Skip to main content
sharethis

มานูเอล เซลายาผู้นำฮอนดูรัสที่ถูกทำรัฐประหาร อยู่ในสถานทูตบราซิลเป็นวันที่ 3 ขณะที่ทหารตำรวจเข้าสลายกลุ่มผู้สนับสนุนและล้อมสถานทูตตัดน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์ ด้านประธานาธิบดีบราซิลกล่าวที่ยูเอ็นสนับสนุนให้เซลายากลับสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีทันที

เด็กชายคนหนึ่งเดินผ่านซากขยะและรถเข็นที่ถูกเผา ซึ่งรถเข็นนี้นำมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ถูกปล้นสะดม เพื่อนำมาขวางถนนในย่านเอ็ล เพเดรกัล ในกรุงเตกูซิกัลปา เมื่อ 23 ก.ย. ตำรวจระบุว่าฝูงชนออกมาปล้นสะดมร้านค้าเมื่อคืนวันอังคารขณะที่ผู้คนจำนวนมากพากันเก็บตัวอยู่ในบ้านเนื่องจากกลัวถูกจับกุมข้อหาฝ่าฝืนกฎเคอร์ฟิวซึ่งถูกประกาศหลังมานูเอล เซลายากลับเข้ามาในฮอนดูรัส (ที่มา: Reuter/daylife.com)

 
เซียวมารา คาสโตร (Xiomara Castro) ภรรยาของเซลายา แจ้งสถานการณ์ภายในสถานทูตบราซิลกับนายอันเดรส พาวอน (มุมล่าง สวมเสื้อเหลือง) ประธานองค์การสิทธิมนุษยชนฮอนดูรัส (CODEH) เมื่อ 23 ก.ย. ในภาพจะเห็นไมโครโฟนของสถานีโทรทัศน์เตเลซูร์ของเวเนซุเอลา และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารฮอนดูรัสพร้อมอาวุธตรึงกำลังภายนอก (ที่มา: Getty Images/daylife.com)
 
หลุยส์ อินาซิโอ ลูล่า ดา ซิลวา หรือลูล่า ประธานาธิบดีบราซิลระหว่างกล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ 23 ก.ย. เพื่อสนับสนุนการกลับสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของเซลายา (ที่มา: Getty Imagers/daylife.com)
 
 
มานูเอล เซลายา ผู้นำฮอนดูรัสที่ถูกโค่นจากการรัฐประหารอาศัยอยู่ภายในสถานทูตบราซิล ในกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัสเป็นวันที่ 3 ขณะที่ในเมืองอยู่สภาพเงียบงันอันเนื่องมาจากวิกฤตการเมือง
 
“การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่อาชญากร ผมคิดว่าพวกเราต้องมาร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพ” เซลายากล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีระหว่างที่เขาอยู่ภายในสถานทูตบราซิลเมื่อวันอังคารที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา
 
เซลายาอยู่ภายในสถานทูตบราซิลพร้อมด้วยผู้สนับสนุน สื่อมวลชน และนักการทูตซึ่งเสบียงอาหารใกล้ร่อยหรอโดยภายนอกถูกล้อมโดยทหารฮอนดูรัส ถูกตัดไฟฟ้า น้ำประปา และสายโทรศัพท์
 
สถานทูตบราซิลถูกล้อมโดยตำรวจและทหารตั้งแต่วันจันทร์หลังจากที่เซลายาเข้าไปอยู่ในสถานทูตดังกล่าว โดยเซลายากลับมายังฮอนดูรัสเพื่อทวงคืนอำนาจหลังถูกรัฐประหาร
 
ขณะที่ผู้นำปัจจุบันของฮอนดูรัส โรเบอร์โต มิเชลเลตตี รักษาการประธานาธิบดีได้ยื่นข้อเสนอเจรจากับเซลายาเป็นครั้งแรกเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมือง แต่มีข้อแม้ว่าเซลายาต้องยอมรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 29 พ.ย. นี้
 
“ผมพร้อมคุยกับเซลายา หากเขาแสดงการยอมรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี” แถลงการณ์ของมิเชลเลตตีซึ่งอ่านโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮอนดูรัสคาร์ลอส โลเปซ ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (22 ก.ย.)
 
ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาทหารได้ยิงแก๊สน้ำตาและใช้กระบองเป็นอาวุธเข้าสลายผู้สนับสนุนเซลายาราว 4 พันคนที่ชุมนุมภายนอกสถานทูตบราซิลเพื่อปกป้องคนที่เขาเห็นว่าเป็นผู้นำที่ชอบธรรมของฮอนดูรัส
 
พร้อมกันนั้น มีการขยายเวลาเคอร์ฟิวจากวันจันทร์เป็นวันพุธ ขณะที่ตำรวจตั้งแถวรอบสถานทูตอย่างแน่นหนาโดยไม่อนุญาตแม้แต่เจ้าหน้าที่กาชาดสากลเข้าไปด้านใน
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่ภายในสถานทูตบราซิลต้องนอนกับพื้นและอยู่ภายในอาคารซึ่งบัดนี้ผ่านมาสองวันโดยปราศจากอาหารและน้ำ
 
ส่วนผู้สนับสนุนเซลายาในสถานทูตต่างยืนยามอยู่ทั้งคืนเพื่อป้องกันการบุกของทหารฮอนดูรัส แม้ว่ารัฐบาลมิเชลเลตตีจะระบุว่าจะไม่นำกำลังเข้าไปภายในสถานทูต
 
วิกฤตการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในฮอนดูรัสตามมาด้วยแถลงการณ์ของผู้นำในภูมิภาคนี้ โดยประธานาธิบดีเอกวาดอร์เรียกร้องรัฐบาลมิเชลเลตตีสร้างหลักประกันแก่ “ชีวิตทั้งทางร่างกายและสภาพความเป็นอยู่ของประธานาธิบดีเซลายา”
 
ขณะที่ประธานาธิบดีบราซิลหลุยส์ อินาซิโอ ดา ซิลวา หรือลูล่ากล่าวระหว่างการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์กเมื่อวันพุธ (23 ก.ย.) เรียกร้องให้คืนอำนาจแก่เซลายาทันที
 
“ประชาคมนานาชาติเรียกร้องให้เซลายากลับสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศทันที และเตือนให้สร้างหลักประกันว่าจะต้องไม่เกิดเหตุรุนแรงต่อภารกิจการทูตของบราซิลในเมืองหลวงของฮอนดูรัส” ลูล่ากล่าวกับที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ
 
 
ที่มา: Zelaya holds out in Honduras embassy, by Noe Leiva, AFP, Sep 23, 12:10 pm ET
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net