Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผ่านไปสองสัปดาห์แล้วกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ทำให้มีคนเจ็บ ตาย และอาคารถูกเผา อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนไปเลย ความเกลียดชังระหว่างสองฝ่ายก็ยังเหมือนเดิม ในขณะที่เหล่าผู้ที่ต้องการเห็นคนเสื้อแดงถูกลงโทษก็ได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ . . . ไม่มีการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

สำหรับฝ่ายเสื้อแดงที่มีผู้ล้มตายไปจำนวนมากแล้ว รัฐบาลก็ยังคงไล่บี้ขบวนการคนเสื้อแดงอย่างไม่หยุดหย่อน ด้วยการใช้พรก.ฉุกเฉินมาไล่จับกุมคนเสื้อแดง โดยทั้งหมดเป็นการทำในนามของความมั่นคงของชาติ

การพูดว่าจะสมานฉันท์นั้นจะไร้สาระมาก ถ้าคุณยังคงปิดหู ปิดตา ปิดปาก ผู้คนที่คุณบอกว่าจะปรองดองด้วย แถมด้วยการจับกุมผู้ที่ประกาศว่าเขาจะจัดการชุมนุมเล็กๆ นอกพื้นที่ พรก.ฉุกเฉิน อย่าง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกจับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและถูกปล่อยตัวออกมาไม่นานนี้ ในขณะที่ “ผู้สมรู้ร่วมคิด” กับสุธาชัยอย่าง สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการซ้ายจัดของ “Voice of Taksin” ยังไม่ได้ถูกปล่อยตัวเพราะไม่มีสถานะนักวิชาการ
นักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งได้เคยโพล่งออกมาว่า แม้แต่ช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ยังมีการเปิดเผยชื่อของคนที่ถูกจับ แต่สำหรับเหตุการณ์คราวนี้ ผ่านไปสองสัปดาห์แล้วก็ไม่มีแม้แต่ลิสต์รายชื่อเดียวให้เห็น

แล้วกรุงเทพฯ และอีก 23 จังหวัดจะต้องอยู่ใต้พรก.ฉุกเฉินไปอีกนานเท่าไร? ควรจะต่อไปอีกหนึ่งเดือน หรือให้ยาวไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าซะเลยดีไหม ชะตากรรมของพวกเราต่างขึ้นกับ “ความเมตตา” ของอภิสิทธิ์และคนที่อยู่เบื้องหลังเขา ซึ่งกำลังรู้สึกไม่มั่นคงอย่างที่สุด และก็เริ่มเสพติดอำนาจจากพรก.ฉุกเฉินที่ให้ทำให้บ้านเมือง “สงบ” ได้อย่างชั่วครั้งชั่วคราว

และในบรรยากาศของการ “สมานฉันท์” นี้ ช่างหน้าตลกที่ความโปร่งใส และสิทธิเสรีภาพทางการเมือง โดยเฉพาะในด้านการชุมนุมกลับหายไป การจับกุมและปิดปากสื่อแบบตามใจชอบภายใต้ “กฎหมาย” เริ่มจะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่

หนึ่งใน “ข้อเท็จจริง” ที่กวนใจที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่อง 6 ศพในวัดปทุมวนาราม แม้ว่าอภิสิทธิ์จะบอกในสภาว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการ “อิสระ” เพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์การสลายการชุมนุม แต่แถลงการณ์ของรัฐบาลที่ออกมาในวันที่ 20 พ.ค. หลังการเหตุการณ์อันน่าสลดเพียงหนึ่งวันก็ได้กล่าวอย่างชัดเจนแล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็น “การวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ฉวยโอกาสใช้วัดซึ่งเป็นเขตอภัยทาน”

ถ้าอย่างนั้นแล้วจะมีคณะกรรมการไปทำไมอีกเล่า ในเมื่อ “ความจริงที่สุด” นั้นปรากฏออกมาแล้วหลังเหตุการณ์เพียงแค่หนึ่งวัน ผมคิดว่า การที่รัฐบาลไม่ยอมลดธงชาติลงครึ่งเสาเพียงแค่สักหนึ่งวันเพื่อที่จะไว้อาลัยแก่คนตายนั้นเป็นสิ่งๆ เดียวที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่แท้จริงของรัฐบาล และในขณะเดียวกัน การที่ไม่มีแกนนำเสื้อแดงคนใดกล่าวคำขอโทษต่อผู้บาดเจ็บ ล้มตาย และผู้ที่เสียทรัพย์สินไปเพราะถูกเผาทำลาย ก็ไม่สามารถให้อภัยได้เช่นกัน

ผู้คนจำนวนมาก ทั้งที่แดง และไม่แดง ต่างก็ต้องต่อสู้กับความทุกข์และความเจ็บปวดด้วยตัวของเขาเอง หญิงเสื้อแดงคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนเสื้อแดงในต่างจังหวัดต่างรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีที่ยืนในประเทศนี้อีกต่อไป สื่อของพวกเขาถูกปิด และศัตรูตัวสำคัญของพวกเขาอย่างคนเสื้อเหลืองก็ต่างมีความสุขกับความพ่ายแพ้ของพวกเขา และสำหรับเสื้อแดงบางคน การฆ่าตัวตายก็ดูจะเป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่

เสื้อแดงจากกรุงเทพฯ บางคนได้เดินทางไปเยี่ยมเพื่อนเสื้อแดงของพวกเขาในต่างจังหวัด และพบว่า คนเสื้อแดงต่างจังหวัดบางคนต่างซุ่มฝึกซ้อมฝีมือยิงปืน เพื่อจะได้มาแก้แค้นในภายภาคหน้า

กลับมาที่กรุงเทพฯ: ในขณะที่มีคนเขียนโน้ตไว้อาลัยโรงหนังสยามนับร้อยแผ่น มีเพียงแผ่นเดียวที่เคยไว้อาลัยให้กับคนตาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net