Skip to main content
sharethis

Irrawaddy 2 ธ.ค.52 - สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ให้การรับรองสถานะแก่ผู้ลี้ภัยชาวชิน มอญ ไทยใหญ่และคะฉิ่นจากพม่าที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย จำนวนกว่า 11, 000 คนในปีนี้

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ลี้ภัยทั้งหมดประกอบด้วย ชาวชินจำนวน 5,000 คน ชาวมอญ 1,800 และชาวคะฉิ่นและไทยใหญ่อีกจำนวน 1,000 คน รวมถึงผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ชาวอาระกันยังไม่ได้รับการรับรองสถานะในปีนี้ อย่างไรก็ตาม นับเป็นปีแรกที่ทาง UNHCR ให้การยอมรับผู้ลี้ภัยจากพม่าในจำนวนมากขนาดนี้

ด้านสมาชิกสหพันธ์ผู้ลี้ภัยชาวชิน (The Alliance of Chin Refugees หรือ ACR) เปิดเผยว่า ต้นปีที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยจากพม่าต้องประสบกับความยากลำบาก หลังรัฐบาลไทยใช้มาตรการปราบปรามแรงงานจากพม่า ที่พยายามลักลอบเข้าไทยผ่านชายแดนไทย – มาเลเซีย ขณะที่ ACR เปิดเผยว่า มีชาวชินอาศัยอยู่ในมาเลเซียจำนวนกว่า 50,000 คน และได้รับการรับรองจาก UNHCR นับตั้งแต่ปี 2544 จำนวน 20,000 คน

นายรอยมอน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานผู้ลี้ภัยชาวมอญ (Mon Refugee Office - MRO) ในมาเลเซียเปิดเผยว่า ทางองค์กรกำลังดำเนินการขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ให้กับชาวมอญจำนวน 3,000 คน ทั้งนี้ ในปี 2550 ทาง UNHCR ไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัยแก่ชาวมอญแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 มีชาวมอญจำนวน 500 คนที่ได้รับการรับรอง

ตัวเลขจาก MRO ระบุว่า มีชาวมอญอาศัยอยู่ในมาเลเซียประมาณ 20,000 คน ส่วนใหญ่ยังไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นายรอยมอนกล่าวอีกว่า ผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวที่มีลูกมากแต่กำพร้าพ่อ รวมถึงชายอายุ 50 ปี

ทั้งนี้ หากผู้ลี้ภัยมีบัตรประจำตัวที่ UNHCR ออกให้และถูกจับจะได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ UNHCR ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ขณะที่ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองสถานะอาจต้องรอถึง 1 ปีหรือนานกว่านั้นก่อนที่จะถูกส่งตัวไปประเทศที่สาม

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการจดทะเบียนให้แก่ผู้ลี้ภัยในมาเลเซียจำนวนกว่า 67,800 คน ซึ่งพบว่าในจำนวนนี้ราว 62,000 คนมาจากพม่า อย่างไรก็ตาม UNHCR ระบุว่า ยังคงมีผู้ลี้ภัยจากพม่าในมาเลเซียที่ยังไม่ได้รับการสำรวจและจดทะเบียน ซึ่งอาจมีมากถึง 30,000 คน

ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยจากพม่าในไทยจำนวนมากต้องการเดินทางเข้ามาเลเซียเพื่อยื่นขอรับรองจาก UNHCR ซึ่งผู้ลี้ภัยบางคนต้องจ่ายเงินจำนวน 18,000 บาท หรือมากกว่านั้นเพื่อลักลอบเข้ามาเลเซีย ขณะที่พบว่า รัฐบาลมาเลเซียร่วมมือกับ UNHCR ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาตั้งแต่ปี 2518 แม้มาเลเซียลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการให้สถานะแก่ผู้ลี้ภัยร่วมกับยูเอ็นก็ตาม

อนึ่ง ประเทศที่สามซึ่งผู้ลี้ภัยจากพม่าได้รับการส่งตัวไป อาทิ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์

 

ที่มา: http://www.salweennews.org, แปลจาก Irrawaddy 2 ธ.ค.52

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net