Skip to main content
sharethis
 
ชาวพม่าทะลักชายแดน"แม่สอด" หนีภัยแล้งเข้าไทย-แฉมีเอเยนต์กินค่าหัว
เว็บไซต์ข่าวสด (
7 ก.พ. 53) - เมื่อเวลา 02.30 น. วันที่ 5 ก.พ. พ.ต.ท.ปฐมพงศ์ เพชรพิรุณ รองผกก.ปป.สภ.เมืองตาก นำกำลังเจ้าหน้าที่ ศตส.สภ.เมืองตาก กว่า 20 นาย เข้าจับกุมแรงงานชาวพม่าที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย บริเวณสวนลำไย ห่างจากถนนพหลโยธิน สายตาก-กำแพงเพชร (เก่า) บ้านไร่ หมู่ที่ 12 ต.วังหิน อ.เมือง หลังรับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าลักลอบเข้ามาซ่อนตัวในบริเวณดังกล่าว
เมื่อไปถึงแรงงานต่างด้าวกระจายตัวหลบซ่อนอยู่ในสวนลำไยของชาวบ้าน จึงเข้าจับกุมและตรวจค้น พบไม่มีหลักฐานการขออนุญาตเข้าเมือง จึงควบคุมตัวทั้งหมดเป็นชายหญิงรวม 60 คน และอีกจำนวนหนึ่งหลบหนีไปทางหุบเขาหลังหมู่บ้าน โดยบางคนมีอาการป่วยด้วยไข้มาลาเรีย ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงยา ที่ลักลอบเข้ามาทางจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ผ่านเข้ามาทางอำเภอแม่สอด เดินเท้าลัดเลาะเข้ามาในป่า ส่วนคนนำทางเป็นชาวพม่าที่หลบหนีไปได้ โดยนัดแนะให้มารอพบคนมารับเข้ากรุงเทพฯ อีกทอดหนึ่ง จึงควบคุมตัวส่ง ร.ต.อ.ประสงค์ นาฟั้น พงส.สภ.เมืองตาก ดำเนินคดี
สอบสวน น.ส.มาติ่ม (ไม่มีนามสกุล) เป็นชาวพม่า ให้การรับสารภาพว่า ทุกคนที่เดินทางเข้ามาในไทยมาจากหลายเมือง โดยมีเอเยนต์ใหญ่อยู่ที่เมืองเมียวดี เพื่อจะจัดส่งเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเสียค่าหัวรายละ 15,000 บาท เก็บเงินเมื่อถึงจุดหมายปลายทางที่กรุงเทพฯ เมื่อก่อนเสียแค่ 13,000 บาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายให้แก่ผู้นำพา ซึ่งมีหลายทอด ส่วนกรณีพม่าที่ลักลอบเข้ามาในไทยแล้วถูกฆ่าตาย เป็นข่าวโด่งดังในพม่า เป็นเรื่องการขัดผลประโยชน์ของแก๊งคนนำพา ซึ่งทำเป็นขบวนการใหญ่ในพม่ามีอยู่ 2-3 บริษัทใหญ่ที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่รู้ตัวหัวหน้าที่แท้จริงในฝั่งพม่า แต่ก็มีนายหน้าที่ฝังตัวอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เป็นคนชักจูงเข้ามา ระยะนี้จะมีชาวพม่าเข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวแล้วและมีคนว่างงานมาก ประสบปัญหาภัยแล้ง แหล่งน้ำต่างๆ แห้งขอด ทำให้ชาวพม่าต้องหนีเข้ามารับจ้างในประเทศไทยเพื่อความอยู่รอด
เร่งนายจ้างต่ออายุใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวภายใน 28 ก.พ.
โพสต์ ทูเดย์ (8 ก.พ. 53) -
นายธนิช นุ่มน้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กล่าวถึงความคืบหน้าในการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และการยื่นขอพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่มีจำนวนรวมกว่า 1.4 ล้านคน ซึ่งจะหมดเขตวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ว่า ล่าสุดมีแรงงานต่างด้าวมายื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานที่สำนักงานจัดหางานทั่ว ประเทศเพียงแค่ร้อยละ 10 หรือ 140,000 คนต่อวันเท่านั้น จึงขอให้นายจ้างรีบพาแรงงานต่างด้าวไปตรวจโรคที่โรงพยาบาล และมาขอต่อใบอนุญาตทำงาน พร้อมทั้งยื่นขอพิสูจน์สัญชาติให้ทันกำหนด เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 20 วัน หากพ้นกำหนดแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันจะกลายเป็นแรงงานต่างด้าวที่ ผิดกฎหมาย และหากตรวจพบ นายจ้างจะถูกดำเนินคดีข้อหาจ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาต โทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท และถูกดำเนินคดีข้อหาให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว โทษจำคุก 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท
สหภาพฯขสมก.ร้องผู้บริหารโกงอายุ
เดลินิวส์ (
8 ก.พ. 53) - นางปราณี ศุกระศร รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ได้ทำหนังสือร้องเรียน ถึงนายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.ให้มีการตรวจสอบเพื่อเอาผิดพนักงานระดับผู้บริหารบางรายที่มีการแจ้งอายุไม่ตรงข้อเท็จจริง โดยทางสหภาพฯ ให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารได้มีการตรวจสอบประวัติระดับพนักงาน พร้อมกับลงโทษให้ออกไปแล้วหลายราย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงขอให้ตรวจสอบประวัติในระดับผู้บริหารด้วย นายโอภาสจึงได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่งตั้งให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว กำหนดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเอกสารข้อมูลพอจะทราบแล้วว่ามีใครที่เข้าข่ายบ้าง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจะเชิญผู้ที่เข้าข่ายทั้งหมดมาให้ข้อมูลจากนั้นก็จะสรุปผลเสนอนายโอภาส พิจารณาดำเนินการต่อไป
แรงงานข้ามชาติเตรียมร้องรัฐฯ ยืดเวลายื่นพิสูจน์สัญชาติ จี้รบ.พม่าตั้งศูนย์ในไทย
สำนักข่าวฉาน (8 ก.พ. 53)
– เมื่อวันที่ 7 ก.พ.53 ที่อาคารวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงใหม่นำโดยกลุ่มหสพันธ์แรงงานข้ามชาติ (MWF) และกลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ร่วม 100 คน ได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการพิสูจน์สัญชาติแรงงาน ในชื่อ การประชุม “มติ ครม.19 มกราคม 2553 การขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติ และการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานข้ามชาติ” โดยมีเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ และนักเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่เข้าร่วม
นางภัณฑิลา แก้วบุญเรือง นักวิชาการแรงงาน 5 จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปยื่นเอกสารพิสุจน์ สัญชาติ 43,782 คน จากจำนวน 66,000 คน ซึ่งขณะนี้มีแรงงานผ่านการพิสูจน์สัญชาติจากรัฐบาลทหารพม่าแล้ว 74 คน และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมามีรายชื่อแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์แจ้งมาอีก 1,182 คน และในอาทิตย์หน้าคาดว่าจะมีรายชื่อแจ้งกลับมาอีกประมาณ 1,000 คน
นางภัณฑิลา กล่าวว่า การที่แรงงานเข้ารับการพิสูจน์สัญชาตินั้นเป็นผลดี เพราะจะทำให้แรงงานสามารถเดินทางไปไหนมาไหนอย่างอิสระและสามารถทำใบขับขี่รถ ได้ ที่สำคัญแรงงานจะได้รับสิทธิและสวัดิการตามกฎหมายแรงงาน แต่ก็ยังมีแรงงานที่ยังไม่เข้ารับการพิสูจน์อยู่ ซึ่งแรงงานทุกคนต้องกรอกเอกสารพิสูจน์สัญชาติและต่อใบอนุญาตทำงานภายในวัน ที่ 28 ก.พ. 53 นี้ หลังจากนี้แรงงานที่ไม่รับการพิสูจน์สัญชาติก็จะถูกผลักดันกลับประเทศ
ขณะที่ตัวแทนแรงงานข้ามชาติคนหนึ่ง ได้กล่าวถึงสาเหตุที่แรงงานบางส่วนไม่ยอมกรอกข้อมูลจริงลงแบบพิสูจน์สัญชาติ ว่า เป็นเพราะหวั่นจะเกิดผลกระทบต่อญาติพี่น้องหรือครอบครัวหรือที่อยู่ทางบ้าน และบางส่วนไม่สามารถที่จะกรอกข้อมูลได้เนื่องจากไม่มีทั้งบัตรประจำตัว ประชาชนและบ้านอยู่ในพม่า เพราะถูกบังคับโยกย้ายหมู่บ้านและหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
นอกจากนี้ มีตัวแทนแรงงานที่เข้าร่วมการประชุมหลายคนได้เสนอแนวคิดให้รัฐบาลประสาน รัฐบาลทหารพม่าเข้ามาตั้งศูนย์รับการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าจะสร้างความสะดวกให้แก่แรงงาน และจะเป็นการง่ายกว่าการที่จะให้แรงงานที่จำนวนนับแสนเดินทางไปยังชายแดน ซึ่งต้องได้รับความลำบากและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พวกเขายังต้องการให้มีการยกเลิกบริษัทนายหน้า หรือ ให้บริษัทนายหน้าที่รับดำเนินการพิสูจน์สัญชาติลดค่าดำเนินการน้อยลงกว่าที่ เป็นอยู่ด้วย
ด้านนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกรมการจัดหางานยังไม่ได้รับรายงานว่า มีแรงงานที่เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่พม่าแต่อย่างใด ซึ่งการที่เกิดความหวั่นวิตกกันว่าหากพิสูจน์สัญชาติจะทำให้ทางการพม่าทราบ ข้อมูลและไปรบกวนทางบ้านนั้นอาจเป็นเพียงการเล่าลือสืบต่อกันมากกว่า เพราะจนถึงขณะนี้มีแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติข้ามไปยื่นเรื่องขอทำ พาสปอร์ตที่ชายแดนในฝั่งพม่ากลับมาแล้วนับพันคน และไม่มีใครถูกทำร้ายแม้แต่คนเดียว มีเพียงชาวโรฮิงยา 1 คน และเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี อีก 1 คน ที่ไม่ได้การออกพาสปอร์ต เนื่องจากชาวโรฮิงยาเป็นชนชาติที่ทางการพม่าให้ความสำคัญในการตรวจสอบ ประวัติ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทางการพม่าถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะพาสปอร์ตทำงานให้ได้
นายอนุรักษ์ กล่าวด้วยว่า การพิสูจน์สัญชาติเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า ซึ่งถ้าหากเกิดการรังแกหรือมีการทำผิดระเบียบสามารถนำหลักฐานร้องเรียนได้ แรงงานไม่ควรวิตกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งที่แรงงานควรใส่ใจก็คือการพิสูจน์สัญชาติ ถ้าหากไม่ยื่นพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ. ก็จะเสียสิทธิ์และจะอยู่ต่อไปไม่ได้ ส่วนเรื่องที่จะขอให้รัฐบาลทหารพม่าส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการพิสูจน์ สัญชาติในประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงแรงงานก็ให้ความสำคัญ โดยในวันที่ 12 – 15 ก.พ. นี้ กระทรวงแรงงานจะเดินทางไปพม่าซึ่งจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกันด้วย
ทางด้านอาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลประสบความล้มเหลวในการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยการจดทะเบียนครั้งล่าสุดมีแรงงานไปรับการจดน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนแรง งานที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน สาเหตุอาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีพอ และการที่บอกว่าหากแรงงานไม่ยื่นเรื่องพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ. 53 จะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้นั้นก็อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคิดว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่เ้ข้าใจเรื่องพิสูจน์สัญชาติอยู่อีกมาก ซึ่งรัฐบาลควรขยายเวลาและควรมีการประชาสัมพันธ์ว่าหากทำแล้วจะได้ประโยชน์ และสิทธิอะไร  
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติระบุว่า ทางกลุ่มตัวแทนแรงงานร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลทบทวนขยายเวลายื่นเรื่องพิสูจน์สัญชาติออกไป และให้รัฐบาลประสานรัฐบาลพม่าส่งเจ้าหน้าที่มารับการพิสูจน์สัญชาติในประเทศ ไทย รวมถึงให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติและการต่อใบอนุญาตทำ งานให้มากขึ้น
ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีข้ามชาติทั้งลาว พม่า และกัมพูชา เข้ารับการจดทะเบียนแรงงานรวม 1,310,690 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นแรงงานสัญชาติพม่า 1,076,110 คน ซึ่งในส่วนของแรงงานสัญชาติลาว และกัมพูชา ส่วนใหญ่ได้ผ่านการรับรองการพิสูจน์สัญชาติแล้ว เหลือเพียงแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น โดยเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติ และการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในราชอาณาจักรไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยที่ให้แรงงานไปกรอกข้อมูลพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้
กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การรับส่งสินค้าและพัสุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) -สรส. จี้ 'มาร์ค' ฟื้นองค์กร
เว็บไซต์เดลินิวส์
(9 ก.พ. 53) - ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การรับส่งสินค้าและพัสุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ประมาณ 100 คน นำโดยนายบุญมา ป๋งมา รองเลขาธิการฝ่ายปฏิบัติการ สรส. ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ติดตามเร่งรัดอนุมัติฟื้นฟูองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) เนื่องจากมีการยุบเลิกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2549 โดยอ้างเหตุอันมิใช่เหตุที่แท้จริง อีกทั้งพนักงานมิได้รับการดูแลตามที่กล่าวอ้างในมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2548 อย่างครบถ้วน เป็นเหตุให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติที่ไม่มีสำนึกในคุณธรรม และความรับผิดชอบของรัฐบาลในอดีต ทั้งนี้การขอฟื้นฟู ร.ส.พ. อยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามาไม่น้อยกว่า 11 เดือน และจากการประสานงานในระดับคณะกรรมการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ต้องเฝ้ารอคอยด้วยความหวังจะเห็นความชัดเจนในการฟื้นฟู ร.ส.พ. จากรัฐบาลปัจจุบัน แต่บัดนี้เวลาล่วงเลยมานานเกินควรยังไม่มีความคืบหน้าในทางปฏิบัติแต่ประการใด จึงได้มาติดตามเร่งรัดอนุมัติฟื้นฟูองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)
.ชุมพรห้ามจัดคอนเสิร์ต 6 นักร้องดังพม่า หวั่นกระทบสัมพันธ์-ความมั่นคงระหว่างชาติ
เดลินิวส์ (10 ก.พ. 53) -
จากกรณีได้มีแผ่นโปสเตอร์สี่สีขนาดเท่ากระดาษ เอ 4 ออกแจกจ่ายในพื้นที่ต่าง ๆของ จ.ชุมพร โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ปากน้ำอ.เมืองชุมพร และหลังสวน โดยในแผ่นปลิวดังกล่าวระบุข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาพม่าว่า "คอนเสิร์ตการกุศล วัฒนธรรมไร้พรมแดน โครงการจัดสร้างพระไตรปิฎก ฉบับภาพยนตร์ โดย บริษัท MP 3 จำกัด"พร้อมรูปภาพของศิลปินนักร้องชายหญิงชื่อดังจากประเทศพม่าประกอบด้วย อาซานี, แอลไซซี, เฮ เล, ดีพิว, ทูนทูน, และ ไอริส เล ปีเย ยู และกำหนดสถานที่จัดการแสดง ที่ ริมทะเลปากน้ำ จ.ชุมพร ณ สนามหน้าเทศบาลหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ในวันที่ 16 ก.พ. 53 ที่ สนามเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ณวิทยาลัยการอาชีพ อ.ไชยา ที่ วัดบางม่วงอ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และ ที่ หาดบางสะพานน้อย (โรงตัดเหล็กเก่า) จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้นมีโปรแกรมจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดกระแสตอบรับจากบรรดาแรงงานชาวพม่า   ทั้งที่เข้ามาทำงานถูกต้องตามกฎหมายและผิดกฎหมายในพื้นที่จ.ชุมพร กว่า 30,000 คน
โดย น.ส.ยะไข่ อายุ 20 ปี แรงงานชาวพม่ากล่าวว่า ตนรับทราบเรื่องการจัดคอนเสิร์ตศิลปินนักร้องจากเทศพม่าแล้วเนื่องจากเพื่อน ๆ โทรศัพท์มาบอก สำหรับตนชื่นชอบนักร้องชื่อ อาซานี เป็นอย่างมาก ถ้าเปรียบนักร้องเมืองไทยก็คงเทียบชั้น "พี่เบิร์ด"ธงไชย แม็คอินไตย์ ทราบว่ามีการจำหน่ายตั๋วในราคา 250 และ 350 บาท และตนจะเดินทางไปดูคอนเสิร์ตดังกล่าวด้วย 
นายอธิวัส ทรรปนะวิภาส นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำชุมพร เปิดเผยว่าเรื่องดังกล่าวตนไม่รู้เรื่องเลยจู่ ๆ ก็มีแผ่นปลิวออกมาแจกจ่ายทั่วพื้นที่ตำบลปากน้ำชุมพรและอ้างว่าจะใช้สถานที่ริมชายทะเลเป็นที่จัดแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าวด้วย ตนไม่ทราบที่มาที่ไปว่าใครหรือหน่วยงานใดจัด และมีวัตถุประสงค์อะไร
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผวจ.ชุมพร ได้สั่งการให้ นายนักรบ ณ ถลางป้องกันจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่การข่าวฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัด จัดหางานจังหวัดนายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการจัดงานในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ จ.ระนอง จนหน่วยงานความมั่นคงทางทหารมองว่าอาจจะเป็นช่องทาง แอบแฝงของกลุ่มทุนหาผลประโยชน์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในอนาคต โดยให้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมดตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าใคร หรือหน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการจัด และจัดเพื่ออะไร มีวัตถุประสงค์อะไร และขออนุญาตใช้สถานที่จากหน่วยงานไหนโดยด่วนล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรได้มีคำสั่งระงับการจัดคอนเสิร์ตดังกล่าวแล้ว
รมว.แรงงาน สั่งทูตแรงงานเร่งขยายตลาดต่างประเทศหลังเศรษฐกิจฟื้น
สำนักข่าวไทย (
11 ก.พ. 53) - นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติงานให้หัวหน้าสำนักงานแรงงานไทยใน ต่างประเทศ (สนร.) ทั้ง 13 แห่ง ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 2552 และในปีนี้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยคาดว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนจะเพิ่มกำลังการผลิตและขยายการลงทุน ขณะที่ภาครัฐจะมีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ดังนั้น สนร.จะต้องทำงานเชิงรุกในการขยายตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสาขาที่มีศักยภาพและทักษะฝีมือในตลาดระดับบน เช่น สาขาช่างเชื่อม ช่างประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พ่อครัว พนักงานนวด และสปานายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ สนร.ทุกแห่งทำการสำรวจความต้องการแรงงานในกลุ่มสาขาอาชีพดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำมาให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดใน ต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังกำชับให้ สนร.ทุกแห่งให้การคุ้มครองและช่วยเหลือแรงงานไทยให้เป็นไปตามสิทธิประโยชน์ โดยการออกตรวจเยี่ยมสถานประกอบการและคนงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากมีข้อร้องเรียนให้รีบดำเนินการโดยเร่งด่วน
ด้านนายวิฑูร สุขะวัธนกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย กรุงริยาด ในฐานะตัวแทน สนร.ทั้ง 13 แห่ง กล่าวสรุปถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในประเทศต่าง ๆ ว่า ในส่วนของกลุ่มประเทศตะวันออกไกล มีความต้องการแรงงานในหลายภาคส่วน เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี และญี่ปุ่น ขณะนี้มีความต้องการแรงงานไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะตำแหน่งผู้อนุบาล แม่บ้าน ช่างก่อสร้าง และหมอนวดแผนไทย โดยเฉพาะในไต้หวันที่ไม่สามารถหาคนงานมาป้อนตลาดได้ทัน นายวิฑูร กล่าวอีกว่า ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ มีความต้องการแรงงานในภาคการก่อสร้าง ภาคบริการ แม่ครัว คนงานอู่ต่อเรือ และพนักงานโรงแรมจำนวนมาก เช่นเดียวกับในประเทศแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง ยังคงมีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ภาคการก่อสร้างและโรงไฟฟ้า พร้อมฝากกระทรวงแรงงานเร่งจัดทำฐานข้อมูลแรงงานภาคภาษาอังกฤษ ให้นายจ้างหรือบริษัทจัดหางานต่างชาติเข้ามาค้นหาโดยตรง คาดว่าในปี 2553 จะสามารถจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 คน
 
ตม.ชลบุรี เตรียมกวาดล้างแรงงาน-ขอทานต่างด้าวครั้งใหญ่
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (11 ก.พ. 53) -
ตม.ชลบุรีถกผลงานรอบปี 2552 ก่อนสานมาตรการส่วนกลางกวาดล้างแรงงาน-ขอทานต่างด้าวครั้งใหญ่เร็วๆ นี้ พร้อมดีเดย์ออกตรวจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และเกสตเฮาส์ ที่ไม่แจ้งรายชื่อผู้ใช้บริการชาวต่างชาติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความมั่นคงของประเทศ วันนี้ (11 ก.พ.53) ที่ห้องประชุมสำนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรี พ.ต.อ.อธิศวิส กมลรัตน์ ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงาน ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรี (กต.ตร.ตม.จว.ชลบุรี) โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการปฏิบัติงานในรอบปี 2552 ตามบทบาทและภารกิจหลักรวมถึงภารกิจสนับสนุนและภารกิจการมีส่วนร่วม
ตามแนวทางที่ ตม.ส่วนกลางได้กำริห์ไว้ ซึ่งพบว่าในปีที่ผ่านมามีผลงานค่อนข้างชัดเจน ทั้งในส่วนงานบริหารงานทรัพยากรบุคคล งานพัฒนาการประชาสัมพันธ์ การพัฒนาระบบข้อมูลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การเพิ่มศักยภาพงานสืบสวนปราบปรามอาชญากรรม การจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลเชื่อมโยงส่วนกลางและอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก พ.ต.อ.อธิศวิส กล่าวด้วยว่า ตามนโยบายเร่งด่วนของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการระดมกำลังกวดล้างจับกุม กลุ่มขอทานต่างด้าวและคนเร่ร่อนต่างด้าว ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาความมั่นคงของประเทศ เพราะปัญหาดังกล่าว อาจส่งผลกระทบในระยะยาวได้ ซึ่งมีคำสั่งให้ดำเนินการเรื่อยมา และในส่วนของ ตม.จว.ชลบุรีจะได้ทำการแถลงข่าวการจับกุมในวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 นี้
สิ่งทอเหนื่อยขาดแรงงานหนัก
เดลินิวส์ (
12 ก.พ. 53 ) - นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผย ว่า ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยเริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มด้านความรู้ทางเคมี, วิศวกรรม และพนักงานระดับช่างเทคนิคด้านสิ่งทอ ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เพื่อรองรับการพัฒนา สินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากสิ่งทอหลายประเภทได้รับความ สนใจจากลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มโฮมเทคไทน์ หรือ อุปกรณ์ที่ตกแต่งภายในบ้าน เช่น ผ้าปู ผ้าม่าน เป็นต้น มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่าง   มาก คาดว่าในปี 53 จะขยายตัวเพิ่ม 35% เนื่องจากความต้องการ ในตลาดสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและตะวันออกกลางมีสูง
“ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย จะต้องเร่งปรับตัว พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น และสามารถยกระดับสินค้าให้เป็นที่ต้องการของคู่ค้า ส่วนรัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยอย่างจริงจัง เพราะถือว่าเป็นหัวใจหลักที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสิ่งทอต่อไป ถ้าหากรัฐบาลไม่รีบฉวยโอกาสที่กำลังเข้ามา เชื่อว่าอุตสาห กรรมสิ่งทอจะเสียโอกาสทางการค้า และทำให้สูญรายได้เข้าประเทศมหาศาลด้วย”ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอมีแนวโน้มที่ดีและหาตลาดใหม่มาทดแทนตลาดเก่าได้.
อิเล็กทรอนิกส์ ร้องขาดคนงานฝีมือ 2.5 หมื่นคน
กรุงเทพธุรกิจ (12 ก.พ. 53)
- นางชญาภา ประเสริฐอัมพร จัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้รับการร้องขอจากสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แจ้งว่าขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมปกว่า 25,000 คน และต้องการให้กรมส่งผู้สมัครงานและหาทางแก้ปัญหาให้โดยด่วน สำหรับตำแหน่งที่ต้องการ มีตั้งแต่ระดับพนักงานฝ่ายผลิต ช่างเทคนิค ครูฝึกพนักงาน โปรแกรมเมอร์ กระทั่งถึงวิศวกร คุณสมบัติผู้สมัคร มีทั้งวุฒิการศึกษา ม.6 ปวส. ปวช.หรือเทียบเท่า และปริญญาตรี โรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังต้องการแรงงานโดยเร็วเหล่านี้ กระจายตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และชลบุรี

นายธัชชัย อุราสุข แรงงานจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า การเลิกจ้างแรงงานโดยรวมขณะนี้ลดลง อุตสาหกรรมหลายประเภทเริ่มฟื้นตัวขึ้น เริ่มมีออเดอร์สั่งซื้อสินค้าเข้ามาใหม่ จึงมีความต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาที่เจอขณะนี้คือยังหาไม่ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เฉพาะที่สมุทรปราการและระยอง ขณะนี้ขาดแคลนเกือบ 1 หมื่นอัตรา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากแรงงานฝีมือเดิมที่ถูกเลิกจ้างในช่วงวิกฤติ เศรษฐกิจหันไปประกอบอาชีพอื่น รวมทั้งบางส่วนยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ยอมกลับคืนภาคอุตสาหกรรมเดิม

นายธัชชัย กล่าวว่า ตัวเลขจากสำนักงานสวัสดิการสังคมและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 3 ธ.ค.2552 มีสถานประกอบการเลิกจ้างแรงงานรวม 50 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างรวม 14,712 คน แยกเป็นปิดกิจการ 7 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 661 คน และเลิกกิจการบางส่วนแต่ยังไม่ปิดกิจการ 43 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 14,051 คน

“ตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นมา แนวโน้มการเลิกจ้างลดลงต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการใช้วิธีชะลอการเลิกจ้างแทนการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ ขณะเดียวกันมีการจ้างแรงงานเพิ่ม และเริ่มมีการทำงานโอทีหรือล่วงเวลาแล้ว จากเดิม ที่ไม่มีการทำงานในส่วนนี้” นายธัชชัย กล่าว

แรงงานไทยแดนโสมสุดยอดทั้งกินเหล้า-มั่วยา-วิวาท ติดอันดับ3ถูกจับ ทำภาพลักษณ์เสียหายกระเทือนโควต้า
มติชนออนไลน์ (13 ก.พ. 53) -
 ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ ได้มีการมีการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวหน้าสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ (สนร.) ประจำปี โดยกระทรวงแรงงาน เรียกอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ของสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ ทั้งหมดจาก 11 ประเทศ 13 แห่งมารายงานสถานการณ์และรับมอบนโยบายจากผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ได้มีการจัดทำข้อมูลสถานการณ์แรงงานในต่างประเทศเพื่อรายงานคณะผู้ บริหารกระทรวงแรงงาน มีข้อมูลหลายประเทศน่าสนใจ

ในส่วนของ สนร.เกาหลีใต้รายงานว่า ในปี 2552 มีแรงงานไทยเข้าไปทำงาน 21,846 คน แต่แรงงานไทยมีจุดอ่อนซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานเกาหลีใต้ระบุว่าได้รับ ข้อร้องเรียนจากนายจ้างที่คัดเลือกแรงงานว่า แรงงานมักปฏิเสธสัญญาจ้างหรือยกเลิกการเดินทาง ทำให้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแรงงานไทยส่งผลต่อโควต้าแรงงานในแต่ละปี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเกาหลีใต้มีมาตรการปราบปรามแรงงานต่างชาติที่อยู่อย่างผิด กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งในปี 2552 จับกุมได้ 165,938 คน เป็นแรงงานจีนมากที่สุดคือ 84,181 คน ขณะที่แรงงานไทยถูกจับกุมมากเป็นอันดับ 3 คือ 12,571 คน
ทั้งนี้รายงานระบุว่า แรงงานไทยจำนวนมากทั้งภาคการผลิตและก่อสร้างมักมีปัญหาการดื่มสุราจนขาดสติ เกิดเหตุทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุจราจรและขาดงาน จนเป็นภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตานายจ้าง บางส่วนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแรงงานไทยรวมตัวกันมากยังมีปัญหาค้าและเสพยา เสพติดด้วย
อย่างไรก็ตาม ในรายงานยังได้สรุปจุดแข็งของแรงงานไทยว่า มีการพัฒนาทักษะทำงานเร็วและอดทนทำงาน นอกจากนี้เกาหลีใต้และไทยมีประวัติศาสตร์ที่ดีร่วมกัน เช่น ทหารไทยเข้าไปช่วยรบเมื่อตอนสงครามเกาหลี ทำให้คนเกาหลีมีความรู้สึกดีต่อแรงงานไทย
ขณะที่ สนร.ริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรับผิดชอบดูแลและขยายตลาดแรงงานไทยใน 13 ประเทศ ระบุว่า ขณะนี้ประเทศสมาชิกสภาความร่วมมือกลุ่มอ่าว ประกอบด้วยประเทศซาอุฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน และเยเมน เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และคาดว่าในปี 2553 กลุ่มโอเปคจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศกลุ่มอ่าวมีรายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศซาอุฯและกาตาร์จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก ซึ่งจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของแรงงานไทย
"เมื่อปี 2553 รัฐบาลซาอุฯ ทุ่มงบประมาณรายจ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นเงิน 126.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซาอุฯยังได้แถลงว่าจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเป็น 144 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และมีโครงการที่สำคัญที่เป็นโอกาสในการจ้างแรงงานไทย หากมีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับปกติ"
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำสำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา กล่าวว่า ภาพรวมของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ปัจจุบันมีผู้โยกย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศประมาณ 200 ล้านคน หรือ 1 คนต่อประชากร 35 คน โดยมีแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลกประมาณ 85 ล้านคน ทั้งหมดเกิดจากสาเหตุนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ สภาวะเศรษฐกิจในบ้านเกิดของแรงงานเอง และแม้กระทั่งความไม่มั่นคงจากภัย
แรงงานพม่ากว่า 2 พันคนร่วมพิธีศพ 8 แรงงานพม่า
เนชั่นทันข่าว (13 ก.พ. 53) -
ที่สุสานวัดดอนแก้ว เขตเทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แรงงานพม่า ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งของไทย และของพม่า กว่า 2,000 คน ต่างเดินทางไปร่วมพิธีฌาปนกิจศพแรงงานพม่า 8 ศพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในพื้นที่อำเภอพบพระและอำเภอแม่สอด โดยแยกเป็นศพแรงงานหญิง 4 ศพ แรงงานชาย 4 ศพ โดยทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา และได้นำศพไปทิ้งตามพื้นที่ต่างๆ เพื่ออำพรางคดี
โดยในพิธีศพดังกล่าวมีการสวดพระอภิธรรมและทำบุญ เรี่ยไรเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมทั้งกล่าวถึงความเป็นมาของการเสียชีวิตครั้งนี้ และยืนไว้อาลัยแก่ศพเป็นเวลา 3 นาที จากนั้นจึงนำศพออกมาทำการฌาปนกิจตามประเพณีของชาวพม่า ท่ามกลางความโศกเศร้า และอาลัยอาวรณ์ นอกจากนี้ยังมีชาวพม่าจากจังหวัดเมียวดีที่ทราบข่าวต่างเดินทางไปร่วมพิธี ฌาปนกิจศพเป็นจำนวนมากอีกด้วย
นายมอ โมโจ่ ผู้นำแรงงานพม่าในอำเภอแม่สอด เปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลไทยเห็นคุณค่าของแรงงานพม่าที่เข้ามาทำประโยชน์ให้กับประเทศ ไทย และทุกคนมีค่าของความเป็นคนเหมือนกัน คดีนี้ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีความป่าเถื่อนมาก และโหดร้ายมาก จึงขอให้รัฐบาลไทยเร่งจับผู้ต้องหาให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธร ภาค 6 กล่าวว่า ขณะนี้คดียังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมหลังจากที่ทางตำรวจได้ออกหมายจับผู้ ต้องหา 5 ราย ซึ่งขณะนี้ได้หลบหนีออกไปประเทศพม่า และหนีไปต่างจังหวัดส่วนหนึ่ง
สำหรับรายชื่อแรงงานพม่าที่ถูกยิงประกอบไปด้วย นายซอดีโด่ง อายุ 28 ปี , นายซอตู อ่อง อายุ 33 ปี , นางหน่อติ่นโซ เอ อายุ 28 ปี , นางมูแซ อายุ 28 ปี , นายซอจ่อ อู อายุ 27 ปี , นางอุ่นเอ อายุ 32 ปี , นายเอโจ่ อายุ 23 ปี และนายซอกา โก่ อายุ 28 ปี รวมทั้ง 8 ศพ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่พบศพอีก 1 ศพ
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net