Skip to main content
sharethis

สุวิทย์ คุณกิตติ รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบตัวแทนเอ็นจีโอและชาวบ้าน ที่กรุงโคเปนเฮเกน รับปากตัวแทนชาวบ้านว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงชาวบ้าน พร้อมระบุเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องระดับโลกที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน และไทยต้องดำเนินการภายใต้กรอบของการพัฒนาที่ยั่งยืน

 โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก; 13 ธันวาคม 2552, 18.00 น.:  รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงฯ ยืนยันกับตัวแทนภาคประชาสังคมและเครือข่ายชาวบ้าน รัฐบาลไทยยังคงสนับสนุนจุดยืนร่วมของกลุ่มจี 77 และเห็นว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนจำเป็นต้องส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมรับปากตัวแทนชาวบ้านว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงชาวบ้านและยังไม่เห็นด้วยกับ REDD รวมถึงคงต้องมีการทบทวนการพัฒนาภายในประเทศด้วย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม ตัวแทนคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมและเครือข่ายชาวบ้านได้เข้าพบนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายศักดิ์สิทธิ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอย้ำถึงข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ได้เสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีว นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2552 เรื่องจุดยืนและท่าทีของรัฐบาลไทยในการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15 ซึ่งกำลังประชุมอยู่ในระหว่างนี้ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยเฉพาะในประเด็นการเจรจาที่จะมีผลกระทบต่อภาคประชาชนในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ ที่จะเกี่ยวพันไปถึงสิทธิของชุมชนกับการใช้ประโยชน์จากป่า การลดการปล่อยก๊าซในภาคเกษตร และทิศทางการพัฒนาพลังงานและอุตสาหกรรมของประเทศไทย

 

ทั้งนี้นายสุวิทย์กล่าวยืนยันกับน.ส. กิ่งกร นรินทรกุล ตัวแทนคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมและตัวแทนชาวบ้านจากเครือข่าวต่าง ๆ ว่า แม้ว่าขณะนี้กลุ่มประเทศอียูประกาศชัดเจนว่าจะยกเลิกพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนท่าทีของกลุ่มจี 77 ทั้งนี้ท่าทีของกลุ่ม 77 คือพยายามรักษาพิธีสารเกียวโตและต้องการให้มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศพัฒนาแล้วในช่วงพันธะกรณีที่สอง

อย่างไรก็ดีรัฐบาลไทยยังคงมีจุดยืนร่วมกันกับกลุ่มประเทศจี 77 ในเรื่องนี้ แม้ว่าที่ผ่านมามีความพยายามของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะทำให้เสียงของกลุ่มจี 77 แตก   และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ทางกลุ่มอียูประกาศชัดเจนเรื่องไม่เอาพิธีสารเกียวโต

น.ส. วนัน เพิ่มพิบูลย์ จากคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมได้สอบถามความเห็นของรัฐมนตรีสุวิทย์เรื่องการซื้อขายคาร์บอนว่า รัฐบาลไทยควรพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมในการลดการปล่อย โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซในประเทศตน ไม่ใช่ลดโดยผ่านการซื้อขายคาร์บอนและการอ๊อฟเซ็ต (offset) ในเรื่องนี้นายสุวิทย์เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดที่ประเทศตัวเอง แต่ไม่ตอบคำถามกรณีที่ว่า ทำไมประเทศไทยจึงมีโครงการภายใต้การพัฒนาที่สะอาด (CDM) นับร้อยโครงการในปัจจุบัน ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นเรื่องประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตัวเอง กล่าวแต่เพียงว่า รัฐบาลไทยต้องคำนึงถึงความคุ้มต่าง ๆ พร้อมกับต้องคำนึงเรื่องกิจกรรมที่ต้องนำไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ให้ไปด้วยกัน

ในโอกาสเดียวกัน นางกันยา ปันกิติ เครือข่ายชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศเทศ ได้สอบถามว่ารัฐบาลไทยจะมีจุดยืนอย่างไรในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับ REDD ที่จะมีการนำภาคป่าไม้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีข้อตกลงอะไรออกมาชัดเจน และ “ผมก็รับรู้อยู่ว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องของสิทธิชุมชนกับการใช้ประโยชน์จากป่า เรื่องชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่า ไทยต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ก่อน และขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่” อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องนึกถึงชาวบ้านก่อน และเรื่องนี้ก็ต้องคิดให้ละเอียดว่าชาวบ้านจะได้อะไร และจะเสียอะไร

นางกันยาได้เรียกร้องต่อรัฐบาลว่า อยากให้รัฐบาลทำการศึกษาให้ชัดเจนว่า ป่าไม้ของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าไหร่ ภาคอื่น ๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ จะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรเดือดร้อน เหมือนอย่างกรณีที่มีการจับกุมชาวบ้านและศาลตัดสินว่าชาวบ้านที่ตัดต้นยางเป็นตัวการหนึ่งที่ก่อปัญหาโลกร้อน และรัฐบาลไม่ควรใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายทางกาศอย่างเดียว การแก้ปัญหาเรื่องป่ากับชุมชน ข้าราชการต้องลงมาสำรวจพื้นที่จริง ๆ ไม่ใช่ใช้ข้อมูลจากแผนที่และภาพถ่ายเท่านั้น

นายสุวิทย์กล่าวว่า เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องระดับโลกที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน สำหรับประเทศไทย เราต้องดำเนินการภายใต้กรอบของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเราจะมีส่วนร่วมดำเนินการภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน

น.ส. เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม กล่าวว่า รัฐบาลไทยหลายหน่วยงานพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนมานานหลายปี ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ และอื่น ๆ แต่ปัญหาคือ การพูดถึงเรื่องนี้ รวมไปถึงการบรรจุเรื่องนี้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับการปฏิบัติจริงหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงสวนทางกันตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลยังคงส่งเสริมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศอีกหลายโรง และส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมหนัก เช่นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก รวมทั้งใช้พลังงานเข้มข้นและก่อมลพิษสูงมาก หากประเทศไทยยังส่งเสริมการพัฒนาลักษณะนี้จะมีแต่เพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในเรื่องนี้รัฐมนตรีสุวิทย์กล่าวว่า ก็เห็นด้วย และคิดว่าประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาในรระยะต่อไป เพราะทั่วโลกก็พูดเรื่องนี้กัน รวมไปถึงคงต้องปรับเปลี่ยนแผนพัฒนาพลังงานหรือพีดีพีให้หันมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ตัวแทนจากเครือข่ายประมงยังได้สะท้อนปัญหาเพิ่มเติมว่า เนื่องจากชุมชนประมงชายฝั่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นกลุ่มแรก ๆ จากปัญหาโลกร้อนด้วย นายสุวิทย์ก็รับปากว่า รัฐบาลกำลังมีการจัดการเรื่องนี้และจะช่วยดูแล ตัวแทนประมงจึงย้ำว่า การสร้างความเข้มแข้งและเพิ่มความสามารถให้กับชาวบ้านในการปรับตัวจากปัญหาโลกร้อนจะช่วยเรื่องนี้ได้ ซึ่งรัฐมนตรีและปลัดการะทรวงทรัพยากรฯ ก็รับปากว่าจะดำเนินการและให้มีการศึกษาเรื่องนี่อย่างจริงจัง

ตัวแทนภาคประชาสังคมและเครือข่ายชาวบ้านที่แลกเปลี่ยนและยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐมนตรีสุวิทย์ครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนน.ส.กิ่งกร นรินทรกุล น.ส. พรพนา ก๊วยเจริญ น.ส. เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และน.ส.วนัน เพิ่มพิบูลย์ จากคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนต่าง ๆ คือ นายสุทธิ อัชฌาสัย เลขาธิการเครือข่ายประชาชาชนภาคตะวันออก น.ส.เอื้องฟ้า ช้ำเกตุ จากเครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินตำบลเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา นายพฤ โอโดเชา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  เครือข่ายเยาวชนประมงพื้นบ้านภาคใต้  สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย  เป็นต้น

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net