Skip to main content
sharethis
ที่ประชุมวุฒิสภาไฟเขียว “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล” นั่งประธานศาลปกครองสูงสุด ด้าน เรืองไกร ท้วง ส.ว.โหวตรับร่างงบ 54 ส่อขัดรัฐธรรมนูญ เหตุสอดไส้ขึ้นเงินเดือน ส.ส.-ส.ว.ส่วนคำนูญ เสนอ อภิสิทธิ์ รื้อระบบกฤษฎีกา เหตุทำสังคมสับสนว่าเป็นองค์กรชี้ขาด
 
วานนี้ (30 ส.ค.53) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภามีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระการให้ความเห็นชอบตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด หลังคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ได้รายงานผลการตรวจสอบ โดยใช้เวลาประชุมลับประมาณ 20 นาที 
 
ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 106 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด แทนนายอักขราทร จุฬารัตน์ ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งอายุครบ 70 ปี และจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีมติ 113 ต่อ 1เสียง เห็นชอบให้นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ และ 108 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบนางมณีวรรณ พรหมน้อย ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดแทนตำแหน่งที่ว่าง 
 
สำหรับนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ อายุ 62 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นปี 2511 เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และดอกเตอร์ทางด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย
 
 
คำนูญ เสนอ อภิสิทธิ์ รื้อระบบกฤษฎีกา เหตุทำสังคมสับสนว่าเป็นองค์กรชี้ขาด
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด มีส.ว.จำนวนหนึ่งได้ขอหารือกับที่ประชุมวุฒิสภาและอภิปรายตำหนิการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในหลายเรื่อง โดย นายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ผ่านมาโดยเฉพาะคณะที่ 2 ทำให้สังคมมีความเข้าใจผิดว่ากฤษฎีกาเป็นหน่วยงานที่ให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นที่สุดแล้ว ทั้งๆที่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเพราะกฤษฎีกามีหน้าที่ให้แค่ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาด
 
นายคำนูญ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตำแหน่งควรหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับระบบทำงานของคณะ กรรมการกฤษฎีกา ปรับระเบียบวิธีการรับเรื่องวินิจฉัย ที่สำคัญที่สุดปรับระบบการแถลงข่าว หรือการนำปัญญาไปสู่ประชาชน และท้ายที่สุดอาจปรับที่มาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะ
 
 
เรืองไกร ท้วง ส.ว.โหวตรับร่างงบ 54 ส่อขัดรัฐธรรมนูญ เหตุสอดไส้ขึ้นเงินเดือน ส.ส.-ส.ว.
 
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะส.ว.สรรหา ได้หารือต่อที่ประชุมวุฒิสภา กรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ที่มีกระแสข่าวว่ามีการซุกการขึ้นเงินเดือน ส.ส., ส.ว.ไว้ด้วยว่า เห็นว่าหาก ส.ส., ส.ว.ไปโหวตรับ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 168 เพราะขนาดรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ยังระบุว่าโหวตไม่ได้ เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 177 วรรคสอง เนื่องจากมีส่วนได้เสีย และหากเทียบเคียงเรื่องนี้กับการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ส., ส.ว. ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ตอนนี้เรื่องก็อยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป. ช.) และหากย้อนไปดูกรณีกรรมการ ป.ป.ช.ชุดหนึ่ง เคยมีมติขึ้นค่าตอบแทนของตนเอง จนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยว่าทำผิดกฎหมาย 
 
"ดังนั้นการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 54 ส.ว.ก็ต้องเลือกเอาว่าหากโหวตรับร่างก็อาจถูกร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.ได้" นายเรืองไกร กล่าว
 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, Voice TV

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net