Skip to main content
sharethis
กองทุนสุขภาพคน "ไร้สถานะ" ส่อเค้าวุ่นสธ.ขาดความเข้าใจ
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (
5 เม.ย. 53) - นางอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่เริ่มดำเนินการให้สิทธิหลักประกันสุขภาพกับกลุ่มคนไร้สถานะประมาณ 4.7 แสนคน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2553 ซึ่งจนถึงขณะนี้การดำเนินการยังไม่ชัดเจน แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดำเนินการบริหารกองทุนแต่มีกรรมการบางส่วนยังขาดข้อมูล รวมถึงความเข้าใจในรายละเอียด และยังมีการเสนอให้จัดงบให้เฉพาะโรงพยาบาลที่มีปัญหาด้านหนี้สิน แต่สิ่งที่ ครม.อนุมัติคือจัดงบรายหัวจำนวน 2,067 บาทต่อประชากร สำหรับนำไปใช้ในการดำเนินการเรื่องสิทธิสุขภาพ
นางอรพิน กล่าวต่อว่า ยังมีข้อจำกัดเรื่องการจัดระบบฐานข้อมูลและการคุ้มครองสิทธิ ความชัดเจนในเรื่องการลงทะเบียน รวมถึงช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ถ้าประชากรกลุ่มนี้มีปัญหาในการใช้บริการจะทำอย่างไร และยังไม่มีข้อมูลว่า คนที่ได้รับสิทธินี้อยู่ที่ไหนบ้าง แม้ว่าจะมีข้อมูลคนกลุ่มน้อยในเขตเมืองและกรุงเทพมหานคร ถึง 45,000 คน ทำอย่างไรที่จะสามารถเข้าถึง และทำให้เขารู้ว่าได้รับสิทธิสุขภาพแล้ว
ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการตั้งงบบริหารจัดการดังกล่าวเบื้องต้น ของกองทุนซึ่งสูงมาก ประมาณปีละ 24 ล้านบาท เท่ากับว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิจะหายไปจากจำนวนที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณกว่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน   เมื่อเปรียบเทียบกับ สปสช. ซึ่งใช้งบบริหารจัดการไม่ถึง 1% และคณะกรรมการที่ สธ. แต่งตั้งก็มีส่วนร่วมจากกลุ่มคนไร้สถานะน้อยมาก เพียง 1 คนเท่านั้น จึงเสนอว่าคณะกรรมการควรจะเพิ่มสัดส่วนของตัวแทนกลุ่มบุคคลผู้ไร้สถานะทางบุคคลเพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ตัวเลขงบรายหัวจำนวน 2,067 บาทต่อประชากร ที่สปสช.เสนอให้ครม.พิจารณานั้น เป็นการคำนวณจากหลักการเฉลี่ยความเสี่ยงร่วมกับกลุ่มประชากร 47.7 ล้านคน ที่ สปสช.ให้การดูแลอยู่ ซึ่งเป็นการยึดตามหลักการประกันสุขภาพที่ว่า รวมความเสี่ยงและเฉลี่ยความเสี่ยง (pooling risk sharing risk) ดังนั้นตัวเลข 2,067 บาทต่อประชากร แม้จะน้อยกว่างบรายหัวของประชากร 47.7 ล้านคน แต่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะไปเฉลี่ยความเสี่ยงกับประชากร 47.7 ล้านคน แต่เมื่อมติครม.ให้สธ.เป็นจัดการงบกองทุนนี้
ในระยะยาวจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่พอ เพราะมีประชากรจะเฉลี่ยความเสี่ยงในอัตราที่ต่ำ คือ 4.7 แสนคน ทั้งยังเป็นกลุ่มประชากรที่ยากจน สุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดสิทธิสุขภาพก่อนหน้านี้ ดังนั้นงบประมาณต่อหัวจะต้องใช้มากกว่านี้อย่างแน่นอน ในปีแรกอาจจะไม่มีปัญหา เพราะการเข้าถึงบริการสุขภาพยังน้อย แต่ปีต่อไปงบประมาณจะไม่เพียงพอแน่นอน เพราะประชากรกลุ่มนี้รับรู้สิทธิย่อมจะเข้าถึงบริการมากขึ้น
ส่วนการตั้งงบบริหารจัดการ 3% ของกองทุนนั้น โดยหลักการนั้นถูกต้อง แต่เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะตรงนี้คืองบรายหัวสำหรับบริการสุขภาพ ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ไม่ควรดึงจากงบรายหัวไปใช้ งบประมาณ 24 ล้านบาทต่อปีสำหรับการจัดการ สธ. สามารถหาได้จากงบประมาณส่วนอื่นอยู่แล้ว
จี้บิ๊กร.ฟ.ท.รับ 6 พนักงานกลับศาลแรงงานฯยกคำร้องคัดค้าน
ASTV ผู้จัดการรายวัน (5 เม.ย. 53) -
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2553 ให้ร.ฟ.ท.รับพนักงาน 6 ราย ที่ถูกไล่ออกเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2552 กลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และต่อมา ร.ฟ.ท.ได้ยื่นคำร้องศาลแรงงานกลางขอคุ้มครองในการปฏิบัติตามคำสั่งของครส.โดยมีนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 6 คน ในคดีหมายเลขดำที่ 1099/2553 ซึ่งได้ศาลได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2553 ให้ยกคำร้องดังกล่าว
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ยื่นอุทธรณ์มติครส.ที่ให้รับพนักงาน 6 คน กลับเข้าทำงานประกอบด้วย 1. นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม พนักงานรถจักร 2. นายประชานิวัฒน์ บัวศรี พนักงานรถจักร 3. นายธวัชชัย บุญวิสูตร ช่างเครื่อง 4. นายสรวุฒิ พ่อทองคำ ช่างเครื่อง 5. นายสาโรจน์ รักจันทร์ ช่างเครื่อง6. นายนิตินัย ไชยภูมิ นายสถานีบางกล่ำ ฝ่ายการเดินรถ โดยสาเหตุที่ถูกไล่ออกคือ กระทำการละทิ้งหน้าที่มีพฤติกรรมขัดขวางการเดินรถไฟไม่ให้เป็นไปตามปกติ
โดยร.ฟ.ท.ระบุว่า ครส.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยและออกคำสั่งให้ร.ฟ.ท.บุคคลทั้ง 6 เข้าทำงานได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 และระบุว่า คำสั่งของครส.ทำให้ร.ฟ.ท.ได้รับความเสียหายต่อระบบการบริหารงานบุคคลในการพิจารณาโทษทางวินัย เนื่องจากได้ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543มาตรา 37 (1) (2) (3) (4) และ (5) ร.ฟ.ท.ไม่อาจไว้วางใจในการทำงานได้
นายสาวิทย์ แก้วหวานประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือถึงนายยุทธนา ทัพเจริญผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 53 ที่ผ่านมา ขอให้รับพนักงาน 6 รายซึ่งเป็นกรรมการสร.รฟท.สาขาหาดใหญ่กลับเข้าทำงานโดยสหภาพฯ เห็นว่าร.ฟ.ท.ควรสร้างบรรยากาศแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างเพื่อความก้าวหน้าของร.ฟ.ท.ซึ่งมติครม.ที่มีคำสั่งให้รับทั้ง 6 คนกลับทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมภายใน 30 วัน นับแต่วันรับคำสั่งซึ่งร.ฟ.ท.รับทราบเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 53 นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการรับ 6 คนกลับทำงานในขณะที่การออกมารณรงค์เรื่องความปลอดภัยของพนักงาน 6 คน จนทำให้ถูกไล่ออกโดยไม่เป็นธรรม
"หลังครส.มีมติให้รับ 6 พนักงานกลับทำงานใน 30 วันนั้น ร.ฟ.ท.ได้ยื่นอุทธรณ์ขอคุ้มครองคำสั่งดังกล่าว และฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งครส.ด้วยซึ่งเมื่อศาลยกคำร้องไม่รับคุ้มครอง ร.ฟ.ท.ต้องรับ 6 คนกลับทันที เพราะถึงวันนี้ เลยกำหนดภายใน 30 วันนับจากครส.มีมติแล้ว อย่างไรก็ตามตามขั้นตอนร.ฟ.ท.ยังสามารถยื่นฎีกาได้อีก แต่เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วก็น่าจะปฏิบัติตามเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร" นายสาวิทย์กล่าว
ชงทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำแรงงาน 3 จังหวัดรอเฮ
เว็บไซต์ไทยรัฐ (5 เม.ย. 53) -
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 7 เม.ย. กระทรวงแรงงานจะขอความเห็นชอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดแม่ฮ่องสอน สุโขทัย เชียงราย เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี ตามข้อสังเกตของที่ประชุม ครม. โดยขอความเห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ 5 จังหวัด ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาทบทวน ถึงแม้จะไม่เป็นไปตามหลักการที่คณะกรรมการค่าจ้างเคยปฏิบัติที่ผ่านมาที่ได้มีการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคมของทุกปี แต่ได้มีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงาน เป็นประจำทุกเดือน หากพบว่าสถานกาณ์เปลี่ยนแปลง ส่งผลกรทะบต่อภาวะค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรงก็จะมีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้น เมื่อกระทรวงแรงงานแจ้งข้อสังเกตของ ครม.ให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดแม่ฮ่องสอน อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ ใมนอัตรา 2-3 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนอีก 2 จังหวัดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดในปัจจุบันเหมาะสมอยู่แล้ว ประกอบกับรายงานเศรษฐกิจไทยของหลายสำนักมีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงปลายปี 2552 และต้นปี 2553 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาวะค่าครองชีพของประชาชนปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ประกอบกับมาตรการช่วยค่าครองชีพของรัฐบาล 6 มาตรการ และค่าเล่าเรียนทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลงอีกทั้งภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข่าสู่ภาวะปกติส่งผลให้ภาวะการจ้างงานเริ่มดีขึ้น
ก.ต่างประเทศ-จ.ตากร่วมสางปัญหาแรงงานต่างด้าวชายแดน
ฐานเศรษฐกิจ (
5 เม.ย. 53) - ประชุมร่วมผู้บริหาร กระทรวงบัวแก้ว-จ.ตาก เสนอแก้ไขปัญหา เขตแดน ความสัมพันธ์ไทย-พม่า พร้อมหนุนการก่อสร้างเส้นทาง แม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก และการจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว(พม่า) ขณะที่ชายแดน อ.ท่าสองยาง ยันส่งกลับผู้อพยพ พร้อมปิดศูนย์ชั่วคราว
เมื่อเร็วๆนี้ นายสุรทิพย์ กีรติบุตร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้บริหารจากกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปประชุมกระทรวงการต่างประเทศสัญจร(บัวแก้วสัญจร) ร่วมกับ นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชนสภาอุตสาหกรรมตาก-หอการค้าจังหวัดตาก นำปัญหาต่างๆเกี่ยวกับชายแดนไทย-พม่า เข้าหารือ รวมทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน ระหว่างประเทศไทยและพม่า การพัฒนาเส้นทางสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก" อีสต์เวตส์อีโคโนมิกคอร์ริดอร์" ดานัง-มุกดาหาร-แม่สอด-เมียวดี
นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าฯจ.ตาก เปิดเผยว่า จังหวัดตากได้เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศ ประสานรัฐบาลพม่า ในเรื่องของความร่วมมือโครงการการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2. , การก่อสร้างถนนเชื่อมต่อ แม่สอด-เมียวดี-กอกาเรก เพื่อพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้า-การคมนาคม-การท่องเที่ยว ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ทางด่านแม่สอด-เมียวดี ในทุกๆด้าน
ในส่วนของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาเขตแดน 2 ฝั่งริมแม่น้ำเมย และพื้นที่พิพาท ให้เร็วที่สุด เช่นเกาะกลางแม่น้ำเมย "โนแมนแลนด์" ใต้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า รวมทั้งการขยายร่องน้ำและการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม ระหว่างประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาของผู้อพยพ-การจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว
"ในที่ประชุมนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะรับข้อเสนอและข้อพิจารณาทั้งหมดไปทำการประชุมหารืออีกครั้งรวมทั้งการเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้พิจารณาแก้ไขปัญหาและสนับสนุนในการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างประเทศทางชายแดนไทย-พม่า แม่สอด-เมียวดี ต่อไป"
ด้านสถานการณ์ชายแดนไทย-พม่า อ. แม่สอด พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 แม่สอด กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ที่บ้านหนองบัวและท้ายถ้ำแม่อุสุ ชายแดนไทย-พม่า อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้สมัครใจเดินทางกลับประเทศทั้งหมดที่เหลืออยู่ กว่า 600 คน
โดยก่อนเดินทางกลับนั้น UNHCR และองค์กรช่วยเหลือผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงด้านอาหาร เครื่องอุปโภค-บริโภค TBBC ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนนานาชาติ NGO ได้มาสำรวจและสอบถามถึงความสมัครใจในการเดินทางกลับประเทศของตัวเอง จึงได้ให้เดินทางกลับตามความสมัครใจ โดยองค์กร TBBC   จะให้การช่วยเหลือข้าวสารและเครื่องอุปโภค-บริโภค นับจากเดินทางกลับไปประเทศจำนวน 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และในช่วงที่ผู้อพยพ กลับไปทำกินในถิ่นฐานบ้านเกิดและภูมิลำเนาเดิมของตัวเอง สำหรับผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง กลุ่มนี้ ได้หนีภัยจากการสู้รบมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 อาศัยชั่วคราวในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านหนองบัวและท้ายถ้ำแม่อุสุ อ.ท่าสองยาง รวม 2 แห่ง ตั้งแต่ปี 2552 ขณะนี้เหตุการณ์การสู้รบได้สงบและไม่มีอันตราย จึงต้องการที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาบ้านเกิดของตัวเองด้วยความสมัครใจ โดยจะเริ่มทยอยเดินทางกลับตั้งแต่บ่ายวันที่ 2 เมษายน นี้เป็นต้นไป
แนะรัฐผุดนโยบายรับมืออีก 10 ปีคนแก่เพิ่ม 12 ล้าน
โพสต์ ทูเดย์ (6 เม.ย. 53) -
นายสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาส 3 ปี2552 พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 7.71 ล้านคน
ทั้งนี้ ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุระหว่าง 60-69 ปี ที่ยังคงทำงานประมาณ 3.17 ล้านคน แบ่งเป็นภาคเกษตรกรรม 63% ภาคการค้า14% ภาคบริการ 12% และภาคอุตสาหกรรมการผลิต 9% ทีดีอาร์ไอคาดการณ์ว่า ในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 12.27 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่ต้องทำงาน5.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2 ล้านคนขณะที่การคาดการณ์ในปี 2573 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะพุ่งสูงถึง 17.74 ล้านคน เป็นแรงงานผู้สูงอายุถึง 7 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจตามมา เนื่องจากกำลังแรงงานวัยทำงานจะลดลง ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ระบบบำนาญและระบบบริการสุขภาพจะขาดเสถียรภาพดังนั้นรัฐบาลควรเร่งวางนโยบายในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นด้านนางนงนุช สุนทรชวกานต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุยังต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน โดยประมาณการว่าในปี 2552-2562 จะมีผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเพิ่มขึ้น 5.38% ขณะที่ความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 2.51% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการจ้างงาน เช่น ขยายอายุเกษียณราชการ ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อหนึ่งวันและต่อสัปดาห์ ใช้นโยบายทางด้านภาษีจูงใจให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ จัดหาเงินลงทุนในการประกอบอาชีพให้กับผู้สูงอายุในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ครม.เห็นชอบปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก3จังหวัด
เว็บไซต์คมชัดลึก (7 เม.ย. 53) -
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในอัตราเดิม 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย และเชียงราย และให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากวันละ 151 บาท เป็นวันละ 153 บาท จังหวัดอุทัยธานี จากวันละ 158 บาท เป็นวันละ 160 บาท จังหวัดเพชรบูรณ์ จากวันละ 155 บาท เป็นวันละ 158 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
'ทหารไทย'จับมือสหภาพฯเซ็นสัญญา'ค่าจ้าง-โบนัส'
มติชน (9 เม.ย. 53) -
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีสหภาพแรงงานธนาคารเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องอัตราค่าจ้างว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาตัวแทนฝ่ายบริหารของธนาคารและคณะกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารทหารไทย ได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงสภาพการจ้างงาน ซึ่งมีนางอิงค์วรา แก้วแกมทอง เป็นประธานสหภาพไปแล้ว ตามที่สหภาพแรงงานธนาคารทหารไทยยื่นข้อเสนอต่อธนาคารเพื่อจัดทำข้อตกลงสภาพการจ้างงานเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าธนาคารมีการดำเนินการในด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม ตามความสามารถและสอดคล้องกับตลาด โปร่งใสและเป็นธรรม
นายบุญทักษ์กล่าวว่า ประเด็นหลักของข้อตกลงสภาพการจ้างครั้งนี้ ได้แก่ การนำโบนัสคงที่ 1.5 เดือน มารวมเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนและจ่ายเงินโบนัสเพิ่มเติมตามผลงานของธนาคาร โดยมีการจ่ายเงินสำหรับผลงานประจำปี 2552 เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับมีโครงการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานใหม่ ซึ่งพิจารณาจากความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานตลาด
ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีพนักงานจำนวน 1,671 คน หรือ 20% ของพนักงานทั้งหมด ที่ได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นให้สอดคล้องกับความรู้ความสามารถผลการปฏิบัติงานและตลาด ส่วนพนักงานที่ยังไม่ได้ปรับเงินเดือนนั้น ทางธนาคารจะจัดอบรมเพื่อให้พัฒนาศักยภาพจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด
"นอกจากนี้ มีการปรับลดวงเงินกู้สวัสดิการ 9 เท่า เป็นให้กู้ได้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 8 แสนบาท ตามข้อเสนอของสหภาพฯ เพื่อให้พนักงานมีโอกาสอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง อีกทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถกู้เงินได้ในอัตราเดียวกับลูกค้าทั่วไปของธนาคารด้วย" นายบุญทักษ์กล่าว
เสนอแก้กฎหมายเอื้อต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ
บ้านเมือง (
8 เม.ย. 53) - ผศ.ดร.นงนุช สุนทรชวกานต์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาในโครงการวิจัยการสร้างโอกาสการจ้างแรงงานผู้สูงอายุสนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าในปี 2552 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุทั้งสิ้นประมาณ 7.71 ล้านคนในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานหรือเป็นแรงงานผู้สูงอายุประมาณ 3.17 ล้านคน โดยมีอายุระหว่าง 60-69 ปี โดยแบ่งเป็นภาคเกษตรกรรม 63% ภาคการค้า14% ภาคบริการ 12% และภาคอุตสาหกรรมการผลิต9% และคาดการณ์ว่าในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 12.27 ล้านคน ซึ่งมีผู้สูงอายุที่ต้องทำงาน หรือเป็นแรงงานผู้สูงอายุ 5.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2 ล้านคน
ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ต้องยังชีพด้วยการทำงาน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษา หรือมีการศึกษาระดับต่ำกว่าประถม ขณะที่ 60% ของกลุ่มผู้สูงอายุต้องทำงานต่อเนื่องเพราะเป็นรายได้หลักของครอบครัว จึงต้องทำงานเต็มเวลาไม่ต่างจากคนวัยหนุ่มสาว แต่แนวโน้มความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุยังต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน
โดย ประมาณการว่าในปี พ.ศ.2552-2562 จะมีผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเพิ่มขึ้น 5.38% ขณะที่ความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 2.51% เท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการจ้างงาน เช่น ขยายอายุเกษียณราชการหากยังมีความสามารถทำงานต่อได้ ลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน ใช้นโยบายทางด้านภาษีเพื่อจูงใจให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุจัดหาเงินลงทุนในการประกอบอาชีพให้กับผู้สูงอายุในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
กระทรวงแรงงาน เผย ตำแหน่งงานว่างประจำเดือนเมษายนกว่า 150,000 อัตรา เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นพนักงานฝ่ายผลิตกว่า 110,000 อัตรา
สำนักข่าวแห่งชาติ (
8 เม.ย. 53) - กระทรวง แรงงาน ระบุ มีตำแหน่งงานว่างประจำเดือนเมษายนกว่า 150,000 อัตรา เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นพนักงานฝ่ายผลิตกว่า 110,000 อัตรา
นายพงศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงขาขึ้นของผู้ประกอบการ ที่เร่งผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ ทำให้มีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมการจัดหางานได้รับแจ้งตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบการทั่วประเทศ ประจำเดือนเมษายน 2553 จำนวน 53 สาขาอาชีพ รวมกว่า 159,276 อัตรา แบ่งเป็นเพศชาย 30,532 คน เพศหญิง 17,833 คน และไม่ระบุเพศ 110,911 อัตรา อาทิ ตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายผลิตหรือทั่วไป 3,533 อัตรา วิศวกรและสถาปนิก 1,485 อัตรา พนักงานบัญชี 3,007 อัตรา พ่อครัว 896 อัตรา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล 573 อัตรา โดยมีความต้องการพนักงานฝ่ายผลิตสูงถึง 43,344 อัตรา พนักงานขาย 26,525 อัตรา ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมการจัดหางาน หรือ เข้าไปดูที่ www.doe.go.th หรือโทรสายด่วน 1694 โฆษกกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และผู้ที่กำลังหางานทำ ส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยมีความสงบสุขร่มเย็น ส่วนความเห็นที่แตกต่าง ควรเคารพเหตุผลและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ
นักวิชาการแนะ ซื้อประกันสุขภาพจาก สปสช.แทนการจัดบริการสุขภาพคนไร้สถานะ
สำนักข่าวแห่งชาติ (8 เม.ย. 53) -
นักวิชาการแนะกระทรวงสาธารณสุข ซื้อประกันสุขภาพจาก สปสช.แทนการจัดบริการสุขภาพคนไร้สถานะ แก้ปัญหาการสร้างภาระหนี้ให้โรงพยาบาล
นางอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่กลุ่มคนไร้สถานะ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่เริ่มครอบคลุมสิทธิการรักษา มาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า การดำเนินการดังกล่าวยังไม่ชัดเจน แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เฉพาะ อีกทั้งการเสนอให้จัดงบให้เฉพาะโรงพยาบาลที่มีปัญหาด้านหนี้สิน ถือว่าเป็นการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับสิทธิประโยชน์ เต็มที รายหัว 2,067 บาทต่อประชากร ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยไม่นำไปจ่ายหนี้ให้เฉพาะโรงพยาบาลที่มีปัญหา ซึ่งเชื่อว่าหากยังดำเนินการต่อไปในระยะยาวจะเกิดปัญหาภาระหนี้สิน
ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า การจัดสรรงบกองทุนส่วนของกลุ่มคนไร้สถานะทั้งหมด จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ เพราะมีประชากรเฉลี่ยความเสี่ยงในอัตราที่ต่ำ เพียง 4.7 แสนคน โดยทั้งหมดเป็นกลุ่มที่ยากจน สุขภาพไม่แข็งแรง ไม่เหมือนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่แม้จะมีค่าเหมาจ่ายรายหัวเพียง 2,000 กว่าบาท ดังนั้นจึงเสนอให้หาวิธีบริหารจัดการร่วมกับสปสช.หรืออาจจะซื้อประกันสุขภาพ กับ สปสช. เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอ
มิตซูบิชิยืนยันเริ่มผลิตอีโคคาร์ปลายปี'54 เร่งตั้งโรงงานแห่งใหม่ ชี้จ้างงานเพิ่ม 1,500 คน
พิมพ์ไทย (9 เม.ย. 53)
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่นยืนยันเดินหน้าโครงการอีโคคาร์ในไทย มูลค่าเงินลงทุน 8,000 ล้านบาท คาดเริ่มผลิตในเดือนกันยายน 2554 และเปิดตัวรถช่วงต้นปี2555
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังพบหารือร่วมกับ มร.โนบุยูกิ มูราฮาชิกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย มร.กายู อูเอสุกิ กรรมการบริหาร ด้านกลยุทธ์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่นว่า ผู้บริหารมิตซูบิชิ ต้องการยืนยันเจตนารมณ์ในการลงทุนโครงการ"มิตซูบิชิอีโคคาร์" ในประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตในช่วงเดือนกันยายน 2554 และเปิดตัวรถอีโคคาร์สำหรับตลาดเมืองไทยได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2555
โดยรถรุ่นที่ผลิตตามโครงการนี้ จะใช้แพลทฟอร์มใหม่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดย มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีกำลังการผลิตตามกรอบเงื่อนไขของบีโอไอ ที่กำหนดกำลังการผลิตไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 100,000 คันต่อปี ซึ่งตามแผนการดำเนินงานระยะแรกจะเป็นการผลิตรถโดยปรับสายการผลิตในโรงงานที่มีอยู่ปัจจุบันซึ่งตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ทั้งนี้บริษัทพร้อมที่จะพิจารณาสร้างโรงงานแห่งใหม่ หากผลการสำรวจพบว่ามีความเป็นไปได้ของตลาดในอนาคตมีความต้องการเพิ่มขึ้น "นับเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างบีโอไอ และผู้บริหารของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และมิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งการหารือกันในครั้งนี้ นอกจากการยืนยันถึงการเดินหน้าลงทุนตามโครงการยังเป็นโอกาสดีที่ทำให้ทั้งบีโอไอ และบริษัทจะได้ให้คำปรึกษารายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติมด้วย" นางอรรชกา กล่าว
สำหรับบริษัท มิตซูบิชิ ได้ยื่นขอสนับสนุนการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ กับบีโอไอ ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2550 มีมูลค่าเงินลงทุนตามโครงการ ประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 คน
ก.แรงงาน ขอนายจ้าง ลูกจ้าง ไม่กระทำฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
สำนักข่าวไทย (
9 เม.ย. 53) - กระทรวงแรงงานขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง องค์การนายจ้าง และองค์การลูกจ้าง ไม่กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การปฏิบัติตามข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง องค์การนายจ้าง และองค์การลูกจ้าง ไม่กระทำฝ่าฝืน พ.ร.ก.ดังกล่าว ดังนี้ 1. ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ข้าง ต้น 2. ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
3. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด 4. ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใด ๆ และ 5. ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net