Skip to main content
sharethis
 
14 พ.ย. 52 ที่ห้องประชุมโรงเรียนศาสนบำรุง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ในฐานะสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง จัดการประชุมเสนวนาประชาสังคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการกำหนดเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ ข้าราชการ ผู้นำศาสนาและชาวบ้าน ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เข้าร่วมประมาณ 30 คน
 
พล.ต.ต.จำรูญ ได้บรรยายถึงเขตปกครองในอุดมคติของชนกลุ่มน้อยว่า มีหลายรูปแบบ สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถรวมกลุ่มกันตั้งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ เช่น เดียวกับกรุงเทพมหานครหรือเมืองพัทยาได้ หรืออาจแยกเป็นอิสระ 4 เขต คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
 
โดยวิธีดำเนินการ คือ การร่างพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ชายแดนภาคใต้หรือ ร่างพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่น 4 ฉบับแยกตาม 4 พื้นที่ดังกล่าว โดยให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอกฎมายไม่ต่ำกว่า 10,000 รายชื่อ เสนอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งหากสภาเห็นชอบก็จะตราเป็นกฎหมายต่อไป แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่เป็นไรถือว่าได้เรียนรู้ร่วมกัน
 
หากได้ปกครองในรูปแบบดังกล่าวก็จะมีผลดี หรือ ประโยชน์ คือเป็นการเลือกตั้งผู้ปกครองที่มาจากประชาชนโดยตรงทุกระดับ ประชาชนมีสิทธิกำหนดนโยบายการบริหารด้วยตนเอง ประชาชนมีสิทธิในการบริหาร/จัดสรรทรัพยากรท้องถิ่นเอง อนุรักษ์ รักษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ของตนเอง(ภาษา ศาสนา) พัฒนาตาม ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่และสอดคล้องกับความต้องการ
 
แต่การผลักดันเรื่องนี้ก็มีผลเสีย หรือจำกัด คือ ความขัดแย้งทางการเมืองสูง/ การแย่งชิงทรัพยากร งบประมาณมีไม่พอพัฒนา ใช้ในการบริหารสำนักงานและงานประจำมาก ชนกลุ่มน้อยอื่นๆเห็นว่าไม่เป็นธรรม เสียประโยชน์จะขัดขวาง นักการเมืองเดิม ข้าราชการบางพวกในส่วนกลางขัดขวาง รัฐบาลจะไม่เห็นชอบ ขัดขวางในสภาฯ ทำให้กฎหมายตกไป
 
นายธีรวัฒน์ สมเจตต์ อนุกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในกรรมาธิการเห็นว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมีกระทรวงรับผิดชอบมิใช่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ส่วนกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เสนอเรื่องนครปัตตานีนั้น รายละเอียดต่างๆยังไม่มี จึงสามารถจะศึกษารูปแบบกันได้
 
เหตุที่ต้องมีกระทรวงรับผิดชอบนั้น เพราะอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีมากกว่าอำนาจมาจากเลือกตั้ง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ถูกนายอำเภอควบคุม องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุม มีการล้วงลูก จึงมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้น เกิดความขัดแย้งในเรื่องอำนาจมากกว่า เห็นด้วยที่จะต้องมีกระทรวงหลักรับผิดชอบปัญหาภาคใต้ ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง
 
นายสมชาย กุลคีรีรัตนา ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคฮาลาล กล่าวว่า ตอนนี้นักวิชาการฟันธงแล้วว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาหลัก คือการแบ่งแยกดินแดนให้เป็นอิสระเพื่อปกครองตนเองของกลุ่ม บีอาร์เอ็น โคออดิเนต ปัญหารองก็คือ ความไม่เหมาะสมของระบบการปกครอง เพราะปัญหาการปกครองเหมือนกันหมดทั้งประเทศ โดยยกตัวอย่างกรณีจังหวัดสตูลที่มีมุสลิมส่วนใหญ่ แต่ไม่เป็นปัญหาในเรื่องการปกครอง
 
ส่วนในประเทศจีนมีชนกลุ่มน้อยมี 55 กลุ่ม คนกลุ่มใหญ่เป็นมุสลิม โดยกลุ่มฮุยเกอร์ ที่ใช้ภาษาตุรกี จีนให้อิสระเป็นเขตปกครองตนเองในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น แต่อำนาจปกครอง ทหารและตำรวจ เป็นของรัฐ ในขณะเดียวกันทรัพยากรส่วนใหญ่รัฐเป็นคนจัดการ
 
กรณีจังหวัดอาเจ๊ะ ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นมุสิลมเหมือนรัฐบาลกลาง จึงไม่มีปัญหาเรื่องสัญลักษณ์ แต่ปัญหาคือทรัพยากรธรรมชาติและการปกครอง ในมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ รัฐให้อำนาจในเชิงสัญลักษณ์ แต่อำนาจการเมืองการปกครองยังให้ไม่จริง ยังเป็นของส่วนกลางอยู่ ส่วนการจัดการทรัพยากรก็ไม่ให้เช่นกัน
 
พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า การเสนอแนวคิดและการรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดกรอบการกระจายอำนาจปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้ง ดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญปี2552 ตามมาตรา 281 ที่ระบุว่า ภายใต้บังคับมาตรา 1 (ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้) รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการ ตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ วรรคที่สองคือ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
 
พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวอีกว่า การรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้จัดทำขึ้นในนามสภาพัฒนาการเมือง โดยจะทำทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย สภาพัฒนาการเมือง ก็จะร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าและนายทหารระดับ พล.อ.ในกองทัพ ร่วมกันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นให้เป็นรูปธรรม เพื่อเสนอต่อสภาต่อไป โดยต้องมีเนื้อหาครอบคุลมทั้ง 3 มิติดังกล่าว คือ สัญลักษณ์ การเมืองการปกครอง และการจัดการทรัพยากร
 
“แม้เราเห็นด้วยกับพล.ชวลิต แต่ก็ไม่ทั้งหมด หรือข้อเสนอของ รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ จาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมด รวมทั้งแนวทางของ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่บอกว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีทางแก้อื่นแล้วนอกจากการกระจายอำนาจ ซึ่งเราเห็นว่าต้องดำเนินการไปในทางนี้ คือการกระจายอำนาจทางการปกครอง” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว
 
ส่วนผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น นายอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับสิทธิพิเศษมากมาย จนกระทั่งภาคอื่นอิจฉา ว่าทำไมต้องเอาใจมากขนาดนั้นแต่ปัญหาไม่หมดไป ซึ่งการแก้ปัญหาโดยการเอาใจทำให้ปัญหาแก้ไม่ได้ก็ได้
 
พล.ต.ต.จำรูญ เปิดเผยหลังการเสวนาว่า การรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่างกฎหมายในเรื่องนี้ จะใช้เวลาดำเนิน 9 เดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net