Skip to main content
sharethis

1.ไม่สมควรกับทุจริต

ที่ผมเขียนไปแล้วคือการตั้งข้อสังเกตว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้บอกว่าทักษิณทุจริต แต่บอกว่าพฤติกรรมของหน่วยงานของรัฐที่มีการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือนั้น เป็นการเอื้อประโยชน์โดยไม่สมควร

จากนั้นก็ระบุว่า เหตุเกิดในขณะที่ทักษิณเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่แท้จริง และมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จึงมีมติว่าทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ถือเป็น “ร่ำรวยผิดปกติ"

ส่วนที่ขาดหายไปคือการพิสูจน์ว่า ทักษิณได้สั่งการหรือมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์หรือเปล่า นั่นคือองค์ประกอบความผิดฐานทุจริต ที่มีโทษทั้งยึดทรัพย์และติดคุก

ที่ตอกย้ำเรื่องนี้ก็เพื่อบอกพวกฟังไม่ได้ศัพท์ คิดว่าศาลตัดสินว่าทักษิณทุจริต แล้วจะเอาอีกๆ ให้เอาเข้าคุก มันคนละคดีนะครับ ถ้าไปถึงเอาเข้าคุก คุณต้องไปหาพยานหลักฐานมาเพิ่มว่าทักษิณสั่งการ หรือแอบสั่งการ แม้ไม่ถึงขั้นใบเสร็จก็ต้องมีน้ำหนักมากพอ พูดง่ายๆว่า ไต่สวนใหม่หมดเพราะเป็นสิ่งที่ศาลนี้ไม่ได้ไต่สวน

เผลอๆ ถ้าไปฟ้องอย่างนั้นแล้วหาพยานหลักฐานไม่เจอว่า “ทุจริต” ก็จะกลับมางงกันใหญ่แบบคดีที่ดินรัชดา

กลับมาที่คำว่า “ไม่สมควร” กล่าวได้ว่าองค์คณะเสียงข้างมาก เห็นพ้องกับข้อกล่าวหาของ คตส. ซึ่งอันที่จริงก็เอามาจากคุณสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ทั้งดุ้นนั่นแหละ (ใครที่ดีอกดีใจกับผลคดียึดทรัพย์ครั้งนี้ควรยกย่องชื่นชมคุณสมเกียรติให้มาก เพราะเป็นวีรบุรุษตัวจริง คตส.น่ะตัวก๊อป เพียงแต่เอาไปปรุงแต่งทางเทคนิคกฎหมาย)

และกล่าวได้ว่า คำพิพากษารวมทั้งกระแสของสื่อ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย เห็นคล้อยตามว่ามีการ “เอื้อประโยชน์ที่ไม่สมควร” ซึ่งก็เป็นกระแสที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องมาหลายปี และได้รับการประโคมอย่างหนักหลังรัฐประหารทั้งสื่อรัฐและสื่อกระแสหลัก

ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ ผมก็ยังเห็นว่า “ไม่สมควร” เช่นกัน (แต่แยกแยะบางกรณี) 

เพียงแต่สิ่งที่สังคมไม่ได้ตั้งคำถามคือ คำว่า “ไม่สมควร” นี้เป็นเหตุเพียงพอ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มีความชัดเจนทางกฎหมายเพียงพอที่จะนำไปสู่การลงโทษอาญาอย่างรุนแรงหรือไม่ (การยึดทรัพย์เทียบได้กับโทษอาญาอย่างรุนแรง เพราะโทษอาญามี 5 ประการคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน)

คำว่า “ไม่สมควร” “ไม่เหมาะสม” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในเบื้องต้นที่สุด ถือเป็นความผิดทางการเมือง เช่น ทำตัวหมดความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำอีกต่อไป จะต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถูกสื่อ นักวิชาการ วิพากษ์วิจารณ์ และถูกประชาชนขับไล่

ถัดมาคือถ้าผิดข้อบังคับทางจริยธรรม ก็จะต้องถูกถอดถอน เปรียบเหมือนข้าราชการทำผิดวินัย บางกรณีอาจถูกเอาผิดทางอาญา แต่บางกรณีก็ไม่ อาจถูกลงโทษเพียงตัดเงินเดือน หรือให้ออก

เพราะการลงโทษทางอาญา มันจะต้องเป็นความผิดที่มีความชัดเจนในอีกระดับหนึ่งและต้องมีการพิสูจน์ให้ประจักษ์ในอีกระดับหนึ่ง ...ใช่หรือไม่

เรื่องนี้ต้องฝากประเด็นให้นักนิติศาสตร์ถกกัน ผมไม่มีความรู้พอ ผมเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตตามสามัญสำนึก ว่าการยึดทรัพย์ที่ผ่านมา กรณีสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ใช้ ม.17 ไม่ใช่อำนาจศาล ขณะที่การยึดทรัพย์ของศาล ตั้งแต่ พล.อ.ชำนาญมาถึงรักเกียรติ ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตด้วย ทั้งยึดทรัพย์ทั้งติดคุก แล้วก็ยึดเฉพาะส่วนที่ระบุชัดเจนว่าได้ไปจากการทุจริต หรือได้ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ตัวเลขจะชัดเจน)

ย้อนกลับมาที่ความ “ไม่สมควร” ผมเองก็เห็นว่าพฤติกรรมของทักษิณไม่สมควร แต่มันจะใช่ “เอื้อประโยชน์โดยไม่สมควร” หรือเปล่า ผมยังแยกแยะเป็นกรณี

คือต้องบอกว่าผมเองก็คัดค้านทักษิณมาก่อนในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ก่อนนี้ไม่ใช่แค่รู้สึกว่า 5 ประเด็นนี้มันไม่สมควร แต่รู้สึกว่า “น่าเกลียด” ด้วยซ้ำไป เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมเห็นการจัดการบางเรื่อง เช่นการยกเลิก พรก.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งกลับเป็นว่า “รัฐ” เสียประโยชน์ ถูกรัฐวิสาหกิจดึงกลับไป “ดูดไอติม” ผมก็ฉุกใจคิดและกลับมาทบทวนใหม่ ไล่เรียงเปรียบเทียบเหตุผลทั้งสองฝ่าย แล้วก็พบว่าความจริงข้อหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พรก.ภาษีสรรพสามิตไม่ได้ทำให้การส่งเงินเข้ารัฐลดลง แต่ยกเลิกแล้ว การส่งเงินเข้ารัฐกลับหดหายไป (ตลกร้ายคือ ยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน รวมดอกเบี้ย น่าจะชดเชยได้พอดีกับภาษีสรรพสามิตที่ขาดหายไปปีละ 1.6 หมื่นล้านหลังยกเลิก พรก.มา 3 ปี)

สิ่งที่ผมกลับมาทบทวนคือ ผมเริ่มมองต่างมุมว่าข้อกล่าวหา 5 ประเด็น ไม่ได้แยกแยะการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐ ซึ่งมัน “ทับซ้อน” อยู่ พูดง่ายๆ คือเราต้องเปรียบเทียบว่า สมมติทักษิณไม่ได้เล่นการเมือง รัฐบาลไหนก็แล้วแต่ จะตัดสินใจอย่างนี้หรือไม่ สมมติเช่นคุณจะเอา ทศท. กสท.เข้าตลาดหุ้น คุณจะแยกภาษีสรรพสามิตหรือไม่ สมมติเช่น ดาวเทียมไอพีสตาร์ รัฐบาลอื่นจะส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ (โอเค มันอาจจะไม่ซิกแซ็กอย่างนี้) การแก้สัญญาสัมปทาน มันมีเฉพาะเอไอเอสหรือ ขิงแก่ยังแก้ให้โทลล์เวย์ขึ้นราคาหน้าตาเฉยประชาชนเดือดร้อน ขณะที่ก่อนแก้ให้เอไอเอส ทักษิณก็แก้ให้ดีแทคด้วย (แผนร้าย?)

เราอาจจะต้องมองจากอีกฐานความคิดหนึ่ง ไม่ใช่มองแต่ว่าได้ประโยชน์แล้วคือเอื้อประโยชน์โดยมิชอบเสมอไป

ที่พูดนี้ไม่ได้ตะแบงว่าทักษิณทำถูก ผมก็บอกว่าไม่สมควรไง บางเรื่องอาจใช่ “เอื้อประโยชน์โดยไม่สมควร” แต่บางเรื่องอาจไม่ใช่ บางเรื่องมันอาจเป็น “เอื้อประโยชน์โดยปกติ” โดยการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐแต่พฤติกรรมไม่สมควร เราจะแยกแยะอย่างไร

ซึ่งเมื่อคำพิพากษา(โดยสรุป)ออกมา ผมก็ยังไม่เห็นการแยกแยะ ผมยังอยากรออ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม และคำวินิจฉัยส่วนตน ว่าเมื่อฝ่ายจำเลยโต้แย้งให้เหตุผลอีกด้านแล้ว ศาลท่านหักล้างอย่างไร สมมติเช่น จำเลยโต้แย้งว่า พรก.ภาษีสรรพสามิตไม่ได้ทำให้เสียหาย ผู้รับสัมปทานทั้ง 3 เอไอเอส ดีแทค ทรู ยังส่งเงินเท่าเดิม ศาลท่านหักล้างอย่างไร

ซึ่งไม่ใช่แต่ในศาล ผมอยากเห็นการหักล้างกันอย่างมีเหตุผลและแยกแยะ ในสังคมวงกว้าง เพราะมันส่งผลกระทบต่อการก้าวเดินไปข้างหน้าของสังคมไทย

แต่โอเค เมื่อศาลท่านเลือกที่จะเห็นพ้องกับข้อกล่าวหาของ คตส. (และคุณสมเกียรติ) ทุกประการ ก็เป็นอำนาจของท่านที่จะวินิจฉัย ประเด็นของผมไม่ได้อยู่ตรงนี้

ประเด็นของผมคือเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างเยอะ คำวินิจฉัยของศาลจึงเป็นข้อยุติในทางคดี แต่ไม่เป็นข้อยุติทางสังคม ไม่เป็นข้อยุติของความขัดแย้งทางความคิดเห็น ซึ่งก็จะยังคงแตกต่างกันต่อไป ไม่ใช่แค่ 2 ความเห็น แต่อาจจะเป็น 3-4-5 ความเห็น

ซึ่งจะต่างกัน ถ้ามีคำพิพากษาว่า “ทุจริต” โดยมีพยานหลักฐานชัดเจน เช่น คดีรักเกียรติมีการโอนเงินเข้าบัญชี โยกไปโยกมา เหมือนคดีอาญามีหลักฐานมัดแน่น เช่นเขม่าดินปืนที่มือ ใครจะโต้แย้งก็ปากแข็งเต็มทีแล้วครับ (ยกเว้นตรวจด้วย GT200 แล้วบอกว่ามีสารระเบิด)

ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ มันก็จะมีการโต้แย้งอยู่ดี สมมติเช่น ฝ่ายทักษิณเขาจะออกคำชี้แจงเหตุผลในการตัดสินใจทั้ง 5 ประเด็น ห้ามเขาไม่ได้นะครับ เหมือนที่ห้ามผมแย้งคุณสมเกียรติไม่ได้ หรือในเวลาต่อไป ก็อาจจะมีนักวิชาการคนอื่นๆ ทำวิจัยเรื่องภาษีสรรพสามิตใหม่ ออกมาโต้แย้งคุณสมเกียรติอีกก็ได้

นี่คือสิ่งที่ผมมองว่า คำพิพากษาไม่ได้ยุติความเห็นต่างในสังคม เหมือนหลายๆ คดีที่ผ่านมา

 

2. ฐาน 4.6 หมื่นล้านอยู่ตรงไหน

เป็นคำถามครับ ไม่มีคำตอบ เพราะผมไม่เข้าใจในการที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์ในส่วนที่เป็นมูลค่าหุ้นที่งอกเงยมาหลังทักษิณเป็นนายกฯ รวมทั้งเงินปันผล

ตอนแรกว่าจะไม่พูดเรื่องนี้ แต่ไม่เห็นมีใครพูด (จะรบกันอย่างเดียว) ก็เลยขอพูดมั่ง

คือผมไม่เข้าใจการใช้เกณฑ์ “เจาะเวลาหาอดีต” เพราะมันไม่ค่อยจะสัมพันธ์กับ “การเอื้อประโยชน์โดยไม่สมควร” ทั้ง 5 ประเด็นที่ตัดสินไป

ถ้าศาลท่านใช้ตัวเลขที่คุณสฤณีคำนวณออกมา (2.2 หมื่นล้าน) แล้วไปหักออกจาก 7.6 หมื่นล้าน ผมยังจะเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่อาจเป็นได้ว่า นี่ไม่ใช่คดีเรียกค่าเสียหาย ท่านเลยไม่คิดอย่างนั้น (และไม่ใช่คดีทุจริต จึงจะชักเอาทรัพย์สินส่วนที่ถูกตัดสินว่าทุจริตออกมาได้ชัดเจน)

คดีนี้เป็นคดี “ร่ำรวยผิดปกติ” ซึ่งถ้าคิดในมุมกลับ แล้ว “ร่ำรวยปกติ” ล่ะ มันจะอยู่แค่ไหน อยู่แค่ตอนที่ทักษิณยังไม่เล่นการเมืองหรือ

ต้องยอมรับว่าพอสรุปอย่างนี้แล้ว มันหาคำตอบได้ยากส์มากส์ เพราะแม้ยึดตามคุณสฤณี มันก็ยังขัดกับข้อโต้แย้งที่ว่า มูลค่าเพิ่มของหุ้นฯ ชินคอร์ปมันไม่ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของมูลค่าเพิ่มทั้งตลาดหุ้นจน “ผิดปกติ” ถ้าทักษิณเอื้อประโยชน์ตัวเองโดยไม่สมควร มูลค่าเพิ่มของหุ้นชินคอร์ปฯ ก็น่าจะเพิ่มสูง “ผิดปกติ” กว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของตลาดหุ้น ราว 2.6 หมื่นล้านบาทอย่างที่คุณสฤณีคิด (แกล้งคิดเลขเล่นไปงั้น ความจริงมันคำนวณไม่ได้เลย)

ซึ่งพอศาลท่านกลับไปใช้มูลค่าหุ้นเมื่อปี 44 มันก็มีข้อโต้เถียงอีกว่า แล้วถ้าทักษิณไม่เป็นนายกฯ มูลค่าหุ้นจะไม่เพิ่มเลยหรือ หรือว่าคำตัดสินนี้มีลักษณะลง “โทษปรับ” ด้วย

สิ่งที่ผมไม่เข้าใจคือ การตั้งเกณฑ์นี้มาใช้ยึดทรัพย์ มันเกี่ยวข้องยึดโยงในทางนิติศาสตร์ กับคำวินิจฉัยว่า “เอื้อประโยชน์โดยไม่สมควร” ทั้ง 5 ประเด็นอย่างไร

คิดง่ายๆ ด้วยตรรกแบบชาวบ้านๆ นะครับ สมมติศาลท่านวินิจฉัยว่า “เอื้อประโยชน์โดยไม่สมควร” แค่ 4 ประเด็น แต่อีกประเด็นไม่ใช่ล่ะ จะไป “เจาะเวลาหาอดีต” ที่ตรงไหน หรือสมมติวินิจฉัยว่า “เอื้อประโยชน์โดยไม่สมควร” 3 ประเด็น แต่อีก 2 ประเด็นไม่ใช่ล่ะ หรือสมมติ คตส.ฟ้องมาทั้งหมด 10 ประเด็นแล้ววินิจฉัยว่าไม่สมควรทั้ง 10 ประเด็นล่ะ จะต่างกันตรงไหน หรือไม่ว่ากี่ประเด็นก็ต้องยึดทรัพย์โดยเหลือไว้แค่มูลค่าปี 2544 อยู่ดี

งงครับ งง ไม่เข้าใจ ใครรู้ช่วยอธิบายที อาจต้องรออ่านคำวินิจฉัยโดยละเอียดว่า ต่อไปใครถูกศาลตัดสินว่าร่ำรวยผิดปกติ จะเกณฑ์นี้เป็นมาตรฐานหรือเปล่า คือเหลือแค่ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนเล่นการเมือง

 

3.คำพิพากษานี้ใช้ได้กับทุกคนหรือทักษิณคนเดียว

หะแรก ผมเรียกร้องว่ามาตรฐานนี้ต้องใช้กับทุกคน เพราะโดยหลักกฎหมาย คำพิพากษานี้ใช้ได้กับนักการเมืองทุกคนที่พฤติกรรมเข้าข่าย แต่พอมานั่งดูจริงๆ แล้ว ในทางปฏิบัติอาจมีผลกับทักษิณคนเดียว ยกเว้นคุณบัณฑูร ล่ำซำ หรือคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี จะมาเล่นการเมืองเป็นนายกฯ หรือเป็นรัฐมนตรีคลัง

เพราะข้อแรก ศาลวินิจฉัยว่าทักษิณเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง (อันที่จริงผมเห็นด้วยกับการใช้คำว่ามีอำนาจครอบงำมากกว่า คือหุ้นเป็นของลูก แต่ทักษิณเป็นผู้ครอบงำสั่งการ พอเป็นแบบนี้นู๋พิณทองทาเลยออกมาแย้งว่า ไหนว่าหุ้นของพ่อ ทำไมมาเรียกเก็บภาษีลูก)

ข้อสอง ศาลไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าทักษิณใช้อำนาจอย่างไร เพียงแต่บอกว่ามันเกิดการเอื้อประโยชน์กันอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็บอกว่าทักษิณเป็นผู้ถือหุ้นตัวจริง ทักษิณมีอำนาจบังคับบัญชากำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ (ทุกหน่วยในประเทศไทย)

ฉะนั้น สมมติไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เป็นรัฐมนตรี ได้รับการเอื้อประโยชน์ข้ามกระทรวง อย่างปู่จิ้นกับชิโนไทยที่ได้สัมปทานรถไฟฟ้า คุณก็จะเอาคำพิพากษานี้ไปใช้ทันทีไม่ได้ ศาลต้องวินิจฉัยเพิ่มว่าปู่จิ้นมีอำนาจโยงใยสั่งการอย่างไร (เสี่ยงเหมือนกันเพราะปู่จิ้นเป็นหัวหน้าพรรคของรัฐมนตรีคมนาคม)

หรือถ้าคุณจะกล่าวหาว่า การที่คุณหญิงกัลยาอยู่ในคณะรัฐมนตรี แล้วมีการเอื้อประโยชน์ให้แบงก์กรุงเทพจัดทำเช็คช่วยชาติ คุณก็จะเอาคำพิพากษานี้ไปใช้ทันทีไม่ได้ เพราะยังติดเงื่อนไข 2 ต่อ คือนอกจากจะข้ามกระทรวงแล้ว คุณหญิงกัลยายังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง ไม่มีกระทั่งอำนาจครอบงำ เพียงแต่รู้กันทั้งโลกว่าเป็นสะใภ้โสภณพนิช

นอกจากนี้ คุณจะตั้งคำถามอย่างไรกับการที่คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎร์ เป็นประธานแบงก์กรุงเทพ เข้ามาเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลเศรษฐกิจ แล้วกลับไปเป็นประธานแบงก์กรุงเทพ เพราะคุณโฆษิตไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เป็น “ลูกจ้าง” แหงๆ ไม่ต้องตีความตามพจนานุกรม

นอกจากนี้ คุณยังไม่สามารถเอาไปใช้ได้กับกรณีของ “เขยซีพี” ที่อยู่ในทั้งรัฐบาลทักษิณและอภิสิทธิ์

นอกจากนี้ ฯลฯ

ฉะนั้น การตีความกฎหมาย ปปช. ว่าด้วยความ “ร่ำรวยผิดปกติ” ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในครั้งนี้ แม้ทางกฎหมายจะเป็นบรรทัดฐานใช้ได้กับทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้วใช้ได้กับทักษิณคนเดียว เพราะหลังจากนี้คงไม่มีใครโง่เซอะ เป็นนักธุรกิจใหญ่เจ้าของกิจการโอนหุ้นให้ลูกแล้วมาเป็นนายกฯ หรือเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่ตัวเองมีกิจการเกี่ยวข้องอยู่

คนอื่นๆ ก็คงจะต้องไปเข้าช่องปกติ คือพิสูจน์ว่านอกจากเอื้อประโยชน์แล้วได้กระทำทุจริตประพฤติมิชอบหรือไม่ ถ้าหาพยานหลักฐานได้ไม่ชัด ศาลท่านก็ต้องยกฟ้องแบบคดีกล้ายาง

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 

ใบตองแห้ง

2 มีนาคม 53

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net