Skip to main content
sharethis

“ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” เห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ล่วงหน้า เป็นการลิดรอนเสรีภาพประชาชน และหากมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในอนาคตเท่ากับรัฐบาลเห็นผู้ชุมนุมเป็นศัตรู จนสถานการณ์อาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงซ้ำรอยเดือนเมษายน

ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มชุมนุมในหลายพื้นที่รอบกรุงเทพฯ เมื่อ 12 มี.ค. ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อ 13 มี.ค. ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลล่วงหน้าก่อนการชุมนุม จึงมีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าถ้ารัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่นในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเมษายนปีที่แล้ว สถานการณ์อาจจะบานปลายไปสู่ความรุนแรงและความขัดแย้งแบบปีที่แล้วหรือไม่

โดยประชาไทได้สัมภาษณ์ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักวิชาการอิสระ ปัจจุบันสอนวิชาทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ให้โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอนวิชาการเมืองและสังคมไทยสมัยใหม่ให้กับโครงการสิทธิ มนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้เขายังเป็นผู้แปลหนังสือ “รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า” และมีเขียนร่วมเล่มบทความที่ชื่อ “ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา”

 

การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงล่วงหน้าส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพทางการเมืองและพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างไร

เรื่องที่เป็นปัญหาตอนนี้คงมีอยู่ 3 ข้อ ข้อแรกคือ การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในบ้านเรา ต้องไม่ลืมว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีลักษณะของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยธรรมชาติ

เราอยู่ในสังคมที่มีรัฐธรรมนูญที่ยอมรับให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมด้วย หลักใหญ่ของบ้านเมืองคือการยอมรับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม การประกาศใช้กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยตัวมันเองต้องระวังให้มากๆ เพราะเป็นกฎหมายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ นำไปสู่การที่ทหารเข้ามาจัดการรักษาความสงบเรียบร้อย นำไปสู่การควบคุมข่าวสารได้ นำไปสู่การควบคุมพื้นที่ต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น มันเป็นกฎหมายที่โดยตัวเองละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ในหลายๆ ประเทศ ในหลายๆ สังคม เวลาจะใช้กฎหมายแบบนี้จะยึดหลักว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนคือเรื่องที่สำคัญอันดับหนึ่ง ถ้าเกิดจะมีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ต้องใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นอย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น นั่นคือ

หนึ่ง จะต้องมีเหตุอันปรากฏชัดว่าจะเกิดความรุนแรงที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ นั่นคือ ต้องไม่ใช่เป็นการคาดเดา คิดไปเองหรืออ้างการรายงานข่าวว่าจะมีเหตุ ทำอย่างนี้ไม่ได้

ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหา ข้อที่สอง คือ การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเกิดขึ้นโดยรัฐบาล ซึ่งในกรณีที่รัฐบาลกับประชาชนเป็นคู่ขัดแย้งกันเอง มีโอกาสอย่างมากที่รัฐบาลจะใช้กฎหมายแบบนี้ โดยยึดผลประโยชน์ของรัฐบาลเอง มากกว่าจะยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือของประชาชนจริงๆ เพราะฉะนั้นในหลายๆ ประเทศ ในเวลาที่จะมีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เขาจะบอกว่าอำนาจในการประกาศต้องไม่อยู่ที่รัฐบาลฝ่ายเดียว บางที่บอกว่าต้องอยู่ที่รัฐสภาด้วย บางประเทศบอกว่าศาลต้องเป็นคนสั่ง หรือบางประเทศบอกว่าต้องมีองค์กรอิสระเข้ามาแชร์อำนาจในการออกกฎหมายด้วย เพราะการใช้กฎหมายนี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ

เพราะฉะนั้นการละเมิดสิทธิเสรีภาพจะต้องเป็นหลักยกเว้น หลักทั่วไปคือต้องคุ้มครองสิทธิ เพราะฉะนั้น การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในกรณีที่รัฐเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ในหลายๆ ครั้งควรป้องกันไม่ให้รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดในการประกาศใช้ เพราะมันมีโอกาสมากที่รัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายแบบนี้โดยยึดถือผลประโยชน์ของรัฐบาลเอง

และข้อสามที่สำคัญคือ การประกาศใช้กฎหมายแบบนี้ต้องถูกสังคมตรวจสอบย้อนหลังได้ ต้องยอมให้มีการฟ้องศาลปกครอง-ศาลรัฐธรรมนูญได้ ว่าการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.แบบนี้ดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า หรือต่อให้ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องถูกตรวจสอบได้ว่าเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลเองหรือเปล่า เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า รัฐบาลจะไม่ใช้กฎหมายแบบนี้เพื่อจำกัดศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล เราต้องยึดหลักว่าสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมคือเรื่องสำคัญ มันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มันคือสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน การประกาศใช้กฎหมายอะไรก็ตามที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิข้อนี้ ต้องทำในเวลาที่มีเหตุจำเป็นจริงๆ ต้องทำอย่างกระชับ อย่างจำกัด ไม่ใช่ทำเป็นการถาวร หรือเป็นแบบทั่วๆ ไป

 

คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ล่วงหน้า

ในกรณีนี้ไม่เหมาะ และรัฐบาลทำผิด เพราะยังไม่มีเหตุการณ์ที่พิสูจน์ได้เลยว่าจะมีความวุ่นวายทางการเมือง หรือการจลาจลเกิดขึ้น การประกาศรอบนี้เหมือนกับรอบที่ผ่านมา คือ แค่เสื้อแดงประกาศชุมนุม รัฐบาลก็ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงแล้ว ไม่มีเหตุอันไหนที่พิสูจน์ได้เลยว่าจะมีความวุ่นวาย ความปั่นป่วนเกิดขึ้น

รัฐบาลไม่ได้ใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่รัฐบาลใช้กฎหมายแบบนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลในการทำให้การชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ปัญหาหลักของการใช้กฎหมายแบบนี้คือ ในทันทีที่มีการประกาศ คนเสื้อแดงที่ชุมนุมตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญผิดกฎหมายทันที และกลายเป็นคนซึ่งตกอยู่ในเงื่อนไขที่จะถูกรัฐบาลจับกุม สลายการชุมนุม หรือสั่งให้ยุติการชุมนุมก็ได้ ซึ่งอันนี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของพวกเขาแล้ว

ในกรณีของบ้านเรา ผมคิดว่าการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยเฉพาะของรัฐบาลชุดนี้ มีปัญหาแบบนี้มาก และเป็นการใช้ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประชาชนกับรัฐบาลมากขึ้น และทำให้เกิดความไม่สบายใจระหว่างประชาชนด้วยกัน ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนในชาติมากขึ้นด้วย

 

ในสถานการณ์ต่อไป ถ้ารัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นอย่างไรต่อ รัฐบาลควรใช้วิธีควบคุมอย่างไร

ถ้ามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผมคิดว่ามีความเสี่ยงมากที่จะเกิดความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน ผมยกตัวอย่างว่า ตอนที่ผมเดินทางจากบ้านมาที่นี่ ผมต้องผ่านราชดำเนิน เจอทหารตั้งหน่วยรักษาการอยู่อย่างน้อย 2-3 จุด จุดหนึ่งคือตรงโรงเรียนพาณิชย์พระนคร อีกจุดคือ หัวมุมถนนราชดำเนิน คำถามคือ ถ้ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมีผู้ชุมนุมอยู่บริเวณนั้นจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือ มันมีโอกาสมากที่จะเกิดการปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม เพราะทหารก็เชื่อว่าตนเองมีอำนาจตามกฎหมายในการรักษาพื้นที่ตรงนั้นไว้ ขณะที่ผู้ชุมนุมก็เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น เมื่อประกาศ พ.ร.บ.ฉุกเฉินปุ๊บ ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ประชาชนกับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันด้วย

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในทางการเมืองหรือการรักษาความมั่นคง ผมเห็นข้อเสียของมันมากพอๆ กับข้อดี อย่างตอนเดือนเมษายน 52 ถ้าจำได้ การปะทะระหว่างประชาชน หรือความตึงเครียดระหว่างประชาชนเกิดมากๆ หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ก่อนหน้านั้นมีการชุมนุมก็จริง แต่ไม่มีเหตุที่เราจะพูดว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้น ความวุ่นวายเกิดขึ้นเพราะมีประกาศ พ.ร.ก. และประชาชนที่ชุมนุมรู้สึกว่ารัฐบาลมองเขาเป็นศัตรูของชาติ มันเลยนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น และในขณะเดียวกัน การประกาศ พ.ร.ก.ทุกคนก็รู้ว่ามันนำไปสู่การที่รัฐยอมให้นำกำลังทหารมาใช้ในการชุมนุม วันนั้น พอมีการประกาศ พ.ร.ก.ปุ๊บ ผู้ชุมนุมทุกคนรู้สึกว่ารัฐบาลจะเอารถถัง ทหารมาปราบเขาแน่ๆ และวันนั้นก็มีการเอาเคลื่อนกำลังทหารที่ติดอาวุธมาด้วย

เพราะฉะนั้น พอประกาศ พ.ร.ก.ปุ๊บ ผู้ชุมุนมก็เกิดความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ และรู้สึกว่าต้องทำหลายๆ เรื่องเพื่อป้องกันตัวเองจากการปราบของเจ้าหน้าที่ การประกาศ พ.ร.ก. นำไปสู่การเผชิญหน้าที่ไม่จำเป็น เจ้าหน้าที่ก็คิดว่าตัวเองมีอำนาจตามกฎหมายในการปราบในการควบคุม ขณะที่ประชาชนซึ่งชุมนุมอย่างสงบก็รู้สึกว่าเขาชุมนุมอย่างสงบ ทำไมเจ้าหน้าที่จะต้องมาปราบเขา เขาก็จะมองเจ้าหน้าที่ในแง่ลบ และรู้สึกว่าต้องต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ต้องป้องกันตัวเองจากเจ้าหน้าที่

ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกว่าความรุนแรงในเดือนเมษายน มันเกิดขึ้นในโจทย์ใหญ่แบบนี้ คือ ประกาศ พ.ร.ก.จนประชาชนกับเจ้าหน้าที่เกิดความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าต้องใช้กำลังจัดการอีกฝ่าย

นี่คือเรื่องของ พ.ร.ก.ที่สำคัญ คือมันทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้สึกว่า ตัวเองมีความชอบธรรม ทั้งในทางการเมืองและทางกฎหมาย ในการควบคุมพื้นที่และสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว มันเป็นชนวนของความขัดแย้งและการควบคุมพื้นที่ที่รุนแรงมากขึ้นได้

 

หากในอนาคต รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความเห็นและคำแนะนำอย่างไร

ถ้ามีการประกาศ พ.ร.ก. สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการชุมนุมทั้งหมดกลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

คำถามคือการผิดกฎหมายเป็นความผิดโดยตัวมันเองจริงๆ หรือผิดกฎหมายเพราะรัฐบาลไปออกคำสั่งให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในกรณีเสื้อแดงเป็นอย่างหลังคือ โดยตัวการชุมนุมไม่ได้ผิดกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องซึ่งจริงๆ แล้วประเทศที่เจริญแล้วควรสนับสนุนด้วยซ้ำ เพราะรัฐธรรมนูญยอมรับสิทธิของประชาชนในการชุมนุม เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีหน้าที่ทำตามรัฐธรรมนูญ นั่นคือต้องส่งเสริมให้ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยยอมรับว่าการชุมนุมเป็นการทำหน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ในความเห็นของผม ถ้ามีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจริง ในแง่กฎหมาย ประชาชนผิดกฎหมาย แต่ในแง่การเมือง ผมคิดว่าฝ่ายผู้ชุมนุมต้องยืนยันให้ชัดเจนว่า การชุมนุมไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ตัวกฎหมายแบบนี้ต่างหากที่ผิด เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อควบคุมการชุมนุม เพื่อยุติการชุมนุม หรือเพื่อทำให้การชุมนุมเดินต่อไปไม่ได้

ทีนี้ประเด็นคือ ถ้าดูจากบทเรียนในกรณีเดือนเมษายนที่ผ่านมา คือ รัฐบาลพยายามจะอ้างเหตุร้ายต่างๆ ว่าเกิดจากการกระทำของผู้ชุมนุม เพื่อทำให้การออก พ.ร.ก.มีความชอบธรรมมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้คือสิ่งที่ผู้ชุมนุมจะต้องระวังว่า ความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ชุมนุม ทำอย่างไรที่จะไม่ถูกรัฐบาลทำลายลงไป ที่ต้องระวังมากๆ คือ ทำให้การชุมนุมอยู่ในสภาพซึ่งเรียบร้อยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หมายความว่า ผู้ชุมนุมต้องมีระเบียบวินัยมากๆ ต้องหลีกเลี่ยงการปะทะกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะมายั่วยุผู้ชุมนุม หรือเมื่อมีมือที่สามในการชุมนุม หรือเข้ามายุแยงเรื่องต่างๆ ให้ผู้ชุมนุมตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ

ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้ผู้ชุมนุมก็ต้องระวัง เพราะว่าถ้ามีความรุนแรงขึ้นมาเมื่อไหร่ สิ่งที่รัฐบาลจะทำทันทีก็คือ การบอกว่าเห็นไหมว่าผู้ชุมนุมไม่รักษาความสงบ เพราะฉะนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ในการรักษาความสงบ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ สลายการชุมนุมได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน และผมคิดว่าเรื่องนี้ผู้ชุมนุมต้องระวัง ที่ต้องระวังไม่ใช่เพราะการชุมนุมเป็นความผิด แต่เพราะรัฐบาลออกกฎหมายซึ่งผิด มาทำให้การชุมนุมซึ่งถูกกลายเป็นเรื่องผิดไป และใช้ข้ออ้างต่างๆ นานา

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้ชุมนุมในการต่อสู้ให้การชุมนุมเดินหน้าต่อไปได้คือการระวังไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำการชุมนุมก็ต้องช่วยระวัง ด้วยการปราศรัยอะไรที่ทำให้เกิดความฮึกเหิมในหมู่ผู้ชุมนุมจนไปสู่จุดที่ควบคุมไม่ได้ อย่าให้มีมากเกินไป ต้องยึดหลักว่าการชุมนุมที่สันติ ต้องมาจากการสร้างบรรยากาศในการชุมนุมที่สันติด้วย ไม่อย่างนั้น โอกาสที่จะถูกอีกฝ่ายเอาไปเป็นเครื่องมือในการสลายการชุมนุมก็จะเกิดขึ้น และนี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า ไม่มีใครอยากให้เกิด

อย่างเรื่องความกลัวในหมู่ประชาชน ต้องแยกประเด็นให้ชัดๆ โดยมีสามประเด็นที่อยากจะพูดถึงคือ ความกลัวในหมู่ประชาชน มันเกิดขึ้นโดยที่ยังไม่มีเหตุอะไรเลย แต่มีความกลัวกันล่วงหน้าแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลสร้างกระแสแบบนี้ขึ้นมา ผมฟังมา 2-3 เดือนแล้วที่รัฐบาลพูดว่า จะมีการก่อวินาศกรรม จะมีการก่อการจลาจล มีการเผาโน่นเผานี่ รัฐบาลพูดอย่างนี้มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์แล้วว่า วันที่ 26 กุมภาพันธ์ จะมีการล้อมศาล จะมีการจับผู้พิพากษาเป็นตัวประกัน ข่าวแบบนี้มาจากรัฐบาลทั้งนั้น และผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักว่ารัฐบาลอย่ามองคนเสื้อแดงเป็นศัตรูทางการเมืองจนใช้วิธีการข่าวที่ทำลายความสงบสุขของคนทั้งสังคม ผมคิดว่าอันนี้เป็นปัญหามากๆ ว่า รัฐบาลพูดว่าเสื้อแดงจะก่อจลาจล จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ จนคนต้องไปถอนเงินจากธนาคาร ต้องกักตุนสินค้า นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ที่สร้างบรรยากาศความกลัวขึ้นมาเกินกว่าเหตุ เพราะคิดอย่างเดียวว่าคนเสื้อแดงคือศัตรูของรัฐบาล ไม่ยอมคิดว่าคนเสื้อแดงคือคนร่วมชาติที่เห็นต่างกับรัฐบาลแค่นั้นเอง ซึ่งอันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง

ถ้าถามว่าเรื่องอะไรที่เป็นความกลัวที่สำคัญตอนนี้ เรื่องที่ผมกลัวคือ รัฐสร้างบรรยากาศแห่งความสะพรึงกลัวขึ้นมาเอง เพื่อให้ตัวเองมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่ว่าพอทำๆ ไปแล้ว รัฐลืมไปว่าบรรยากาศแบบนี้ตัวเองสร้างขึ้นมาครึ่งหนึ่ง แล้วก็ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือใช้กำลังทหารอย่างรุนแรง อย่างเกินขอบเขต เพราะอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัวที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งมันจะอันตรายมากกว่า ในที่สุดแล้ว ประชาชนที่อยู่ในสภาพแบบนี้จะต้องฟังหูไว้หูมากในหลายๆ เรื่อง เช่นเวลามีข่าวว่าจะมีการวินาศกรรม 33 จุด แล้วมีการส่งข่าวทั้งวันทั้งคืน โดยสามัญสำนึก เราก็รู้ว่ามีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ทหารเฝ้าทุกสี่แยก ใครจะไปทำแบบนั้นได้ ถ้ามีการทำแบบนั้นได้ ผมเชื่อว่ารัฐจะต้องมีส่วนรู้เห็น เราต้องคำถามว่า รัฐมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือเปล่า เพื่อให้เกิดสถานการณ์บางอย่าง เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการยุติการชุมนุม หรือปราบปรามผู้ชุมนุม

เพราะฉะนั้น ความกลัวเกิดขึ้นโดยรัฐสร้าง ถ้าจะยุติเหตุของความกลัวนี้ รัฐต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวายให้มากที่สุด โดยที่ไม่เข้าไปสลายการชุมนุม ไม่เข้าไปปราบปรามการชุมนุม อย่าใช้บรรยากาศของความกลัวนี้เป็นเครื่องมือในการยุติการชุมนุม

 

สังคมไทยจะรับมืออย่างไรเพื่อไม่ให้ทหารใช้ความรุนแรงต่อประชาชน รวมถึงจะรับมืออย่างไรเพื่อไม่ให้ประชาชนแต่ละฝ่ายออกมาปะทะกันเองจนสูญเสียเหมือนเมื่อปีที่แล้ว

การชุมนุมรอบนี้ เรื่องสำคัญที่จะต้องพูดคือ การพูดเรื่องบทเรียนในเดือนเมษายน เหตุการณ์หนึ่งซึ่งรัฐใช้เป็นเครื่องมือได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพมากๆ ในการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน คือ การสร้างบรรยากาศว่ามันเกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคม มีการปะทะระหว่างประชาชนที่จุดต่างๆ มีการบอกว่าเสื้อแดงเข้าไปทำร้ายประชาชนที่นู่นที่นี่ เข้าไปคุกคามชุมชนอื่น จนคนในชุมชนต้องออกมาปกป้องตัวเอง วิธีอธิบายแบบนี้น่าสนใจ เพราะเหมือนรัฐบาลกำลังบอกว่าการใช้อาวุธปืนระหว่างประชาชนด้วยกัน อีกฝ่ายหนึ่งทำได้เพราะทำในนามการปกป้องชุมชน ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามมากๆ

ในการชุมนุมรอบนี้ เราอาจจะต้องพูดให้มากขึ้นว่า ที่สุดแล้วความรุนแรงที่จะสำคัญมากๆ ที่จะถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือ คือการสร้างสถานการณ์ที่เหมือนกับว่า มีประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจคนเสื้อแดง เกิดการยิง ปะทะกัน จนรัฐต้องเคลื่อนกำลังเข้ามายุติการชุมนุม เราจะเห็นภาพอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่นายกฯ พูดถึงการให้คนกรุงเทพฯ รักบ้านเกิดของตัวเอง ออกมาปกป้องชุมชน รองนายกฯ ออกมาพูดว่า คนกรุงเทพฯ จะต้องออกมาเป็นหูเป็นตาแทนรัฐบาล คำแบบนี้เป็นคำซึ่งฝ่ายขวาชอบพูดตลอดเวลาในช่วงหลัง 6 ตุลา 19 ว่าประชาชนต้องเป็นหูเป็นตาให้รัฐ ต้องช่วยเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม นี่คือการใช้คำซึ่งมีปัญหามากๆ เพราะสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนขึ้น

เรื่องที่ต้องคิดในตอนนี้ คือ การปะทะระหว่างประชาชนจะเกิดขึ้นมาได้ในเงื่อนไขแบบไหน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา เรื่องแรก คือ ความแตกต่างทางความคิดระหว่างประชาชน ไม่เคยนำไปสู่การปะทะระหว่างประชาชนด้วยตัวมันเอง ความแตกต่างระหว่างประชาชนเรื่องความคิด ผลประโยชน์ ทำให้คนขัดแย้งกัน แต่มันไม่ค่อยนำไปสู่การปะทะของคนกลุ่มต่างๆ ถ้าไม่มีเงื่อนไขสองอย่างแทรกเข้ามา

เงื่อนไขข้อที่หนึ่งคือ มีความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประชาชนทั้งสองกลุ่มไม่เท่ากัน นั่นคือประชาชนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจน้อยกว่าประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง อาจจะเพราะประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นคนที่มาจากการต่างจังหวัด ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนในกรุงเทพฯ ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่อีกกลุ่มมีรัฐบาลสนับสนุน ฯลฯ

เงื่อนไขข้อที่สอง คือความรู้สึกในประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองถูกกดขี่ ถูกทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ หรือถูกทำให้ด้อยค่ากว่าอีกฝ่ายหนึ่ง จนเขารู้สึกว่าถ้าไม่ใช้ความรุนแรง ถ้าไม่ใช้การฆ่า เขาไม่มีทางเอาชนะฝ่ายนั้นได้เลย

เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลอยากจะรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่ประชาชนจริงๆ หลักที่ต้องยึดคือ หนึ่ง ต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกในหมู่ประชาชนว่าทั้งสองฝ่ายไม่เท่ากัน ต้องไม่ให้ประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่ารัฐบาลอยู่ข้างประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งมาก ต้องไม่ให้ประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่ารัฐบาลเข้าข้างตัวเองและพร้อมสนับสนุนถ้าตัวเองทำร้ายประชาชนอีกฝ่าย รัฐบาลที่ดีต้องไม่ทำให้เกิดสภาพแบบนี้ขึ้นมาเลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าทำขึ้นมาเมื่อไหร่เท่ากับรัฐบาลกระตุ้นให้ประชาชนฆ่ากันขึ้นมาทันที

เรื่องที่สองที่ต้องคิด คือ เวลาที่จะเกิดการปะทะระหว่างประชาชน มีสองเรื่องที่จะต้องพูดคือ ฝ่ายที่จะเริ่มมือใช้ความรุนแรง หรือฝ่ายที่จะกระทำการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ในเมื่อ

หนึ่ง ฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่าถูกผลักดันให้อยู่ในสถานการณ์ซึ่งไม่มีทางออกเลย สถานการณ์ซึ่งรู้ว่า ถ้าสู้แบบปกติอย่างไรก็แพ้ เพราะฉะนั้นเขาอาจจะจำเป็นต้องสู้ ต้องใช้วิธีรุนแรง เพราะหรือเชื่อว่าถ้ารุนแรง อาจจะมีคนอื่นออกมาช่วยเขา หรือเชื่อว่าถ้าไม่รุนแรงแล้วแพ้ ก็จะถูกอีกฝ่ายทำลายความเป็นมนุษย์ ดูถูกความเป็นมนุษย์ต่อไปในภายหลัง ผมคิดว่าในกรณีแบบนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องป้องกันไม่ให้คนในชาติเกิดความรู้สึกแบบนี้

สอง ความรู้สึกว่าต้องใช้ความรุนแรงจะเกิดขึ้นจากฝั่งผู้มีอำนาจเอง เมื่อผู้มีอำนาจเชื่อมั่นว่า หนึ่ง ตัวเองมีกำลังทางทหารกว่าอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด สอง เชื่อว่าตัวเองมีความชอบธรรมทางอุดมการณ์ที่จะฆ่าหรือใช้ความรุนแรงปราบอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด

เพราะฉะนั้น สำหรับคนในสังคมประชาธิปไตยที่ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าระหว่างประชาชน สิ่งที่เราควรทำ คือ หนึ่ง อย่าให้รัฐบาลมีอำนาจเหนือกองทัพ หรืออย่าให้กองทัพมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการควบคุมการชุมนุมมากเกินไป เพราะจะทำให้รัฐบาลหรือกองทัพมีความมั่นใจในการใช้อำนาจในการปราบอีกฝ่าย สองคือ อย่าให้ท้ายรัฐบาลหรือกองทัพในการปราบปรามประชาชนด้วยกัน ต้องส่งเสียงต้องเตือนสติรัฐบาลกับกองทัพอยู่ตลอดเวลาว่า คนที่มาชุมนุมคือ คนร่วมชาติ คือคนที่เราถูกสอนว่าเขาเป็นคนไทยเหมือนกับเรา เราต้องรักเขา ต้องสามัคคีกับเขา แต่พอเราเห็นคนร่วมชาติที่ต่างกับเราจริงๆ เราจะฆ่าเขา ต้องต่อต้านอุดมการณ์แบบนี้ อย่ายอมรับวิธีคิดแบบนี้แม้แต่นิดเดียว เพราะยอมรับเมื่อไหร่คือการเปิดประตูให้เกิดการฆ่ากันระหว่างคนในชาติขึ้นมา

อีกเรื่องที่สาม ที่อาจจะสำคัญก็คือ ในการปะทะกันระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ หรือเรื่องของการใช้กำลัง หลายๆ กรณีเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครตั้งใจให้เกิด เพราะฉะนั้น ในกรณีของการปะทะหรือทำร้ายกัน ซึ่งไม่ได้มีใครตั้งใจให้เกิดขึ้น จะป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐเองถ้าไม่ต้องการจะปราบปรามผู้ชุมนุมหรือไม่ต้องการใช้กำลังในการทำร้ายผู้ชุมนุม ข้อหนึ่ง ต้องไม่มีการใช้อาวุธสงครามในการควบคุมผู้ชุมนุมเลยอย่างเคร่งครัด ไม่มีการใช้ปืน ไม่มีการใช้อาวุธหนัก รถถัง หรือกองกำลังติดอาวุธ อย่าเอาเจ้าหน้าที่ติดอาวุธมาควบคุมการชุมนุม อย่ามาใช้ปืนแล้วอ้างว่าเป็นกระสุนยาง มันไม่ make sense เพราะในเชิงจิตวิทยา ความหวาดกลัว ความกลัวเกิดขึ้นทันทีที่เห็นปืน เห็นรถถัง รถหุ้มเกราะ ทุกคนก็รู้สึกอยู่แล้วว่ารัฐมองเขาเป็นศัตรู เพราะฉะนั้นเขาจะต่อต้านรัฐขึ้นมาทันที  สอง ในหมู่ผู้นำการชุมนุมก็จะต้องระวังให้มากๆ ว่า การปราศรัย การปลุกระดมหรือการทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า การกำจัดอีกฝ่ายอย่างสิ้นซากคือวิธีเดียวที่จะทำให้เราได้ชัยชนะในทางการเมือง ซึ่งอาจจะไม่จริงเสมอไป ต้องระวังเรื่องพวกนี้

ในกรณีของคนในสังคมต้องเตือนรัฐอยู่ตลอดเวลาว่าคนที่ชุมนุมคือคนร่วมชาติ อย่าให้ท้ายรัฐในการปราบปรามประชาชนอีกฝ่าย ซึ่งเป็นศัตรูกับรัฐบาลหรือคิดต่างกับรัฐบาล ต้องไม่สร้างเงื่อนไขอะไรเลยที่จะทำให้คนในชาติรู้สึกว่า การฆ่าเป็นทางออกทางเดียว

ปกติเวลาที่จะมีการเผชิญหน้า ปะทะกันระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ จะมีคนอย่างน้อยสามฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายแรก คือ ผู้นำหัวรุนแรงของฝ่ายต่างๆ ฮาร์ดคอร์ของฝ่ายผู้ชุมนุม คนในรัฐบาลที่นิยมความรุนแรง ผู้นำในกองทัพที่นิยมความรุนแรง แบบคนเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการปะทะระหว่างประชาชนด้วยกัน หรือประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ผมเชื่อว่ารัฐบาลก็รู้ว่าใครคือรัฐมนตรีที่นิยมความรุนแรงในการปราบปรามการชุมนุม หรือก็รู้ว่า นายทหารของกองทัพคนไหนที่นิยมการใช้ความรุนแรง ถ้ารัฐบาลจริงจังว่าจะไม่ให้เกิดการฆ่ากันระหว่างประชาชนกับรัฐ หรือการฆ่าระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ต้องกันคนแบบนี้ออกไปจากการควบคุมการชุมนุม เพราะยุ่งเมื่อไหร่มันเหมือนกับเอาที่มีปืนและพร้อมจะลั่นกระสุนปืนใส่คนเข้ามาทันที

ข้อสอง ต้องป้องกันไม่ให้มีการเกิดกองกำลังติดอาวุธที่รัฐช่วยเหลือ จนนำไปสู่การปะทะระหว่างประชาชน

ในเดือนเมษายน มีหลายเหตุการณ์ที่เราตั้งคำถาม สงสัย หรือพูดได้อย่างชัดเจนว่ารัฐมีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดการปะทะระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เราเห็นภาพเจ้าหน้าที่ทหารใส่เครื่องหมายกาชาด อยู่ในพื้นที่การชุมนุมแต่มีอาวุธปืน เกิดเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไรภายใต้รัฐบาล ที่เอาสัญลักษณ์กาชาด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพมาใช้ในการปราบปรามประชาชน เราเห็นคนจำนวนมากซึ่งมีอาวุธสงครามแบบรัฐบาล แบบกองทัพ แต่แต่งกายในชุดพลเรือน และอยู่ในที่ชุมนุม แล้วภาพจับออกมาด้วยว่า อยู่ในท่ายิงปืนใส่เข้าไปการชุมนุม เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลยอมให้มีกองกำลังที่ไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบของรัฐแต่ทำหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมได้ เรื่องอย่างนี้ไม่ควรให้เกิดเพราะเกิดปุ๊บมันคือการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองหรือทางการทหารขึ้นมาทันที 

ข้อสาม คือการสร้างหรือการปลุกระดมมวลชนจนคนรู้สึกว่าการใช้กำลังปราบอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องนี้ก็ไม่ควรทำ คำพูดของนายกฯ หรือรองนายกฯ หลายครั้งมีนัยยะแบบนี้คือบอกให้คนกรุงเทพฯ รวมตัวกัน บอกให้คนกรุงเทพฯ จับตามองเสื้อแดง เฝ้าระวังคนเสื้อแดงว่าจะมาก่อการจลาจล ถ้าเรามองในแง่การวิเคราะห์เรื่องความรุนแรง นี่คือการยั่วยุให้คนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งมองคนเสื้อแดงเป็นศัตรู และให้คนกรุงเทพฯ รวมตัวกันเพื่อต่อต้านคนเสื้อแดง อันนี้คือการปลุกระดมมวลชนแบบหนึ่งซึ่งในหลายสังคมนำไปสู่การปะทะระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันได้

โดยหลักการก็คือ ในการชุมนุมคราวนี้ทำอย่างไรก็ตาม ไม่ให้คนธรรมดา ชาวบ้านเหมือนกัน ถูกโครงสร้างสังคม สื่อสารมวลชน หรือกลไกรัฐ หว่านล้อม จนมองว่า การฆ่าประชาชนด้วยกันเป็นเรื่องธรรมดา อย่าทำให้เงื่อนไขแบบนี้เกิดขึ้น และผมคิดว่าสำหรับรัฐบาล ภาระนี้สำคัญ ถ้ารัฐบาลไม่ระมัดระวังรัฐบาลจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดการฆ่ากันระหว่างประชาชนขึ้นมาได้ และผมคิดว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลอยากให้เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net