอกทำงานสวีเดนกลับถึงไทย

ต.ค. 53 - แรงงานไทยจากสวีเดน 117 คน เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วเช้านี้ เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังถูกนายหน้าคนไทยหลอกไปเก็บผลเบอร์รี่ เป็นเวลา 2 เดือนครึ่งและไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา เรียกร้องขอเงิน 78,000 บาทที่กู้มาคืน ด้าน รมว.พม.เผยแรงงานจะได้เงินคืนเมื่อจับกุมนายหน้าได้

(สำนักข่าวไทย, 4-10-2553)

เตือนแรงงานไทยถูกหลอกไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับรายงานจากสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ซึ่งประสานผ่านกรมการกงสุลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ว่า มีคนไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลในประเทศสวีเดนกับบริษัทล็อมเบรี ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าสัญชาติสวีเดน โดยคนงานไทยทั้ง 109 คน ได้รับเงินค่าจ้างล่าช้าและต่ำกว่าเงินเดือนขั้นต่ำที่บริษัทประกันไว้ คือ รายละเจ็ดหมื่นกว่าบาทต่อเดือน และมีการเจรจากับหัวหน้างานเพื่อตกลงเรื่องค่าจ้างค้างจ่ายและขอให้คนงาน เดินทางกลับตามกำหนดการในวันที่ 3 ตุลาคม 2553 และจะมาถึงประเทศไทยในวันที่ 4 ตุลาคม 2553 โดยสายการบินไทยเที่ยวบิน ทีจี 961 เวลา 05.55 น. โดยเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจะไปรอรับที่สนามบินสุวรรณภูมิและจะได้รับ เรื่องร้องเรียนเพื่อติดตามเงินค่าจ้างดังกล่าวผ่านทางการสวีเดนต่อไป อันจะเป็นการบรรเทามิให้คนงานต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้จากข้อรายงานยังระบุด้วยว่าคนงานยังต้องเสียภาษีอีกร้อยละ 25 ตามกฎหมายสวีเดน และเสียค่าที่พัก ค่าอาหาร อีกคนละ 190 โครนาสวีเดนต่อวัน เงินที่เหลือกลับประเทศเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจึงไม่ คุ้มกับเงินที่เสียให้กับนายหน้าจัดหางานที่ต้องจ่ายคนละประมาณ 78,000 บาท อย่างไรก็ดี หัวหน้าคนงานรับและแจ้งต่อหน้าคนงานว่าจะจ่ายเงินค่าจ้างเดือนแรกให้กับคน งานในวันที่ 26 กันยายน 2553 และงวดที่สองในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ก่อนที่คนงานไทยจะเดินทางกลับ

(เดลินิวส์, 4-10-2553)

"คนงานลิเบีย"นัดบุกทำเนียบฯจี้นายกฯเยียวยาความเดือดร้อน

ความคืบหน้าปัญหาแรงงานไทยไปทำงาน ก่อสร้างในประเทศลิเบียกลุ่มที่บริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา    จำกัด    ส่งไปให้บริษัทนายจ้าง           ARSEL  BENA  WA TASEED JOINT VENTURE  จำนวน  216 ชีวิต ที่เพิ่งได้รับความช่วยเหลือให้พ้นขุมนรกเดินทางกลับถึงบ้านเกิดเมืองนอนลอต สุดท้าย 26 คน วันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น


ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 นายสนิท บุญทวี อดีตส.อบต.ไทยสามัคคี อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ผู้ประสานงานแรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากในลิเบียกลุ่มดังกล่าว เปิดเผยกับ"สยามรัฐ" ว่า  หลังจากแรงงานไทยกลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับประเทศไทย แต่ปัญหาที่พวกเขาได้รับผลกระทบยังมีอยู่และต้องมีการเรียกร้องให้ทางรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาต่อไป


"ต่อไปคงมีการติดต่อประสานงานกัน รวบรวมรายชื่อให้เป็นระบบ แล้วนัดหมายรวมพลังแรงงานและครอบครัวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องขอความช่วยเหลือจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ,นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน และกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา และกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร" นายสนิท กล่าวและว่า ตัวแทนแรงงานประมาณ 100 คน ได้เคยรวมตัวเรียกร้องกรณีนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่เมื่อแรงงานกลับมาครบถ้วนเราจึงต้องการแสดงออกถึงความเดือดร้อนว่าเป็น จริงๆ มีตัวตนคนงานจำนวนมาก จึงต้องมีการรวมตัวเรียกร้องกันอีกครั้ง ซึ่งกำหนดวันเวลาต้องหารือกันต่อไป นอกจากนี้ จะเข้าขอบคุณอดีตส.ว.ชัชวาลย์ คงอุดม คอลัมนิสต์อาวุโสนสพ.สยามรัฐ และทีมงานนสพ.สยามรัฐที่เป็นสื่อกลางเสนอความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่องด้วย


สำหรับข้อเรียกร้องแรงงานไทยใน ลิเบียที่ต้องการความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนี้ 1.เรียกร้องค่าหัวคิวคืนตามสัดส่วน กรณีที่บริษัทจัดหางานเรียกเงินค่าหัวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือเกิน 4 เท่าของอัตราเงินเดือนสัญญาจ้าง 1 ปี 2.เรียกร้องเงินเดือนค้างจ่าย เงินล่วงเวลา เงินโอทีวันหยุด เงินหักต่อเดือน เงินโอทีบังคับและเงินโบนัสครบสัญญา 15 วัน ประมาณ 400   ดีน่าร์ 3.เรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินนอก ระบบที่เกิดจากการกู้ยืม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่ลิเบีย 4.เรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน หาตลาดแรงงานต่างประเทศให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ เดินทางไปทำงานเพื่อให้มีเงินใช้หนี้ที่เกิดขึ้น 5.เรียกร้องให้กรมการจัดหางาน ปรับลดค่าหัว ค่าบริการ ในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ 6.จัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน เงินกู้เพื่อคนหางาน

(สยามรัฐ, 5-10-2553)

บอร์ดค่าจ้างนัดถกด่วนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ11ตุลาคมนี้ 

(5ต.ค.)นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง)กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้มีการนัดประชุมอย่างเร่งด่วนในวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคมนี้ เนื่องจากมีการถกเถียงกันมากในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเร่งพิจาณาให้เร็วที่สุด โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดได้ส่งตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างมายัง คณะกรรมการกลางทุกจังหวัดแล้ว ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาในบางพื้นที่ ค่าจ้างไม่เพียงพอ ซึ่งในที่ประชุมจะนำประเด็นนี้มาพิจาณา เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสม โดยวางกรอบตัวเลขไว้ที่ 250 บาทนั้น ก็เป็นเพียงกรอบตัวเลขที่นายกฯ ได้วางไว้เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องได้เท่านั้น เพราะอัตราค่าจ้างจะปรับขึ้นเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้าง ที่เป็นไตรภาคี ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จะเป็นผู้พิจารณา

ด้านนายสมศักดิ์ ทองงาม คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจ.อ่างทอง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จ.อ่างทอง มีมติเป็นเอกฉันท์ ขอปรับขึ้นค่าจ้างอีก 5 บาท จาก เดิม 165 เป็น 170 บาท   อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นครั้งนี้ ยังถือว่าไม่สะท้อนความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจ และค่าครองชีพ ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250   เท่ากันทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันโรงงานขนาดใหญ่ ทั่วไป ให้ค่าจ่างขั้นต่ำแรกเข้าที่ 200 บาทขึ้นอยู่แล้ว แต่ในโรงงานขนาดเล็ก ยังคงยึดค่าแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งต่อโรงงานขนาดเล็กก็จะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานแน่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดที่น่าสนใจในการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในครั้งนี้ มีหลายจังหวัด อาทิ จ.แพร่ ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำสุด 151 บาท อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีมติ ขอปรับขึ้นค่าจ้างอีก 7 บาท เป็น 158 บาท , จ.น่าน เดิม 152 ปรับขึ้น 4 บาท เป็น 156 บาท , จ.ศรีษะเกษ เดิม 152 บาท ปรับขึ้น 2 บาทเป็น 154 บาท , จ.ประจวบคีรีขันธ์ 164 ปรับขึ้น 3 บาท เป็น 167 บาท , จ.ภูเก็ต เดิม 204 บาท ขอปรับขึ้น 10 บาท เป็น 214 บาท ส่วน จ.เพชรบูรณ์ เดิมปีที่แล้ว บอร์ด ค่าจ้างกลาง มีมติไม่ปรับขึ้นพร้อมกับอีก 4 จังหวัด แต่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทบทวน จนมีการปรับขึ้นค่าจ้าง   3 บาทเป็น   155 บาท ปีนี้ขอปรับขึ้น 2 บาทเป็น 160 บาท ขณะที่ กรุงเทพฯ มีการเสนอขอขึ้น 7 บาท จากเดิม 206 เป็น 213 บาท

(คมชัดลึก, 5-10-2553)

ช่วย 117 คนงาน ถูกหลอก กลับจากสวีเดน

ปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่ ประเทศสวีเดนก็ยังมีการเบี้ยวค่าจ้างเกิดขึ้นอีกเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ต.ค. เวลา 05.30 น.ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้นำข้าราชการระดับบริหารของกรม พัฒนาสังคม กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ไปรอรับคนงานไทย จำนวน 117 คนที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เดินทางมาโดยเครื่องบิน บมจ.การบินไทยเที่ยวบินที่ทีจี 961 กลับประเทศไทยสำหรับคนงานทไทยทั้ง 117 คน ได้รับการติดต่อจากนายหน้าให้ไปทำงานกับบริษัทลอม เบอร์รี่ ตั้งอยู่ที่เมืองอัลเซเร ทางภาคเหนือของสวีเดน เพื่อเก็บผลเบอร์รี่ป่า เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดคนละ 85,000 บาท นายหน้าแจ้งว่าจะประกันรายได้ตามสัญญาไม่ต่ำกว่าคนละ 140,000 บาท แต่เมื่อไปทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. จนถึงวันที่ 30 ก.ย. ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา อีกทั้งตัวแทนและสายบริษัทได้หลบหนีไป คนงานส่วนหนึ่งจึงต้องเดินทางกลับ

ทันที่ที่ถึงท่าอากาศยานนานาชาติ สุวรรณภูมิคนงานก็ได้ยื่นหนังสือต่อนายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือเรียกร้องเงินค่าจ้างค้างจ่าย และสิทธิประโยชน์จากบริษัทลอม เบอร์รี่ พร้อมทั้งให้ดำเนินคดีกับนายภูมิคชา นาคคำสาย หรือ นายหน้าของบริษัท ที่หลอกลวงพวกตนไปทำงานที่สวีเดน และไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา จากนั้นนายอิสสระได้ให้เจ้าเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคม และเจ้าหน้าที่กรมการจัดการงานสัมภาษณ์คนงานแต่ละคน ก่อนให้การช่วยเหลือด้านการเงินจำนวนหนึ่ง และจัดรถบัสนำส่งกลับภูมิลเนา พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมได้นำตัวแทนคนงาน 16 คน ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายภูมิคชา นาคคำ และผู้แทนบริษัทลอม เบอร์รี่ ในประเทศไทย ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ส่วนนายภูมิคชานั้นยังอยู่ที่ประเทศสวีเดน หากเดินทางกลับประเทศไทย ทางตำรวจก็จะจับกุมตัวมาสอบสวนดำเนินคดี

ก่อนหน้าที่คนงานไทย 117 คนจะได้รับการช่วยเหลือเดินทางกลับประเทศไทยนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล พร้อมด้วยนายสุเมธ มโหสพ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชน และนายอรรณพ บุราณเศรษฐ อัครราชทูตที่ปรึกษา ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานที่ไปทำงานเก็บผลเบอร์รี่เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ปรากฏว่ามีคนงานไทย จำนวน 157 คน ที่ไปทำงานเก็บผลเบอร์รี่ป่ากับบริษัทลอม เบอร์รี่ เมืองอัลเซเร ได้มาร้องเรียนว่าไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาเนื่องจากนายภูมิคชา สายของบริษัทยืนยันว่าทุกคนจะได้รับเงินประกันรายได้คนละ 140,000 บาท ได้เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 7 ส.ค. และจะครบกำหนดกลับวันที่ 5 ต.ค.นี้ส่วนรายได้นั้นทางบริษัทแจ้งว่าต้องเสียภาษี ค่าอาหารและค่าเดินทาง เหลือเดือนละ 6,579 โครนสวีเดน หรือประมาณ 29,605 บาทไม่เป็นไปตามข้อตกลง โดยอ้างว่าปีนี้ผลเบอร์รี่ป่ามีน้อย รายได้ไม่ตรงตามเป้า ทั้งๆ ที่ทำงานตั้งแต่เวลา 04.00-22.00 น.

หลังจากทราบเรื่อง น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์รองอธิบดีกรมการกงสุล พร้อมคณะได้ติดต่อหารือกับนายเบิร์ท รุท ดาลแบรก นายกเทศมนตรีเมืองอัลเซเร และบริษัทเพื่อช่วยไกล่เกลี่ย โดยคนงานขอให้จ่ายค่าจ้างตามสัญญา คิดเป็นเงินไทย 140,000 บาท เพราะได้รับยังไม่ครบ ซึ่งตัวแทนบริษัทก็แจ้งว่าประธานบริษัทจะเดินทางไปพบคนงานเพื่อไกล่เกลี่ยใน วันที่ 29 ก.ย. แต่พอถึงวันที่ 29 ก.ย. ผู้แทนบริษัทและนายภูมิชา สายบริษัทได้หลบหนีไปไม่ยอมมาชำระค่าจ้าง คนงานจึงได้แจ้งให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ทราบ นายอรรณพ บุราณเศรษฐ อัครราชทูตที่ปรึกษาฯ จึงได้ประสานกับเทศบาลเมืองอัลเซเร และสหภาพแรงงานท้องถิ่น จัดรถยนต์ไปรับคนงานไปส่งที่ท่าอากาศยานสตอกโฮล์ม เมื่อวันที่ 3 ต.ค.และยังมีคนงานอีก 38 คนยังไม่ยอมกลับ ยืนยันขออยู่ต่อสู้คดีกับบริษัท โดยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม และสหภาพแรงงานเมืองอัลเซเร จะร่วมฟ้องร้องบริษัทเพื่อเรียกร้องค่าจ้างให้กับคนงาน

(ไทยรัฐ, 5-10-2553)

แรงงานลิเบียร้องนายจ้างขู่อุ้มฆ่า!ฉุนปูดผิดสัญญา

เรื่องราวความเดือดร้อนของนักรบแรง งานไทยที่ไปตกทุกข์ได้ยากในประเทศลิเบียยังไม่จบสิ้นแค่คนงาน216 ชีวิต ที่บริษัท จัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ส่งไปทำงานก่อสร้างกับบริษัท ARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE ได้เดินทางกลับประเทศไทยเท่านั้น การต่อสู้เรียกร้องทวงคืนเงินเดือนค่าจ้างค่าล่วงเวลาและค่าหัวคิว ยังเป็นปมปัญหาที่เหยื่อแรงงานดิ้นรนต่อสู้ขอความเป็นธรรมอยู่ในขณะนี้ ล่าสุดแรงงานไทยที่ไปทำงานกับบริษัทRANHILL อีกไซต์งานแห่งหนึ่งที่มีแรงงานไทยเกือบ 1,000 คน กำลังประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน และรอความช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับประเทศไทยเช่นกัน

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.53 แหล่งข่าวแรงงานไทยเปิดเผยว่า วันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา คนงานไทยคนหนึ่งที่ไปทำงานก่อสร้างคอนโดมิเนียม กับบริษัท RANHILL ที่แคมป์พาจูลี่ได้ถูกส่งตัวกลับประเทศไทยแบบกะทันหันแต่เพียงลำพัง เนื่องจากได้ออกมาเรียกร้องสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยไซต์งานแห่งนี้มีแรงงานไทยจำนวนมากต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเช่นกัน แต่บริษัทดังกล่าวต้องการคนงานเป็นจำนวนมากจึงบีบบังคับไม่ให้กลับด้วยการ เรียกเงินค่าเครื่องบินรายละ40,000-50,000 บาท หรือไม่เช่นนั้นต้องทำงานฟรีแลกกับค่าเครื่อง บิน 3-4 เดือน

"แรงงานคนดังกล่าวเป็นชาวขอนแก่นและ เขาเคยโทรศัพท์ข้ามประเทศจากลิเบียมาร้องทุกข์กับ นสพ.สยามรัฐ โดยระบุความเดือดร้อนไม่ได้รับเงินเดือนค่าจ้างตรงตามสัญญา และเงินไม่จ่ายตามกำหนด เงินโอที

ก็ไม่มีความเป็นอยู่ก็ไม่ได้มาตรฐาน ไปทำงานต้องเดินผ่าพายุทะเลทราย 3-6 กิโลเมตรซึ่งชะตากรรมไม่ต่างจากบริษัท ARSEL ที่นสพ.สยามรัฐนำเสนอข่าวออกไป หลังจากมีข่าวของ RANHILL คนงานรายนี้และเพื่อนๆ ที่สนิทกันก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด บางคนยังถูกเรียกไปต่อว่าเมื่อภรรยาที่อยู่ประเทศไทย ได้โทรศัพท์มาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือให้สามีเดินทางกลับไทย"แหล่ง ข่าวกล่าวและว่า คนงานกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับความไว้วางใจ และยังถูกข่มขู่เอาชีวิตอีกด้วย

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่าแรงงานคนนี้ แม้จะกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิต แต่เขากล้าที่จะเดินหน้าชน เพื่อเรียกร้องความถูกต้อง หากถูกเอาชีวิตจริงก็พร้อม เพราะไม่ต้องการให้เพื่อนแรงงานไทยคนอื่นๆ อีกหลายพันชีวิตถูกเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหงแรงงานเช่นเดียวกับตนซึ่งที่ ผ่านมาเขาก็เป็นแกนนำในการประท้วงเพื่อทวงค่าจ้างจากนายจ้าง ซึ่งก็ยังมีการผิดสัญญาจ่ายช้าหรือไม่จ่ายเช่นเดิม จึงมีความต้องการที่จะเดินทางกลับประเทศไทย

"ขณะนี้บริษัทนายหน้าและสายของนาย หน้าต้องการส่งคนงานไทยไปทำงานลิเบียจำนวนมาก พยายามเดินสายหลอกล่อคนงานไทยทางภาคเหนือ-อีสานให้ไปทำงานลิเบีย โดยชักชวนว่าได้รับเงินเดือนค่าจ้างสูง ค่าโอทีมีทุกวัน การกินการอยู่ดีซึ่งคนงานที่ตกเป็นเหยื่ออยู่ที่ลิเบียต่างเป็นห่วงไม่อยาก ให้คนยากจนเสียค่าหัวคิวสูงๆ แล้วมาตกระกำลำบากเป็นทาสแรงงาน ราวกับตกขุมนรกถูกกักขังเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์" แหล่งข่าว กล่าว

(สยามรัฐ, 5-10-2553)

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงข่าว ประเด็นการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

เนื่องจากขณะนี้ได้มีความสับสน เกี่ยวกับข่าว เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและการกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน คณะกรรมการ กกร. จึงขอชี้แจงดังต่อไปนี้

1. ค่าจ้างขั้นต่ำคืออัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานใหม่ที่ไร้ฝีมือ กำหนดขึ้นจากการพิจารณาปัจจัยหลัก ในด้านต่างๆ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง เป็นต้น รวมทั้งเพื่อให้ อุตสาหกรรมสามารถแข่งขันต่อไปได้ แ ละประชาชนสามารถยังชีพได้

การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนี้เป็น หน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง โดยทั่วไปการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามสภาพของแต่ละภูมิภาคซึ่งไม่จำเป็น จะต้องเป็นอัตราเดียวกัน

กกร.มิได้เห็นชอบกับอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำและการกำหนดเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศตามที่เป็นข่าว โดยมิได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่ได้กล่าวข้างต้น กกร. เห็นว่าการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนี้ควรดำเนินการโดยคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

2. ค่าจ้างตามคุณวุฒิวิชาชีพของแรงงาน คืออัตราค่าจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์หรือแรงงานฝีมือ เป็นการกำหนดค่าจ้างตามระดับความรู้ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานของ แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามโครงสร้างของเศรษฐกิจ และกลไกตลาด

ขณะนี้ กกร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อการวางแผนจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในสาขา อุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการออกใบรับรองซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ

กกร.มีความเห็นว่าแนวทางใหม่นี้จะเป็นมาตรการสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ดังนั้นการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างตามคุณวุฒิวิชาชีพ จึงเป็นคนละกรณีกัน

(หอการค้าไทย, 5-10-2553)

บิ๊ก กยศ.เผยปี 54 ทุนน้อยเลือกเฉพาะสาขาแรงงาน

นายเสริมเกียรติ ทัศนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ2554 กยศ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ จำนวน18,000 ล้านบาท ลดลง 3,000 ล้านบาท จากที่เสนอขอไป21,000 ล้านบาท ส่งผลให้ต้องนำเงินของกยศ.มาสมทบมากถึง21,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินรวมจำนวน 39,000 ล้านบาท มาปล่อยกู้ให้แก่ผู้กู้รายใหม่และรายเก่า ประมาณ930,000 คน โดยในเดือน พ.ย.นี้ จะมีการประชุมบอร์ดกยศ.เพื่อกำหนดนโยบายว่าจะจัดสรรเงินให้แก่นักศึกษากลุ่ม ใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นคิดว่า ระดับอุดมศึกษาจะจัดสรรให้แก่กลุ่มสาขาวิชาที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้อง การของตลาดแรงงานจบแล้วมีงานทำแน่นอน ส่วนระดับต่ำกว่าปริญญาตรีจะเน้นให้กลุ่มผู้เรียนสายอาชีพ หรืออาชีวศึกษา ได้กู้ยืมมากกว่าผู้เรียนสายสามัญศึกษา ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการ และคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่2สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จะไปพิจารณาจัดสรรวงเงินให้แก่สถานศึกษาต่างๆ

นายเสริมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมเพื่อเพิ่มช่องทางให้นักเรียนนัก ศึกษามุสลิมเข้าถึงการศึกษามากขึ้นนั้น ปรากฏว่าในปีที่ผ่านมามีผู้กู้น้อยดังนั้นทางธนาคารจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ มากขึ้นรวมถึงเพิ่มสาขาของธนาคารด้วย เนื่องจากบางพื้นที่ไม่มีสาขาของธนาคาร

(สยามรัฐ, 7-10-2553)

ถกปรับค่าจ้าง เลื่อนเป็น 14 ต.ค.

ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงการประชุมพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2554 ในวันที่ 11 ตุลาคม ว่า บอร์ดค่าจ้างได้เปลี่ยนวันประชุมเป็นวันที่ 14 ตุลาคม แทน เนื่องจากคณะกรรมการหลายคนว่างไม่ตรงกัน ซึ่งการพิจาณาปรับขึ้นค่าจ้างจำเป็นต้องให้คณะกรรมการทุกคนร่วมพิจารณาด้วย ความรอบคอบ โดยยึดกรอบค่าจ้าง 250 บาท ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ไว้ ทั้งนี้ อนุกรรมการค่าจ้าง 76 จังหวัด ได้ส่งอัตราค่าจ้างที่ขอปรับเข้ามาครบทุกจังหวัดแล้ว โดยปีจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัด ตั้งแต่อัตรา  2-10 บาท ในส่วนของกรุงเทพฯ อนุกรรมการค่าจ้างเสนอขอปรับเพิ่ม 7 บาท จากเดิม 206 บาท เป็น 213 บาท


ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า การพิจารณาขึ้นค่าจ้างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีผู้แทนจากฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล จะพิจารณาว่าฐานการคำนวณค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมาเป็นแบบที่ถูกต้องหรือไม่ และต้องดูด้วยว่า ถ้าปรับขึ้นค่าจ้างแต่ละจังหวัดแล้วจะไม่กระทบกับจังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้ เคียงกันเพื่อไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำกัน นอกจากนี้จะพิจารณาภาพรวมว่าจะทำอย่างไรค่าจ้างขั้นต่ำที่ผู้ใช้แรงงานได้ รับนั้น ไม่เป็นค่าจ้างที่พอแค่ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันเท่านั้น เพราะจะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานต้องใช้เงินอย่างติดขัด ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ ไม่ว่าบอร์ดค่าจ้างจะให้ขึ้นกี่บาท ตนเชื่อว่าคงต้องมีเสียงตำหนิเป็นธรรมดา ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องค่าจ้างใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี


นอกจากนี้ นพ.สมเกียรติ ยังเปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการสำนักงานประกันสังคม   (บอร์ด สปส.) ว่า ที่ประชุมได้เสนอให้มีการออกกฎกระทรวงแรงงาน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในกรณีเงิน สงเคราะห์บุตรจากเดิมกองทุนประกันสังคมจ่ายให้ 350 ต่อเดือนต่อคน เป็น 400 บาทต่อเดือน   ซึ่งหลังจากนี้ต้องส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้คณะที่ปรึกษาและคณะ กรรมการกระทรวงพิจารณาก่อนส่งให้รมว.แรงงานลงนาม ซึ่งเชื่อว่าปลายเดือนต.ค.นี้จะมีความชัดเจน ส่วนการเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์กรณีอื่นทั้ง สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ ทันตกรรม การจ่ายค่าฟันเทียมฐานอคริลิก และการรักษาโรคจิตกรณีฉับพลัน ซึ่งในบางกรณีต้องให้คณะกรรมการแพทย์เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ ก่อนจะมีการประกาศใช้ ก็จะเร่งพิจารณาสิทธิประโยชน์ทั้ง 6 กรณีให้สามารถประกาศใช้ทันเดือนม.ค. เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน


นพ.สมเกียรติ  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปส.ยังได้เสนอแนวทางการป้องกันความเสี่ยงของกองทุนประกันสังคม เนื่องจากเกรงว่ารูปแบบการจ่ายเงินบำนาญ จากกองทุนชราภาพ จะส่งผลกระทบกับกองทุนประกันสังคมในอีก 35 – 37 ปีข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการได้มีการเสนอหลายแนวคิดทั้งการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบ การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การขยายอายุการเกษียณของผู้ประกันตน หรือแม้แต่การเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินจากบำนาญให้เป็นบำเหน็จ เพื่อเพิ่มความมั่นคงของกองทุน แต่อย่างไรก็ตามข้อแสนอดังกล่าวต้องมีการศึกษาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ เพราะการจะปรับหรือลดอะไรต้องคำนึงถึงผู้ประกันตนด้วยว่ารับได้หรือไม่ ไม่ใช่เพียงมุ่งหวังให้แต่กองทุนมีความมั่นคงเพียงอย่างเดียว

(แนวหน้า, 7-10-2553)

จี้บริษัทนายหน้าห้ามเบี้ยวคืนหัวคิวเหยื่อแรงงานลิเบีย

ความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทย ที่ไปทำงานในประเทศลิเบียหลังจากเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภามีการประชุมคณะกรรมาธิการการแรงงาน (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูนพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.เป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมกรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศลิเบียได้ยื่น หนังสือร้องเรียนถึงปัญหานายจ้างทำผิดสัญญา ทั้งนี้ ได้มีการเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ต.ค.53 นายสถาพรมณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนฯ เปิดเผยว่า ในการประชุม กมธ.แรงงาน วันดังกล่าวทางบริษัท จัดหางานยิ้ม ยิ้ม และกรมการจัดหางาน รับปากว่าจะช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่ไปทำงานลิเบีย โดยประการแรกใครที่ต้องการอยากเดินทางกลับประเทศไทยก็จะจัดหาตั๋วเครื่องบิน เพื่อส่งตัวกลับให้ประการที่สอง หากกลับมาแล้วถ้าต้องการค่าชดเชยค่าหัวคิวคืน ทางบริษัทจัดหางานและกรมการจัดหางานก็จะดำเนินการคืนเงินหัวคิวให้ตามสัด ส่วน เพราะบางคนยังจ่ายไม่ครบก็จะหักส่วนที่ขาดออกไป ส่วนใครที่จ่ายครบแล้วก็จะได้รับการชดเชยคืนทั้งหมดรวมทั้งเงินเดือนค้าง จ่าย เงินค่าล่วงเวลาหรือสิทธิประโยชน์อย่างอื่นๆ ด้วย

"ทางบริษัทจัดหางานยิ้ม ยิ้ม และกรมการจัดหางานรับปากกับ กมธ.แรงงานเอาไว้เช่นนั้น ต่อไปกรมการจัดหางานจะต้องมารายงานให้ที่ประชุม กมธ.แรงงาน ได้รับทราบว่าการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาไปถึงไหนเป็นอย่างไรบ้าง และต่อไปก็ต้องสอบถามแรงงาน 76 คน ว่าพวกเขาพึงพอใจกับการช่วยเหลือเยียวยาไหม ได้รับเงินชดเชยไปเท่าไหร่ เงินที่ค้างจ่ายยังขาดอยู่เท่าไหร่ ติดขัดปัญหาอะไรก็จะช่วยแก้ไขต่อไป ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ น่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี"

นายสถาพร กล่าวต่อว่า สำหรับแรงงานไทย 216 คน ที่บริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ส่งไปทำงานกับบริษัทARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE ซึ่งตกระกำลำบากไม่ได้รับเงินเดือนตรงตามสัญญา ค่าล่วงเวลา หรือสวัสดิการต่างๆ ไม่ดี ซึ่งขอแสดงความยินดีด้วยที่ได้เดินทางกลับประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะต้องการความช่วยเหลืออย่างไรก็ขอให้ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือร้องทุกข์ กับ กมธ.แรงงาน ซึ่งตนก็จะรับเรื่องเอาไว้แล้วดำเนินการเรียกประชุม 3 ฝ่าย คือบริษัทจัดหางานกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและตัวแรงงานไทย มาประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเช่นเดียวกันกับที่เชิญบริษัทจัด หางาน ยิ้ม ยิ้ม มาประชุมและดำเนินการช่วยเหลือแรงงานต่อไป

ประธาน กมธ.แรงงาน กล่าวต่ออีกว่า ส่วนแรงงานไทยอีก 1 คน ที่ถูกบริษัทนายจ้าง RANHILL ส่งตัวกลับประเทศกะทันหัน เพราะออกมาเปิดโปงการเอารัดเอาเปรียบของนายจ้างต่อแรงงานไทยนั้นสามารถมา ร้องเรียนร้องทุกข์กับ กมธ.แรงงาน ได้ว่าจะให้ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง โดยเฉพาะแรงงานอีกเกือบ 1.000 ชีวิต ที่ยังตกทุกข์ได้ยากในลิเบีย ซึ่งต้องการเดินทางกลับและจะเรียกร้องขอค่าชดเชยเงินหัวคิวเงินเดือนค้าง จ้าง ค่าล่วงเวลา ก็ขอให้ทำเรื่องร้องเรียนเข้ามาได้

(สยามรัฐ, 7-10-2553)

แถลงการณ์คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 (unithailand.org, 6-10-2553)

แถลงการณ์คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
ฉบับที่ 5/2553
เรื่อง ทวงสัญญา 1 ปี กับความคืบหน้าในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553) เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสกล (International Decent Work’s Day) พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมไปถึง สมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ในประเทศไทย ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่ น้องผู้ใช้แรงงาน

ซึ่งที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้มีการเคลื่อนไหวกดดันต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ที่พวกเราคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้พาพี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า 5,000 คน ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านท่านรองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งท่านได้รับปากว่าจะดำเนินงานผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน จนถึงวันนี้ครบ 1 ปี การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ก็ยังไม่เป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้จะมีการประชุ่มร่วมกับคณะกรรมการประสานงานเพื่อการให้สัตยาบัน อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ของกระทรวงแรงงานถึง 5 ครั้ง ซึ่งมีมติร่วมกันว่าให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับพร้อมกัน โดยให้มีการให้สัตยาบันก่อนแล้วค่อยทยอยแก้กฎหมายหลังจากนั้น

ดัง นั้นในวันนี้พวกเราในนามคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอทวงสัญญาจากรัฐบาลในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างเร่งด่วน โดยต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาตามลำดับโดยด่วน การสร้างงานที่มีคุณค่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากรัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาหลัก ทั้ง 2 ฉบับ ในโอกาสครบรอบ 91 ปี ของการก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  และการเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศของประเทศไทย ในปี 2553 นี้ เป็นวาระสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

การที่รัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้ง เป็นองค์กรของคนงานและมีข้อจำกัดในการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน และแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ที่จะได้มาโดยรูปแบบการรวมตัวและเจรจาต่อรองกับอำนาจทุน ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานซึ่งมี จำนวนมากถึง 37 ล้านคน รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยทันที ทั้งนี้หากรัฐบาลไทยยังเพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พวกเราในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ก็จะมีการรณรงค์กดดันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ในประเทศและการรณรงค์ในระดับสากลร่วมกับพี่น้องผู้ใช้ แรงงานทั่วโลก

พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการยกระดับ คุณภาพชีวิตของ พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้สอดคล้องกับการทำงานที่มีคุณค่า คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอสนับสนุนการรณรงค์ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมของพี่น้องผู้ใช้แรง งาน 421 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้จริงในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553
เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล
คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 9

แรงงานจี้ขึ้นค่าแรง 421 บาท

เครือข่ายสหพันธ์แรงงานกลุ่มสหภาพ แรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย   สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  สมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับสากล(GUF) ประเทศไทย นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  นางสารี แซ่เตีย  พร้อมด้วยผู้ใช้แรงงานกว่า 500 คน เดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 4 ถ.พิษณุโลก  เนื่องในวัน  International decnc  work' s day  เพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี  ให้รัฐบาลผลักดันสัญญา ILO ฉบับที่ 87  และ98 ที่ใช้เวลากว่า เดือนแต่ยังไม่มีความคืบหน้า 

โดยทางเครือข่ายต้องการผลักดันค่า จ้างแรงงานขั้นต่ำ ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เป็นเงินจำนวน 421 บาท /วัน ทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

(โพสต์ทุเดย์, 7-10-2553)

ปลัดฯแรงงานอุ้มคนงานไทยไปลิเบีย เดินหน้าแก้ปัญหานายจ้างกดขี่

7 ต.ค.53  นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางเข้าพบ นายชัชวาลย์ คงอุดม อดีตส.ว.กทม. และคอลัมนิสต์อาวุโส นสพ.สยามรัฐ ที่สำนักงานสะพานพระราม 8 ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ พร้อมกับมีการหารือถึงปัญหาแรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากในประเทศลิเบีย  ซึ่งได้มีการมอบเอกสารหลักฐานการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องของนสพ.สยามรัฐ  และรายชื่อของแรงงานไทยที่เรียกร้องเงินเดือนค่าจ้างค้างจ่าย  ค่าทำงานล่วงเวลา  ค่าหัวคิว และอื่นๆให้กับปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานได้รับปากว่าจะนำข้อร้องเรียนดังกล่าวไปติดตามให้ความ ช่วยเหลือต่อไป


นพ.สมเกียรติ ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาแรงงานไทยที่ไปลิเบีย ประเด็นอยู่ที่ว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดจากหลักการปฏิบัติของนายจ้างหรือผู้ประกอบการ ของลิเบียด้วย คือนายจ้างที่จ้างงาน เวลาจ่ายค่าจ้าง เขาจะจ่ายค่าจ้างตอนที่ได้รับเงินค่างวดงานเข้ามา  เพราะฉะนั้นเวลาแรงงานทำงานครบเดือนแล้วไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง เขายังไม่จ่าย แรงงานก็ต้องรอไป เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง ถึงจะจ่ายครั้งหนึ่ง เพราะลูกจ้างแรงงานไทยของเราปกติเคยชินกับบ้านเรา ครบเดือนวันที่ 30-31 ก็จะได้รับเงินเดือน ตรงนี้ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันว่านายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้าง แต่โดยทั่วไปธรรมเนียมของลิเบียเขาเป็นอย่างนี้จริงๆ


"ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผมได้สดับ ตรับฟังมาตอนหลังนี่ก็คือว่า บังเอิญช่วงเข้าเทศกาลรอมฎอน   ตอนนี้ค้างนานขึ้น ซึ่งปกติก็ค้างอยู่แล้วแต่พอมาตรงกับช่วงเทศกาลรอมฎอนที่การทำธุรกิจอะไร ต่างๆ ไม่ค่อยจะสะดวก   ตรงนี้ก็ทำให้การจ่ายค่าจ้างเกิดความล่าช้าเพิ่มขึ้นไปอีก" นพ.สมเกียติ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า  ปัญหาที่จ่ายเงินล่าช้า 2-3 เดือน ทำให้แรงงานเดือดร้อน ไม่มีเงินใช้จ่าย  นพ.สมเกียรติ ตอบว่า ในส่วนนี้ก็มีปัญหาว่าทางตัวลูกจ้างไม่ได้รับเงินตามกำหนด   แต่ตามข้อตกลงที่ไปทำงาน ทางบริษัทจัดหางานได้ตกลงกับนายจ้าง เรื่องเงินอาจจะได้ล่าช้า แต่เรื่องของที่พักอาศัย  ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ทางนายจ้างเขาจัดให้  เป็นข้อตกลงอยู่แล้ว ซึ่งอันนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามก็มีนายจ้างบางรายเหมือนกันที่แย่ๆ ไม่ทำตามที่ได้ทำข้อตกลงเอาไว้ ซึ่งเราก็ได้รับทราบอยู่แล้วว่าเป็นนายจ้างที่ไม่ดี และในโอกาสต่อๆ ไป เราก็จะมาดูว่านายจ้างที่ไม่ดี มีการเอาเปรียบต่อแรงงานไทย เราก็จะไม่ให้แรงงานไทยไปทำงานเพราะแรงงานไทยของเราเป็นที่ชื่นชมว่าเป็นแรง งานที่มีคุณภาพ เขาอยากได้ไปทำงานกัน  ฉะนั้นเราเองก็คงจะต้องไปอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ว่าจะให้เราทำแล้วกินอยู่อย่างไรก็ได้ เราต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเราถือว่าเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ


"ปัญหาแรงงานไทยในลิเบีย ผมจะช่วยดูแลและคงจะนำไปหารือกัน เพราะว่าตอนนี้ทางกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัญหาลิเบียเราติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าแรงงานมีปัญหาอะไรแจ้งได้ตลอด สื่อมวลชนทราบปัญหาแล้วนำเรื่องมาแจ้ง เราก็ไม่ขัดข้อง" ปลัดฯ แรงงานคนใหม่ กล่าว

(สยามรัฐ, 8-10-2553)

ลวงแรงงานไทยไปเกาหลีใต้

8 ต.ค. 53 -  ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) พ.ต.อ.นิพนธ์ เจริญผล รอง ผบก.ปคม. นายนิติชัย วิสุทธิพันธ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แถลงข่าวกรณีที่ พ.ต.อ.ณพวัฒน์ อารยางกูร ผกก.1 บก.ปคม. ร.ต.อ.โรจน์ศักดิ์ นัยผ่องศรี รอง สว.กก.1 บก.ป.นำกำลังเข้าจับกุม นายปาร์ค โจง ยุง อายุ 61 ปี สัญชาติเกาหลีใต้ ตามหมายจับศาลจังหวัดอุดรธานี ที่ 453/2552 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2552 ข้อหา จัดหางานให้คนงานไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือส่งคนไปฝึกงานในต่างประเทศโดยการหลอกลวง นั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง จับกุมได้ที่บริเวณร้านกันต์บาร์เบอร์ ย่านห้วยขวาง กทม.

พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า ทางชุดสืบสวน กก.1 บก.ปคม.ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานว่า เมื่อช่วงปี 2552 มีแรงงานผู้เสียหาย 4 ราย ถูกผู้ต้องหากับพวก หลอกลวงให้ไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยอ้างว่ามีรายได้ถึงเดือนละประมาณ 25,000 บาท แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายรายละกว่า 210,000 บาท ซึ่งภายหลังผู้เสียหายตกลงเดินทางไปแล้วกลับไม่ได้ทำงานตามที่ถูกกล่าวอ้าง แต่อย่างใด จากนั้นเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าผู้ต้องหาได้ร่วมกับพวกเปิดบริษัท ไทยทวีบิสซิเนท จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.อุดรธานี หลอกลวงผู้เสียหายดังกล่าว จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับ โดยก่อนหน้านี้สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมกระทำความผิดไปแล้ว 3 ราย กระทั่งวันเดียวกันนี้จึงจับกุมนายปาร์ค ไว้ได้

จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ อ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่เคยรับเงินค่าดำเนินการจากผู้เสียหายเพื่อ เป็นค่าเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ชุดจับกุมได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี รับไว้ดำเนินคดีต่อไป

ขณะที่ นายนิติชัย กล่าวว่า หลังจากทางกรมการจัดหางานได้รับการร้องทุกข์จากผู้เสียหายรายหนึ่งทราบว่า ผู้เสียหายต้องนำที่นาไปจำนอง เพื่อนำเงิน 3 แสนบาทไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ แต่กลับถูกกลุ่มผู้ต้องหาหลอกลวง ซึ่งตนอยากฝากเตือนผู้ที่กำลังหางานว่าสำหรับกรณีของประเทศเกาหลีใต้ นั้น มีการทำข้อตกลงกับประเทศไทยในกรณีการส่งแรงงานไปทำงานโดยจะดำเนินการระหว่าง รัฐต่อรัฐเท่านั้น ไม่มีการจัดหางานจากบริษัทเอกชนจึงอย่าหลงเชื่อหากมีนายหน้ามาชักชวนแนะนำ และหากไม่มั่นใจในข้อมูลต่างๆ ขอให้สอบถามมายังกรมการจัดหางานโดยตรง

(โพสต์ทูเดย์, 8-10-2553)

รมต.แรงงานแถลงขยายสิทธิ์ประกันสังคม

8 ต.ค. 53 - สำนักงานประกันสังคม ขยายสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนใน 6 เรื่อง คาดเริ่มต้นใช้สิทธิ์ได้ปีใหม่นี้ และเตรียมเสนอแก้ไข ให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล โดยที่ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินจของตนเอง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส.เตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนใน 6 เรื่อง ประกอบด้วย 1.เพิ่มค่าคลอดบุตรจากครั้งละ 12,000 บาท เป็น 13,000 บาท 2.เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากรายละ 350 บาท เป็น 400 บาท 3.เพิ่มค่าทันตกรรมจากครั้งละไม่เกิน 250 บาท ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 500 บาท เป็นครั้งละ 300 บาท หรือปีละไม่เกิน 600 บาท 4.เพิ่มสิทธิในการให้บริการใส่รากฟันเทียม 5.เพิ่มสิทธิในรักษากรณีโรคจิต และ 6.เพิ่มค่ารักษากรณีทุพพลภาพจากเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท เป็น 4,000 บาท โดยคาดว่าผู้ประกันตนจะเริ่มใช้สิทธิ์ทั้ง 6 ข้อได้ตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นไป

และสำนักงานประกันสังคม ยังได้เตรียมขยายสิทธิ์การเข้ารับการรักษาของผู้ประกันตน ให้สามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลจากเดิมที่ต้องเลือกโรงพยาบาลที่เข้า รักษาเพียงแห่งเดียว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแก้ไข และทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลต่างๆ คาดว่าน่าจะเริ่มใช้สิทธิ์นี้ได้ในต้นปีหน้าช่วงเดือน มีนาคม

นอกจากนั้น กระทรวงแรงงานก็กำลังเร่งผลักดันให้ผู้ประกันตนที่เข้ารักษา ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินสำรองของตนเองไปก่อนในทุกกรณี ซึ่งคาดว่าโครงการนี้น่าจะเริ่มปฏิบัติได้จริง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2554 นี้เช่นกัน

(ครอบครัวข่าว, 8-10-2553)

รมว.แรงงาน แจงไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าจ้าง 250 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

8 ต.ค. 53 - รมว.แรงงาน ยืนยันการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ 11 ต.ค.นี้ ยึดหลักสอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ เผยให้ ก.คลัง ดูมาตรการภาษีช่วยนายจ้าง พร้อมแจงไม่จำเป็นต้องได้ค่าจ้าง 250 บาท เท่ากันทั่วประเทศ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคมนี้ว่า คณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จะมีการพิจารณาโดยยึดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงกรอบที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอให้ทบทวนการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลัง 2 ปี ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังสั่งการให้สำนักเศรษฐกิจการคลัง พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านภาษี อาทิ ภาษีเงินได้ ภาษีเครื่องจักร ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดมาตรการ โดยจากการหารือกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับการยืนยันว่าอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งข้อสรุปทั้งหมดจะต้องทันประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน

นายเฉลิมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ใช้แรงงานได้คาดหวังกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปีนี้ว่า ต้องได้ 250 บาท ตามที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า อัตราดังกล่าวเป็นเพียงการอนุมานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งสิ่งที่ต้องการสื่อคือ การปรับค่าจ้างวันนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นค่าจ้างของข้าราชการ และต้องการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งผู้ใช้แรงงาน ส่วนสาเหตุที่มีมาตรการด้านภาษีเข้ามาช่วยผู้ประกอบการนั้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องการให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาในอัตราที่สูงขึ้น แต่ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้บอกว่า ต้องได้วันละ 250 บาททั่วประเทศ

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนอัตราที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลขการขอปรับเพิ่มค่าจ้าง ตั้งแต่ 2 -10 บาทนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับรายงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำออกมาไม่ตรงตามที่ผู้ใช้แรงงานคาดหวังไว้ กระทรวงแรงงานก็มีหน้าที่ในการทำความเข้าใจกับผู้ใช้แรงงาน โดยยึดหลักความจริง ส่วนอัตราที่เสนอมาในบางจังหวัดเสนอมาเพียง 2 บาท ซึ่งไม่ตรงกับนโยบายการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดนั้น ต้องเรียนถามจากนายกรัฐมนตรี

 (สำนักข่าวไทย, 9-10-2553)

"มนัส โกศล" เรียกร้องขึ้นค่าจ้าง เพิ่ม 10 บาท

9 ต.ค. 53 - นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย  เปิดเผยระหว่างการสัมมนาปฏิรูป พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ว่า ในการหารือครั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุป 3 ประเด็น คือ 1. เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ขณะที่นายกรัฐมนตรีมีข้อเสนอให้ค่าจ้างแรงานขั้นต่ำ อยู่ที่ 250 บาท ซึ่งในข้อเสนอเดิมขององค์กรแรงงาน อยากให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 10 บาท ใน 3 โซน ทั่วประเทศ  2. เรื่องกองทุนประกันสังคมที่ขณะนี้มีเงินกว่า 700,000 ล้านบาท แต่ลูกจ้างแรงงานกลับไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าที่ควร จึงเสนอขยายสิทธิประโยชน์  2 ข้อ คือ เพิ่มวงเงินคลอดบุตร เป็น 15,000 บาท และเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรแรกเกิด ถึง6 ปี ขยายเป็นแรกเกิดถึง 12 ปี โดยรับเงินคนละ 400 บาต่อเดือน 3. เสนอปรับปรุงร่างกฎหมายให้เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน 

นายมนัส ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติม 2551 ว่าด้วยการจ้างแรงงานตามมาตรฐานสาขาอาชีพ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรรับในหลักการแล้วว่า ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เช่น พนักงานทอผ้าที่มีประสบการณ์ 10 ปี ควรได้รับค่าจ้างเพิ่ม นอกจากนี้ ควรพิจารณารวมกฎหมาย พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เข้ากับ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้เป็นหนึ่งเดียว  เนื่องจากกฎหมาย 2 ฉบับได้แยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากภาคเอกชน การต่อรองจึงไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคมจะนำเรื่องทั้งหมดเสนอต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน เชื่อว่าปลัดกระทรวงแรงงาน จะมีความเข้าใจในข้อเรียกร้องเรื่องประกันสังคม เนื่องจากเป็นแพทย์ และทำงานในระบบประกันสังคมมาก่อน

(สำนักข่าวไทย, 9-10-2553)

เตือนเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเสี่ยงผู้ประกอบการลดจ้างงาน

9 ต.ค. 53 - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกรายงานวิเคราะห์ เรื่องหากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาททั่วประเทศ: จังหวัดใดได้รับผลกระทบมากที่สุด? โดยระบุว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันทั่วประเทศส่งผลให้ค่าจ้างขึ้นต่ำเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัดไม่เท่า กัน โดยผู้ประกอบการ และลูกจ้างในจังหวัดที่เดิมมีค่าแรงขั้นต่ำในระดับต่ำจะได้รับผลกระทบมากที่ สุด

รายงานระบุว่า โครงสร้างของค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันที่ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด เมื่อมีการกำหนดให้ทุกจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันหมดทั้งประเทศ ทำให้เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเดิม บางจังหวัดจะมีการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำภายใต้ข้อเสนอใหม่นี้ถึง 66% เช่น แม่ฮ่องสอน และบางจังหวัดเพิ่มขึ้นเพียง 21% เช่น กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ จังหวัดค่าจ้างเฉลี่ยสูงได้รับผลกระทบน้อย โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาวะการทำงานของประชากร (Labor force survey: LFS) ไตรมาสแรกของปี 2010 พบว่ามี 4 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และภูเก็ต ที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันสูงกว่า 250 บาทอยู่แล้ว

ดังนั้นด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าค่าแรง ขั้นต่ำที่เสนอใหม่อยู่แล้วทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดเหล่านี้จะได้รับผล กระทบจากข้อเสนอนี้ค่อนข้างน้อย

ขณะที่ ผลกระทบหนักตกอยู่กับผู้ประกอบการในจังหวัดที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำ ผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในจังหวัดที่เดิมมีค่าจ้างขั้น ต่ำในระดับต่ำซึ่งมักเป็นจังหวัดที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำด้วย เนื่องจากจะมีต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นอย่างมาก เช่น แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ และพะเยา โดย ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้กับลูกจ้างเพิ่มถึงเกือบ 100 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดการจ้างงานลง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกจ้างในจังหวัด

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้มี การหลีกเลี่ยงจ่ายค่าแรงขั้นต่ำมากขี้น โดยข้อมูลภาวะการทำงานของประชากร พบว่า การบังคับใช้กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำยังมีจำกัด โดยจาก 76 จังหวัด มีถึง 39 จังหวัดที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันดังนั้นหากมี การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจริง แนวโน้มการหลีกเลี่ยงจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ ก็น่าจะมีมากขึ้นไปอีก

ในรายงานดังกล่าวได้ระบุข้อเสนอด้วย ว่า การเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้นมีความจำเป็น แต่ควรทำผ่านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนโดยเฉพาะในคน

(โพสต์ทูเดย์, 9-10-2553)

ตร.สงขลาจับ 24 แรงงานพม่ากลางคอนเสิร์ต

ตำรวจชุดสืบสวนตำรวจภูธร จังหวัดสงขลา เข้าจับกุมแรงงานต่างด้าว ชาวพม่าจำนวน 24 คน เป็นชาย 23 คน หญิง 1 คน ซึ่งหลบหนีเข้าเมือง กลางงานคอนเสิร์ตของศิลปินชาวพม่า ซึ่งจัดขึ้นที่หน้าเทศบาลตำบลบ้านไร่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีศิลปิน และนัดดนตรีชาวพม่า มาร่วมแสดงอีก 2 คน และจากการตรวจสอบพบว่ามีน.ส.ตูม ไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้จัดงาน แต่มีการขออนุญาต จากกระทรวงแรงงานถูกต้อง ในการนำนักดนตรีเข้าแสดง รวมทั้งมีใบอนุญาตในการเปิดการแสดง จากที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ แต่ส่วนหนึ่งของแรงงานชาวพม่าที่มารอชมคอนเสิร์ต เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ซึ่งควบคุมตัวทั้งหมด ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าว โดยเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต

(ไอเอ็นเอ็น, 10-10-2553)

เมียเหยื่อแรงงาน'ลิเบีย'สุดลำเค็ญขาดเสาหลัก-ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก

เรื่องราวชีวิตลำเค็ญของครอบครัวแรง งานไทยที่ไปทำงานในประเทศลิเบียยังคงถูกตีแผ่ เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือต่อไป ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ต.ค.53 นางบุญรอดรัตนนท์ อายุ 35 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ ภรรยาของนายสมศักดิ์ เพชรสังหาร แรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศลิเบีย เปิดเผยกับ"นสพ.สยามรัฐ" ว่า ขณะนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวตนลำบากยากเข็ญมากเพราะมีตนคนเดียว เลี้ยงลูกน้อยอายุแค่2 ปี 8 เดือน ทั้งยังไม่มีรายได้อะไร มีอาชีพทำนาทำไร่ เงินซื้อขนมซื้อนมให้ลูกกินก็ไม่มีอัตคัดขัดสน ต้องบากหน้าขอยืมเงินญาติพี่น้องไปเรื่อยๆ เพื่อประทังชีวิตรอดไปวันๆ

"สามีคือ นายสมศักดิ์ เพชรสังหารเดินทางไปทำงานลิเบียผ่านบริษัทจัดหางาน ไทยพัฒนาเวิลด์ไวด์ จำกัด ไปทำกับนายจ้างบริษัท ARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE ได้รับความทุกข์ยากลำบาก เงินเดือนได้ไม่ครบ ไม่ตรงเวลา ไม่มีค่าล่วงเวลา กินอยู่อดๆอยากๆ เงินเดือนถูกหักโดยนายจ้างอ้างว่าหักเป็นค่าอาหารการกินและที่พักอาศัย บางครั้งเงินเดือนก็ไม่ได้รับ จึงอยากเดินทางกลับบ้านใจจะขาด แต่นายจ้างไม่ยอมส่งกลับตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค.มาแล้ว บอกจะได้กลับเดือนนั้นเดือนนี้ วันนั้นวันนี้ ก็ไม่ได้กลับเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมาตลอด" ภรรยาแรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากที่ลิเบียกล่าวอย่างน่าเวทนาอีกว่า ขอวิงวอนให้รัฐบาลหรือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้สามีเดินทางกลับประเทศด้วยโดยล่าสุดบอกว่าจะได้ กลับวันที่ 2 ต.ค. ก็ไม่กลับมา เลื่อนมาเป็นวันที่ 7 ต.ค. ก็ไม่มีการเดินทางกลับ

นางบุญรอดกล่าวอีกว่า ตนได้โทรศัพท์ติดต่อกับสามีมาตลอด แต่ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ไม่ได้รับการติดต่อจากสามีเลยโทรศัพท์ไปก็ไม่ติด ไม่มีการโทรศัพท์กลับมาจึงไม่รู้ว่าเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไร ทำให้ทุกวันนี้กลุ้มใจมาก นอนก็ไม่หลับ ดูแลลูกก็ลำบาก ห่วงสามีหนักเข้าไปอีก อยากให้เขาเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยของเราดีกว่า แม้จะไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็พออยู่ได้ไปวันๆ อยู่กันพร้อมหน้าพ่อ แม่ ลูก ยังดีกว่า

"เคยโทรศัพท์ไปสอบถามและติดตาม เรื่องของสามีกับบริษัท ไทยพัฒนาฯ ก็ถูกโยกโย้ รับสายบ้างไม่รับสายบ้าง ไม่มีคำตอบตอบก็ไม่ตรงคำถาม เลี่ยงไปเรื่อยว่าให้รอไปก่อนๆ หนักเข้าๆ ก็ไม่รับโทรศัพท์" ภรรยาแรงงานไทย กล่าว

(สยามรัฐ, 10-10-2553)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net