Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้การวางผังเมืองแบบที่ไม่ให้ชุมชนไปมีส่วนร่วม ทำสังคมอยู่ไม่เป็นสุข ด้าน ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เผยคณะปฏิรูปฯ ชุดนายอานันท์เน้นเรื่องที่ดินก่อนเรื่องอื่นๆ ขณะที่ กทม.เดินหน้าเวนคืนป้อมมหากาฬ ทวงคืนที่ดิน 5 ไร่ ชดเชย 70 ล้านบาท เนรมิตสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ

 
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.53 เครือข่ายสลัม 4 ภาค สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และชุมชนแออัดที่มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะเรื่อง "จะปฏิรูปประเทศไทยประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาท้องถิ่น" เพื่อติดตามและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร ที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ก่อนรวบรวมเสนอต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทางผู้จัดงานได้ส่งจดหมายเชิญผู้ว่าฯ กทม.รวมทั้งเชิญตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเข้าร่วมเวทีด้วย
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า นางประทิน เวคะวากยานนท์ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยในเวทีพูดคุยว่า พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ที่แก้ไขตั้งแต่ปี 2550 ก่อให้เกิดปัญหาคาราคาซังมานาน แม้พี่น้องชุมชนต่างๆ จะร่วมกันผลักดันให้ร่นพื้นที่จากรั้วเข้ามาตัวบ้านให้ขยายกว้างขึ้น แต่การแก้ไขก็ไม่เป็นรูปธรรม สุดท้ายสร้างบ้านดีแค่ไหนก็ยังปลูกผิดกฎหมาย ขณะนี้ยังหวังกฎกระทรวงที่จะมาใช้ระหว่างรอ พ.ร.บ. แต่ดูเหมือนกระทรวงมหาดไทยไม่สนใจประกาศใช้จนล่วงเลยมากว่า 1 เดือน หากภายใน 2 สัปดาห์ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เครือข่ายจะไปถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยตรง
 
นายบุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ปัญหาที่ยืดเยื้อ เนื่องจากฝ่ายการเมืองขาดความชัดเจนในการบริหารว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนอยู่ได้ แต่กลับใช้วิธีซื้อเวลาตั้งคณะกรรมการต่างๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ดำเนินการ เช่น ปัญหา พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ที่คนมีที่ดินหน้ากว้าง 4 เมตร แต่ปักเสากินพื้นที่แล้ว 2 เมตร แบบนี้ต้องแก้กฎหมายให้ผ่อนปรนด้วย การวางผังเมืองแบบที่ไม่ให้ชุมชนไปมีส่วนร่วม จะทำให้สังคมอยู่อย่างไม่เป็นสุข
 
นายธวัชชัย วรมหาคุณ ผู้แทนชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ขอเสนอ กทม.ให้ปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกาเวนคืนชุมชนป้อมฯ ให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ดูแลสวนสาธารณะ เนื่องจากเป็นชุมชนใกล้เคียง
 
ขณะที่ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ กรรมการปฏิรูป กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยโดยประชาชนมีส่วนร่วมว่า ปัญหาในประเทศไทยรุนแรงมาก และคณะปฏิรูปฯ ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เน้นเรื่องที่ดินก่อนเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินในชนบทหรือในเมืองโดยเฉพาะกรณีถูกฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เสนอให้กรุงเทพมหานครจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนใน กทม.โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานและมีชาวชุมชนร่วมเป็นกรรมการ ภายหลังการจัดตั้งคณะกรรมการตั้งวันที่ 19 ม.ค.2553  มีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยมาร่วมประชุม นอกจากนี้ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาก็ยังไม่เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการหยุดไล่รื้อชุมชนในที่สาธารณะและเร่งออกโฉนดชุมชนตามนโยบายรัฐบาล, การผ่อนปรน พ.ร.บ.ควบคุมอาคารในโครงการบ้านมั่นคง, การชะลอการดำเนินคดีกับชาวชุมชน, การมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาเมืองของชุมชน รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับคนไร้บ้าน
 
ทุบทิ้ง 65 หลังคาเรือน 'ป้อมมหากาฬ'
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ กทม.เตรียม เข้ารื้อย้าย อาคารบ้านเรือนซึ่งเป็นชุมชนอยู่อาศัยบริเวณป้อมมหากาฬ บนที่ดินของ กทม.ย่านถนนราชดำเนิน ที่เหลือ จำนวน 65 หลังคาเรือน เพื่อนำที่ดินจำนวน 5 ไร่ มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สำคัญ ถนนราชดำเนิน และพื้นที่ใกล้เคียง บริเวณป้อมมหากาฬ เป็นเขตโบราณสถาน ซึ่งจะต้องปรับทัศนียภาพให้อยู่ในสภาพที่ดีและสวยงาม โดยจะเริ่มเปิดเวที ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และสมาชิกประชาชนสลัม4ภาค เพื่อหาข้อยุติ พร้อมทั้งจัดหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้ชาวบ้าน ใกล้แหล่งงานที่สะดวกสบายบริเวณย่านดังกล่าว
 
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา ที่ดินแปลงดังกล่าวบริเวณป้อมมหากาฬ เมื่อปี 2503 หรือ 50 ปีก่อน ได้มีแผนพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ แต่ยังไม่ทันดำเนินการ ได้มีชาวบ้านทยอยบุกรุกจนกลายเป็นชุมชนเต็มพื้นที่ จำนวน 102 หลังคาเรือน แต่ กทม.ได้เจรจากับชาวบ้านเพื่อขอพื้นที่คืนมาโดยตลอด โดยใช้วิธีประนีประนอมแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาในปี 2535 กทม.ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและชดเชยกรรมสิทธิ์ให้ ซึ่งมีชาวบ้านครึ่งหนึ่งยอมรื้อย้ายออก และคืนพื้นที่ 2 ไร่ ให้ กทม.
 
ส่วนที่เหลืออีก 65 หลังคาเรือนไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ และที่ผ่านมา ได้มีการเจรจากันอย่างต่อเนื่อง และ ล่าสุด กทม.ขีดเส้นที่จะขอพื้นที่คืน โดยมีมติเข้ารื้อย้ายทันที เพราะ ได้ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและมีงบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยจำนวน 60-70 ล้านบาท เพื่อขอคืนพื้นที่ที่เหลือ อีก เกือบ 3 ไร่ คืน เพื่อนำไปพัฒนาสวนสาธารณะดังกล่าวต่อไป
 
"กทม.ซื้อที่ดินมา สมัย ปี 2503 เพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ กว่า 50ปีหรือครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ชาวบ้านบุกรุกกลายเป็นชุมชนใหญ่ นับ100 หลังคาเรือน มีชาวบ้านอยู่อาศัย ไม่ต่ำกว่า 400-500คน และไม่ยอมรื้อย้าย หากวันที่ 15 สิงหาคม ยังไม่ได้ข้อยุติ กทม.จะ เข้ารื้ออาคารสิ่งปลูกสร้างทันที" 
 
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net