Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์จากมาร์ค เวสบรอท จากศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ระบุ รัฐบาลละตินอเมริกาต่อต้านรัฐประหารเนื่องจากเคยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมาก่อน ส่วนเซลายามักถูกป้ายว่าเป็นตัวเบี้ยของประเทศเพื่อนบ้านอย่างชาเวซ ชี้รัฐบาลสหรัฐฯ จะเสื่อมเสียหากยังไม่ปฏิเสธการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลรัฐประหารในฮอนดูรัส 

 

"ทำไมรัฐบาลประเทศละตินอเมริกาถึงมองเห็นสิ่งที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตย ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งนี้ สาเหตุหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลในละตินอเมริกาเป็นรัฐบาลซึ่งมาจากประชาชน เคยเผชิญกับวิกฤติของประเทศ ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการมาก่อน"
 
"สิ่งที่ถูกทำให้ ‘เกินจริง’ อีกเรื่องหนึ่งคือการอภิปรายทางการเมืองที่พยายามจะแปะป้ายให้เซลายากลายเป็นตัวเบี้ยหมากของอำนาจจากต่างประเทศ โดยเลือกเอาง่าย ๆ ว่า อำนาจจากต่างประเทศดังกล่าวคือประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลลา เพราะชาเวซเองเป็นคนที่ถูกทำให้ดูชั่วร้ายอยู่แล้ว"
 
"รัฐบาลชุดนี้คำนวณค่าของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในภาคพื้นทวีปอเมริกาได้เท่ากับศูนย์"
 
000
 
กลุ่มคนรวยที่เป็นเจ้าของกิจการส่วนใหญ่ในฮอนดูรัสและนักการเมืองบางกลุ่มอาศัยทหารในการทำรัฐประหารโดยจับกุมตัวประธานาธิบดี เอาปืนจี้และสั่งให้ออกนอกประเทศ ต่อจากนั้นพวกเขาก็หันมาจับกุมประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร สั่งปิดและข่มขู่สื่อเสรี ทั้งยังมีการสังหาร ทำร้ายร่างกาย และทรมานผู้ชุมนุม ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดข้นมานานมากกว่า 4 เดือนแล้ว ซึ่งช่วงสองในสามของเวลาที่ผ่านมาเป็นเวลาที่ถูกจัดให้เป็นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ของ "การเลือกตั้ง" ที่จัดโดยกลุ่มเผด็จการ
 
ประเทศอื่น ๆ จะยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ย. นี้หรือไม่ กลุ่มประเทศในละตินอเมริกาจะต้องปฏิเสธแน่นอน ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐฯ บอก "ยอมรับ" ถ้าหากมันทำให้พวกเขาสามารถปลีกตัวออกจากสถานการณ์ได้
 
องค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดีเซลายากลับเข้ามาในฮอนดูรัสและพักพิงอยู่ที่สถานฑูตบราซิล การจับกุมและทุบตีผู้ชุมนุม รวมถึงการข่มขู่นักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ก็เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์ คณะกรรมการสิทธิ์จากองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) และกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่มอื่น ๆ ทั่วโลก ต่างก็ร่วมกันประณามการปราบปรามและการใช้ความรุนแรงจากรัฐบาลเผด็จการ
 
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. มี กลุ่มริโอกรุ๊ป 25 ประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศในแถบละตินอเมริกาทั้งหมด ประกาศว่า พวกเขาจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งวันที่ 29 พ.ย. ของฮอนดูรัส หากประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ยังไม่ได้คืนตำแหน่ง
 
ทำไมรัฐบาลประเทศละตินอเมริกาถึงมองเห็นสิ่งที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตย ขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งนี้ สาเหตุหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลในละตินอเมริกาเป็นรัฐบาลซึ่งมาจากประชาชน เคยเผชิญกับวิกฤติของประเทศภายใต้การปกครองแบบเผด็จการมาก่อน ประธานาธิบดี ลุลา ดา ซิลวา ของบราซิล เคยถูกรัฐบาลเผด็จการบราซิลสั่งกุมขังมาก่อนในปี 1980 ประธานาธิบดี มิเชล บาเชลเลต ของชิลี เคยถูกทรมานในคุกขณะที่ชิลีอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการปิโนเช่ต์ ที่ขึ้นสู่อำนาจโดยการช่วยเหลือจากรัฐบาลริชาร์ด นิกสันของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีจากโบลิเวีย อาร์เจนตินา กัวเตมาลา และอื่น ๆ ก็เคยอยู่ภายใต้การปกครองอย่างกดขี่ของเผด็จการฝ่ายขวา
 
ความหวาดหวั่นต่อเผด็จการไม่ได้เป็นเรื่องในอดีตห่างไกลไปเสียหมด เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วในปารากวัย ประธานาธิบดี เฟอร์นานโด ลูโก สั่งปลดผู้นำกองทัพปารากวัยเกือบทั้งหมด เนื่องจากพบหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า กองทัพกำลังสมคบคิดกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องแบบเดียวกับที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในฮอนดูรัสเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. เว้นแต่เรื่องในฮอนดูรัสไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขแบบเดียวกันได้
 
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา พวกเรามักจะได้ยินได้ฟังเรื่องโกหกบิดเบือนจากฝ่ายริพับลิกันอยู่เสมอ โดยพวกเขาจงใจให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารและแสดงการสนับสนุนเผด็จการ กลุ่มคนเหล่านี้ในสหรัฐฯ อาจรวมไปถึง แลนนี่ เดวิส[1] ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับบิล และฮิลลารี่ คลินตัน ด้วย สิ่งที่ถือเป็นคำโกหกคำโตที่สุด คือการบอกว่าเซลายาถูกถอนออกจากประธานาธิบดีเนื่องจากเขาพยายามขยายวาระการดำรงตำแหน่งของตนเอง ซึ่งคำโกหกเหล่านี้พบเห็นได้ตามการรายงานข่าวและบทความแสดงความเห็นของสื่อใหญ่ ๆ
 
โดยในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นที่เซลายาจะให้มีการลงประชามตินั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง และแม้ว่าการสำรวจประชามติในครั้งนี้ผลจะออกมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ [2] การบังคับใช้กฏหมายใด ๆ ก็ตาม จะมีผลหลังจากที่เซลายาพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 29 ม.ค. 2010 ไปแล้ว
 
สิ่งที่ถูกทำให้ "เกินจริง" อีกเรื่องหนึ่งคือการอภิปรายทางการเมืองที่พยายามจะแปะป้ายให้เซลายากลายเป็นตัวเบี้ยหมากของอำนาจจากต่างประเทศ โดยเลือกเอาง่าย ๆ ว่า อำนาจจากต่างประเทศดังกล่าวคือประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลลา เพราะชาเวซเองเป็นคนที่ถูกทำให้ดูชั่วร้ายอยู่แล้ว ลัทธิแมคคาร์ธีซึ่งก่อให้เกิดโรคประสาทหวาดผวาต่อคอมมิวนิสท์ เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1950 ยังคงถูกนำมาใช้กับการเมืองในยุคปัจจุบัน ที่ดูไปแล้วไม่สร้างสรรค์เอาเสียเลย
 
ไม่รู้ว่าประเทศเรา (สหรัฐฯ) จะเสื่อมเสียขนาดไหน หากรัฐบาลโอบาม่ายังคงเดินตามเกมของรัฐบาลรักษาการฮอนดูรัส และยอมรับเจ้าสิ่งที่เรียกว่า "การเลือกตั้ง!" ที่จะถึงนี้ ผมนึกจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะกล่าวถึงสถานการณ์นี้อย่างไร นอกเสียจากจะต้องบอกว่า รัฐบาลชุดนี้คำนวณค่าของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในภาคพื้นทวีปอเมริกา ได้เท่ากับศูนย์
 
 
บทวิเคราะห์ของมาร์ค เวสบรอท
U.S. should reject tainted coming election in Honduras, Mark Weisbrot, Sacramento Bee, 19-11-2009
 
 
เชิงอรรถ
[1] - แลนนี เดวิส (Lanny Davis) เป็นทนายความชาวสหรัฐฯ และในอดีตเคยเป็นสภาที่ปรึกษาในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน หลังพ้นสมัยของคลินตัน เขาทำงานเป็นนักล็อบบี้ให้กับปากีสถานก่อนหน้าเหตุการณ์ 9-11 ก่อนที่ต่อมาจะมาเป็นนักล็อบบี้ให้กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจละตินอเมริกาในฮอนดูรัส (CEAL) ซึ่งเขากล่าวปกป้องกองทัพฮอนดูรัสในกรณีที่พวกเขาออกมาทำรัฐประหารว่าเป็นไปตามแบบแผนและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
 
เดวิส ปรากฏตัวในการเจรจาที่มีประธานาธิบดีคอสตาริกา ออสการ์ อาเรียส เป็นตัวกลาง ในวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา และแสดงตัวให้เห้นว่าอยู่ข้างรักษาการประธานาธิบดีของฮอนดูรัส โรเบอร์โต มิเชลเลตตี นอกจากจะเป็นนักล็อบบี้ให้กับกลุ่มธุรกิจของฮอนดูรัสและมิเชลเลตตีแล้ว ยังคงทำงานร่วมกับนักล็อบบี้ที่ชื่อ เบนเนตต์ แรทคลิฟฟ์ และ แวนเดอร์ อาร์ค/แรทคลิฟฟ์ ซึ่งเป็นมือล็อบบี้ที่มีสายสัมพันธ์กับฮิลลารี่ คลินตัน
 
 
[2] - การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวคือการที่เซลายา ต้องการทำประชามติว่าจะให้มีการเปิดประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีหรือไม่ ซึ่งตามกฏหมายของฮอนดูรัสแล้วประธานาธิบดีที่เคยได้รับตำแหน่งแล้วครั้งหนึ่งจะไม่สามารถลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกรอบได้
 
โดยเซลายาวางแผนทำประชามติโดยการวาง "หีบเลือกตั้งที่สี่" ไว้ในการเลือกตั้งวันที่ 29 พ.ค. จากที่สามหีบแรกไว้สำหรับเลือกประธานาธิบดี, ส.ส. และ นายกเทศมนตรี และหีบที่สี่ไว้สำหรับลงประชามติเรื่องประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net