Skip to main content
sharethis

"ถ้าเราอยู่ในสังคมซึ่งเห็นว่าการทำลายชีวิตเป็นเรื่องปกติ หรือเห็นว่าการทำลายชีวิตเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ การจินตนาการถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมก็เป็นปัญหามากขึ้น"

19 มิ.ย. 2553 ศูนย์อำนวยการเยียวยาสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอย.) จัดกิจกรรมรำลึกถึงผู้ที่จากไป : In Memory of Lost People ที่ โดยในงานมีทั้งการเสวนา พิธีกรรมทางศาสนา การแสดงดนตรี การอ่านบทกวี และกิจกรรมอื่น ๆ

 ประมวลภาพกิจกรรมทางวัฒนธรรมในงาน "กิจกรรมรำลึกถึงผู้ที่จากไป : In Memory of Lost People" โดยมีการแสดงสด การอ่านบทกวี และกิจกรรม “ปลดปล่อยความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชัง แต่เราจะไม่มีวันลืม” ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมเขียนข้อความแทนสิ่งที่อยากจะปลดปล่อยบนลูกโป่ง แล้วปล่อยขึ้นฟ้าพร้อมกัน

000

โดยในการเสวนา “ประวัติศาสตร์ชาติไทย: ความทรงจำสั้นความรุนแรงยืนยาว แล้วประชาชนจะอยู่อย่างไร” ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวในการเสวนาว่า ความรู้สึกของตัวเขาเองกับคนอื่น ๆ หลังเกิดเหตุการณ์ 19 พฤษภาฯ 2553 ก็ยังรู้สึกสับสน และหลายคนคงรู้สึกว่าความเชื่อมั่นว่าคนเราพูดกันด้วยเหตุด้วยผลได้ ว่าคนเราใช้การเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงทางการเมืองที่จะรับกันทุกฝ่ายได้ พังทลายลงไป รวมถึงทำให้เกิดสภาวะอิหลักอิเหลื่อ เป็นความรู้สึกไม่มั่นใจว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมจะเกิดขึ้นต่อไปได้อย่างไร และไม่แน่ใจว่าคนที่อยู่ร่วมในสังคมกับเรารู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้น

ศิโรตม์ ยังได้กล่าวว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมามีบางคนที่เห็นด้วยกับการสังหารผู้ชุมนุม เห็นว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมชอบธรรม ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งที่เรียกว่า 'จิตวิญญาณฆาตกร'

"ถ้าเราอยู่ในสังคมซึ่งเห็นว่าการทำลายชีวิตเป็นเรื่องปกติ หรือเห็นว่าการทำลายชีวิตเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ การจินตนาการถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมก็เป็นปัญหามากขึ้น" ศิโรตม์กล่าว "โดยพื้นฐานแล้วคงไม่มีใครอยากอยู่ร่วมในสังคมที่คนจำนวนมากเห็นว่าการฆ่าเป็นเรื่องธรรมดา"

ศิโรตม์ กล่าวอีกว่าการสลายการชุมนุมครั้งที่ผ่านมาเทียบได้กับรัฐประหารสำหรับปี 2553 เนื่องจากฝ่ายรัฐมีการใช้อำนาจพิเศษของ ศอฉ. มีมาตรการระงับการใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่มีเหตุผลอะไร ซึ่งในตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ มีการใช้กำลังทหารเข้ามาจัดการสิ่งต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นรัฐประหารที่รุนแรงกว่า 19 ก.ย. 2549 ด้วยซ้ำ การปิดสื่อ การควบคุมสื่อ การไล่ล่า ก็มีมากกว่า

"พอหลังจาก 'รัฐประหารปี 53' ก็มีการพูดถึงการปรองดองขึ้นมา คล้ายกับการใช้คำว่าสมานฉันท์ใน 3 จังหวัดภาคใต้คือเป็นการปรองดองในความหมายของการที่รัฐบอกกับคนที่ถูกรัฐกระทำรุนแรงว่าให้ลืมเรื่องเก่า ๆ ไป" ศิโรตม์กล่าว

ศิโรตม์กล่าวอีกว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นแต่ละคนก็มีความทรงจำแบบของตัวเอง ฝ่ายที่เป็นผู้ฆ่าก็มีความทรงจำแบบหนึ่ง ฝ่ายที่เป็นผู้ถูกกระทำก็มีความทรงจำอีกแบบหนึ่ง ฝ่ายผู้สังเกตการณ์ก็มีอีกแบบหนึ่ง และความต้องการปรองดองของรัฐใช้เพื่อพยายามปิดความทรงจำหนึ่ง โดยมีการใช้วาทกรรมว่าเป็นศัตรูของชาติ ซึ่งนอกจากจะหมายถึงเสื้อแดงแล้ว ยังหมายถึงอินเตอร์เน็ตด้วย จากการที่กระทรวงไอซีทีออกมาพูดถึงผลงานการปิดเว็บไซต์จำนวนมากอย่างภาคภูมิใจ ซึ่งในประเทศอย่างสหรัฐฯ คงไม่มีใครกล้าออกมาพูดเรื่องแบบนี้

อับดุล ราวัล ชาวไทย-มลายูมุสลิม จากปัตตานี มาเล่าถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้ ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนมาจนถึง ความปราบปรามเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 ซึ่งมีข้อสังเกตว่าสถานการณ์ทางภาคใต้รุนแรงขึ้นกว่าเดิม

อับดุล เล่าย้อนถึงเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย. 2547 หรือเหตุการณ์ที่มัสยิส "กรือเซะ" ว่าในวันนั้นมีคนเสียชีวิต 100 กว่าศพ มีอาวุธจำพวก มีด พร้า และปืนไม่กี่กระบอก ในหมู่คนที่เสียชีวิตพบอาวุธอยู่ไม่มากเพียง 4-6 ศพ ที่อำเภอสะบ้าย้อยก็มีนักฟุตบอลทีมซูโซะเสียชีวิต 22 คน

"ที่น่าสังเกตก็คือว่าคนเหล่านี้ใช้อะไรขับเคลื่อนตัวเองใช้มีดไปสู้กับปืน" อับดุลกล่าว นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณี "ตากใบ" ที่การสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายศพทำให้มีผู้เสียชีวิต 80 กว่าศพ อับดุลให้ความเห็นว่าการปราบปรามของรัฐบาลทำให้อีกฝ่ายคือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงโต้ตอบกลับไป

อับดุลบอกว่าความรุนแรงจากการก่อเหตุและความรุนแรงการตรวจตราและกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการสอบสวนที่มีคนถูกจับแล้วไม่สามารถประกันตัวได้ทำให้เกิดความสูญเสียกับตัวบุคคล

อับดุลพูดถึงเรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอ้าง พรก. ฉุกเฉิน ซึ่งเกิดกับพื้นที่อื่น ๆ นอกจากภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา และเขาเกรงว่าอาจจะเกิดสถานการณ์ความรุนแรงแบบเดียวกันขึ้นในภาคเหนือและภาคอิสาน

ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา เริ่มต้นโดยกล่าวว่าจากการที่ได้ฟังเรื่องของภาคใต้ ทำให้นึกถึงเรื่องตลกร้ายว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่ว่าจะเป็นอานันท์ หมอประเวศ พิภพ ก็กลายมาเป็นฝ่ายที่ไม่สนับสนุนก็พยายามที่จะช่วยเหลือรัฐในการปกป้องเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่เกิดขึ้นในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา

ใบตองแห้ง เผยว่าคนที่เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 กลับพลิกข้างมายืนสนับสนุนรัฐบาลในการใช้กำลังเข้าปราบปรามเมื่อวันที่ 19 บางคนเป็นคนที่ร่วมปรักปรำเสื้อแดงว่าล้มเจ้าทั้ง ๆ ที่ตนเองก็เคยเจ็บปวดจากเหตุการ 6 ตุลาฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขารับไม่ได้

ใบตองแห้งเล่าเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กับเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดง เม.ย.-พ.ค. 2553 ว่าในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการพยายามโดดเดี่ยวกระบวนการนักศึกษา ว่าเป็นพวกคอมมิวนิสม์ เป็นพวกสร้างความเดือดร้อน ปั่นป่วนวุ่นวาย สิ่งที่คล้าย ๆ กับเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมาคือ นักศึกษาในตอนนั้นคือเสื้อแดง, พรรคคอมมิวนิสม์กับทักษิณ, ลูกเสื้อชาวบ้านคือกลุ่มพันธมิตรฯ

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง 6 ตุลาฯ กับเหตุการณ์ปราบเสื้อแดง คือ เมื่อ 6 ตุลาฯ กระบวนการนักศึกษามีแนวโน้มที่เป็นสังคมนิยมอยู่บ้าง มีแนวโน้มที่จะไปถึงการพลิกสังคมใหม่ ซึ่งเป็นเรี่องธรรมชาติที่คนจะไปถึงตรงนั้นแล้วคิดอย่างนั้น แต่ในกระบวนการของเสื้อแดงมันมีความต้องการเอาชนะของนักการเมือง มีการใช้กำลังรุนแรงของขบวนจัดตั้งของนักการเมือง แต่อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ที่มาชุมนุมก็เป็นประชาชนบริสุทธิ์ ที่มีข้อเสนอให้ยุบสภาโดยลึก ๆ แล้วมีเรื่องของความต้องการความเท่าเทียมต้องการที่จะให้อำนาจไปสู่ระบบการเลือกตั้ง ทั้งสองเหตุการณ์ก็ต่างมีด้านที่ถูกและด้านที่ผิด

ในเรื่องของการปราบปราม ใบตองแห้งบอกว่า 6 ตุลาฯ การปราบปรามจะรุนแรงมาก มีการยิงสังหาร มีการลากศพเอาไปแขวนคอแล้วเอาเก้าอี้ตี มีผู้หญิงถูกเอาไม้ทิ่มอวัยวะเพศ แต่ก็ต่างจากปัจจุบันตรงที่ 6 ตุลาฯ แม้จะมีการสร้างความเกลียดชังแต่ก็ยังไม่ได้กว้างขวางเท่ากัย 19 พฤษภาฯ 2553 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสังคมแตกแยกมากและมีคนเห็นด้วยกับรัฐบาลมาก แล้วก็มีคนอื่นที่นอกจากพันธมิตรมาสนับสนุน เช่นพวกคนในเฟสบุค พวกชนชั้นกลางที่มีฐานะดี มีการศึกษาสูง โดยทำเป็นเชื่อรัฐบาลว่าผู้ก่อการร้ายเป็นคนยิงเสื้อแดง ทั้ง ๆ ที่ระดับการศึกษาระดับสติปัญญาก็น่าจะรู้ว่ามันไม่ใช่ แต่ก็ยังยอมรับ ขณะที่ 6 ตุลาฯ ถึงแม้รัฐบาลเผด็จการจะขึ้นมามีอำนาจแต่สังคมก็รู้สึกผิด กระแสสังคมก็ไม่ได้ซ้ำเติมเท่าไหร่ แม้จะมีการปิดกั้นในช่วงแรก ๆ แต่ก็มีภาพข่าวอะไรออกมาในเวลาต่อมา จนเป็นเหตุให้เกิดการโค่นล้มรัฐบาลถัดมาโดยยังเติร์ก

ใบตองแห้งเล่าอีกว่าหลัง 19 พฤษภาฯ มีกระแสความนิยมของของเสธ. ไก่อู ในชนชั้นกลางบางส่วนที่อาจจะไม่ใช่พันธมิตรฯ ด้วยซ้ำ "บางคนพูดกับผมว่า พี่เขาไม่มีใครดูเอเอสทีวีกันแล้ว เขาดูไก่อู เขาดูเฟสบุ๊ค เพราะ เอเอสทีวีมันสุดขั้ว คราวนี้ไก่อูเป็นพระเอก มันไม่ใช่สนธิ ไม่ใช่ปองอัญชลี" แต่มันก็มาพร้อมกับความอคติของคนชนบท ความอคติต่อทักษิณ ความอดติต่อชนชั้นในเชิงวัฒนธรรม

ใบตองแห้งให้ความเห็นในช่วงตอนท้ายของการเสวนาว่า ในครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทยแล้ว คิดว่าสุดท้ายแล้วจารีตนิยมจะต้องถอยออกจากประเทศไทย ในอีก 20-40 ปีข้างคงไม่มีความรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นอีก

นอกจากนี้ในงานช่วงบ่ายยังมีกิจกรรม “ปลดปล่อยความโกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชัง แต่เราจะไม่มีวันลืม”
ซึ่งให้ผู้เข้าร่วมเขียนข้อความแทนสิ่งที่อยากปลดปล่อยบนลกโป่ง แล้วปล่อยให้ลอยขึ้นฟ้าไปพร้อมกัน ซึ่งมีผ้เข้าร่วมบางคนเขียนเรียกร้องให้ "ยกเลิกพรก. ฉุกเฉิน"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net