‘สุเทพ’ เบิกคดี ‘6 ศพวัดปทุม ย้ำไม่ได้สลายชุมนุม แต่กดดันให้เลิกไปเอง

ไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุม สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ เบิกความชี้หลังเหตุ 10 เม.ย.จำเป็นต้องมีอาวุธหยุดผู้ก่อการร้าย ระบุศาลแพ่งเคยพิพากษาว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ  เชื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีคำสั่ง พบเขม่าดินปืน 2 ใน  6 ศพวัดปทุม

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ  ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล

6 มิ.ย.56 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.  สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยพนักงานอัยการนำ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ขึ้นเบิกความต่อศาล ซึ่งเบิกความโดยสรุปว่า 7 เม.ย.53 รัฐบาล(ขณะนั้น)ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี และบางอำเภอในจังหวัดสมุทรปราการ  และออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 ฉบับ คือ

  1. คำสั่งตามมาตรา 11 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  2. คำสั่งตามมาตรา 9  ห้ามดำเนินการชุมนุมมั่วสุมเกิน 5 คน การนำเสนอข่าวและการใช้เส้นทางคมนาคม

และวันเดียวกันนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 ให้ตั้งศูนย์อำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)  และตั้งนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. โดยมีเจ้าหน้าที่อื่นๆ เป็นคณะกรรมการร่วมด้วย และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 2/2553 ตั้งผู้กำกับการปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่  โดยตนเป็นหัวหน้าผู้กำกับการปฏิบัติหน้าที่และหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ภายหลังการตั้ง ศอฉ. แล้วได้มีมติและออกคำสั่งปฏิบัติงาน ศอฉ. ที่ 1/2553 กำหนดขอบเขตหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และระบุถึงการประกอบกำลังในการปฏิบัติการ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในผนวกท้ายคำสั่ง เช่น ในผนวก ก. กำหนดวิธีการใช้กำลังในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะระบุขั้นตอน เช่น

  1. หากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายต้องมีการแจ้งเตือนด้วยเครื่องขยายเสียงก่อน
  2. ไม่ใช้โล่ทุบหรือใช้สันโล่ในการผลักดัน
  3. การใช้คลื่นเสียงและใช้รถฉีดน้ำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อรบกวนและผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่
  4. เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามหลักสากลในการปฏิบัติ จะต้องปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก ซึ่งมี 7 ขั้นตอนคือ 1. แจ้งเตือน 2. ประกอบกำลัง 3. โล่ดัน 4.ใช้รถฉีดน้ำ 5.กระบอง 6. รถคลื่นเสียง 7. ปืนลูกซองกระสุนยาง เพื่อยับยั้งผู้ชุมนุม ซึ่งจะมีการกำหนดว่าจะต้องใช้โล่กระบอง และรถฉีดน้ำอย่างไร

ในช่วงแรกที่มีการตั้งเวทีที่ผ่านฟ้าลีลาศก่อนที่จะมีการขยายไปชุมนุมที่ราชประสงค์นั้น รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แก้ปัญหาโดยตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เป็นผู้ดำเนินการ  การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นประกาศใช้ภายหลังเกิดเหตุรุนแรงโดยมีการบุกรัฐสภาในวันที่ 7 เม.ย. และก่อนหน้านั้นวันที่  5 เม.ย. รัฐบาลได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ผู้ชุมนุมออกจากราชประสงค์ ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษาว่า การชุมนุมกีดขวางการจราจร การคมนาคม เป็นการจำกัดสิทธิประชาชน ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ  เมื่อประกาศแล้วรัฐบาลสามารถดำเนินการจับกุมได้ทันที่โดยไม่ต้องยื่นเรื่องต่อศาลอีก

นายสุเทพเบิกความถึงวันที่ 10 เม.ย.53 ว่า ศอฉ. ได้ออกคำสั่ง 0407.45/4 เนื่องจากเกิดปัญหาจราจรอย่างรุนแรงที่ถนนราชดำเนินและราชประสงค์ รัฐบาลโดย ศอฉ. เจ้าหน้าที่ขอพื้นที่ถนนราชดำเนิน ในส่วนที่รองรับจราจรจากสะพานปิ่นเกล้าและสะพานพระราม 8 เพื่อแก้ปัญหาจราจร ซึ่งในคำสั่งกำหนดการใช้อาวุธไว้ในข้อกำหนด 3 ว่า

  1. ให้ยึดถือแนวทางและขั้นตอนตามคำสั่งปฏิบัติการที่ 1/53
  2. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและรักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะต้องทำการเตือนด้วยวาจา ยิงเตือนขึ้นฟ้า และใช้อาวุธตามลหักเกณฑ์และเงื่อนไขในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่เหตุ

อดีต ผอ.ศอฉ เบิกความต่อว่า วันที่ 13 เม.ย. ออกคำสั่ง 0407.45/84  ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนลูกซองในการควบคุมฝูงชนได้เพราะไม่อานุภาพไม่ร้ายแรงและสามารถควบคุมวิถีกระสุนได้ซึ่งเหมาะแก่การป้องกันตนเองและประชาชน  ซึ่งจะใช้ก็ต่อเมื่อปรากฏภัยคุกคามหรือกลุ่มติดอาวุธที่มีท่าทีคุกคามต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยจะใช้ในระยะ 30-50 ม.ขึ้นไปเพื่อเป็นการควบคุมวิถีกระสุนและควบคุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และห้ามใช้กับผู้หญิงและเด็ก การใช้ต้องไม่ประสงค์เอาชีวิตเป้าหมายให้เล็งส่วนล่างของร่างกาย  โดยนายสุเทพให้เหตุผลว่า ในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เจ้าหน้าที่ได้รับอุปกรณ์ตามหลักสากลคือ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ และปืนลูกซองกระสุนยาง และมีเจ้าหน้าที่มีอาวุธประจำกายอยู่แถวหลัง ซึ่งก็ได้มีผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย ประชาชน 20 กว่าคน และบาดเจ็บ 800 กว่าคน ศอฉ. จึงจำเป็นต้องมีอาวุธหยุดผู้ก่อการร้ายได้จึงให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนลูกซองเพื่อแก้ปัญหาได้

ในวันที่ 15 เม.ย. ศอฉ. ออกคำสั่ง 0407.45/113  เป็นคำสั่งตั้งด่านแข็งแรงเพื่อป้องกันผู้ก่อการร้ายและผู้ชุมนุม และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารร่วมมือกันในการปฏิบัติงาน และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเป็นกำลังเสริมตามจุดต่างๆ และจัดอาวุธให้กับด่านแต่ละจุดอย่างเพียงพอในการใช้  ในวันที่ 16 เม.ย. นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งที่พิเศษ 93/2553 ตั้งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบแทนนายสุเทพ

นายสุเทพ เบิกด้วยว่า วันที่ 22 เม.ย. นายจตุพร พรหมพันธุ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่อศาลแพ่งว่า ในการปฏิบัติงานในวันที่ 10 เม.ย. เป็นการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายและให้ห้ามทั้งสองคนไม่ให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมอีก ศาลแพ่งได้มีคำสั่งว่าไม่มีเหตุผลในการห้ามจึงยกคำร้องและศาลได้ให้ทั้ง 2 คนยังสามารถออกคำสั่งในการใช้อาวุธและกำลังได้ตามหลักสากล  จากนั้นในวันที่ 14 พ.ค. นายจตุพรยื่นคำร้องให้คุ้มครองชั่วคราวต่อศาลแพ่งอีกครั้งมิให้นายอภิสิทธิ์ สุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ สั่งการปิดกั้นคมนาคม ซึ่งศาลได้มีคำสั่งว่าศาลไม่สามารถก้าวล่วงการปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย. ผู้ชุมนุมได้ยุบเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ มาที่แยกราชประสงค์และประกาศขยายไปสีลมและเยาวราช ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จึงให้ตั้งด่านแข็งแรงที่สีลมและเยาวราช เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปที่บริเวณดังกล่าว แต่ทาง ศอฉ. ไม่ได้มีเจตนาสลายการชุมนุม แต่เป็นการกดดันเพื่อให้เลิกการชุมนุมไปเองโดยทำให้ไม่ได้รับความสะดวกที่จะทำการชุมนุม  และมีการตั้งด่านปิดกั้นพื้นที่เพื่อไม่ให้มีผู้ชุมนุมเข้าไปและมีการนำอาวุธเข้าไปได้  เพราะมีผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่และได้ใช้พื้นที่สวนลุมพินีเป็นฐานใช้ M79 M16 และปืนอาก้าโจมตีใส่เจ้าหน้าที่ที่ถนนพระราม 4 และรถไฟฟ้าทำให้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิต จึงได้มีการควบคุมที่เข้มข้นยิ่งขึ้น 26 เม.ย. ศอฉ. มีคำสั่ง 0407.45/296   ตั้งด่านรอบแยกราชประสงค์ 6 จุดได้แก่ 1. แยกพงษ์พระราม 2.แยกศาลาแดง 3.อโศกมนตรี 4.พญาไท 5.อังรีดูนังค์ 6. นราธิวาศ  เป็นการป้องกันไม่ให้ ไม่ให้ยกกำลังออกจากราชประสงค์ไปก่อปัญหาได้ หลังจากนั้นมีการตั้งด่านเพื่อกระชับพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อกดดันให้ไม่ได้รับความสะดวกในการชุมนุมและนำอาวุธเข้าออกได้เพราะ 6 จุดเดิม ไม่เพียงพอ  โดยได้เพิ่มด่านสำคัญอีก 4 ด่านคือ แยกปทุมวัน ถนนราชปรารภ ถนนพระราม 4 และเพลินจิตและจุดสกัดประกอบ 13 จุด ที่เข้าราชประสงค์ และคำสั่งหยุดการเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่6 โมงเย็น ของวันที่ 13 พฤษภาคม  เป็นต้นไป รวมทั้งมีคำสั่งห้ามการคมนาคมทั้งทางน้ำและบก หยุดให้บริการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ในพื้นที่ราชประสงค์

นายสุเทพ เบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.53 ว่ามีคำสั่งปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่ต่อเนื่อง และปรับกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อคุมพื้นที่ราชประสงค์และจัดการจราจรโดยรอบเพราะ ศอฉ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ยึดพื้นที่สวนลุมพินีตั้งแต่ถนนพระราม 4 ถึงสารสินคืนเพราะผู้ก่อการร้ายใช้เป็นฐานในการโจมตีด้วย M79 และอาวุธสงครามอื่นๆ ใส่เจ้าหน้าที่แบะประชาชน และมีการเข้ายึดโรงพยาบาลจุฬาฯของฝ่ายผู้ชุมนุม  จากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่สวนลุมถึงสารสินได้แล้วแกนนำก็ประกาศเลิกการชุมนุมในเวลา 13.00 น. เศษ  เมื่อแกนนำยกเลิกการชุมนุมและเข้ามอบตัวกับตำรวจแล้วยังมีผู้ชุมนุมเหลือที่หน้าเวทีราว 3000 คน จึงได้จัดรถส่งกลับภูมิลำเนาซึ่งบางส่วนก็กลับ บางส่วนก็หลบเข้าไปในวัด

ราวบ่าย 2-3 โมง เป็นต้นไปมีคนร้ายวางเพลิงสถานที่ต่างๆ เช่น โรงหนังสยาม เซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารบริเวณนั้น และนอกพื้นที่การชุมนุมเช่น สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ศอฉ.จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเข้าไประงับเหตุ เพราะมีคนร้ายใช้อาวุธสงครามสกัด

ขณะประชุมกับตำรวจนครบาลและภูธรเพื่อดำเนินการให้ผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา มีโทรศัพท์หาชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เพื่อร้องขอรถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บในวัดเพราะมีคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงคนได้รับบาดเจ็บหลายคนให้เข้าไปรับ  จึงสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดรถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บ ต่อมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ตำรวจแจ้งว่าเข้าไปรับคนเจ็บไม่ได้เพราะว่ามีคนร้ายซุ่มยิงอยู่ แต่ได้รับแจ้งจากสาธารณสุขว่าได้มีรถอาสาพยาบาลเข้าไปรับแล้ว   ในวันนั้นไม่ได้รับรายงานว่ามีคนตายจนกระทั่งวันรุ่งขึ้น

ต่อมาได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจเกี่ยวกับการเสียชีวิตทั้ง 6 ราย ผลจากการชันสูตรศพคาดว่าจะเสียชีวิตจากที่อื่นแล้วนำร่างมาไว้ที่ข้างศาลา และในรายงานของตำรวจ 2 ครั้ง ผลชันสูตรพบว่ามี 2 รายมีเขม่าดินปืนที่มือในปริมาณที่น่าจะใช้อาวุธมาก่อน คือนายรพ สุขสถิตย์และนายสุวัน ศรีรักษา

เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจทางดีเอสไอมีบันทึกการเสียชีวิตของทั้ง 6 รายนำมาให้ใช้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยในรายงานระบุว่าไม่มีหลักฐานว่าเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่หรือผู้ใดทำให้ตายและมีรายเรื่องเขม่าดินปืน 2 ราย ต่อมาดีเอสไอ แจ้งว่าอาจมีเหตุเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่จึงให้ตำรวจทำการสอบสวนใหม่ ภายหลังได้แจ้งอีกว่าบรรดาผู้ตายมีอยู่ 12 ราย เป็นการตายจาก นปช. และ 13 ราย เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ เป็นรายงานที่ทราบทั้งหมดเกี่ยวกับการตาย 6 ศพ

นายสุเทพเบิกความต่อศาลว่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามคำสั่ง และได้เสริมอีกว่าไม่เคยถูกเรียกสอบในกรณีการเสียชีวิต 6 ศพ วัดปทุมฯนี้ เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้หลังเบิกความตามสำนวนจบลง ทนายได้ขอเลื่อนการซักถามพยานไปในตอนบ่าย นายสุเทพกลับขอเลื่อนออกไปอีกโดยให้เหตุผลว่าในตอนบ่ายต้องไปร่วมประชุมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อมเขตดอนเมือง การซักถามของทนายจึงต้องเลื่อนออกไปนัดหน้า

เรียบเรียงจาก : บันทึกการไต่สวยการเสียชีวิตโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท