Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

30องค์กรประชาชนร่อนแถลงการณ์วอนสื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชนว่าอย่าด่วนประนามคนเสื้อแดงในกรณีที่ได้นำสื่อมวลชนเข้าทำการตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬา

นอกจากนั้นในแถลงการณ์ยังย้ำจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงยืนยันหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงและการยุบสภาเป็นทางออกที่จะนำไปสู่การคลี่คลายวิกฤติสังคมไทย
 
**********************************************************************************************************************
แถลงการณ์
แก้ปัญหาความขัดแย้ง-ความรุนแรงทางการเมืองทั้งปวง
ต้องปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
ยุบสภา คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนเท่านั้น
 
วิกฤตการเมืองปัจจุบัน มีแนวโน้มสูงว่านำสู่การล้อมปราบคนเสื้อแดงอีกครั้งหนึ่ง หลังเหตุการณ์การปราบปรามของรัฐที่กระทำต่อคนเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตย ผู้ต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ อสิงหา ปราศจากอาวุธ  เมื่อวันที่ 10 เมษายน และ22 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ หุ่นเชิดของระบอบอำมาตย์ ยังคงยืนยันที่จะแก้ไขปัญหาโดยใช้ความรุนแรงเช่นเดิม ปฏิเสธการเจรจาแก้ไขปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น
 
ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลอภิสิทธิ์กลับกล่าวหาใส่ร้ายว่าคนเสื้อแดง เป็นผู้ก่อการร้าย มีขบวนการล้มเจ้า และฉวยโอกาสกระพือข่าวการที่คนเสื้อแดงได้เข้าตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬา แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เนื่องจากมีทหารซ่อนตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬา  และไม่ได้เข้าตรวจค้นห้องพักผู้ป่วยแต่อย่างใด โดยมีสื่อสารมวลชนที่รับใช้ระบอบอำมาตย์ ช่วยเสริมแต่งเหตุการณ์ให้ดูน่ากลัวเกินความเป็นจริงเพื่อโยนความผิดอันมหันต์ให้คนเสื้อแดง เสมือนคนเสื้อแดงไร้ซึ่งหัวใจมนุษยธรรม
 
เราในนามกลุ่ม องค์กร เครือข่าย ที่เป็นอิสระจากระบอบอำมาตย์และพรรคการเมือง มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย มีความคิดเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้
 
1.ขอเรียกร้องให้สื่อสารมวลชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรต่างๆของเครือข่ายระบอบอำมาตย์ หยุดสร้างกระแสความเกลียดชังให้คนเสื้อแดง ต้องเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ไม่ใช่เพื่อสร้างเรื่องแต่งข้อมูลจนเกินข้อเท็จจริงเกินกว่าเหตุ และต้องฟังเหตุผลในการเข้าตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาของนปช.ด้วยเช่นกัน เพราะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาก็มีสิ่งบอกเหตุถึงความเป็นไปได้ที่มีการใช้โรงพยาบาลจุฬา เป็นที่ซุ่มยิงประชาชนของทหาร      ตลอดทั้งต้องตรวจสอบถึงจุดยืนทางการเมืองของคณะผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาด้วยเช่นกันว่า เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ ? อย่างไร ? หรือถูกรัฐบาลหุ่นเชิดอภิสิทธิ์ใช้เป็นหมากทางการเมืองเพื่อทำลายความชอบธรรมของคนเสื้อแดงหรือไม่?
 
2. เราขอยืนยันว่า รากเหง้าความขัดแย้งทางการเมือง ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานั้น ล้วนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง ที่ไม่ยอมรับกติกาทางการเมือง ตามหลักการประชาธิปไตยในการเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศ ที่มีวาระแน่นอน เคารพว่าทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากัน   ไม่ใช่ให้อำนาจนอกระบบ อำนาจกองทัพ อำนาจอภิสิทธิ์ต่างๆที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด แทรกแซงอำนาจอธิปไตยของประชาชน
 
3 .ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น จึงต้องแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นการปฏิรูปประเทศทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่ไม่ปล่อยให้อำนาจใดๆที่ไม่มีความชอบธรรม ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนได้หยุดการแทรกแซงมีอำนาจเหนืออำนาจประชาชนเสียที   จึงต้องยุบสภา คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์สืบต่อไป เพื่อไม่ให้อำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซงการเมืองไทยที่จะนำพาสังคมไทยสู่ความล้าหลัง เป็นระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอย่างที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น
 
1.  เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน  (คอป.อ.)
2.  เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์น้ำเซิน  (คอซ.)
3.  เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)
4.  เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูค้อ-ภูกระแต  จังหวัดเลย
5.  เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)
6.  แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)
7.  เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง  จังหวัดอุบลราชธานี
8.  กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)
9.  กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา  จังหวัดกาฬสินธุ์
10. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก  จังหวัดอุดรธานี
11. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา  จังหวัดสกลนคร
12. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน  จังหวัดชัยภูมิ
13. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย-แวงใหญ่  จังหวัดขอนแก่น
14. กลุ่มเยาวชนมิตรภาพ  จังหวัดขอนแก่น
15. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น  จังหวัดชัยภูมิ
16. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง  จังหวัดนครพนม
17. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร  จังหวัดยโสธร
18. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
19. แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)
20. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง
21. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู  จังหวัดพิษณุโลก
22. เครือข่ายส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง (คสปล.)
23. สหพันธ์เยาวชนคลองเตย (สยค.)
24. เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย
25. เครือข่ายชุมชนเมืองบ่อนไก่ กทม.
26. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก  จังหวัดร้อยเอ็ด
28. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง  จังหวัดบุรีรัมย์ 
29.กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคใต้
30กลุ่มนักศึกษาภาคเหนือเพื่อประชาธิปไตย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net