Skip to main content
sharethis
 
รมว.แรงงานออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากชุมนุมเสื้อแดง เสนอจ่ายคนละ 3 พันบาท ชงครม.พิจารณา
คม ชัด ลึก (26เม.ย.53) -
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.เมื่อวานนี้(26 เม.ย.) กรณีการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลประทบจากการ ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ได้ มีมติให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำรวจตัวเลขแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด พร้อมทั้งหามาตรการความช่วยเหลือแรงงานที่เหมาะสม
สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานที่เดือดร้อนนั้น นายไพฑูรย์ กล่าวว่า มีการเสนอเข้ามาหลายรูปแบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้มาตรการใดที่เหมาะสมที่สุด เช่น มีการเสนอให้จ่ายเงินแก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบคนละ 3,000 บาท หรือบางข้อเสนอก็ให้จ่ายเฉพาะคนที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน และบางมาตรการก็เสนอให้จ่ายถึงคนละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งทั้งหมดจะได้ข้อสรุปเสนอทันประชุมครม.สัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบการจ้างงานจากการชุมนุมทางการ เมือง (ศชจ.) ล่าสุดมีแรงงานเข้ามาขอความช่วยเหลือเพียง 80 ราย และร้านค้าเพียง 33 แห่ง ซึ่งมองว่าเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานในภาพรวมทั้งหมด โดยเฉพาะเขตปทุมวันที่มีแรงงานทั้งหมดกว่า 1.14 แสนคน จากสถานประกอบการ 7.3 พันแห่ง และเฉพาะแยกราชประสงค์แห่งเดียวมีแรงงานถึง 6.3 หมื่นคน สถานประกอบการ 3.3 พันแห่ง ซึ่งคาดว่าแรงงานรายย่อยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นคน และมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีพนังงานบางส่วนซึ่งยังไม่ได้ถูกเลิกจ้าง เพราะอาจถูกย้ายไปทำงานในสาขาอื่นๆ เช่น กลุ่มห้างสรรพสินค้า และโรงแรม ทำให้ไม่มียอดแจ้งเข้ามามากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่นายจ้างบางส่วนใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน สามารถจ่ายเงินเดือน 75% เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานได้
นายไพฑูรย์ ได้สั่งการให้ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นหน่วยงานที่เก็บรวบ รวมข้อมูลการจดทะเบียนของผู้ประกอบการและลูกจ้างทั้งหมด ประสานไปยังผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากมีเครือข่ายแรงงานรายย่อยเหล่านี้ เพื่อติดตามแรงงานที่ได้รับผลกระทบให้ได้ตัวเลขที่แน่นอน เพราะที่ผ่านมาตัวเลขยังไม่นิ่ง
 “กลุ่มแรงงานที่เราเป็นห่วงขณะนี้ จะเป็นพวกลูกจ้างร้านค้ารายย่อยที่ค้าขายในห้าง และพวกที่เปิดบูธขนาดเล็กรายย่อยต่างๆ ซึ่งต้องปิดกิจการไปแล้ว รวมทั้งลูกจ้างรายวันที่ขาดรายได้เนื่องจากถูกเลิกจ้าง จะต้องตามหาคนเหล่านี้ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นพวกที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ” นายไพฑูรย์ กล่าว
วันแรงงานฯปีนี้ผู้ใช้แรงงานขอรัฐฯปรับค่าแรงเพิ่มอีก
ช่อง
7 (26 เม.ย. 53) - นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงของขวัญวันแรงงาน โดยอิงจากผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ของกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่น 5 พันบาท จำนวน 1 พัน 212 ตัวอย่าง ในรอบวันที่ 16 ถึง 22 เมษายนว่า แรงงานส่วนใหญ่มองว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมามีความเหมาะสมน้อยมาก มากถึงร้อยละ 55.1 พร้อมขอให้มีการปรับขึ้นค่าแรงอย่างน้อย 7 บาท ซึ่งถ้ารัฐบาลสามารถปรับขึ้นค่าแรงในช่วงกลางปีนี้ได้ แรงงานก็จะได้รับการเยียวยา จากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่หากจะปรับขึ้นในปีหน้าทีเดียว ก็ควรให้เทียบเท่ากับอัตราเงินเฟ้อที่ขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3 ถึง 3.5 คิดเป็นเงินค่าแรงที่ปรับขึ้น ประมาณ 7 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
และของขวัญที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือต่อมา คือการเพิ่มสวัสดิการลดการหักเงินประกันสังคม, ดูแลและช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอาเปรียบ และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่จำเป็น
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ได้รวบรวม ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมแยกราชประสงค์ เบื้องต้น พบว่ามีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 6 หมื่น 3 พัน คน แต่ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อพิจารณามาตรการการช่วยเหลือ เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา เช่นมาตรการเยียวยาแรงงาน คนละ 3 พันบาท, การชะลอจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของสถานประกอบการ, มาตรการด้านภาษี, การช่วยเหลือค่าเช่าที่ และการช่วยเหลือด้านสินเชื่อหากขาดสภาพคล่อง
แรงงานเก็บผลไม้สแกนดิเนเวียได้เฮ สวีเดนออกกฎใหม่-ประกันรายได้
มติชน (
26 เม.ย. 53) - นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาแรงงานไทยเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย และมักถูกหลอกลวงหรือไปทำงานแล้วได้รายได้ไม่ตรงกับความต้องการว่า ขณะนี้รัฐบาลสวีเดนได้มีนโยบายหลักๆ 3 ลักษณะได้แก่ 1.ให้บริษัทจัดเก็บผลไม้ของสวีเดนติดต่อจ้างงานกับแรงงานโดยตรง โดยบริษัทที่จ้างจะต้องจ่ายเงินประกันรายได้ขั้นต่ำประมาณ7 หมื่นบาท ส่วนลูกจ้างจะได้รับใบอนุญาตทำงานไม่เกิน 3 เดือน โดยรายได้ทั้งหมดของลูกจ้างจะถูกหักภาษีร้อยละ 30 และต้องดูแลตัวเอง เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทางเองทั้งหมด 2.บริษัทของสวีเดนติดต่อกับบริษัทไทยเพื่อให้จัดหาแรงงานไทยไปทำงาน โดยบริษัทสวีเดนต้องจ่ายเงินประกันรายได้ขั้นต่ำประมาณ 8 หมื่นบาท และบริษัทจัดหางานไทยต้องดูแลสวัสดิการลูกจ้างทั้งหมด และ 3.กรณีที่คนไทยในสวีเดนชักชวนญาติพี่น้องเดินทางไปทำงานนั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบจากทางการสวีเดนก่อน ว่าคนที่ชักชวนเหล่านั้นมีตัวตนจริง
รองอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่าปีนี้สิ่งที่รัฐบาลสวีเดนเน้นเป็นพิเศษคือเรื่องสัญญาว่าจ้างโดยบริษัทจัดส่งแรงงานต้องส่งรูปแบบสัญญาจ้างให้กับสหภาพแรงงานของสวีเดนก่อน จากนั้นจึงจะสามารถขอวีซ่าให้แรงงานได้ ส่วนเรื่องเงินประกันรายได้ขั้นต่ำหากลูกจ้างปฏิบัติตามสัญญาจ้าง อย่างน้อยก็จะได้รับเงินประกันรายได้ขั้นต่ำอย่างแน่นอนซึ่งการคัดเลือกบริษัทของสวีเดนที่จะได้สิทธิรับแรงงานไทยนั้น ยังต้องรอการคัดเลือกจากรัฐบาลสวีเดนว่าจะมีจำนวนบริษัทเท่าใดแต่คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในไม่ช้า
"ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูร้อนของเขาคือราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนคือแรงงานที่ไปทำงานเก็บผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นผลบลูเบอร์รี่ หรือแบล็คเบอร์รี่ ไม่มีข้อมูลการทำงานเลย แต่เมื่อมีคนชวนและบอกว่ารายได้ดี ก็ไปกู้เงินนอกระบบเพื่อที่จะให้ตัวเองได้ไปทำงาน เมื่อไปถึง ผู้ที่ชวนไปนั้นรู้อยู่แล้วว่าต้องไปเก็บบริเวณใด เพราะเคยมาเก็บผลไม้แล้ว จึงรีบเก็บผลไม้ให้คุ้มทุนโดยไม่บอกเพื่อนที่ชวนไป ผมอยากให้แรงงานคิดถึงส่วนได้ส่วนเสียและหาข้อมูลให้ดีก่อนไปทำงานเพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมา" นายสุภัทกล่าว
หนี้แรงงานพุ่ง 9.1 หมื่นบาท
เดลินิวส์ (27 เม.ย.53) -
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยา ลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย 1,212 ตัวอย่าง กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน พบว่ามีการก่อหนี้ในปี 53 เฉลี่ย 91,000 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากการก่อหนี้ในปี 52 เฉลี่ย 87,300 บาท ซึ่งการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เพราะสินค้าแพง อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ราคาน้ำมันแพงขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของภาคแรงงานในปีนี้ลดน้อยลงกว่าปีที่แล้ว
ทั้งนี้เมื่อสอบถามทรรศนะต่อผล กระทบจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบปัญหาการเมืองทำให้เศรษฐกิจแย่ลงถึง 82.6% และมีผลกระทบต่อองค์กรหรือสถานประกอบการถึง 99.2% ซึ่งสถาน การณ์การเมืองทำให้ภาระหนี้สินของกลุ่ม ตัวอย่างเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้เท่าเดิมและ ยังเห็นว่างานที่ทำอยู่อาจไม่มั่นคง เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูงขึ้น รายได้ลดลง แต่ยังมีสัญญาณที่ดีขึ้น
สำหรับสิ่งที่ภาคแรงงานต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือการเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานเพิ่มอีกวันละ 7 บาทในช่วงวันแรงงาน เพิ่มสวัสดิการ ลดการหักเงินประกันสังคม ดูแลและช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอาเปรียบ และแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข คือ ปัญหาการเมืองมากสุดถึง 39.1% รองลงมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
ปัญหาหนี้แรงงานจะถูกเยียวยาจากมาตรการทางเศรษฐกิจ เพราะสิ่งที่แรงงานเรียกร้องคือให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงวันละ 7 บาท ซึ่งเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่รัฐตั้งเป้าขยายตัว 3-3.5% ถือว่าการขึ้นค่าแรง 7 บาท มีอัตราขยายตัวแค่ 3% กว่าเท่านั้น สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ในการปรับขึ้นค่าแรงกลางปี โดยในปีนี้ไม่น่าจะเกิดปัญหาว่างงานที่รุนแรง เพราะในบางอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานแม้สถานการณ์การเมืองอาจมีผลต่อ เศรษฐกิจบ้าง แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะปลดคนงาน.
ครม.ทุ่ม 5 พันล้าน อุ้มผู้ประกอบการราชประสงค์ เยียวยาพนักงาน ราชประสงค์
แนวหน้า (27 เม.ย. 53)
- นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการ ชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์และผ่านฟ้า ดังนี้ 1.ขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้ นิติบุคคล(ภงด.50) จากที่กรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.52 และต้องยื่นชำระภาษีภายในวันที่ 30 พ.ค.53 ทั้งนี้ได้ขยายระยะเวลาไปถึง 30 ก.ย.53 2.การขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.30) ซึ่งปกติกำหนดให้ชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เห็นสมควรขยายการยื่นแบบฯออกไป 2 เดือนนับจากวันที่สิ้นสุดวันชุมนุม โดยจะมีการพิจารณาสำหรับการยื่นคำร้องเฉพาะราย 3.การขยายระยะเวลายื่นแบบภาษีเงินหัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1,ภ.ง.ด.3) ปกติให้ชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป เห็นสมควรขยายการยื่นแบบฯออกไป 2 เดือน นับจากวันสิ้นสุดวันชุมนุม โดยจะมีการพิจารณาสำหรับการยื่นคำร้องเฉพาะราย
นายวัชระ กล่าวว่า ครม.อนุมัติมาตรการด้านสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ย่านราชประสงค์ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทางการเมือง โดยกระทรวงการคลังเน้นว่าเป็นผู้ประกอบการรายย่อย พื้นที่ราชประสงค์ประตูน้ำ ผ่านฟ้า อาจครอบคลุมถึง สีลม และใกล้ๆ บ้านนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งหมดเข้าข่ายมาตรการสินเชื่อโดยเอสเอ็มแบงค์ มีวงเงิน 5 พันล้านบาท เอสเอ็มอี ให้กู้ได้ไม่เกิน 3 ล้าน เปลี่ยนแปลงจาก 5 ล้านบาท ระยะเวลาสิ้นสุดการขอสินเชื่อในวันที่ 31 ธ.ค.หรือเต็มวงเงินสินเชื่อ ระยะเวลาการกู้ยืมให้กู้ได้ไม่เกิน 5 ปี ดอกเบี้ย เอ็มแอลอาร์ลบ 3 ต่อปี ตลอดระยะเวลาการให้กู้ยืม โดยปีแรกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น สำหรับหลักประกันคือ ที่ดิน บุคคลธรารมดาหรือนิติบุคคล หรือ ค้ำประกันไขว้
อย่างไรก็ตามมีการตั้งคำถามจาก ครม.หากเป็นผู้ประกอบการติดเอ็นพีแอลจะทำอย่างนั้น รมว.คลังชี้แจงว่าในพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่มีผลประกอบการดี ไม่ติดเอ็นพีแอล ทั้งนี้อาจจะมีการพิจารณาเฉพาะราย
ส่วนมาตรการช่วยเหลือพนักงาน เป็นการยืนยันตามครม.เศรษฐกิจ 5 มาตรการ คือ 1.พนักงานหรือลูกจ้างที่ถูกให้ออกจากงาน หรือยุติการจ้างงานรายวันหรือชั่วคราว ขอให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินชดเชย โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของเดือนมีนาคมเป็นเกณฑ์ 2.พนักงานหรือลูกจจ้างที่ขาดรายได้จากส่วนแบ่งจากการขายและบริการหรือคอมมิส ชั่น ขอให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินชดเชย โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของเดือนมีนาคม เป็นเกณฑ์ 3.พนักงานหรือลูกจ้างที่นายจ้างยังคงรักษาสภาพการเป็นพนักงานหรือลูกจ้างและ ยังคงจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นปกติ ขอให้พิจารณาสนับสนุนแก่นายจ้าง โดยให้คิดจำนวนวันที่รัฐให้เงินสนับสนุนนับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.จนกระทั่งการชุมนุมสิ้นสุด หากรัฐมิสามารถจัดสรรเงินสนับสนุนดังกล่าว ให้กิจการตั้งเป็นยอดเครดิตเพื่อหักการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือภาษี นิติบุคคลที่กิจการต้องนำส่งในอนาคต
4.หากไม่สามารถชดเชยหรือให้การสนับสนุนได้ขอให้พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา หรือเพิ่มค่าลดหย่อนแก่พนักงานและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงสำหรับภาษี ปี 2553 5.ยกเว้นการหักเงินประกันสังคมสำหรับพนักงานและลูกจ้าง และงดการนำส่งเงินกองทุนทดแทนแรงงานสำหรับช่วงระยะเวลาที่เกิดการชุมนุม
ก.แรงงาน เตรียมของบเยียวยาลูกจ้าง เลื่อนจ่ายเงินสมทบประกันสังคม
แนวหน้า (
28 เม.ย. 53) - นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมหามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทาง การเมือง ว่า ที่ประชุมได้ประเมินตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกจ้าง 100,000 ราย นายจ้าง 6,000 ราย ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบจากบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศและแยกราชประสงค์ ทั้งนี้ ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานที่จะให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างที่ ได้รับผลกระทบ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่นายจ้างใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละ 75 ของเงินเดือน และกลุ่มที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้เต็มจำนวน แต่ขาดรายได้เสริมจากงานด้านการบริการ เช่น พนักงานโรงแรม ซึ่งส่วนนี้ที่ประชุมประเมินรายได้ที่หายไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 25 ซึ่งก็จะได้รับค่าชดเชยเท่ากัน โดยทั้ง2 กลุ่มนี้ กระทรวงแรงงงานจะของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลมาชดเชย
นอกจากนี้ยังมีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพี่อขอรับเงินค่าชดเชย และเงินกรณีว่างงงาน จากสำนักงานประกันสังคม และกลุ่มลุกจ้างที่ไม่ใช้ผู้ประกันตน กลุ่มนี้ก็จะใช้หลักการเดียวกันโดยจ่ายเงินชดเชยว่างงงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราเงินเดือนงวดสุดท้ายที่ได้รับเป็นระยะเวลา 30 วัน ทั้งนี้หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจจะมีการปรับเพิ่มระยะเวลาการค่าชดเชยออกไป อีกตามสถานการณ์
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น หาบเร่แพงลอย ทางกระทรวงได้รับข้อมูลจากสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร ว่ามีจำนวนพ่อค้าแม่ค้าที่ลงทะเบียนไว้บริเวณการชุมนุมกว่า 1,500 ราย ในที่ประชุมได้มีมติให้จ่ายค่าชดเชยประมาณรายละ 10,000 บาท โดยประเมินจากรายได้ต่อเดือน ส่วนมาตรการช่วยเหลือนายจ้างในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม ก็จะให้มีการเลื่อนส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม โดยเริ่มจ่ายอีกครั้งในวันที่ 31 สิงหาคม
 “จากการประมานการของหาบเร่แพงลอยรายได้เขาน่าจะหายไปที่รายละ 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประมาณการเท่านั้น แต่ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดต้องได้รับค่าชดเชยที่ใกล้เคียงกับรายได้จริงของ เขามากที่สุด หลักการของเราคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับค่าชดเชยตามจำนวนรายได้ที่หายไปในช่วงที่มีการ ชุมนุม ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน”นายสมเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดจะเสนอให้นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงานรับทราบ และนำเข้าที่ประชุมกับนางอัญชลี วานิชเทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือฝ่ายผู้ประกอบการ ในวันพรุ่งนี้(29 เม.ย.)ที่บ้านมนังคสิลา ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
นครราชสีมา-ขาดแคลนแรงงานกว่าหมื่นอัตรา
ช่อง
3 (29 เม.ย. 53) - ที่หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมากว่า 50 แห่งยื่นหนังสือผ่าน นางสุบงกช วงศ์วิชญาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเรียกร้องให้หอการค้าจังหวัดหาทางช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักรวมแล้วกว่า 10,000 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิตหญิงในอุตสาหกรรมทุกประเภท หลังจากขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมมีลูกค้าจากต่างประเทศสั่งออเดอร์สินค้าเข้ามา เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหอการค้าจังหวัดเตรียมยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวไปยังกระทรวงแรงงานเพื่อ ให้เร่งหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤติแรงงานอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งประสานงานไปยังหอการค้าจังหวัดต่างๆในภาคอีสานเพื่อให้หาทางช่วย เหลืออีกทางหนึ่งด้วย
นายเฉลิมพล เมฆประยูร ประธานชมรมบริหารแรงงานและพัฒนาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และเป็นผู้จัดการแผนกฝ่ายบุคคล บริษัท อัลฟาน่าเทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมายังคงมีความต้องการแรงงานอีกจำนวน มาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีการสั่งออร์เดอร์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2552 ล่าสุดมีการสำรวจความต้องการแรงงานในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมภายในจังหวัด นครราชสีมา เมื่อมีนาคม 2553 พบว่า บมจ.แพนด้า จิวเวอร์รี่ ต้องการ 110 อัตรา, บจก.เอ็น เค แม็กคาทรอนิกส์ ต้องการ 520 อัตรา, บจก.ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ 300 อัตรา, บจก.คาวาซูมิลาบรอทอรี่ (ไทยแลนด์) 20 อัตรา, บจก.ศิริวิต สแตนเลย์ 102 อัตรา, บจก. เอ็ม.เอ็ม ไอ 50 อัตรา, บจก.ชินเอ (ไทยแลนด์) 100 อัตรา, บจก.เจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 500 อัตรา, บจก.อัลฟาน่า เทคโนโลยี (ประเทศไทย) 2,000 อัตรา, บจก.โคราชเด็นกิ 1,000 อัตรา และบจก. ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) 2,000 อัตรา และยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการ์เมนท์ที่ผลิตเสื้อผ้าและอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงภาคบริการที่ยังต้องการแรงงานอีกกว่า 5,000 คน โดยรวมแล้วภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมายังมีความต้องการแรงงานไม่น้อย กว่า 10,000 อัตรา ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ต้องการแรงงานฝ่ายผลิตหญิง เพราะมีการเพิ่มกำลังการผลิตและขยายการลงทุน โดยขณะนี้การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือ ผู้ประกอบการต่างๆต้องจ่ายค่าจ้างต่อวันให้กับพนักงานมากกว่าอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำที่ทางภาครัฐกำหนด การจัดหาสวัสดิการต่างๆให้กับพนักงาน รวมถึงการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษนอกเหนือจากค่าจ้าง เช่น ค่าล่วงเวลา เบี้ยขยัน และค่าครองชีพ ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้พนักงานมาทำงาน ขณะที่แนวทางที่ทางกลุ่มผู้ประกอบการต้องการเสนอให้ภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหาขาด แคลนแรงงานในระยะยาว คือ การทำโครงการสหกิจศึกษาร่วมกับสถานบันการศึกษาต่างๆหรือที่เราเรียกว่าระบบ โรงเรียนโรงงาน โดยกำหนดมาตรฐานการจ่ายเงินตอบแทน สวัสดิการ แก่นักศึกษาในช่วงเวลาการฝึกงาน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาที่จบแล้วสามารถทำงานต่อได้ทันที
นาย แสงเงิน ขาวลิขิต แรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งผลักดันโครงการสห กิจศึกษาให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้มีแรงงานป้อนเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องและเป็น การแก้ไขปัญหาวิกฤติแรงงานได้ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงการเรียนการสอนในสถานศึกษาในระดับอาชีวศึกษาต่อยอดไป จนถึงระดับปริญญาตรี เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมาตอบรับข้อเสนอดังกล่าว แล้ว และคาดว่าจะสามารถปรับปรุงหลักสูตรได้ทันปีการศึกษาหน้าแน่นอน
"สภาลูกจ้าง-สรส."เชียร์อภิสิทธิ์สู้อย่าถอดใจยุบสภา
แนวหน้า (29 เม.ย. 53) -
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.10 น. ได้มีตัวแทนจาก 12 สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นำโดย นายชินโชติ แสงสังข์ เลขานุการคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อมาให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีในการทำงานต่อไป และยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อต่อนายกรัฐมนตรี อาทิ ขอให้ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ   ขอให้ยกเลิกพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 และการขายรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ ขอ ให้ประกาศใช้พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือขอให้ตั้งคณะกรรมการจัดงานวันแรงงาน เป็นคณะทำงานติดตามและประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2553 เป็นต้น นอกจากนี้ยังเชิญให้นายกฯไปเป็นประธานในงานวันแรงงานแห่งชาติด้วย  
นาย ชินโชติ กล่าวต่อนายกฯ ว่า ปีนี้ทางคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ได้รับการอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ประสานงานให้อย่างดีเยี่ยม และวันนี้พวกตนมาเพื่อให้กำลังใจเพื่อให้นายกฯได้บริหารบ้านเมือง และขอให้นายกฯหนักแน่น ต้องฟังเสียงของคนส่วนใหญ่และพวกตนหรือผู้นำแรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ไม่อยากให้นายกฯ ฟังเพียงคนกลุ่มเดียว
ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวของคุณตัวแทนแรงงานดังกล่าวที่มาให้กำลังใจ สำหรับวันแรงงาน รมว.แรงงานก็ดูแลอย่างเต็มที่ และมีประเด็นเรื่องแรงงานอีกมากที่ต้องช่วยกันทำ โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการและความปลอดภัย รวมถึงเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ก็มีการเตรียมงานกันอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องที่เคยมีการเสนอมาเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว
'สมานฉันท์แรงงาน' เรียกร้องบรรเทาทุกข์ลูกจ้าง แจกเบอร์ศูนย์ร้องทุกข์ฯ
ประชาไท (29 เม.ย. 53)
- คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการเร่งด่วนบรรเทาทุกข์ให้กับ ลูกจ้างแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางการเมือง และแจกเบอร์ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯขอรับคำแนะนำเพื่อการช่วยเหลือ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่ทราบกันดีว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองขึ้นครั้งใด กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะส่วนที่ทำงานอยู่ในภาคบริการ เช่นลูกจ้างแรงงานในห้าวร้านต่างๆ ในกิจการโรงแรม ในสถานบริการ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การค้าขายกับต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ด้วยจำนวนลูกจ้างเรือนแสนที่ส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวของเขาด้วย จึงถือได้ว่า นั้นคือวิกฤติร้ายแรงหนึ่งด้านสังคมของไทย
จากเหตุการณ์การชุมนุมในใจกลางย่านธุรกิจสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะ นี้โดยยังไม่มีสัญญาณใดๆว่า จะยุติได้ในเร็ววันเวลาที่ยืดเยื้อมานามนับเดือนส่งผลกระทบไม่เพียงแต่นัก ธุรกิจ การลงทุน ซึ่งมีการแถลงกันอยู่แล้วว่าเสียหายนับแสนล้านบาท แต่ยังส่งผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ไปยังลูกจ้างแรงงาน ซึ่งประกอบอาชีพหลากหลายในย่านธุรกิจสำคัญแห่งนั้น ทั้งพนักงานห้างร้าน และโรงแรมต่างๆรวมทั้งพี่น้องแรงงานนอกระบบ ที่ประกอบอาชีพอิสระทำมาค้าขาย และบริการรับจ้าง ด้วยปริมาณระดับแสนคนแล้วโดยประมาณ โดยที่กระทรวงแรงงานยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนใดๆออกมาเพื่อดูแลเยียวยาบรรเทา ทุกข์ให้กับบรรดาลูกจ้างแรงงานทั้งหลาย
ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการเร่งด่วนที่ชัดเจนในการเข้าไปช่วย เหลือบรรเทาทุกข์ให้กับลูกจ้างแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางการเมือง ในครั้งนี้โดยทันที และในส่วนของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย ขอประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ถึงลูกจ้างแรงงานที่ได้รับผลกระทบที่อาจเกิดจากการถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย หรือได้รับความเดือดร้อนอื่นใด สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำเพื่อการช่วยเหลือต่อไปได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯประจำพื้นที่ต่างๆ” (ตามที่อยู่ และเบอร์โทรด้านล่าง) สำหรับลูกจ้างแรงงานที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และใกล้เคียง สามารถไปติดต่อด้วยตนเองโดยตรงที่เต็นท์กิจกรรมของคณะกรรมการสมานฉันท์แรง งานไทย ในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมนี้ ที่บริเวณท้องสนามหลวง
1 ใน 10 แรงงานคิดฆ่าตัวตายคุณภาพชีวิตไม่ดี-ไม่มั่นคง
โลกวันนี้ (
30 เม.ย. 53) - รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา รองอธิการบดีฝ่ายความร่วมมือและเครือข่ายและอาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากร และสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยการจัดทำรายงานสุขภาพคนไทยปี 2553 เรื่อง "วิกฤตทุนนิยม สังคมมีโอกาส" ในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ปัจจุบันมีประชากรวัยแรง งานกว่า 42.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 67.4 ของประชากรทั้งหมด
รศ.ดร.ชื่นฤทัยกล่าวอีกว่า คุณภาพชีวิตของแรงงานไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อัตราการว่างงานของแรงงานไทยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2 ของแรงงานทั้งหมด และมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นจากปี 2542 ที่มีแรงงานจบระดับอุดมศึกษาร้อยละ 10 เพิ่มเป็นร้อยละ 16 ในปี 2552 ส่งผลให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 21,139 บาทต่อเดือน แต่กลับมีภาวะหนี้สินโดยรวมอยู่ที่ 133,328 บาทต่อครัวเรือน
"ปัญหาที่คุกคามสุขภาพแรงงานไทยทั้งชายและหญิงในทุกช่วงอายุคือโรคเอดส์และเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น จากผลสำรวจเอแบคโพลล์ที่พบว่า 1 ใน 10 ของแรงงานเคยคิดฆ่าตัวตายเนื่องจากคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี อาชีพรับจ้างทั่วไปจะมีสุขภาพจิตต่ำกว่าอาชีพอื่นเพราะไม่มีความมั่นคง ในชีวิต ส่วนข้าราชการและพนักงานรัฐ- วิสาหกิจมีสุขภาพจิตดีที่สุด"
"ไพฑูรย์"เปิดงานวันแรงงาน เรียกร้อง9 ข้อรัฐ
เดลินิวส์ (1 พ.ค. 53) -
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติปี 2553 ในวันนี้ ซึ่งจัดงานที่บริเวณท้องสนามหลวง แทนสนามกีฬาแห่งชาติ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานแทน เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ โดยปีนี้ 12 สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย
1.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้าง 2.ต้องยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้าง ในกรณีค่าชดเชยและรายได้อื่น ๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย 3.ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ให้แก่ลูกจ้าง จากเดิมอายุงาน 10 ปีขึ้นไปจ่าย 10 เดือน เป็นอายุงาน 10 ปีขึ้นไป เพิ่มอีกปีละ 1 เดือน 4.การประกันสังคม เรียกร้อง 3 กรณี คือ รัฐต้องขยาย พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 กรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน ให้มีสิทธิการรักษาพยาบาล เหมือนผู้ประกันตนใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ต้องแก้ไข มาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว และกรณีสงเคราะห์บุตร ที่จ่ายประโยชน์ทดแทนให้บุตรอายุไม่เกิน 6 ปี เป็นอายุไม่เกิน 15 ปี 5.ต้องยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2552 และยกเลิกการขายรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ
6. ต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 7.ต้องประกาศใช้พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 8.ต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบกิจการ โดยนายจ้างสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ และ 9.รัฐต้องตั้งคณะทำงานติดตามและประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2553
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สาเหตุที่ปีนี้ผู้ใช้แรงงานไม่เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากให้นโยบายว่า ค่าแรงขั้นต่ำจะเน้นไปใช้กับแรงงานต่างด้าว สำหรับคนไทยต่อไปจะให้ทุกคนมีรายงานสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยจะให้อบรมที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้แรงงานไทยไม่ได้เรียกร้องอะไรเพิ่ม อีกทั้งเป็นที่น่ายินดี ที่แรงงานทั้ง 3 กลุ่ม คือ สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกันจัดงานอย่างพร้อมเพรียง ทำให้รัฐบาลช่วยเหลือได้เต็มที่
“มาร์ค” ยาหอม “แรงงาน” เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลผลิต ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ
เว็บไซต์แนวหน้า (1 พ.ค. 53)
-  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องในวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ และในปีนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มีการบันทึกเทป คำปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อออกอากาศผ่านรายการโทรทัศน์ตามสถานีต่างๆ สื่อสารไปยังผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ โดยในปีนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พี่น้องผู้ใช้แรงงาน และพี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลาย ในโอกาสที่ “วันแรงงานแห่งชาติ” วันที่ 1 พฤษภาคม ได้เวียนมาบรรจบครบรอบปีอีกวาระหนึ่ง ผมขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีไปยังพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ที่ทำงานด้านแรงงานทุกท่าน
แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลผลิต ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ใช้แรงงานจึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สังคมไทยได้ให้ความสำคัญแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานเช่นเดียวกันกับทุกประเทศทั่วโลก และรัฐบาลก็ตระหนักในความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน จึงมุ่งมั่นดำเนินการให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตลอดมา
สถานการณ์ด้านแรงงานของประเทศไทยในปีนี้ ถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นผลมาจากความตกต่ำอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก ทำให้สถานประกอบการหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบเลิกกิจการ หรือจำเป็นต้องลดการจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่จากการที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งในประเทศและในนานาประเทศได้ทุ่มเทแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งของประเทศไทยและของโลก มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ด้านแรงงานดีขึ้นเช่นเดียวกัน
ตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผู้ใช้แรงงานหลายด้าน ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากผ่านพ้นสภาพวิกฤต โดยมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อชะลอการเลิกจ้าง การดำเนินมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม การขยายระยะเวลาให้ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างได้รับเงินประกันสังคมกรณีว่างงาน จากเดิมไม่เกิน 180 วันเป็นไม่เกิน 240 วัน และการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมชั่วคราว เป็นต้น ในปีนี้ รัฐบาลมีแนวทางในการดำเนินการอีกหลายด้าน เพื่อให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย มีสภาพการจ้างและการทำงานที่ดี มีสวัสดิการที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยในการทำงาน เช่น การส่งเสริมและขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบทั่วประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงาน 24.1 ล้านคน การเตรียมขยายความคุ้มครองประกันสังคมแก่คู่สมรสและบุตรให้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย การเพิ่มสวัสดิการโครงการ "สวัสดิการบ้าน สำนักงานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน" และปรับปรุงพระราชบัญญัติเงินทดแทน พุทธศักราช 2537 พระราชบัญญัติประกันสังคม พุทธศักราช 2553 เพื่อเพิ่มขอบเขตความคุ้มครองและสิทธิของลูกจ้างและผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งกระทรวงแรงงานก็ได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน เมื่อวันแรงงานแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2552 อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย และยังมีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดำเนินการอีกหลายโครงการ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ปี 2553 นี้ จำนวนคนว่างงานจะลดลงจากปีที่ผ่านมาแล้ว การดำเนินงานด้านสวัสดิการแรงงาน การพัฒนาแรงงาน และการแรงงานสัมพันธ์ของรัฐบาล ก็จะได้รับการยกระดับให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ส่วนมาตรการที่รัฐบาลช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานด้านต่างๆ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็ยังคงดำเนินการต่อไป และรัฐบาลได้เตรียมแนวทางดำเนินงานไว้สำหรับอนาคต ซึ่งพี่น้องผู้ใช้แรงงานจะได้รับการดูแล ช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ การพัฒนาระดับฝีมือ และสามารถกลับสู่การจ้างงานได้มากขึ้นด้วย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานในปีนี้ ก็คือ การที่ประเทศไทยต่างก็ต้องประสบกับปัญหาภาวะอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งยาวนาน และมีฝนทิ้งช่วง แม้ว่าจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ก็มีแรงงานในภาคเกษตรจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบ เนื่องมาจากสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานครและบางจังหวัด ในขณะนี้ ทั้งผู้ใช้แรงงานที่เข้าไปร่วมการชุมนุมและผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในสถาน ประกอบการที่มีการชุมนุมต้องหยุดงานหรือถูกเลิกจ้าง ซึ่งในกรณีหลังนี้ แม้ว่ารัฐบาลได้จัดมาตรการช่วยเหลือ ทดแทนหรือแบ่งเบาภาระของพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบแล้วก็ตาม แต่หากสถานการณ์ชุมนุมยังคงยืดเยื้อต่อไป ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อฝ่ายต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นและกำลังดำเนินการแก้ไขให้สถานการณ์คืนสู่ความสงบโดยเร็ว
 “ผมมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า ผู้ใช้แรงงานทั้งปวงมีความรักชาติรักบ้านเมือง ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องผู้ใช้แรงงานจะมุ่งมั่นเป็นพลังที่จะสร้างสรรค์ความสงบสุขให้เกิดขึ้นในชาติบ้านเมืองต่อไป
ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายทราบดีว่าประเทศของเรากำลังประสบปัญหาหลายด้าน ดังนั้น การที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันใช้พลังแห่งความสามัคคี ช่วยกันแก้ไขปัญหาของตนและของชาติเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ สิ่งใดที่พี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงานมีความต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพิ่มเติมรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังและนำมาพิจารณาดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดประเทศชาติ รัฐบาลขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะดูแลแก้ไขปัญหาของประเทศได้ลุล่วง และจะดูแลแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคง โดยยึดหลักของความเสมอภาคและความเป็นธรรม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
สถานการณ์แรงงานไทยมีแนวโน้มดีขึ้น/ว่างงานมี.ค.ลดลง1%
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (
1 พ.ค. 53) - นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวถึง สถานการณ์แรงงานของประเทศว่า จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรในวัยทำงานเดือนมีนาคม 2553 พบว่าผู้อยู่ในวัยแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอยู่ร้อยละ 53.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 37.6 ล้านคน ว่างงาน 370,000 คน รอฤดูกาลทำงาน 320,000 คน และผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน เช่น นักเรียน ชราภาพ หรือเจ็บป่วย 15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ช่วงเวลาเดียวกัน 1 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ประชากรร้อยละ 15 หรือ 13 ล้านคน ทำงานอยู่ในภาพเกษตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณ 550,000 คน อีกร้อยละ 65 ทำงานนอกภาคเกษตร 24 – 25 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 480,000 คน
สำหรับการว่างงานเดือนมีนาคม 2553 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 ลดลงร้อยละ 1 หรือ 340,000 คน ในทุกกลุ่มอายุ การศึกษา และทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาพรวมของสถานการณ์แรงงานไทยดีขึ้น หลังจากมีการว่างงานเพิ่มสูงจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2550 โดยพบว่าเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่2 ของปี 2552 และคาดว่ามีแนวโน้มจะดีขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ จากแรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ และจากภาคการส่งออกที่ดีขึ้น ส่วนปัจจัยที่อาจมีผลกระทบ คือ ภัยแล้ง ราคาน้ำมัน และความขัดแย้งทางการเมือง
กลุ่มกรรมกรแดงฯออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล 4 ข้อ
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (1 พ.ค. 53) -
ในวันนี้ (1 พ.ค.)กลุ่มกรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติวันที่ 1 เมษายน โดยระบุว่า เนื่องในวันกรรมการสากลชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั้งหลายจงสามัคคีกัน ไม่ต้องฆ่ากันตามคำเรียกร้องของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่แสดงตนเป็นผู้รักชาติฝ่ายเดียว ดังนั้นในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
ปัจจุบัน กลุ่มกรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย ขอเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต่อผู้ใช้แรงงาน รัฐบาล และประชาชนดังนี้
1.รัฐบาลต้องยุติการยุยงส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและลุกขึ้นมาฆ่ากันเอง
2.รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง เพราะเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงานอย่างมากมายมหาศาล และทำให้เศรษฐกิจเสียหายทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน
3.รัฐบาลต้องคืนอำนาจประชาชนด้วยการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่และจะเป็นวิถีทางแก้วิกฤติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนนานาอารยะประเทศ
4.ประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนต้องมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net