Skip to main content
sharethis

แรงงานเด็กพุ่ง-ทำงานเท่าผู้ใหญ่

ข่าวสด (3 พ.ค. 53) -  เมื่อวันที่ 2 พ.ค. รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา รองอธิการบดีฝ่ายความร่วมมือและเครือข่าย และอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม(วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า วปส.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2553 เรื่อง "วิกฤตทุนนิยมสังคมมีโอกาส" ได้รวบรวมดัชนีชี้วัด 12 ด้าน โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2552 เรื่องปัญหาแรงงานเด็ก พบว่ามีแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากถึง 12% ของแรงงานกลุ่มอาชีพขั้นพื้นฐาน หรือแรงงานไร้ฝีมือทั้งหมด แต่กลับต้องทำงานหนักเท่าแรงงานผู้ใหญ่คือ เดือนละ 22 วัน เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง หากเป็นแรงงานต่างด้าวจากพม่า กัมพูชา จะอยู่ที่28 วันต่อเดือนหรือแทบไม่มีวันหยุดเลย

รศ.ดร.ชื่นฤทัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มผู้พิการอายุ 15 ปีขึ้นไป มีงานทำมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้พิการทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรกร ประมง ที่สำคัญคือ ได้ค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันน้อยกว่าแรงงานปกติ โดย 53.2% ของแรงงานพิการ มีรายได้เฉลี่ย 3,000 บาท ขณะที่แรงงานปกติ ที่ไม่มีประสบการณ์ มีรายได้น้อยที่สุดอยู่ที่ภาคเหนือ เฉลี่ยเดือนละ7,610 บาท

น.พ.สนธยา พรึงลำภู ที่ปรึกษาการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่าปัจจุบันมีแรงงานที่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการตามกฎหมายประกันสังคม จำนวน 8 ล้านกว่าคน และจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างในกองทุนเงินทดแทนได้ ประมาณ 2,800 กว่าล้านบาทแต่พบว่า มีการจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิรับเงินทดแทน 1,688 ล้านบาท หรือ58.72% ของเงินกองทุนทั้งที่ผู้ประกันตนของสปส. มีผู้ป่วยเรื้อรังประมาณ 5% มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้มากถึง 1 ใน 4 ของกองทุน แนวโน้มค่าใช้จ่ายจากโรคเรื้อรังสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบใน ปี 2548 มี อัตราค่าใช้จ่ายโรคเรื้อรังที่ 2,291 ล้านบาท เพิ่มเป็น4,381 ล้านบาทในปี 2550 เห็นได้ชัดเจนว่าโรคเรื้อรังกำลังเป็นภาระให้ แก่กองทุนอย่างมาก

นางเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในอนาคตหากไม่มีการป้องกันและปล่อยให้เกิดโรคเรื้อรังในสัดส่วนที่สูงขึ้น จะเป็นภาระต่อกองทุนประกันสังคมอย่างมาก เพราะโรคเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นภาครัฐควรต้องจัดการเชิงรุกต้องป้องกันโรคที่ภาระสูง แต่สามารถป้องกันได้ เช่น โรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งกว่าครึ่งของผู้ประกันตนเป็นโรคกลุ่มนี้ จึงต้องมีการดูแลสุขภาพลูกจ้าง เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การออกกำลังกาย การจัดโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อป้องและค้นหาโรคที่สามารถรักษาได้

มหิดลเปิดรายงานสุขภาพ'โรคเรื้อรัง'รุมแรงงานไทย

มติชน (3 พ.ค. 53) - รศ.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรารองอธิการบดีฝ่ายความร่วมมือและเครือข่าย และอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม(วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า วปส.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2553 เรื่อง "วิกฤตทุนนิยมสังคมมีโอกาส" โดยรวบรวมดัชนีชี้วัด 12 ด้าน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี2552 เรื่องปัญหาแรงงานเด็ก ระบุว่า มีแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากถึงร้อยละ12 ของแรงงานกลุ่มอาชีพขั้นพื้นฐาน หรือแรงงานไร้ฝีมือทั้งหมด แต่กลับต้องทำงานหนักเท่าแรงงานผู้ใหญ่ คือ เดือนละ 22 วันเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง หากเป็นแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานพม่า กัมพูชา เฉลี่ย 28 วันต่อเดือน หรือแทบไม่มีวันหยุด

รศ.ชื่นฤทัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผู้พิการอายุ 15 ปีขึ้นไป มีงานทำเพียง 1 ใน 3 ของผู้พิการทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรกร ประมง ที่สำคัญคือ ได้ค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันน้อยกว่าแรงงานปกติ โดยร้อยละ 53.2 ของแรงงานพิการ มีรายได้เฉลี่ย3,000 บาท ขณะที่แรงงานปกติ ที่ไม่มีประสบการณ์ มีรายได้น้อยที่สุดอยู่ที่ภาคเหนือ เฉลี่ยเดือนละ 7,610 บาท 

"กลุ่มแรงงานเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุแรงงานในต่างประเทศ ยังถือว่าเป็นกลุ่มที่ถูกเอาเปรียบ อยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ มีทั้งถูกหลอกให้จ่ายค่านายหน้า กดขี่ค่าแรง จนถึงหลอกไปขายบริการทางเพศ ซึ่งเป็นเพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานล่าสมัย ไม่เข้มงวด และไม่มีการส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้พิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหา" รศ.ชื่นฤทัยกล่าว

นพ.สนธยา พรึงลำภู ที่ปรึกษาการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานที่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการตามกฎหมายประกันสังคม8 ล้านคน และจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างในกองทุนเงินทดแทนได้ 2,800 ล้านบาทเศษ แต่พบว่า มีการจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิรับเงินทดแทน 1,688 ล้านบาทหรือร้อยละ 58.72 ของเงินกองทุน ทั้งที่ในจำนวนผู้ประกันตน มีผู้ป่วยเรื้อรังร้อยละ 5 มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้มากถึง 1 ใน 4 ของกองทุน แนวโน้มค่าใช้จ่ายจากโรคเรื้อรังสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบในปี 2548 ที่มีอัตราค่าใช้จ่ายโรคเรื้อรัง2,291 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4,381 ล้านบาทในปี 2550 เห็นได้ชัดเจนว่าโรคเรื้อรังกำลังเป็นภาระกองทุนอย่างมาก

ด้าน นางเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ สสส.กล่าวว่า ในอนาคตหากไม่มีการป้องกันและปล่อยให้เกิดโรคเรื้อรังในสัดส่วนที่สูงขึ้น จะเป็นภาระต่อกองทุนประกันสังคมอย่างมาก เพราะโรคเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูง 

ดังนั้น ภาครัฐควรจัดการเชิงรุกกับโรคที่มีภาระสูง เช่น ตรวจสุขภาพประจำปี ส่งเสริมการออกกำลังกาย ส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม ฯลฯ เพราะทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง พบว่ามีกว่าครึ่งของผู้ประกันตนเป็นโรคในกลุ่มนี้

แรงงานนอกระบบพุ่ง 63% ภาคอีสานยังนำโด่ง41%จี้รัฐดูแลค่าครองชีพต่ำ

เดลินิวส์ (3 มี.ค. 53) - รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า สสช.ได้สำรวจจำนวนแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ในปี 52 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 24.3 ล้านคนหรือคิดเป็น63.4% ของจำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งสิ้น 38.4 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดถึง 41.5% รองลงมาเป็นภาคเหนือ 21.8% ภาคกลาง 18.7%ภาคใต้ 12.6% ขณะที่ใน กทม.มีเพียง 5.4%เท่านั้น

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการได้รับค่าตอบแทนที่น้อยกว่าความเป็นจริง โดยมีมากถึง 50.6% รองลงมาเป็นงานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่อง 20.9% และทำงานหนัก 18.5% ขณะที่ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แรงงานนอกระบบต้องประสบมากที่สุด คือ ไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทางในการทำงาน มี 43.2% ปัญหาเรื่องฝุ่น ควันกลิ่น 21.9% และมีแสงสว่างไม่เพียงพอ17.1% ส่วนปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงานส่วนใหญ่ คือ การได้รับสารเคมีเป็นพิษ 60.3% เครื่องจักร เครื่องมือ ที่เป็นอันตราย 19.6% และการได้รับอันตรายต่อระบบหูหรือระบบตา มีประมาณ 8.6%

อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจพบว่าจำนวนแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 48 ที่มีจำนวน 22.5 ล้านคน หรือ62.1% ของผู้มีงานทำ จนถึงปี 52 ที่เพิ่มเป็น24.3 ล้านคน โดยในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 1.3% ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงเป็นภาคที่มีแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 48 มีจำนวน9.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 10.1 ล้านคนในปี 52 หรือเพิ่มขึ้น 600,000 คนรองลงมาเป็นภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากปี 48 ประมาณ 400,000 คน เท่ากับภาคใต้ที่เพิ่มจาก 2.7 ล้านคนเป็น 3.1 ล้านคน ขณะที่ภาคกลางและกทม.เพิ่มขึ้นเท่ากันที่ 200,000 คน

นอกจากนี้แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าระดับชั้นประถมศึกษา มีจำนวน 16.6 ล้านคนหรือ 68.1% รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษา6.1 ล้านคน หรือ 25.1% ระดับอุดมศึกษา1.6 ล้านคน คิดเป็น 6.6% ซึ่งตลอด 5 ปีนับจากปี 48 แรงงานนอกระบบยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีการศึกษาไม่สูงมากนัก

ดังนั้นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาแก่แรงงานนอกระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับสถานภาพการทำงานของแรงงานให้ดีขึ้น

"แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 14.4 ล้านคนหรือ 59.1% รองลงมาอยู่ในสาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ 3.9 ล้านคน หรือ 15.9%สาขาการโรงแรมและภัตตาคาร 1.9 ล้านคนหรือ 7.8% การผลิต 1.3 ล้านคน หรือ 5.5%สาขาการก่อสร้าง 920,000 คน หรือ 3.8%ที่เหลืออยู่ในสาขาอื่น ๆ"

รายงานข่าว กล่าวด้วยว่า จากผลสำรวจพบว่าจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมดมีสัดส่วนที่เป็นผู้หญิงและผู้ชายที่ใกล้เคียงกันเป็นผู้ชาย 13.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 54.3%เป็นผู้หญิง 11.1 ล้านคน หรือ 45.7% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมดและแรงงานนอกระบบยังเป็นแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บมาก

แรงงานเปิด "ช่องสมหวังแซนแนล" หวังเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างรัฐ-ผู้ใช้แรงงาน

แนวหน้า (4 พ.ค. 53) - เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายไพฑูรย์  แก้ว ทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ช่องสมหวังแชนแนล ที่กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับบริษัท สมหวัง แชนแนล จำกัด ในการเปิดช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านแรงงาน โดยมุ่งเน้นทั้งสาระและความบันเทิง  ที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าใจกฎหมายด้านแรงงาน หรือแม้แต่รับทราบข่าวสารการรับสมัครงานที่ง่ายขึ้น  โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการและประชาชนทั่วไป มีระยะเวลาในการออกอากาศ 24 ชั่วโมง     

ทั้งนี้ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารช่องสมหวังว่าขณะนี้มีความพร้อมเต็มที่ในการ นำเสนอข้อมูลข่าวสาร จากการทดลองออกอากาศมาเป็นระยะเวลา 1 เดือน อย่างไรก็ตามการเปิดช่องดังกล่าวยังถือได้ว่าเป็นของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงงานในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม โดยวิธีการรับชมช่องสมหวัง แชนแนล จะออกอากาศโดยอาศัย คลื่นความถี่ KU Band ช่องสัญญาณ NSS6 ที่สามารถรับชมทางเคเบิ้ลโอเปอร์เรดเตอร์ทั่วประเทศ ผ่านจานดาวเทียม PSI , ASTV,  D Station ,Samart และ DTH  เป็นต้น

ลูกจ้าง 2 บริษัทบุกร้อง ก.แรงงานโวยเบี้ยวค่าแรง-ผิดสัญญาจ้าง

เว็บไซต์คมชัดลึก (5 พ.ค. 53) - เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ลูกจ้างจากบริษัท ทองพูล จำเริญ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท วงศ์ไพฑูรย์ กรุ๊ป จำกัด รวมกว่า 300 คน เดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน โดยในส่วนของลูกจ้างบริษัททองพลูฯ มีปัญหาเรื่องการถูกนายจ้างโอนย้ายให้ไปทำงานกับบริษัทซับคอนแทร็กแห่งใหม่ โดยไม่บอกเลิกสัญญาจ้าง ขณะที่บริษัทวงศ์ไพฑูรย์ฯ ได้รับความเดือดร้อนจากการที่นายจ้างไม่มีงานให้ทำ ไม่จ่ายค่าจ้างและไม่มีการบอกเลิกจ้างกว่า 2 เดือน

นายยอดยิ่ง แวงวรรณ กรรมการสหภาพแรงงานลูกจ้างเหมาค่าแรง กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานบริษัททองพลูฯ ไม่พอใจการโอนย้าย เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่มีอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องกลับไปเริ่มต้นฐานค่าแรงและสวัสดิการเหมือนเป็นพนักงานใหม่ โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เมื่อพนักงานไม่ยินยอม นายจ้างจึงไม่ให้เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา เชื่อว่าสาเหตุที่นายจ้างทำเช่นนี้ เพราะต้องการล้มล้างสหภาพแรงงาน ด้านนายสัญญา ทองไทย เจ้าหน้าที่ควบคุมวัตถุดิบ บริษัท วงศ์ไพฑูรย์ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้าง และแจ้งความชัดเจนว่าจะมีการปิดกิจการเมื่อใด จะได้ขอรับเงินชดเชยตามกฎหมาย

นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากการเจรจากันบริษัทวงศ์ไพฑูรย์ฯ จะจ่ายเงินค่าจ้างงวดเดือนมีนาคมทันที และจะโอนพนักงานรายวันจำนวน 300 คน ไปทำงานกับบริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด โดยยังคงอายุงานให้ตามเดิม พร้อมจะจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้ภายหลัง ซึ่งบริษัทวงศ์ไพฑูรย์ฯ จะมีการนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เพื่อเสนอขอให้ลงนามปิดกิจการ หากผู้ถือหุ้นยินยอมก็จะนัดลูกจ้างมาเจรจาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่จะได้รับในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ ที่บริษัท เวลา 09.30 น. ส่วนของบริษัททองพูลฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป

เผยปัญหาลูกแรงงานข้ามชาติเพิ่ม

เว็บไซต์ไทยรัฐ (5 พ.ค. 53) - ตามที่โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแรงงานข้ามชาติกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล จัดประชุมสัมมนาหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงาน และภูเก็ตนั้น นายวิน ดวงแข จัดหางานจังหวัดระนอง กล่าวถึงสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติใน จ.ระนอง ว่าการลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง จากสาเหตุและปัจจัยหลักดังนี้ สภาพที่ตั้งเอื้ออำนวยเช่น ทางน้ำมีเกาะ 62 เกาะ และมีอาณาเขตทางน้ำ 91 กิโลเมตรที่ยากต่อการตรวจสอบ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัจจัยภายในประเทศพม่า ความต้องการของนายจ้าง และที่น่าห่วงมากที่สุดคือขบวนการค้ามนุษย์ ที่สร้างรายได้ให้นายหน้าเป็นกอบเป็นกำ เมื่อแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ทั้งยาเสพติด อาชญากรรม โรคติดต่อร้ายแรง ปัญหาความมั่นคงและคนไร้สัญชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2553 ให้ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้นั้น จ.ระนอง จึงได้ดำเนินการหลายส่วนเพื่อรองรับมติ ครม.ดังกล่าว ซึ่งจากตัวเลขของแรงงานข้ามชาติใน จ.ระนองมี 45,601 คนนั้น เป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ 42,154 คน ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 3,447 คน นายธีรยุทธ คงคล้าย ปลัดอำเภอเมืองระนองกล่าวว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือเด็กที่เกิดขึ้นจากแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน หากไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ ก็จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

โรงแรมไฮโซส่งออกลูกจ้างหนีม็อบ

ข่าวสด (5 พ.ค. 53) -  นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงิน บัญชี และบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา เปิดเผยว่า จากปัญหาการชุมนุมในย่านราชประสงค์ บริษัทแก้ปัญหาลูกค้าเข้าพักน้อย ด้วยการให้พนักงานหยุดใช้สิทธิลาพักร้อน และอยู่ระหว่างพิจารณาหากม็อบยืดเยื้อจะใช้กฎหมายแรงงานมาตรา 75 ที่หากบริษัทปิดทำการชั่วคราว โดยไม่ใช่ความผิดของทั้งบริษัทและพนักงาน พนักงานจะได้หยุดอยู่บ้านรับเงินเดือน 75% และยังมีสถานภาพเป็นพนักงานอยู่เหมือนเดิม

รายงานข่าวจากโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯแจ้งว่า โรงแรมในเครือโฟร์ซีซันส์ทั่วเอเชีย ได้รับพนักงานบางส่วนจากกรุงเทพฯ ไปทำงานในช่วงมีม็อบ เช่น ลังกาวี มัลดีฟ ฮ่องกง ซิดนีย์เซี่ยงไฮ้ ประมาณ 20 แห่ง ส่วนความเสียหายประเมินอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

ส่วนพนักงานอีกส่วนก็จัดให้พักร้อน และมีบางส่วนไปทำงานที่ตึกไวท์ กรุ๊ป ย่านถ.สุขุมวิท24 ที่เครือไมเนอร์ได้เช่าไว้ สำหรับเป็นอาคารสำนักงานของบริษัทในเครือ สำหรับผู้ที่ทำงานที่บ้านได้ ก็ให้ทำงานอยู่บ้าน แล้วติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ต

รายงานข่าวจากโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลกรุงเทพฯ แจ้งว่า ที่ผ่านมาโรงแรมได้หยุดรับแขก กำหนดเปิดให้บริการวันที่ 10 พ.ค.นี้เช่นเดียวกับโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ทั้งนี้ วันที่ 6 พ.ค.นี้ สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) จะแถลงข่าวถึงผลกระทบจากม็อบ

ตั้งศูนย์เด็กเล็กในโรงงานส่อเค้าแท้ง

มติชน (6 พ.ค. 53) - แรงงานข้ามชาติวอนรัฐจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กแบ่งเบาภาระ โอดรายได้น้อยนิด แต่ต้องจ้างคนอื่นเลี้ยง อธิบดี กสร.เผยตัวเลขจัดตั้งศูนย์ลดลง เตรียมจับมือนิคมฯดันต่อ ระบุทำหนังสือถึงกรมสรรพากรออกมาตรการจูงใจลดหย่อนภาษี 200%

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นางอัมพร นิติสิริอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)กล่าวถึงข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กในสถานประกอบการว่าเรื่องนี้เป็นงานด้านสวัสดิการนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด แต่ปัจจุบันอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะกลุ่มลูกจ้างจำนวนมากมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ทำให้พ้นวัยเจริญพันธุ์ ประกอบกับบางส่วนได้ส่งลูกกลับไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงในต่างจังหวัดทำให้มีเด็กเล็กน้อยลง อย่างไรก็ตาม หากสถานประกอบการแห่งใดมีเด็กเล็กอยู่มากก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่และภาคราชการยินดีสนับสนุนงบประมาณ

นางอัมพรกล่าวว่า เดิมทีมีสถานประกอบการอยู่ 70 แห่งที่มีศูนย์เด็กเล็ก แต่ขณะนี้เหลือเพียง45 แห่งเท่านั้น เพราะเด็กๆ โตขึ้นและเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งในอนาคตเห็นว่าหากตั้งศูนย์เด็กเล็กในสถานประกอบการแบบเดี่ยวๆอาจไม่คุ้ม จึงต้องขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กในกลุ่มสถานประกอบการเหมือนที่ได้ดำเนินการไปแล้วในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี

"ตอนนี้ในนิคมฯส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีศูนย์เด็กเล็ก แต่บางแห่งเขาก็ไม่อยากให้ตั้งเพราะมีปัญหาเรื่องสารเคมี เขาจึงไม่อยากให้เด็กไปเสี่ยงตอนนี้บางโรงงานมีแนวคิดว่าจะใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นสวัสดิการเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำโอทีมากขึ้นเพราะทุกวันนี้ลูกจ้างต้องไปรับลูกข้างนอกหากมีศูนย์เด็กเล็กอยู่ข้างในก็จะทำให้พ่อแม่ทำงานได้เต็มที่ขึ้น แต่ที่แปลกคือ กสร.เคยสำรวจในนิคมฯบางแห่ง ปรากฏว่า ลูกจ้างกลับไม่มีความต้องการเรื่องนี้เลย โดยมากเขาจะส่งให้พ่อแม่เลี้ยงในต่างจังหวัด" นางอัมพรกล่าวและว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำหลายครั้งว่าควรมีการสร้างแรงจูงใจให้

สถานประกอบการที่จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กโดยการลดหย่อนภาษี 200 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรื่องนี้ กสร.ได้ทำหนังสือถึงกรมสรรพากรแล้ว แต่เรื่องยังเงียบหายไป ด้านนายโกนัย แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่ากล่าวว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ต้องดูแลเด็กๆกันเอง ส่วนใหญ่เมื่อมีลูกอ่อน แรงงานต้องออกจากงานในช่วง 3 เดือน และหลังจากนั้น ถ้า

ตกลงกับนายจ้างได้ว่าเอาลูกไปได้ก็ทำงานต่อบางคนต้องให้ญาติพี่น้องจากพม่ามาช่วยเลี้ยงขณะที่บางรายต้องจ้างคนอื่นเลี้ยงซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายวันละ 100 บาท "ลูกจ้างเหล่านี้ต้องลำบากมาก เพราะไม่ใช่แค่เลี้ยงดูลูกเท่านั้น แต่ยังมีพ่อแม่ที่อยู่ต่างแดนอีก เราได้ค่าจ้างแค่เดือนละ 4-5 พัน ถ้ายังต้องจ้างคนอื่นเลี้ยงลูกอีก ก็แทบไม่พอกิน ถ้ารัฐบาลเข้ามาจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กให้ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่สำคัญคืออยากให้มีศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กเหล่านี้ด้วย เพราะเด็กๆ ควรได้เรียนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนแม้เขาจะไม่ได้บัตรประชาชนเหมือนคนไทยก็ตาม ปัจจุบันลูกแรงงานข้ามชาติยังได้เรียนน้อยมาก เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนและพ่อแม่เองก็ไม่มีความรู้" นายโกนัยกล่าว

ผู้ผลิตมึนแรงงานขาดแคลน

เดลินิวส์ (6 พ.ค. 53) -  รายงานข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย. 53 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ 207 ราย  มีการจ้างงานใหม่ 3,858 ราย วงเงินลงทุน 5,925 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 12 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงจนทำให้นักลงทุนต้องชะลอแผนการลงทุน ประกอบกับเป็นช่วงเดือนที่มีวันหยุดมากและหลายกลุ่มอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน 3-5 แสนคนทำให้นักลงทุนต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานก่อนตัดสินใจอีกครั้งโดยจังหวัดสมุทรสาครมีมูลค่าลงทุนมากสุด2,210 ล้านบาท รองลงมา นครราชสีมา 715 ล้านบาท สมุทรปราการ 367 ล้านบาท สระแก้ว 355 ล้านบาท 

ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่มีการขออนุญาตตั้งโรงงานส่วนใหญ่เป็นรายไม่ใหญ่นัก เช่นเฟอร์นิเจอร์, เกษตร, ซ่อมรถยนต์, ผลิตภัณฑ์อาหาร, ผลิตแหและอวน, จัดหาและจำหน่ายน้ำ, ทำมันเส้นและรีดแผ่นเหล็ก

"แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 53 อยู่ในระดับที่ดีจนสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างมาก เห็นได้จากช่วงไตรมาสแรกของปี 53 มีสัดส่วนที่ลงทุนที่สูง โดยเดือน ม.ค. อยู่ที่ 9,486 ล้านบาทเดือน ก.พ. อยู่ที่ 15,888 ล้านบาท และมี.ค. อยู่ที่ 21,935 ล้านบาท รวม 3 เดือนมีมูลค่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า50% แต่ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมายอดการอนุญาตตั้งโรงงานกลับลดลงจากเดือนก่อนกว่า 3 เท่าตัวเพราะมีปัจจัยรุมเร้าหลายอย่าง

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เดือน เม.ย. มีการขออนุญาตตั้งโรงงานน้อยเพราะนอกจากเหตุการณ์สถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มรุนแรงแล้ว ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานทุกจังหวัดในหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้นักลงทุนแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้อย่างมากดังนั้นต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือโดยให้ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนที่ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและอาหาร สามารถใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาดำเนินการได้จากปัจจุบันที่ระเบียบบีโอไอให้ใช้เฉพาะแรงงานไทย

บีโอไอถกผ่อนผันแรงงานต่างด้าว

มติชน (7 พ.ค. 53) -  แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดบีโอไอที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 7 พฤษภาคม จะมีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบทางการเมืองต่อนักลงทุนต่างชาติ และภาวะการลงทุนช่วง4 เดือนของปีนี้ และการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากนี้จะมีการทบทวนเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนมากขึ้นโดยจะมีการผ่อนผันให้ผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนสามารถใช้แรงงานต่างด้าวได้ จากเดิมที่กำหนดให้ใช้เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้นเนื่องจากปัจจุบันเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 300,000-500,000 คน ในหลายอุตสาหกรรม เช่นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานผ่อนผันให้ผู้ประกอบการใช้แรงงานต่างด้าวได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา

"นักลงทุนได้ขอให้บีโอไอผ่อนผันให้จ้างแรงงานขั้นพื้นฐานต่างชาติได้ โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวส่งผลให้มีคำสั่งซื้อมากขึ้น แต่ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตตามความต้องการจนทำให้สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ เพราะไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับวาระการพิจารณาการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จะมีทั้งสิ้น 8 กิจการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ20,230 ล้านบาท โดยกิจการที่ได้ขอยื่นรับการส่งเสริมประกอบด้วย 1.การผลิตเครื่องดื่มรังนกของบริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย)จำกัด เงินลงทุน 1,095 ล้านบาท 2.กิจการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิคของบริษัท โตโต้แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 1,900 ล้านบาท 3.กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะของบริษัท โยโรซึ(ไทยแลนด์) จำกัด เงินลงทุน 1,900 ล้านบาท 4.กิจการผลิตท่อเหล็กไร้ตะเข็บของบริษัท ดับบลิวเอสพี ไพพ์ จำกัด เงินลงทุน1,750 ล้านบาท 5.กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมของบริษัท เขาค้อ วินด์ พาวเวอร์ จำกัด เงินลงทุน4,270 ล้านบาท 6.กิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท เอสพีพีจำกัด จำนวน 4 โครงการ เงินลงทุนรวม6,380 บาท 7.กิจการขนส่งทางเรือของ บริษัท พรีเชียส วิชเชส จำกัด เงินลงทุน 783 ล้านบาท และ 8.กิจการขนส่งทางท่อ เงินลงทุน 2,150 ล้านบาท

ก.แรงงานลงนามร่วมมือด้านแรงงานผลักดันข้อตกลงเขตการค้าเสรีมุ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศ

พิมพ์ไทย (7 พ.ค. 53) - นายไพฑูรย์  แก้วทอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ 2 หน่วยงานระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์  โดยกรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในการผนึกกำลังสร้างความร่วมมือ เรื่อง การดำเนินโครงการด้านแรงงาน เพื่อรองรับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเตรียม  ความพร้อมและผลักดันการดำเนินการเพื่อรองรับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีและดำรงไว้ให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ  อีกทั้งการเปิดการค้าเสรีในปัจจุบันทำให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หลายประเทศรวมกันจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade  Area : FTA)  ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าต้องปรับตัวในการดำเนินการค้าทั้งในด้านความร่วมมือและการพึ่งพากันมากขึ้นในรูปแบบพหุภาคีหรือทวิภาคี  เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีในรูปแบบทวิภาคีและภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 14 ฉบับ โดยมีผลบังคับใช้แล้ว 5 ฉบับได้แก่ เขตการค้าเสรีไทย-จีน  เขตการค้าเสรี ไทยอินเดีย  เขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย  ความตกลงหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์  และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง "การดำเนินโครงการด้านแรงงาน เพื่อรองรับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี" โดยมุ่งแสดงเจตจำนงในการผลักดันการดำเนินการเพื่อรองรับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี เพื่อดำรงไว้และให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประเทศมีสาระสำคัญในการประสานความร่วมมือตามบทบาทภารกิจของทั้ง 2 องค์กร คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดทำโครงการจำนวน 3 โครงการ ได้แก่"โครงการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคเอกชนด้านสิทธิแรงงาน เพื่อรองรับการจัดทำข้อตกลงการค้าเสริโดยรณรงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องมีจิตสำนึกและให้ความสำคัญกับสิทธิแรงงานของลูกจ้าง เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคมในเวทีการค้าโลกและลดเงื่อนไขการกีดกันทาง

การค้ากับประเทศคู่ค้าที่ทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศไทย  ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ"โครงการพัฒนาการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง  ด้วยการเจรจาต่อรองโดยหลักสุจริตใจตามความร่วมมือไทย-นิวซีแลนด์" เพื่อให้ภาคแรงงานในระบบอุตสาหกรรมมีความรู้เกี่ยวกับการเจรจาต่อรองโดยหลักสุจริตใจ รณรงค์ เผยแพร่แนวทางและเทคนิคการแก้ไขข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้งตามโครงการความร่วมมือไทย-นิวซีแลนด์  ด้วยการเจรจาต่อรองโดยหลักสุจริต  ตลอดจนนำมาประยุกต์ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานหรือข้อขัดแย้งให้เหมาะสมกับประเทศไทย"โครงการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการ ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์จากประเทศคู่ค้าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น  (JTEPA)  ให้แก่บุคลากรกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน" เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ของประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดโลกทัศน์ใหม่และเพื่อให้นายจ้างลูกจ้างเกิดความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นที่จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตลอดจนปกป้องสภาพการจ้างของลูกจ้างจากการเปิดการค้าเสรี

สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์  โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะดำเนินการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการเพื่อรองรับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงานทั้ง 3 โครงการ ตลอดจนสนับสนุนและประชาสัมพันธ์การดำเนินการเพื่อรองรับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน

BOI แก้ขาดแคลนแรงงานพร้อมเปิดช่องต่างด้าวเข้าทำงานในไทยเพิ่ม

แนวหน้า (8 พ.ค. 53) - "บอร์ดบีโอไอ"ส่งเสริมลงทุนเพิ่มอีก 19 โครงการ มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท พร้อมเร่งแก้วิกฤติแรงงาน เล็งเปิดช่องต่างด้าวทำงานในไทยเพิ่ม เผย นายกรัฐมนตรี ไม่กังวลตัวเลขลงทุนในไทย แม้ "การเมือง"จะทำให้ต่างชาติย้ายฐานลงทุนบ้างแต่ไม่มาก

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติให้ส่งเสริมการลงทุน 19 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 61,175 ล้านบาท โดยมีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริม อาทิ บริษัท เซเรบอส(ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโต้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทย 413 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 135,800 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย

ทั้งนี้ นโยบายเร่งด่วนที่ บีโอไอ ต้องดำเนินการคือ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยบีโอไอกำลังจะพิจารณาสัดส่วนแรงงานต่างด้าวที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด เพราะในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย กำหนดให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้ไม่เกิน 50% ของแรงงานทั้งหมด

ด้านนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ไม่ใช้ทักษะสูง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในเบื้องต้น ให้บีโอไอกลับไปศึกษารายละเอียดในการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้ และพิจารณาสัดส่วนแรงงานที่เหมาะสมว่าจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระทบกับความต้องการแรงงาน และอัตราค่าแรงขั้นต่ำในอนาคต สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อาหาร, ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ และรองเท้า

นายสรยุทธ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการลงทุน เนื่องจากตัวเลข 4 เดือนของปีนี้ค่อนข้างดี แต่ยอมรับว่าปัญหาทางการเมืองส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนบ้าง และทำให้นักลงทุนที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจจะเลือกประเทศเข้ามาลงทุน ต้องพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านแทนแต่ไม่มากนัก เช่น การเลือกลงทุนในประเทศอินโดนีเซียแทนไทย แต่หากการเมืองกลับสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะมีการกลับเข้ามาลงทุนดีเหมือนเดิม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net