Skip to main content
sharethis

ผู้นำแรงงานวอนเห็นคุณค่าแรงงานพม่า
เว็บไซต์คมชัดลึก (
14 ก.พ. 53) - เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่สุสานวัดดอนแก้ว เขตเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก แรงงานพม่า ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งของไทยและของพม่ากว่า 2,000 คน เดินทางไปร่วมพิธีฌาปนกิจแรงงานพม่า 8 ศพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในพื้นที่ อ.พบพระ และ อ.แม่สอด โดยแยกเป็นศพแรงงานหญิง 4 ศพ แรงงานชาย 4 ศพ ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา และได้นำศพไปทิ้งตามพื้นที่ต่างๆ เพื่ออำพรางคดี โดยในพิธีศพมีการสวดพระอภิธรรมและทำบุญเรี่ยไรเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมทั้งกล่าวถึงความเป็นมาของการเสียชีวิตครั้งนี้ และยืนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 3 นาที จากนั้นจึงนำศพออกมาฌาปนกิจตามประเพณีของชาวพม่า ทางกลางความโศกเศร้า และอาลัยอาวรณ์ นอกจากนี้ยังมีชาวพม่าจากจังหวัดเมียวดีที่ทราบข่าวต่างเดินทางไปร่วมพิธีฌาปนกิจเป็นจำนวนมากอีกด้วย

นายมอ โมโจ่ ผู้นำแรงงานพม่าใน อ.แม่สอด เปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลไทยเห็นคุณค่าของแรงงานพม่าที่เข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย และทุกคนมีค่าของความเป็นคนเหมือนกัน คดีนี้ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีความป่าเถื่อนมาก และโหดร้ายมาก จึงขอให้รัฐบาลไทยเร่งจับผู้ต้องหาให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 6 กล่าวว่า ขณะนี้คดียังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมหลังจากที่ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหา 5 คน ซึ่งขณะนี้ได้หลบหนีออกไปประเทศพม่า และหนีไปต่างจังหวัดส่วนหนึ่ง
แรงงานพม่าที่ถูกยิงประกอบด้วย นายซอดีโด่ง อาย 28 ปี นายซอดู อ่อง อายุ 33 ปี นางหน่อตินโซ เอ อายุ 28 ปี นางมูแซ อายุ 28 ปี นายซอจ่อ อายุ 27 ปี นางอุ่น เอ อายุ 32 ปี นายเอโจ่ อายุ 23 ปี และนายซอกา โก่ อายุ 28 ปี รวมทั้งหมด 8 ศพ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่พบอีก 1 ศพ
 
3 กลุ่มอุตฯขาดแรงงานอื้อเหตุออเดอร์ฟื้น-หันพึ่งต่างด้าวแทน
เว็บไซต์แนวหน้า (15 ก.พ. 53) -
 นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอเริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีฐานความรู้ทางเคมี สิ่งทอ วิศวกรรม โดยยอมรับว่าปัจจุบันการส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอยังอยู่ในระดับน้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น รถยนต์ เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากเริ่มมีคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) เข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเร่งกำลังผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโฮมเทคไทล์ หรืออุปกรณ์ตกแต่งภายในบ้าน เช่น ผ้าปู ผ้าม่าน เป็นต้น
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงานบ้างแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการเริ่มมองไปที่การใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทดแทนแรงงานไทย
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าการส่งออกน่าจะยังสดใสอยู่เฉลี่ยอยู่ที่ 18-20% เนื่องจากการสต็อกสินค้าน่าจะหมดไปบ้างแล้ว อีกทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไม่น่าปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่าบาร์เรลละ 75-78 เหรียญสหรัฐ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรมีทิศทางที่ดีและแนวโน้มปรับพุ่งสูงถึง 22% อย่างไรก็ตามภาคเอกชนมีความกังวลปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น ความมั่นคงทางการเมือง อีกทั้งงบโครงการไทยเข็มแข็งที่ยังมีการเบิกจ่ายได้น้อยอยู่ที่ 12% ในปี 2552
ทั้งนี้ ภาคเอกชนกังวลว่าช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้จริงหรือไม่ เพราะสัญญาณเศรษฐกิจทางโซนยุโรป เช่น กรีซ อังกฤษ โปรตุเกส และเยอรมัน ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เพราะติดปัญหาทางการเงิน ธนาคารเริ่มเข้มงวดในการปล่อยกู้ สภาพคล่องเริ่มส่อแววจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตก ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งไทยต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ และแก้ปัญหาภายในประเทศให้คลี่คลายโดยเร็ว
ทูตแรงงาน 13 ปท.เข้ารับฟังบรรยายข้องเกี่ยวสิทธิมนุษยชน-แรงงาน
พิมพ์ไทย (15 ก.พ. 53)
- ที่กระทรวงแรงงาน สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการหัวหน้าสำนักงานแรงงานในต่างประเทศจำนวน 13 แห่ง โดยมีการบรรยายพิเศษเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการในต่างประเทศต่อไป ระบุผู้โยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศประมาณ 200 ล้านคน หรือ1 คนต่อประชากร 35 คน และมีแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลกประมาณ 85 ล้านคน จากสาเหตุหลากหลายประการ
สำหรับการประชุมฯ ได้จัดการบรรยายพิเศษเรื่อง สิทธิมนุษยชนกับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน และการค้ามนุษย์ โดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นผู้บรรยายมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งในเรื่องแนวโน้มและพัฒนาการในเรื่องสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลก ประชาคมอาเซียน และความเกี่ยวโยงกับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน แนวโน้มและพัฒนาการในการขจัดการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
ทั้งนี้ จากสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และการเคลื่อนย้ายและการทำงานของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานนั้นจะมีส่วนอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้รับแรงงาน จนก่อให้เกิดความมีคุณภาพทั้งชีวิตส่วนตัวของแรงงานเองและครอบครัวของพวกเขาให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายของแรงงาน โดยเฉพาะกับการที่เป็นไปอย่างผิดกฎหมายนั้น ได้นำปัญหามาสู่ไม่ว่าจะเป็นในด้านการค้ามนุษย์ การเอารัดเอาเปรียบแรงงานการละเมิดสิทธิของแรงงาน รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน กระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบเรื่องแรงงานจึงมีความจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้ ความเข้าอกเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ เพื่อสามารถนำไปกำหนดเป็นนโยบายให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นภารกิจการดำเนินการตามปฏิญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้การรับรอง เช่นปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว ปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องรับรู้และทำความเข้าใจ
นายสีหศักดิ์ ระบุว่า ภาพรวมของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ปัจจุบันมีผู้โยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศประมาณ 200 ล้านคน หรือ 1 คนต่อประชากร 35 คน และแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน
แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลกประมาณ 85 ล้านคน ทั้งหมดเกิดจากสาเหตุนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ สภาวะเศรษฐกิจในบ้านเกิดของแรงงานเอง และแม้กระทั่งความไม่มั่นคงจากภัยสงครามก็ยังมีส่วนเสริมเป็นประการสำคัญไม่แพ้กัน
นายสีหศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทสต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและมีความเห็นหลากหลายของฝ่ายต่างๆ ในประเทศเกี่ยวกับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่ว่าแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานเป็นต้นตอของปัญหาสังคม และอาจบั่นทอนความมั่นคงของสังคมไทย อีกทั้งเป็นแรงงานระดับล่าง เป็นปัญหาชั่วคราว และก็มีเช่นกันที่เห็นว่าแรงงานเหล่านี้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศที่จะกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยผู้เข้าเมืองและแรงงานต่างชาติควรเคารพกฎหมายของประเทศนั้นๆ แต่กระนั้นการวางนโยบายเกี่ยวกับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานก็ควรต้องประสมประสานระหว่างแง่มุมมองที่หลากหลายให้เกิดเป็นจุดสมดุลขึ้นด้วย(Maximizing the benefits and minimizing the costs to both countries of origin and destination)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเรื่องแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานจะเป็นสิทธิด้านนโยบายของประเทศ แต่เรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องภายในประเทศแต่ประการเดียว เพราะประเด็นสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันถือเป็นประเด็นระดับโลกเช่นเดียวกับเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากกรอบความร่วมมือและกระบวนการตรวจสอบในประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้นจะปรากฏทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาคและระดับสากล ซึ่งเป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้ประชาคมระหว่างประเทศสามารถวิจารณ์หรือแทรกแซงได้ด้วยในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนนั่นเอง และยังมีการนำเรื่องสิทธิมนุษยชนไปเชื่อมโยงกับการค้า หากไม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็จะถูกกีดกันทางการค้าได้ประเทศไทยคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดีจึงมีกลไกปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างพร้อมมูลไม่ว่าจะเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ในด้านอนุสัญญา กติกาต่างๆ ตลอดจนการต้องคำนึงถึงกลไกตรวจสอบการปฏิบัติต่างๆ ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะของ OHCHR และ HRC อาทิ คณะกรรมการติดตามการปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาต่างๆ (Treaty Bodies) ผู้เสนอรายงานพิเศษ การยื่นข้อร้องเรียน กระบวนการUniversal Periodic Review (UPR)
แรงงานพม่าวอนพิสูจน์สัญชาติในไทย หวั่นทางการหม่องรีดเก็บภาษีย้อนหลัง
เว็บไซต์แนวหน้า (
17 ก.พ. 53) - ที่องค์กรสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ถนนราชดำเนิน เครือข่ายแรงงาน ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรแรงงาข้ามชาติ คณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กว่า 150 คน ชุมนุมและยื่นจ้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ เรื่อง ความห่วงใย มั่นคง ปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยก่อนและหลัง 28 กุมภาพันธ์ 2553 โดยขอให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าในประเทศไทย ไม่ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศพม่า เนื่องจากมีความกังวลว่าจะถูกคุมคามจากรัฐบาลพม่า จากนั้นยังได้เดินรณรงค์ไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า แรงงานชาวพม่าที่ทำงานในไทยมีกว่า 1.4 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติเสร็จสิ้นเพียง 4 แสนคนเท่านั้น ส่งผลให้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 จะมีแรงงานชาวพม่าจำนวนหลายแสนคน ถูกผลักดันกลับประเทศ เครือข่ายแรงงานฯ จึงได้ดำเนินการชุมนุมเรียกร้องต่อองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้มีคำสั่งขยายระยะเวลาในการยื่นความจำนงพิสูจน์สัญชาติออกไป พร้อมเรียกร้องให้แก้ไขปัญหากรณีที่บริษัทที่ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติที่เรียกเก็บเงินค่าหัวเกินอัตราที่ได้ตกลงกัน ทำให้มองว่าเป็นการร่วมมือกันของบริษัทพิสูจน์สัญชาติ ผู้มีอิทธิพล และรัฐบาลพม่า
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลควรมีความชัดเจนและโปร่งใสในการดำเนินการทั้งนโยบายสิทธิประโยชน์ทั้งการดูแลกรณีที่แรงงานชาวพม่าเจ็บป่วย กรณีผู้ติดตามหรือบุตรที่เกิดขณะแรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่ในประเทศไทย เช่น การตั้งโรงเรียนสอนภาษา เป็นต้น และเรียกร้องให้มีการจัดคณะทำงาน โดยมีเครือข่ายแรงงานรวมเป็นคณะกรรรมการ
นายโกนัย ตัวแทนแรงงานชาวพม่า เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีแรงงานพม่าจำนวนมากลักลอบเข้ามายังไทยอย่างผิดกฎหมาย จึงกังวลว่าเมื่อเดินทางกลับไปยังประเทศพม่าจะถูกดำเนินคดีโทษฐานลับลอบออกนอกประเทศ มีข่าวลือว่าแรงงานพม่าจำนวน 66 คน ที่เดินทางกลับประเทศพม่านั้นถูกจับดำเนินคดี ประกอบกับได้รับข้อมูลจากเพื่อนแรงงานว่า หากพิสูจน์สัญชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ราชการของทางการพม่าหรือผู้มีอิทธิพลไปรีดไถเงินจากญาติพี่น้องที่บ้านเกิด จำนวนกว่า 1.8 แสนบาท ซึ่งอ้างว่าเป็นการเก็บภาษีย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม ญาติพี่น้องเหล่านั้นเกรงจะไม่ปลอดภัยจึงไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อคนเหล่านี้
 “ผมจึงอยากให้มีการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทยและ ให้ทางรัฐบาลไทยทำการประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิประโยชน์และอัตราค่าจ้างที่แรงงานพม่าสมควรได้รับ เนื่องจากที่ผ่านมามีแรงงานชาวพม่ากว่า 70 % ถูกนายจ้างเอาเปรียบ เช่น การไม่จ่ายเงินไม่ครบตามเวลาที่ทำงานและปัญหาที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยรีดไถเงิน แม้ว่าแรงงานชาวพม่าบางส่วนจะถือบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราวแล้วก็ตาม” นายโกนัย กล่าว
เร่งขยายตลาดแรงงานระดับบนในตปท.
พิมพ์ไทย (17 ก.พ. 53)
- กระทรวงแรงงาน โดย สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศกระทรวงแรงงาน ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการหัวหน้าสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ (สนร.) จำนวน 13 แห่ง โดยมี นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวง แรงงาน ผู้บริหารระดับสูงร่วมรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้แทนสนร. ในประเด็นโอกาสการขยายตลาดแรงงานไทยในประเทศ ณ ห้องประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายวิฑูร สุขะวัธนกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศ   ซาอุดิอาระเบีย (กรุงริยาด) ผู้แทนสนร. ได้กล่าวถึงประเด็นโอกาสการขยายตลาดแรงงานไทย\ในประเทศ ว่ากลุ่ม สนร.ต่างประเทศแบ่งได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ยุโรป กลุ่มประเทศตะวันออกไกล กลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ สำหรับโอกาสการขยายตลาดแรงงานไทยในประเทศกลุ่ม สนร. ของประเทศเอเซียตะวันออกไกล ซึ่งได้แก่ไต้หวัน ซึ่งเสนอให้ขยายตลาดผู้อนุบาล ภาคการผลิตภาคการก่อสร้าง ฮ่องกงเสนอให้ขยายตลาดภาคบริการ
ผู้ช่วยแม่บ้าน ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และพนักงานนวดด้านเกาหลี เสนอให้ขยายตลาดแรงงานฝีมือภาคบริการ(กุ๊ก)แรงงานฝีมือภาคการก่อสร้าง   การขยายตลาดแรงงานกับบริษัทข้ามชาติ สำหรับญี่ปุ่นมีการจ้างงานกับ IMM Japan และขยายตลาดผู้ฝึกงานภาคเกษตร ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และพนักงานนวด ด้านมาเลเซีย เสนอให้ขยายตลาดภาคการก่อสร้าง ร้านอาหาร (ต้มยำ)พนักงานนวด และสปา สำหรับสิงคโปร์เสนอให้ขยายตลาด ภาคการบริการ ภาคการก่อสร้างอู่ต่อเรือ และ บรูไน เสนอให้ขยายตลาดภาคการก่อสร้าง อู่ซ่อมรถยนต์ ร้านอาหาร / โรงแรมค้าส่งและค้าปลีก ตัดเย็บเสื้อผ้า สำหรับโอกาสการขยายตลาดแรงงานไทยในประเทศกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ (MENA) ซึ่งในขณะนี้ตลาดอุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติอุตสาหกรรม    เปโตรเคมีคัล โรงกลั่นน้ำทะเลและโรงไฟฟ้าซึ่งน่าสนใจสำหรับการขยายตลาดแรงงาน
ทั้งนี้ ผู้แทนสนร.13 แห่งได้ให้ข้อเสนอแนะในการขยายตลาดแรงงานไทย โดยขอให้กระทรวงแรงงานจัดทำ Data Bank ภาษาอังกฤษ การจัดทำข้อตกลงกับบริษัทข้ามชาติที่คุ้นเคยกับการจ้างแรงงานไทยในการพัฒนามือแรงงาน และจัดส่งแรงงาน การจัดเตรียมพัฒนากำลังคนให้เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และส่งเสริมให้บริษัทไทยไปลงทุนและ นำแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ
สร.กสท บุกสภา คัดค้าน ให้อำนาจ กสทช.
เว็บไซต์ไทยรัฐ (
17 ก.พ. 53) - ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ก.พ. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นำโดยนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) นำคณะเข้ายื่นเรื่องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายพงศ์ฐิติ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 78 วรรค3 ระบุให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปี ให้รัฐวิสาหกิจนำรายได้จากผลประกอบการในส่วนการให้อนุญาตสัมปทานนำส่งให้ กสทช. เพื่อเป็นรายได้แผ่นดินนั้น สร.กสท และ สรท.ได้พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า ไม่ชอบด้วยเหตุผลที่จะสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานของรัฐทั้งสองหนึ่ง คือ กสท และทีโอที
ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บ.ทีโอที กล่าวต่อว่า การให้สัมปทานได้ดำเนินการตามนโยบายบายของรัฐบาลเป็นการมอบสิทธิการให้ บริการที่เป็นของหน่วยงานรัฐให้กับธุรกิจเอกชนไปดำเนินการ โดยกำหนดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนสร้างโครงข่าย และอุปกรณ์แล้วโอนให้เป็น ทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานรัฐอนุญาตให้คู่สัญญาสัมปทานประกอบธุรกิจบนโครงข่ายและทรัพย์สิน ดังกล่าวในการให้บริการ ต้องส่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่หน่วยงานรัฐ จึงถือว่ารายได้สัมปทานเป็นรายได้ที่เกิดจากการบริหารงานและเป็นรายได้จาก การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 100%ในทางตรงกันข้ามสัญญาสัมปทานก็มีข้อกำหนดให้ทั้ง กสท และทีโอทีจะขยายการให้ บริการเพิ่มเติมไม่ได้ จึงเป็นข้อจำกัดตามสัญญา
นายพงศ์ฐิติ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมของกรรมาธิการ ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไว้เกินขอบเขตที่ กำหนดให้กสทช.มีอำนาจเรียกเก็บเงินที่เป็นรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ที่เกิดจากการอนุญาตสัมปทานร่วมทั้งสัญญาอื่นๆจำเป็นการให้อำนาจที่ซ้ำซ้อน หากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการฯ จะเกิดผลกระทบต่อการประกอบการของบริษัท กสท เป็นอย่างยิ่ง ทั้งสภาพคล่องทางการเงิน การลงทุนเพื่อสาธารณะ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
ลูกจ้างไทยแอร์พอร์ต ร้อง กมธ.แรงงานเยียวยาถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
โพสต์ทูเดย์ (
17 ก.พ. 53) - นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยลูกจ้างบริษัทไทย แอร์พอร์ตกราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทซับคอนแทรกต์ ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร้องเรียนต่อ ว่าทีร้อยตรี สุมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ช่วยเหลือหลังถูกเลิกจ้าง
นายมนัส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2552 บริษัทไทยแอร์พอร์ตกราวด์ได้เลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด300-400 คน โดยอ้างว่าสิ้นสุดสัญญากับทางบริษัทการบินไทยฯ ซึ่งไม่มีการจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย และจะทยอยให้ออกเพ่ิมเติมอีกรวมแล้วนับพันคน อีกทั้งยังไม่คืนเงินค่าประกันชุดทำงานคนละ 5,000 - 10,000 บาท ส่งผลให้ลูกจ้างทุกคนเดือดร้อนจนต้องกระจายไปร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐ บางส่วนต้องฟ้องศาลแรงงานแต่กระบวนการทั้งหมดเกรงว่าจะเกิดความล่าช้าและไม่ ได้รับความเป็นจึงได้มายื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการเพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ย และจ่ายเงินชดเชย ว่าที่ร้อยตรีสุเมธ กล่าวว่า ทางกรรมาธิการจะรับเรื่องไปดำเนินการอย่างสมเหตุสมผลและจะเชิญหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องอย่าง บริษัทการบินไทยฯ มาชี้แจงเหตุผลการเลิกจ้างและ สอบถามถึงการจ่ายเงินชดเชยภายในสัปดาห์หน้า
สร.กสท.+สรท.ค้านร่างพรบ.องค์จัดสรรคลื่นความถี่ฯ
เว็บไซต์คมชัดลึก (
17 ก.พ. 53) -  ที่รัฐสภา ตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน ) (สร.กสท.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) (สรท.) นำโดยนายสุขุม ชื่นมะนา ประธาน สร.กสท. และ ดร.พงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธาน สรท. ได้ยื่นหนังสือถึงนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้ส.ส.ได้พิจารณาตัดมาตรา 78 วรรค 3 ออกจากร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... โดยนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาคนที่ 1 รับหนังสือแทน
ทั้งนี้ นายสุขุม กล่าวว่า จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาเสร็จแล้ว และรอการบรรจุเข้าวาระการประชุมสภา ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ขณะนี้นั้น ได้มีการแปรญัตติเพิ่มวรรค 3 ในมาตรา 78 ที่กำหนดให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี ให้รัฐวิสาหกิจนำรายได้จากผลประกอบการในส่วนการให้อนุญาตสัมปทานนำส่งให้ กสทช. เพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน นั้นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 305(1) และสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานของรัฐทั้ง 2 หน่วยงาน
นายสุขุม กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้อำนาจกสทช.ในการกำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ตามมาตรา 47 โดยมีอำนาจเรียกเก็บเงินที่เป็นรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ที่เกิดจากการอนุญาต สัมปทาน รวมทั้งสัญญาอื่นๆ แต่กลับไปให้อำนาจ กสทช.ไว้เกินขอบเขต และหากมีผลบังคับใช้ตามที่แปรญัตติเพิ่มจะเกิดผลกระทบต่อการประกอบการของบริษัท กสท. กระทบต่อสภาพคล่องด้านการเงิน การลงทุนเพื่อสาธารณะ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กสท.และทีโอที สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุน แต่สามารถนำเงินส่งคลังรวมทั้งเสียภาษี ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าหลายแสนล้านบาทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ส.ส.ได้ช่วยพิจารณาด้วย
 
รมว.แรงงาน ดันนโยบายพัฒนาแรงงานฝีมือ รับเศรษฐกิจฟื้นปีนี้
สำนักข่าวไทย (
18 ก.พ. 53) - รมว.แรงงาน เตรียมผลักดันนโยบายพัฒนาแรงงานฝีมือ รับเศรษฐกิจฟื้นปีนี้ เผยใช้ยุทธศาสตร์เดิม “3 ลด 3 เพิ่ม” บรรเทาปัญหาเลิกจ้าง-ว่างงาน ชี้นโยบายได้ผลตัวเลขคนว่างงานลดลงเกือบครึ่ง
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้แถลงผลงานและทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ในหัวข้อ “ทิศทาง...สร้างสุขคนทำงาน” โดยนายไพฑูรย์ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญในปี 2553 กระทรวงแรงงานจะเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการยกระดับมาตรฐาน ฝีมือแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่สูงและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์นั้น ยังคงยึดนโยบาย “3 ลด 3 เพิ่ม” เหมือนปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแก้ไขและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างและการว่างงาน ทำให้จำนวนผู้ว่างงานลดลง จากอัตราการว่างงานร้อยละ 2 หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 878,900 คน เมื่อเดือนมกราคม ได้ลดลงอย่างเนื่อง เหลือเพียงร้อยละ 1.1 หรือประมาณ 410,500 คน ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านแรงงาน เช่น ธนาคารแรงงาน (Labour Bank) และการมุ่งขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ อันเนื่องมาจากสัญญาณทางเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว
นายไพฑูรย์ ยังกล่าวถึงนโยบายในปีงบประมาณ 2554 ด้วยว่า จะขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะมุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตในสาขาที่ขาดแคลนแรงงานและใช้ทักษะฝีมือ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น พร้อมประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงและพัฒนา ทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในสาขาที่ขาดแคลน นอกจากนี้ จะเดินหน้าจัดตั้งอาสาสมัครแรงงานให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศด้วย
2 แรงงานบุรีรัมย์ร้องขอความเป็นธรรม - ป่วย/พิการหลังทำงาน รง.น้ำยาสุขภัณฑ์
ผู้จัดการ (18 ก.พ. 53) -
2 แรงงานบุรีรัมย์ ร้องขอความเป็นธรรมหลังทำงานโรงงานผลิตน้ำยาสุขภัณฑ์ จ. สมุทรปราการ แล้วเกิดอาการป่วยเรื้อรังสุดท้ายพิการไม่สามารถทำงานและช่วยเหลือตัวเองได้ แพทย์ระบุเกิดจากการแพ้สารเคมี แต่บริษัทกลับปัดความรับผิดชอบ วันนี้ (18 ก.พ.) นายสุพจน์ พรผัน อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22/4 ม.15 บ.สวายสอ และ นางไสว เสมศักดิ์ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 43 ม.2 บ.โคกกล่อง 2 แรงงานชาว ต.นิคม อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ พร้อมญาติได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม หลังทั้ง 2 ไปทำงานที่โรงงานผลิตน้ำยาสุขภัณฑ์ เช่น น้ำยาล้างจาน ปรับผ้านุ่ม น้ำยาเช็ดกระจก และก้อนดับกลิ่น แห่งหนึ่งที่ จ.สมุทรปราการ แล้วเกิดอาการป่วยเรื้อรังหลังไปรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ระบุว่าเกิดจากการแพ้สารเคมีอย่างรุนแรง จนล่าสุดนายสุพจน์ ซึ่งทำงานในโรงงานดังกล่าวนานกว่า 12 ปี ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิต ต้องกลายเป็นคนพิการมือทั้ง 2 ข้างหงิกงอ ขาอ่อนแรงเดินไม่ได้ และพูดไม่ได้ ส่วน นางไสว ผิวดำคล้ำคล้ายถูกไฟไหม้ทั้งตัว และปวดตามข้อกระดูก จนไม่สามารถทำงานได้ ในที่สุดต้องออกจากงานกลับมารักษาตัวที่บ้าน และต้องกลายเป็นภาระของครอบครัว ขณะที่ทางบริษัทกลับปัดความรับผิดชอบ อ้างว่าทั้ง 2 มีโรคประจำตัวหรือเป็นภูมิแพ้ไม่ได้เกิดจากการแพ้สารเคมี นางไสว เสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากทำงานเข้าไปทำงานใน บริษัทสแตนดาร์ด เมเจอร์ไรด์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำยาสุขภัณฑ์ กว่า 2 ปี และตนอยู่แผนกบรรจุก้อนดับกลิ่น ต้องสัมผัสและคลุกคลีอยู่กับก้อนดับกลิ่นทุกวัน จนเริ่มมีอาการผิดปกติแสบร้อนตามร่างกาย และหายใจไม่ออก
ไอแอลโอแนะไทยปรับปรุงระบบบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ
สำนักข่าวไทย (
19 ก.พ. 53) - ไอแอลโอระบุรัฐบาลไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการที่มีประสิทธิผลสูงเพื่อ ปรับปรุงนโยบายระยะยาวต่อแรงงานข้ามชาติ เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร เศรษฐกิจ คาดไทยมีโอกาสเป็นต้นแบบที่ดีด้านการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้กับกลุ่ม อาเซียน
นายบิล ซอลเทอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กล่าวว่าประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และยังคงเป็นประเทศที่จะดึงดูดแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาบางประการในระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ และควรที่จะขจัดอุปสรรคที่มีอยู่ในด้านการดำเนินการระหว่างฝ่ายรัฐ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และฝ่ายนายจ้าง ถ้าขจัดปัญหาเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่ดี อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงพัฒนานโยบายควรทำอย่างครอบคลุมเบ็ดเสร็จ ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการใช้แรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยควรลงทุนสร้างฐานการผลิตที่เน้นการใช้องค์ความรู้ เพื่อรองรับแรงงานไทยที่มีทักษะสูงและที่รองานอยู่ ถ้าไม่ดำเนินการในสองแนวทางนี้คู่ขนานกันไป ไทยจะไม่สามารถคงไว้ซึ่งระบบจัดการกับแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันได้
ทั้งนี้ ไอแอลโอคาดว่า ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติพำนักอยู่ในไทยประมาณ 2 ล้านคน และในอดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบดูแลแรงงานข้ามชาติที่เข้มงวดและมีข้อจำกัดได้ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่ ต้องการมาขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนคนที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ภายหลังจากที่ทะเบียนหมดอายุ ก็มิได้มาต่ออายุด้วยเหตุผลหลายประการ ผลคือทำให้แรงงานข้ามชาติตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม การขูดรีด และการถูกรังแกในรูปแบบต่าง ๆ อีกสองปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์แรงงานข้ามชาติแย่ลงอีกคือ ความที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเพียงพอ และความไม่ประสานสอดคล้องกันระหว่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกับ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองของไทยที่มีข้อจำกัด
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและทำอย่างเป็นระบบอาจส่งผลให้มีระบบการบริหาร จัดการแรงงานข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาจจะทำให้ไทยถูกเลือกนำไปทำเป็นแบบอย่าง โดยประเทศอื่นในอนุภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2557 จะส่งผลให้มีการไหลเวียนของผลิตภัณฑ์ บริการ ทุน และแรงงานมีทักษะอย่างเสรีมากขึ้นในภูมิภาค ในฐานะที่ไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ไทยจึงอยู่ในสถานะที่จะสามารถเป็นผู้นำในการบริหารแรงงานข้ามชาติได้ และถ้าไทยสามารถพัฒนานโยบายแรงงานข้ามชาติในระยะยาวให้มีความแข็งแกร่งได้ ก็จะให้ประโยชน์แก่รัฐ แก่คนงาน และแก่นายจ้าง เพื่อรับมือกับประเด็นเหล่านี้
เผยตลาดต้องการแรงงาน ม.ต้นหรือต่ำกว่ามากสุด
คมชัดลึก (19 ก.พ.53)
- คณะกรรมการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนเผยโครงสร้างแรงงานไทย ตลาดต้องการแรงงานจบระดับ ม.ต้นหรือต่ำกว่ามากที่สุด ขณะที่แรงงานที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ส่วนผู้จบระดับอาชีวะตกงานน้อยสุด กลุ่มผู้ตกงานมากที่สุดเป็นระดับ ป.ตรีสายสังคม
เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2553 นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อวางแผนการผลิตและ พัฒนากำลังคน กระทรวงศึกษาธิการ (กรอ.ศธ.) ว่า ที่ประชุมมีมติปรับแก้ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนกับการศึกษาอีกครั้ง ให้สอดคล้องกับโครงสร้างกำลังแรงงานของประเทศ ซึ่งพบว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ตกงานน้อยที่สุด ส่วนผู้ที่จบปริญญาตรี สายสังคมศาสตร์ ตกงานมากที่สุด
และที่น่าตกใจก็คือ แรงงานที่มีการศึกษาระดับ ม.ต้นหรือต่ำกว่า เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสูงที่สุด และขาดแคลนมากที่สุด และเมื่อวิเคราะห์ลงลึกระดับกลุ่มจังหวัดพบว่า ความต้องการแรงงานในภาคตะวันออก เช่น อุตสาหกรรม การเกษตร การท่องเที่ยว มีความต้องการแรงงานมากในทุกระดับการศึกษา แต่กลับมีคนตกงานในทุกระดับการศึกษา ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดแรงงานต้องการจึงตกงาน ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือ คุณภาพการศึกษาของแรงงานทุกระดับ ต้องยกระดับให้ได้ถึงเป้าตามที่ตลาดต้องการ โดยที่ประชุม กรอ.ศธ.เห็นว่า จะต้องกำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ หรือ National Qualification Framework (NQF) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับชาติในทุกสาขาวิชา ให้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
“ขณะนี้พบว่าแรงงานที่ใช้อยู่ มีคุณวุฒิระดับ ม.ต้น หรือ ต่ำกว่า ม.ต้น เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งคงต้องมีการพิจารณากันถึงนโยบายชาติว่า เราต้องการใช้แรงงานเหล่านี้ตลอดไปหรือไม่” รมช.ศธ.กล่าว
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า กรอบมาตรฐานระดับชาติ จะใช้เวลาในการดำเนินการ 6 เดือน จากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา นำไปใช้ เพื่อปรับการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน หากปล่อยไว้ผลผลิตของแต่ละองค์กรหลักก็จะตกงาน และนำระบบแนะแนวเข้ามาใช้ เพื่อแนะแนวให้เด็กเห็นว่า การเรียนด้านอาชีวศึกษามีอัตราการตกงานน้อย ดังนั้นก็ควรเลือกเรียนด้านอาชีวศึกษา หากจะศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น แนวโน้มการตกงานก็มีสูงขึ้นตามไปด้วย
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net