Skip to main content
sharethis

24 มีนาคม 53
รบ.พม่าสั่งเจ้าหน้าที่พม่าออกจากเขตควบคุมของว้า
กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army-UWSA) เรียกประชุมด่วนหลังรัฐบาลพม่าสั่งให้ชาวพม่าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานเอ็นจีโอ และประชาชนพม่า ออกจากเมืองป๋างซาง ซึ่งเป็นเขตควบคุมของกองทัพสหรัฐว้าเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา 

การประชุมในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมมากกว่า 200 คน โดยในที่ประชุมได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยระบุว่า การย้ายเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่จำนวนมากไม่ได้หมายถึงจะมีการสู้รบอย่างที่ประชาชนกำลังหวาดกลัว แต่เป็นเรื่องภายในของรัฐบาลพม่าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ จึงไม่ควรตื่นตระหนก และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กองทัพว้าจะอยู่เคียงข้างประชาชน

จนถึงขณะนี้พบว่า มีชาวพม่าราว 80 เปอร์เซ็นต์ได้เดินทางออกเขตพื้นที่ควบคุมของว้าแล้ว นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนที่หวาดกลัวว่าจะมีการสู้รบเกิดขึ้นก็ได้หนีข้ามชายแดนไปยังประเทศจีนแล้ว 

ขณะที่จีนเรียกร้องให้พม่าส่งเจ้าหน้าที่ชาวพม่ากลับเข้าไปทำงานในเขตว้าตามเดิม แต่ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากรัฐบาลพม่า มีรายงานว่า จีนเองแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างว้าและรัฐบาลพม่า ด้านว้าออกมาประกาศพร้อมยืนอยู่เคียงข้างประชาชนของตนเอง (www.shanland.org)


26 มีนาคม 53 
พระสงฆ์อาระกันพิทักษ์สันติราษฎร์ จับตำรวจขี้เมาอาละวาดในงานวัด
รัฐอาระกัน – เกิดเหตุปะทะกันระหว่างพระสงฆ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าในงานวัดแห่งหนึ่งในเมืองมงดอว์ หลังตำรวจปราบจลาจลพม่ากลุ่มหนึ่งเมาสุราและทำร้ายร่างกายประชาชนที่มาเที่ยวงาน พระสงฆ์ที่อยู่บริเวณนั้นได้ช่วยกันเข้าไปห้ามปรามจึงเกิดการปะทะกันขึ้น ท่ามกลางสายตาประชาชนจำนวนมาก  

โดยพระสงฆ์สามารถจับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายที่ก่อเหตุ โดยถูกมัดไว้บริเวณลานจัดงาน ก่อนที่จะส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ในรุ่งเช้าของอีกวัน 

พระสงฆ์ที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า ทนไม่ได้กับพฤติกรรมของตำรวจที่ไปทำร้ายชาวบ้าน และหากไม่เข้าไปห้ามปรามก็จะทำให้การจัดงานไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุยังไม่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเอาผิดหรือแก้แค้นพระสงฆ์แต่อย่างใด ขณะที่ประชาชนส่วนมากสนับสนุนการกระทำของพระสงฆ์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ (Narinjara)

แรงงานข้ามชาติถูกนายหน้าไทยหลอก - สูญเงินนับแสน 
แรงงานข้ามชาติจากพม่าใน จ.ระนองกว่า 100 คน ถูกบริษัทนายหน้าหลอกลวงโดยเรียกเก็บเงินจากแรงงานคนละ 4,800 บาท เป็นค่าว่าจ้างดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ จากนั้นได้ปิดตัวลงและหนีไปไม่สามารถติดต่อได้ พร้อมกับเงินที่เก็บรวบรวมจากแรงงานทั้งหมดกว่า 5 แสนบาท 

แรงงานที่ตกเป็นเหยื่อเปิดเผยว่า บริษัทดังกล่าวอ้างว่า แรงงานสามารถรับหนังสือเดินทางอนุญาตให้เข้ามาทำงานในไทยได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางข้ามไปพิสูจน์สัญชาติในฝั่งพม่า และแรงงานที่ไม่มีบัตรกรมแรงงานก็สามารถรับหนังสือเดินทางได้ ถ้าหากว่าจ้างบริษัทดังกล่าวดำเนินการให้ เป็นเหตุให้มีแรงงานหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ขณะที่นายโก่วิน แรงงานพม่าอีกคนที่ตกเป็นเหยื่อกล่าวว่า เขาไม่รู้ว่าจะได้ขอความช่วยเหลือได้จากใคร 

ด้านกลุ่มเพื่อสิทธิแรงงานออกมาระบุ แรงงานข้ามชาติยังขาดความรู้และข้อมูลเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งกฎหมายได้ช่องโหว่ที่เอื้อต่อให้บริษัทนายหน้าสามารถเอาเปรียบแรงงาน ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า นโยบายการพิสูจน์สัญชาติยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับแรงงานข้ามชาติจากพม่า (Irrawaddy)  
 

29 มีนาคม 53
บังกลาเทศรบเร้าจีนช่วยกดดันพม่าแก้ปัญหาโรฮิงยา
รัฐบาลบังกลาเทศได้ร้องขอไปยังรัฐบาลจีนช่วยกดกันรัฐบาลพม่า ให้หันมาสนใจและร่วมมือแก้ปัญหาชาวโรฮิงยาร่วมกับบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในค๊อกซ์บาซาร์กลับไปยังพม่า 

นาง Dipu Moni รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบังกลาเทศกล่าวในระหว่างหารือเรื่องความร่วมมือทวิภาคีกับรัฐบาลจีนในปักกิ่ง ว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาเป็นภาระใหญ่ที่บังกลาเทศต้องแบกรับ

นอกจากนี้บังกลาเทศยังเรียกร้องให้ UNHCR หรือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเข้ามาแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาอย่างเร่งด่วน โดยให้เหตุผลว่า บังกลาเทศไม่อาจแบกรับปัญหาผู้ลี้ภัยในระยะยาวได้ เนื่องจากบังกลาเทศเป็นประเทศยากจน 

ทั้งนี้พบว่า มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจำนวนกว่า 4 แสนคนในบังกลาเทศ และส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และกำลังถูกทางการบังกลาเทศ ปราบปรามอย่างหนัก ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ที่พักพิงชั่วคราวของผู้ลี้ภัยรอบค่ายกูตูปาลอง ถูกทางการบังกลาเทศทำลายเสียหายกว่า 100 หลัง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า (Kaladan) 
 

ซูจีอยากเห็นประชาชนและทหารสมานฉันท์
ในวันกองทัพครบรอบ 65 ปี (27 มี.ค.53) ที่ผ่านมา นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาชนและทหารเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งในวันดังกล่าวกองทัพพม่าได้จัดการสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ในกรุงเนย์ปีดอว์ โดยนายพลอาวุโสตานฉ่วยได้กล่าวสุนทรพจน์ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พร้อมระบุว่า ทหารจะเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองทุกเมื่อหากมีเสียงเรียกร้อง 

ในวันเดียวกันที่กรุงย่างกุ้ง สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีและประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการทูตจากชาติอังกฤษ ออสเตรเลียและสหรัฐจำนวนกว่าพันคนได้เข้ามาร่วมงานรำลึกวันกองทัพพม่าด้วยเช่นเดียวกัน (DVB)
 

30 มีนาคม 53 
สหรัฐเคารพการตัดสินใจ NLD ไม่ลงเลือกตั้ง
สหรัฐอเมริกาและยูเอ็นออกมาระบุว่า เคารพการตัดสินใจของพรรคเอ็นแอลดีที่ตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งในปีนี้ ด้านนายบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลพม่าควรจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับกลุ่มการเมืองนอกประเทศหลายกลุ่มที่ออกมาสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี หลังตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้ง 

นายเดวิด ทอ นักการเมืองชาวกะเหรี่ยงและยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการชนกลุ่มน้อย (Ethnic Nationalities Council) ชี้ หากเอ็นแอลดีตัดสินใจลงเลือกตั้ง เชื่อว่าความเชื่อใจที่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆมีให้กับพรรคเอ็นแอลดีก็จะลดน้อยลงไปด้วยเช่นเดียวกัน พร้อมย้ำว่าพรรคเอ็นแอลดีจะยังคงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ยังยืนข้างประชาชนในพม่า และหากพรรคเอ็นแอลดีถูกสั่งยุบพรรคจริงๆ เชื่อว่านานาชาติจะไม่นิ่งเฉย (Irrawaddy)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net