Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์พิเศษ “นางละออ ชาญกาญจน์” หรือ “ป้าแต๋ว” ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟสงขลา ในนามตัวแทนผู้ร่วมขบวนการแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกบนที่ดินรถไฟ กับความหวั่นวิตกกับทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่อาจมาถึงไม่กี่วัน พวกเขาจะทำอย่างไร เมื่อถึงคราวต้องหลีกทางให้ทั้งสองโครงการใหญ่และยาว

หากพูดถึงมหาโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันหมายมั่นปั้นมือมาก คงไม่พ้นโครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศมูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท กับโครงการรถไฟความเร็วสูงต้นทางจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะมาถึงในเร็ววัน และคงทำได้ไม่ยาก เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีที่ดินเป็นแสนไร่ทั่วประเทศ ไม่ต้องเวนคืน แต่ในที่ดินเหล่าเกือบจะหาที่ว่างไม่ได้แล้ว เพราะเต็มไปด้วยที่อยู่อาศัยของผู้บุกรุก โดยเฉพาะในเขตเมือง

การแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินรถไฟมีมาต่อเนื่องยาวนาน โครงการรถไฟรางคู่กับรถไฟความเร็วสูงอาจเป็นตัวเร่งให้ต้องกำจัดหรือหาทางออกให้ชุมชนเหล่านี้ ในมุมของผู้บุกรุกเองจะคิดอย่างไร พัฒนาการการต่อสู้เรื่องนี้ของพวกเขาเป็นอย่างไร

ต่อไปนี้ เป็นบทสัมภาษณ์ “นางละออ ชาญกาญจน์” หรือที่ใครๆ เรียกว่า “ป้าแต๋ว” ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟชุมชนกุโบร์ ชุมชนแออัดบนที่ดินรถไฟสายเก่า ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา ผู้ร่วมขบวนการแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟมาตลอดอย่างต่อเนื่องและกระฉับกระเฉง

เป็นบทสัมภาษณ์ในฐานะตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.) กรรมการกลั่นกรองโครงการภาคใต้ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)

..............................................

นางละออ ชาญกาญจน์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟชุมชนกุโบร์

-ที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมาอย่างไร

เริ่มแรกๆ เลย มีพื้นที่ว่างของทางรถไฟ ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย จึงเข้ามาทำมาหากิน เป็นคนต่างถิ่นต่างอำเภอ จากอำเภอระโนด จังหวัดสงขลาบ้าง จากจังหวัดนครศรีธรรมราชบ้าง จากพัทลุงบ้าง จากอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชบ้าง เข้ามาทำมาหากินในเมือง มาประกอบอาชีพในเมืองสงขลา ถ้าไปเช่าบ้านอยู่มันก็แพง เมื่อเห็นพื้นที่ว่างก็เลยปลูกบ้านหลังเล็กๆ อยู่กัน

จาก 20 ครอบครัว 30 ครัว มากขึ้นๆ จนเยอะอัดกันแน่น พอยิ่งแน่น คนที่มาใหม่ถึงกับขึ้นไปปลูกบ้านคร่อมทางรถไฟเก่า อยู่กันมาหลายปี

เริ่มจัดตั้งชุมชนเมื่อปี 2527 แสดงว่าต้องเข้ามาอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว สำหรับในเขตที่ดินรถไฟในอำเภอเมืองสงขลา สงขลาจัดตั้งชุมชนเมื่อปี2527 เมื่อก่อนเป็นเทศบาลเมืองสงขลา พอเริ่มแออัด รถไฟก็มาไล่ไม่ให้อยู่

แต่ก่อนปลูกบ้านห่างจากรางรถไฟ พอคนเข้ามาอยู่กันมากๆ ขึ้นถึงกับปลูกบ้านบนรางรถไฟบ้าง ข้างรางบ้าง คร่อมรางบ้าง ทางการรถไฟฯ ก็มาไล่ ทุบเสาบ้านบ้าง อะไรบ้าง ทีนี้ทำให้ชุมชนคิดกันว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เราถูกไล่อยู่แบบนี้ จึงคิดเรื่องที่อยู่อาศัยกัน

เริ่มแรกก็ตั้งกลุ่มอมทรัพย์กันก่อน เดือนละ 20 บาท บังคับให้ชำระคนละ 20 บาท ต่อเดือน ตั้งไปตั้งมากลุ่มนี้กลายเป็นเบี้ยขึ้นมา เติมโตมาพอสมควร ถึงกับปล่อยกู้ให้ได้คนละ 1,000 บาทบ้าง 2,000 บาทบ้าง

พอปล่อยกู้ได้ก็หันมาทำเรื่องที่อยู่อาศัยกัน ตอนนั้นมีเครือข่ายสลัม 4 ภาคเข้ามาทำงานร่วมกับชาวชุมชนอยู่แล้ว เขาชวนไปประท้วงกันกรุงเทพ เราก็ไปกันด้วย ไปเห็นว่าเขาไปต่อสู้เรื่องการขอเช่าที่ดินรถไฟ จึงได้ข้อมูลเรื่องการเช่าที่ดินรถไฟมา เราก็เอามาหารือในชุมชนและเริ่มขอเช่าบ้าง โดยทำเรื่องขอเช่ากันตั้งแต่ปี 2538

ปีนั้นเริ่มไปนอนหน้าทำเนียบรัฐบาล หน้ากระทรวงคมนาคมกันแล้ว เพื่อผลักดันเรื่องการต่อสู้และการเช่าที่ดินรถไฟ ได้ข่าวว่า ตอนนั้นชุมชนทับแก้วในกรุงเทพมหานครเริ่มขอเช่าและได้เช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย

จากนั้น เราก็ขอเช่าบ้าง เราก็เช่าได้ ตอนนั้นชุมชนกุโบร์ ชุมชนร่วมใจ ชุมชนเขารูปช้าง ชุมชนหัวป้อม ในเขตอำเภอเมืองสงขลา เดินเรื่องขอเช่าที่รถไฟกัน ถึงปี 2547 การรถไฟแห่งประเทศไทยก็อนุมัติให้เช่าได้ โดยให้ พอช.เช่า แล้วชุมชนเช้าจากพอช.อีกที

ก่อนนั้นเมื่อปี 2546 พอช.ยังเป็น พชม. พอเป็น พอช.ก็ได้เข้ามาทำงานเรื่องที่อยู่อาศัย ชุมชนที่เคยทำงานร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ก็ย้ายมาอยู่กับ พอช.เพราะ พอช.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาตรงนี้

-พชม.ชื่อเต็มชื่ออะไร

คือ กองทุนพัฒนาชุมชนเมือง ซึ่ง พชม. กับ พอช.คือองค์กรเดียวกัน เมื่อชุมชนมาอยู่กับ พอช. ก็มีเจ้าหน้าที่พอช.ลงไปช่วยสร้างความเข้าใจในการจัดกระบวนการเพื่อเข้าสู่โครงการบ้านมั่นคง ของพอช.

พอปี 2547 การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ให้เช่า ซึ่งตอนนั้นชุมชนหัวป้อมได้เช่า แต่ชุมชนกุโบร์ไม่ขอเช่า เหตุที่ไม่เช่าเพราะตอนนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เช่าตารางเมตรละ 20บาท และขึ้นค่าเช่า 5% ทุกปี ซึ่งชุมชนกุโบร์ไมเห็นด้วย เพราะการขึ้น 5% ทุกปีนั้น มันมากกับชาวบ้าน ซึ่งรับไม่ไหว แค่เริ่มต้นเช่า 20 บาทก็รับไม่ไหวแล้ว

- 20 บาทต่ออะไร

20 บาทต่อ 1 ตารางเมตรต่อปีค่ะ ชุมชนกุโบร์เลยไม่เช่า แต่ชุมชนหัวป้อมเช่า เป็นชุมชนนำร่องโดยได้รับงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคจาก พอช. 65,000 ต่อครัวเรือน ทำน้ำประปา

ตอนนั้นชุมชนเก้าเส้งในเขตเทศบาลนครสงขลาก็ได้เช่าเหมือนกัน เป็นการเช่าจากกรมธนารักษ์ เพราะเป็นที่ดินราชพัสดุ สัญญาเช่าระยะ 30ปีเหมือนกัน แต่ค่าเช่าต่อตารางเมตรถูกกว่ามาก ตารางวาละ 1 บาท

ค่าเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์กับค่าเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่างกันเกือบ 80 บาท เพราะกรมธนารักษ์คิดค่าเช่า 1 บาทต่อตารางวาต่อปี แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยคิดค่าเช่า 20 บาท ต่อตารางเมตรต่อปี

ทีนี้ชุมชนกุโบร์ก็ไม่ยอม จึงเดินหน้าต่อสู้มาเรื่อยๆ พอมาปี 2551 ชุมชนกูโบร์เริ่มได้รับงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคจากพอช.ด้วย โดยร่วมกับชุมชนศาลาหัวยาง ชุมชนภาราดร ชุมชนที่ทุ่งลุง ชุมชนบ้านสำโรง ชุมชนเขารูปช้าง ชุมชนบอนไก่ ชุมชนบอนวัว ยื่นเสนอของบจากพอช.ตอนนั้นได้รับงบ 9 ชุมชน จำนวน 97 ล้านบาท

พอวันที่ 20 สิงหาคม ปี 2551 เพราะป้าแต๋วเป็นกรรมการกั่นกรองโครงการ ของ พอช. และเป็นผู้เสนอโครงการนี้ เพราะคนมาจากผู้เดือดร้อน

แม้ทั้ง 9 ชุมชนได้รับงบประมาณมาแล้ว แต่ก็ยังเช่าที่ดินรถไฟไม่ได้ จึงต้องต่อสู้เรียกร้องมาเรื่อยๆ เพื่อให้ได้เช่า จนถึงปี 2552 จึงได้เช่าตั้งแต่เดือนกันยายน วันที่ 1 กันยายน 2551 สัญญาเช่า 30 ปี ค่าเช่า 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี แต่ต่อรองเหลือการขึ้นค่าเช่าได้ 1% ต่อปี ต่างจากชุมชนหัวป้อมที่ต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มปีละ 5% เมื่อเป็นเช่นนั้น ชุมชนหัวป้อมทำหนังสือขอใช้เกณฑ์นี้บ้าง ซึ่งก็ได้

ในครั้งนั้นได้เช่า 5 ชุมชน จากที่ยื่นขอ 9 ชุมชน ชุมชนที่ไม่ได้เช่าเพราะไม่มีความพร้อม หมายถึงกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงไม่กล้าให้เช่ามา เพราะรถไฟแห่งประเทศไทยจะให้เช่าเป็นแปลงใหญ่ ไม่ให้เช่าเป็นรายคน มีเงื่อนไขที่ต้องพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย

การรถไฟแห่งประเทศไทยให้เช่าห่างจากรางรถไฟ 20 เมตร แต่ที่อำเภอเมืองสงขลา ให้ห่างจากราง 5 เมตรเท่านั้น เพราะเส้นทางสายนี้ รถไฟไม่ได้วิ่งแล้ว

-วิธีการเช่าเป็นอย่างไร

พอช. เป็นผู้เช่าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน จะมาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้ เพราะกลุ่มออมทรัพย์ไม่ได้เป็นนิติบุคคล แล้วให้กลุ่มออมทรัพย์มาเช่ากับ พอช. จากนั้นให้สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์มาเช่าช่วงต่อจากกลุ่มออมทรัพย์อีกที เป็นการเช่าถึง 3 ช่วงด้วยกัน

สมาชิกที่เช่าที่กับกลุ่มออมทรัพย์ สามารถนำสัญญาเช่านั้นไปขอน้ำขอไฟไฟอยู่ถาวรได้ เพราะเป็นสัญญาเช่าที่ถูกต้อง และคนที่อยู่ห่างจากรางรถไฟ 5 เมตรได้เช่าทุกคน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน 5 ปี

ส่วนคนที่อยู่ในระยะ 5 เมตรจากรางรถไฟ หรือปลูกบ้านคร่อมรางรถไฟจะต้องรื้อออกภายใน 2 ปีเช่นกัน แต่การรื้อออกตรงนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยมีสถานที่รองรับไว้อีกที่หนึ่งให้คนที่ต้องการไปอยู่ที่นั่น อยู่แถวบ้านเขาแก้ว ตำบลเขารู้ช้าง อำเภอเมืองสงขลา เป็นที่ดินรถไฟเช่นกัน เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่

 

-พวกที่อยู่ในเขตห้ามเช่ามีทั้งหมดกี่ราย

ทั้งหมด 323 ราย จาก 8 คือ ชุมชนบ่อนวัว ชุมชนร่วมใจ ชุมชนหัวป้อม ชุมชนกุโบร์ ชุมชนสมหวัง ชุมชนมิตรเมืองลุง ชุมชนภาราดรและชุมชนพาณิชย์สำโรง ที่ต้องไปอยู่ที่นั่น

-แต่ทางรถไฟสายนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีแผนที่จะฟื้นอีกครั้ง

เราก็เห็นแล้วว่าเขาจะเปิดให้วิ่งอีกครั้ง แต่เป็นรถไฟดีเซลราง

-จะย้ายไปได้ทั้งหมดหรือไม่ ภายใน 2 ปีนี้

ตอนที่เราทำสัญญาเช่า เรารับปากกับการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า จะหมด แต่ตอนนี้ผ่านมา 1 ปี 3 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ย้ายออกไปซักครัวเรือน

เหตุที่ยังไม่ย้ายออกไปอยู่ในพื้นที่รองรับ เพราะเรายังยื่นขอเช่าพื้นที่รองรับนั้นไม่ได้ เพราะว่ากระบวนการของเรายังไม่พร้อม ตอนนี้กำลังทำผังกันอยู่ค่ะ คือผังพังใหม่ที่เราจะเข้าไปอยู่ และจะพัฒนาอย่างไร ต้องทำให้เห็นว่า เราจะมีคูระบายน้ำ มีถนนอย่างไร

ตอนนี้กำลังทำควบคู่กับทำโครงสร้างการพัฒนาสาธารณูปโภคชุมชนให้กับ พอช. เพื่อให้เห็นสิ่งที่เราต้องการได้ จะได้งบมาต้องช่วยเหลือเรื่องไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง

ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่เลื่อนไปเดือนมกราคม 2554 ซึ่งคณะกรรมการจะต้องลงพื้นที่พร้อมกับ พอช.สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ หรือ สอช. และตัวแทนชาวบ้านที่จะลงพื้นที่ด้วยกัน

-ในส่วนความพร้อมของสมาชิกในชุมชน

ในการขอเช่าที่ดินรถไฟมีข้อติดขัดอยู่ว่า ทุกพื้นที่ไม่มีสมาชิกหรือชาวบ้านที่ต้องการเช่าเต็มร้อยเพราะบางคนอยู่มาหลายสิบปีแล้ว ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าซักบาท อยู่ๆ เราก็ไปทำเรื่องเช่า ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ เขาถามว่าทำไมต้องเช่าให้เสียเงิน ทำไมต้องไปขุดไปตีรังมด ให้มดมันตื่นอะไรประมาณนี้

เขาบอกว่า เราอยู่เฉยๆ มาตั้งนานแล้ว ไม่ต้องเสียเงิน ทำไมต้องมาเสียเงิน บางหลังก็เสียค่าเช่า 3,000 บาท บางหลังเสีย 2,000 บาทกว่า เพราะมีพื้นที่หลายตารางเมตร ซึ่งคนมาก่อนได้จองพื้นที่ให้มากๆไว้ ซึ่งจริงๆแล้วการรถไฟแห่งประเทศไทยจะไม่ให้ใช้พื้นที่มากๆ โดยกฎระเบียบของเขา แต่สภาพความเป็นจริง ชาวบ้านเขามาอยู่ก่อนจะมีระเบียบออกมา

ชาวบ้านมีการครอบครองพื้นที่ มีการปลูกบ้าน จึงไม่มีใครยอมทิ้งบ้านที่ปลูกแล้วหรอก แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าเช่า แม้ค่าเช่าตารางเมตรละแค่ 20 บาท แต่บางหลังต้องจ่ายเยอะ เนื่องจากครอบครองพื้นที่ไว้เยอะ บางหลัง 3,000 กว่าบาท แต่บางหลัง 600 กว่าบาทต่อปี

คนที่ลำบากซักนิดก็ปลูกบ้านหลังเล็กๆ ให้พออยู่ได้และทำมาหากินได้ แต่บางหลังมีตังค์ก็ยังอยู่ แม้มีกำลังซื้อที่ดินที่มีโฉนดเป็นของตัวเองได้ เพราะพื้นที่รถไฟอยู่ในตลาด อยู่ในเมือง เป็นทำเลที่ขายของได้ ทำประโยชน์ได้

-หลังจากได้เช่าแล้วเป็นอย่างไร

หลังจากได้เช่าแล้ว ก็มีปัญหาเกิดขึ้นในชุมชน เช่น เรื่องงบประมาณต่างๆ ที่ลงมาในชุมชน แม้แต่เรื่องการเช่าที่ก็ยังมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน เพราะบางคนอยากเช่าบางคนก็ไม่ต้องการ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด ที่เห็นชัดเจนคือการที่ พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมบ้านให้ดูดีขึ้น หลังละ 20,000 บาทโดยหลักการ แต่ให้ชุมชนต้องไปบริหารกันเองโดยกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน

เมื่อมีการเช่าแล้วก็ต้องมีเรื่องสวัสดิการตามมา โดยให้ตั้งกองทุนสวัสดิการ กลุ่มสัจจะวันละบาท ทำโครงการประกันสังคมดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งกลุ่มออมทรัพย์ต้องมาวางระเบียบ ตามสภาพแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่ชาวบ้านคนไหนหัวหมอก็กฎระเบียบ บางพื้นที่มียาเสพย์ติดเยอะ มีคนว่างงานเยอะก็ต้องใช้กฎระเบียบอีกอย่าง

เรื่องสวัสดิการเราต้องมีทุกพื้นที่ ไม่เช่นนั้น ไม่รู้จะหาสิ่งใดไปจูงใจชาวบ้านให้มาเข้าร่วมในเรื่องการขอเช่าพื้นที่ ซึ่งก็ได้ผลดีตรงนี้ เพราะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาล การเสียชีวิตซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากกองทุน 2,500 บาท เป็นต้น

ทีแรกชาวบ้านไม่ยอมทำ เขาบอกว่าเสียเงินเปล่า แต่พอผ่านไป 180 วัน เงินกองทุนก็เริ่มนำมาจ่ายสวัสดิการ คนเจ็บป่วยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็จะได้ประกัน 500 บาท ชาวบ้านก็เลยตื่นตัวขึ้น

-มาถึงเรื่องการประชุมของแกนนำในแต่ละพื้นที่ร่วมกับ พอช.และสอช.เพื่อเตรียมรับทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะกระทบกับคนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ดินรถไฟ มีที่มาอย่างไร

ขณะนี้มีกระแสว่า รัฐบาลไปเซ็นต์สัญญากับต่างประเทศเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับรถไฟรางคู่ ทีนี้พี่น้องเราที่ไม่เข้ามาสู่กระบวนการประกันสังคมมีมากในหลายพื้นที่ในภาคใต้ ตอนนี้สำรวจทุกภาคแล้ว ภาคใต้ก็มีหลายจังหวัด ถามว่า ถ้ารถไฟรางคู่เข้ามาถึงแล้วค่อยทำ เราจะไม่ทันการ เราต้องไปอยู่ที่ไหนรถไฟไม่รับผิดชอบ

ทางสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ หรือ สอช.จึงทำเรื่องนี้ โดยรวบรวมข้อมูลส่งให้ พอช. เพื่อจะขอเช่าพื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยหารือร่วมกันทั่วประเทศ เพราะมีหลายองค์กรทั่วประเทศ ที่สังกัด สอช. ซึ่งป้าเองก็เป็นตัวแทนของ สอช.

สอช.เป็นผู้ผลักดัน เก็บรวบรวมข้อมูล หาข้อมูลต่างๆ เสนอให้ พอช. เมื่อมีข่าวรถไฟรางคู่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน เราต้องการให้รัฐบาลช่วยอะไร พอช.ช่วยอะไร ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยช่วยอะไร ก็มาวางแผนร่วมกัน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล

-สิ่งที่วิตกมากตอนนี้ก็คือทางรถไฟรางคู่ เพราะจะทำให้ต้องย้ายชุมชนแน่ๆ

ที่วิตกคือพี่น้องได้รับผลกระทบจากรถไฟรางคู่ เพราะบางคนอยู่ในที่ดินรถไฟมานาน ถ้าถูกไล่รื้ออะไรจะเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน พวกเขาจะมีที่ไปไหม จะทำอาชีพอะไร จะอยู่กินอย่างไร นี่จะเป็นผลกระทบสำหรับคนมีรายได้น้อย

สิ่งที่ สอช.ต้องการเรียกร้อง คือ รถไฟจะต้องหาที่รองรับให้พี่น้องที่จะได้รับผลกระทบเหล่านี้ ที่เราต้องสำรวจข้อมูล ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลมา จะได้รู้ว่า แต่ละภาค มีข้อมูลความเดือดร้อนเท่าใด

ในเมื่อเจ้าของเรื่องคือรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องช่วยเมื่อโครงการไปกระทบชาวบ้าน และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ในเมื่อคุณต้องการพื้นที่ของคุณคืนเพื่อผลประโยชน์ คุณก็จะได้ประโยชน์นั้น เมื่อคุณได้ประโยชน์แล้ว คุณจะช่วยเหลือชุมชนอย่างไร คุณต้องมีแผนให้เรา

ในส่วนของ พอช.มีสิ่งใดบ้างที่ พอช.สนับสนุนได้ เพื่อให้เข้าโครงการบ้านมั่นคง ทั้ง 3 หน่วยงานนี้ต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการบันทึกความร่วมมือกัน ซึ่งในส่วนของชาวบ้านก็มีป้าแต๋ว ซึ่งกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามคำสั่งแต่ตั้งที่ 221/2552 กับชาวบ้านในเขตที่ดินรถไฟรวม 7 คนจากทั่วประเทศเป็นตัวแทนคนในชุมชน  

ตอนนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการให้เราทำร่างเสนอไปดูว่า สิ่งที่เราต้องการคืออะไร เขาจะไปกรองดูว่า สิ่งที่เราเสนอไปนั้นน่าจะเป็นไปได้ไหม

-เราเสนออะไรบ้าง

สอช.เสนอไปมี 5 เรื่อง คือ 1.การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจัดหาที่ดินให้ 2.เรื่องการขนย้าย การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายตั้งแต่ 3,000 บาท จนถึง 30,000 บาท แล้วแต่สภาพของแต่ละครัวเรือน

3.การไปอยู่ที่ใหม่ประกอบอาชีพไม่ได้หรือว่าทำเลหากินไม่ได้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องเยียวยาแต่ละครอบครัว เป็นการช่วยเบื้องต้น

4.ด้านสิ่งแวดล้อม การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลสภาพแวดล้อมต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่ไปปล่อยเกาะให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่เรื่องนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่รับ เราเคยเสนอไปครั้งหนึ่งแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยให้เราเอากลับมาดูกันใหม่ เรียกร้องมากไปหรือเปล่าที่จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ

มีอีกแบบหนึ่งที่ตัวแทน สอช.เสนอ คือ ถ้าช่วยเป็นรายๆ อย่างนั้นจะดูมากไป ถ้าเป็นรายโครงการจะได้ไหม คือ ถ้าโครงการหนึ่งมีมูลค่าถึง 4,000 ล้านบาท ก็ตัดมา 1% มาเป็นกองทุนให้กับชุมชนนั้นๆ ชุมชนก็มาบริหารจัดการเอาเอง หรือจะไปซื้อที่ดินใหม่อย่างไร จะจัดสร้างบ้านอย่างไรให้สมาชิกที่ย้ายออกไป อะไรประมาณนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ยังไม่รับอยู่ดี

แม้การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่รับ แต่ทาง สอช.จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ก่อนที่รถไฟรางคู่จะมาบ้านเรา เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังจะเริ่มทำรางคู่ในสายใต้จากนครปฐมมาถึงหัวหิน และจากประจวบคีรีขันธ์มาถึงชุมพรก่อนในระยะแรก

ทั้ง 2 ช่วง การรถไฟแห่งประเทศไทยจะทำพร้อมกับสายอื่นๆ ทางภาคกลาง ภาคเหนือและอีสาน เพราะฉะนั้นทาง สอช.ต้องได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า แต่ละภาคนั้นมีผู้เดือดร้อนเท่าไร ถึงเราถึงจะไปเสนอต่อรัฐบาล

โครงการรถไฟรางคู่ระยะแรกนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2553 – 58 ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2558 – 63 และระยะที่ 3 ซึ่งจะครบทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2563-68 นอกจากรถไฟรางคู่แล้ว ยังจะมี รถไฟความเร็วสูงด้วย แต่รถไฟความเร็วสูงตอนนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าจะมาอย่างไร แต่มาแน่

-สรุปก็คือตอนนี้ทั้ง 5 เรื่อง การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่รับแม้แต่ข้อเดียว

ยังไม่รับ

-แล้วการรถไฟแห่งประเทศไทยเองเขามีข้อเสนออะไรมาบ้าง

เขามีข้อเสนอมาในส่วนของภาคอีสานว่า ถ้าต้องการค่ารื้อถอน เขาไม่มีให้ แต่มีค่าขนย้าย จาก 3,000 - 30,000 บาท คุณจะเลือกเอาแบบไหน ทางตัวแทนภาคอีสานเสนอเป็น 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน ไม่ว่ากี่ร้อยครัวเรือน ก็จะได้ครัวเรือนละ 30,000 บาท

จากนั้น เงินที่ได้จะตั้งเป็นกองทุน เพื่อไปซื้อที่ดิน แต่ไม่ใช่ให้เปล่า สมาชิกจะต้องผ่อนกลับมาให้กับกองทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพราะเป็นเงินที่ได้มาเปล่าๆ ส่วนการสร้างบ้านให้ขึ้นกับ พอช.

พอเรียก 30,000 บาทต่อครัวเรือน ดูเสมือนว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะยอม

แต่แกนนำหลักๆ ของ สอช.มาวิเคราะห์กันอีกครั้งว่า ถ้าให้ภาคอีสานครัวเรือนละ 30,000 บาทพอมาภาคใต้บ้านหลังใหญ่กว่าในภาคอีสาน เพราะภาคอีสานเขาปลูกบ้านกันง่าย แต่ในภาคใต้ส่วนใหญ่ เป็นบ้านที่มั่นคงถาวร เงินค่าขนย้าย 30,000 บาทคงไม่พอ

ที่ชุมชนกุโกร์ บ้านแต่ละหลังที่ต้องย้ายออกราคาสูงถึง 500,000 – 700,000 บาทก็มี ถ้าให้แค่ 30,000 บาท เขาจะยอมรับไหม

ถ้าเรามาแล้ว เกิดเป็นคดีขึ้นศาล มันก็จะกลายเป็นกติกาทั่วประเทศ และแกนนำนี่แหละที่จะถูกเพื่อนกระทืบ หาว่าไปรับมาทำไม เขายังไม่ได้ตอบตกลงกันเลย กลายเป็นว่า เรื่องนี้ไม่เกิด

แต่สิ่งที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการตอนนี้ คือ ให้ทาง สอช.ทำหนังสือถึงกองเลขานุการของคณะกรรมการ เพื่อเปิดประชุมคณะกรรมการ โดยให้มีวาระการจัดตั้งคณะกรรมการชุดที่ดูแลกองทุนที่มาจากเงิน 30,000 บาทต่อครัวเรือน ถ้าการรถไฟแห่งประเทศไทยยอมรับเรื่องนี้ขึ้นมา

ทาง สอช.เองก็ยังไม่ทำหนังสือไป เพราะเรายังไม่ชัดเจนว่า สมาชิกของเราจะยอมรับแบบไหน ทีนี้การประชุมร่วมกับ พอช.เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เราได้ข้อมูลชุมชนที่เดือดร้อนจำนวนเท่าใด เราก็จะลงไปถามว่า ชุมชนจะยอมรับกติกานี้หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net