พล.อ.อุดมเดช นำถก 13 คปต.ส่วนหน้านัดแรก มอบหมายงานแก้ปัญหาชายแดนใต้

6 ต.ค. 2559 หลังเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบรายชื่อแล้ว จำนวน 13 คน โดย มีพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในคณะขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า(คปต.ส่วนหน้า)

วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อุดมเดช ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐบาลพิเศษ ในคณะขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า(คปต.ส่วนหน้า) ประชุมคณะผู้แทนพิเศษ คปต.ส่วนหน้าครั้งแรก โดย พล.อ.อุดมเดช กล่าวก่อนเข้าประชุมว่าเป็นการประชุมคณะผู้แทนรัฐบาลพิเศษ ใน คปต.ส่วนหน้า เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ได้ให้นโยบายมาบ้างแล้ว ส่วนอื่นจะยึดถือกลุ่มงานเดิมที่ คปต.เคยวางไว้ใน 7 กลุ่มงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ทั้ง 13 ท่านดูกลุ่มงานใดเป็นการเฉพาะ แต่ยังแสดงความคิดเห็นในงานด้านอื่น ๆ ได้ การประชุมในวันนี้เพื่อเกิดความชัดเจนและเข้าใจตรงกัน และหลังจากการประชุมวันนี้แล้ว เว้นระยะเพื่อให้แต่ละบุคคลที่รับผิดชอบไปจัดลำดับความสำคัญกลุ่มงานของตัวเอง และนำมาเสนอเพื่อจัดลำดับความเร่งด่วนและดูนโยบายของรัฐบาล เช่น ความชัดเจนให้เกิดผลในปี 2560 คือเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน

พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า การทำงานของคณะผู้แทนรัฐบาลพิเศษ ในคณะขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหน้า จะต้องเข้าใจระบบการปฏิบัติงานต่าง ๆ ระบบรายงาน การปฏิบัติ ตามคำสั่งคสช.ที่ได้ระบุไว้ เป็นการประสานงาน ให้คำแนะนำเชื่อมต่อ การบูรณาการงานรัฐบาลในส่วนกลาง แต่ไม่ถึงกับการสั่งการส่วนราชการในพื้นที่ ยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ซึ่งคณะทั้ง 13 คน ตั้งใจทำงานให้สิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินการมา จะพยายามทำให้ลุล่วงเกิดผลดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสงบมากที่สุดในรอบปีต่อไป

พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณของคณะผู้แทนรัฐบาลพิเศษ มีสำนักงานนายกรัฐมนตรีดูแลอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ คปต.ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติจะเป็นผู้ดูแล พร้อมทั้งรายงานให้นายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตร ที่ได้จัดระบบให้รายงานโดยตรงอยู่แล้ว เพื่อเกิดความรวดเร็ว โดยให้ นายภานุ เป็นเลขาธิการคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล ในส่วนทีมงานคปต ส่วนหน้า จะมีเจ้าหน้าที่สมช.ทั้งระดับสูง ระดับกลาง ที่เข้าใจงานอย่างดีอยู่แล้ว รวมถึงส่วนของทหารและพยายามให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน  ทั้งนี้จะดูแลให้มีเจ้าหน้าที่ในจำนวนที่เหมาะ ไม่ให้คนมากเกินไป ไม่ต้องการเกิดพะรุงพะรัง
 
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า คณะผู้แทนทั้ง 13 คนสามารถให้ข้อมูลได้หมด เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเปิดเผย ไม่ใช่เรื่องลับอะไร คิดว่าประชาชนอยากทราบความคืบหน้า จะไม่จำกัด สามารถชี้แจงได้หมด แต่ในโอกาสต่อไปจะพิจารณาวางตัวคนที่เหมาะสมมาให้ข้อมูล ส่วนการลงพื้นที่ปฏิบัติงานทั้ง 13 ท่านนั้น ไม่จำเป็นต้องลงไปพร้อม ๆ กัน แล้วแต่ความสะดวก อยากให้เกิดความคล่องตัว ซึ่งบางท่านทำงานในพื้นที่อยู่แล้ว ยกเว้นบางท่านที่มีงานประจำอย่างเช่น พล.อ.สุรเชษฐ์ แต่ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะใช้ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย กองพลทหารราบที่ 15 จ.ปัตตานี ในการปฏิบัติงานเพื่อเป็นฐานรวบรวมข้อมูล
 
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า สำหรับ ในส่วนงานกองอำนวยการภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. มีความชัดเจนงานปกติอยู่แล้วก็ดำเนินการไป ในส่วนของคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล ทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลเพื่อเกิดประสิทธิภาพ อะไรทำดีอยู่แล้วก็สนับสนุน สิ่งไหนที่ยังไม่ดี ล่าช้า จะเข้าไปดูแลปัญหาข้อขัดข้องให้ไหลลื่นเพื่อเกิดความสำเร็จ
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องกำกับดูแล กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศอบต.หรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในสังกัดแต่ละส่วนมีสายการบังคับบัญชาปกติอยู่แล้ว ซึ่งคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล ไม่ใช่สายการบังคับบัญชา เพราะตามคำสั่งคสช.ระบุชัดเจนว่า ไม่มีอำนาจสั่งการ เพียงแต่ทำหน้าที่บูรณาการ ขับเคลื่อน ปิดช่องว่างการทำงานให้แนบชิดกันเพื่อให้งานเดินไปได้ ซึ่งหลังจากคณะผู้แทนพิเศษปฏิบัติงาน จะรวบรวมข้อมูลเป็นสัปดาห์ รอบเดือน เพื่อสรุปประเมิรผลการทำงานรอบ 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อสร้างตัวชี้วัดกลุ่มงาน
 
"สิ่งใดที่ทำให้เกิดความล่าช้า อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล ต้องเร่งผลักดัน เพื่อเกิดความรวดเร็ว ส่วนเรื่องเจ้าหน้าที่เกียร์ว่างคงไม่มี อาจมีติดขัดบางอย่างทำให้งานเดินล่าช้าแต่ที่ผ่านมาเราพึงพอใจในระดับหนึ่ง บางช่วงงานสำเร็จเป็นเรื่อง ๆ บางช่วงสำเร็จน้อย นี่คือปัญหาที่นายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตร มองว่า จำเป็นต้องมีคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาลเพื่อขจัดปัญหา เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด แม้ว่าทุกคนที่เข้ามาทำงานบางคนเกษียณราชการไปแล้ว แต่มีประสบการณ์ มีความรู้ มีความสามารถ บางท่านเคยเป็นอดีตแม่ทัพภาค 4 ซึ่งรู้งานในพื้นที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ขอให้ประชาชนได้มั่นใจว่าผู้แทนพิเศษรัฐบาล 13 ท่าน ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตร" พล.อ.อุดมเดช กล่าว
 
ทั้งนี้เมื่อวันที่  4 ต.ค.ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบรายชื่อแล้ว จำนวน 13 คน ดังนี้ 1. พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 2. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 3. พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 4. พล.อ.ปราการ ชลยุทธ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 5. พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 /รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 6. พล.อ.สกล ชื่นตระกูล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 7. พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตเสนาธิการทหารบก /เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 8. พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 9. พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 10. พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ อดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 11. พรชาต บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 12. จำนัล เหมือนดำ อดีตรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล 13. ภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเลขานุการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล
 
วันเดียวกัน ครม.ยังมีมติเห็นชอบหลักการโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (ปี 2560 – 2563) และแนวทางการดำเนินงาน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวทางดังกล่าวไปดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
 
โดย สศช. ได้ร่วมกับ ศอ.บต. จัดทำโครงการเมืองต้นแบบฯ โดยที่ประชุม คปต. มีมติเห็นชอบหลักการ กรอบแนวคิด และแนวทางการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว สรุปได้ดังนี้

                1. กรอบแนวคิด พัฒนาภายใต้กรอบแนวคิดเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”โดยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา ให้เป็นเมืองต้นแบบที่มีการพัฒนาในลักษณะพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะ ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนที่สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น

                2. วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง

                3. เป้าหมาย พัฒนา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร” พัฒนา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็น “ศูนย์กลางการค้าขายแดนระหว่างประเทศ” พัฒนา อ.เบตง จ.ยะลา เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน”

                4. แนวทางการพัฒนา แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

                (1) ระยะเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน เช่น ออกมาตรการด้านสิทธิประโยชน์

การลงทุน จัดตั้งกองทุนส่งสริมธุรกิจรุ่นใหม่ของแต่ละอำเภอ เป็นต้น

                (2) ระยะที่ 2 ปีถัดมาเพื่อสนับสนุนการลงทุนระยะแรก

                - อ.หนองจิก ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตการเกษตรเป็นสินค้า OTOP ปรับปรุงท่าเรือปัตตานีและถนน

                - อ.สุไหงโก-ลก จัดตั้ง Free Trade Zone ก่อสร้างสะพานโก-ลกแห่งที่ 2 ศึกษาความเหมาะสมศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้า โรงงาน ศูนย์นิทรรศการ ฯลฯ

                - อ.เบตง พัฒนาการท่องเที่ยวครบวงจรและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพระบบไฟฟ้าและระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ

                (3) ระยะต่อไปในการเชื่อมโยงระบบขนส่งทั้งหมดไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท