Skip to main content
sharethis

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทหน้าที่ในการรับแจ้งเหตุ และให้การช่วยเหลือแรงงานภาคประมงที่ถูกค้ามนุษย์ และละเมิดสิทธิ โดยในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏเหตุการณ์แรงงานภาคประมงจำนวนมาก ที่หนีตายมาขอความช่วยเหลือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จนปัญหาดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมาในสังคมวงกว้าง ถึงขนาดมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาปัญหาการค้ามนุษย์ภาคแรงงานประมง เป็นการเฉพาะ

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา จึงได้ประมวลสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีความเห็นควรขึ้นบัญชีดำ เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน

จังหวัดท่าเรือประมงที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ขั้นรุนแรง 4 จังหวัด ดังต่อไปนี้

จังหวัดสงขลา
จังหวัดสงขลา ถือเป็นจังหวัดท่าเรือประมงขนาดใหญ่ มีแพปลาของเอกชนจำนวนมากยาวตลอดแนวปากทะเสสาปสงขลา ทั้งนี้ เรือประมงส่วนใหญ่เป็นเรือประมงนอกน่านน้ำที่ออกไปหาปลาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 1-5 ปี จึงเกิดภาวะ การขาดแคลนแรงงานประมงอย่างหนัก

เป็นที่คาดกันว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของแรงงานที่ถูกล่อลวงจากพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ไปทำงานบนเรือประมง มักจะถูกส่งมาลงเรือยังประมงท่าเรือประมงในจังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีนายหน้าประมาณ 6 คน ที่คอยรับใบสั่งจากเรือประมง เพื่อติดต่อไปยังนายหน้าค้าแรงงานในกรุงเทพฯ และสมุทรสาคร เพื่อให้ส่งแรงงานมายังจังหวัดสงขลา นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าว ยังเนืองแน่นไปด้วยร้านคาราโอเกะแอบแฝง ที่มีพฤติกรรมหลอกล่อให้แรงงานดื่มกินแบบติดบัญชีไว้ก่อน จากนั้นจึงบังคับให้แรงงานลงเรือประมงเพื่อใช้หนี้

นอกจากแรงงานไทยที่ถูกค้ามนุษย์ยังท่าเรือจังหวัดสงขลาแล้ว ยังปรากฏข้อมูลการนำพาและละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อีกด้วย โดยเมื่อไม่นานมานี้ ชาวบ้านในชุมชน แหล่งพระราม ซึ่งอยู่ติดกับท่าเรือประมง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ถึงพฤติกรรมของผู้บังคับใช้กฎหมายบางหน่วยงานที่กระทำการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการรีดเอาทรัพย์ และนำแรงงานส่วนหนึ่งไปส่งให้กับนายหน้าค้าแรงงานประมง

จังหวัดชลบุรี
ในจังหวัดชลบุรี มีท่าเรือประมงขนาดใหญ่ คือ ท่าเรือแสมสาร ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสัตหีบ ลักษณะเป็นท่าเรือประมงที่มีสะพานปลาของเอกชนอยู่ในบริเวณชายฝั่งหลายแห่ง เรือส่วนใหญ่เป็นเรือที่ออกหาปลาในอ่าวไทย หรือที่เรียกว่าเรือหน้าบ้าน และอาจจะต่อเนื่องไปจนถึงน่านน้ำประเทศกัมพูชาด้วย โดยมีวงรอบในการออกไปหาปลาครั้งละประมาณ 15 – 60 วัน

ลักษณะของการค้าแรงงานประมง บริเวณท่าเรือแสมสารมีความแตกต่างจากท่าเรืออื่นๆ เนื่องจากวิธีการและรูปแบบของการซื้อขายแรงงาน เป็นลักษณะให้เช่าแรงงาน โดยเรือหนึ่งลำจะมีแรงงานตั้งแต่ 5-15 คน ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะเดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยผ่านกระบวนการนายหน้า โดยแรงงานส่วนใหญ่มักถูกชวนเชื่อว่าจะพาไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงชายแดน แต่ปรากฏว่าแรงงานกลุ่มนี้กลับถูกนำมากักขังไว้บริเวณห้องเช่าตลอดแนวชายฝั่งท่าเรือแสมสาร เพื่อบังคับให้ทำงานบนเรือประมงชดใช้หนี้ค่านำพาในการเดินทาง หรือที่เรียกว่า “ค่าหัว” ในอัตราคนละ 15,000-30,000 บาท

ลักษณะของแรงงานประมงที่ท่าเรือแสมสาร จะเป็นการจ้างเหมาแรงงานผ่านนายหน้า ที่ดูแลแรงงานกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งแต่ละนายหน้าจะมีแรงงานตั้งแต่ 5-20 คน เพื่อส่งไปทำงานบนเรือประมงลำต่างๆ โดยเมื่อเรือประมงเข้าฝั่งทุกๆ 15-60 วัน นายหน้าก็จะมารับตัวแรงงานที่ท่าเรือเพื่อนำไปกักขังไว้ในห้องเช่า เพื่อรอส่งต่อไปทำงานกับเรือลำเดิมหรือเรือลำอื่นๆ

แรงงานที่เรือเข้าฝั่งแล้วหรือกำลังรอออกเรือ จะถูกกักขังอยู่ในห้องเช่า ห้องละประมาณ 2-5 คน โดยนายหน้าจะล๊อกกุญแจปิดประตูจากด้านนอก เพื่อป้องกันมิให้แรงงานหลบหนี โดยแรงงานกลุ่มนี้อาจจะต้องทำงานตั้งแต่ 6-12 เดือนขึ้นไปกว่าจะได้รับอิสรภาพ(หมดค่าหัว) โดยในรอบสามเดือนที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ถูกกักขังและบังคับใช้แรงงานที่ท่าเรือแสมสารกว่า 40 ชีวิต

จังหวัดสมุทรปราการ
จังหวัดสมุทรปราการ หรือที่เรียกติดปากกันว่า “ปากน้ำ” ถือว่าเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีปัญหาการค้ามนุษย์แรงงานประมงรุนแรง โดยในพื้นที่มีนายหน้ารายใหญ่และรายย่อย จำนวนมาก โดยเฉพาะ นาย ต. ซึ่งอดีตเคยเป็นไต้ก๋งเรือประมงมาก่อนมีลูกน้องและเครือข่ายหลายคน

บริเวณตลอดแนวถนนท้ายบ้าน มีห้องเช่า และบ้านหลายหลังที่ใช้เป็นที่กักขังแรงงานซึ่งถูกล่อลวงมาจากสนามหลวง หัวลำโพงและหมอชิต ก่อนส่งลงเรือประมง โดยเฉพาะท้ายบ้านซอย 2 และซอย 9

นอกจากนี้ตลอดแนวถนนท้ายบ้าน ยังมีร้านคาราโอเกะเกือบ 10 แห่ง ที่มีพฤติกรรมในการให้แรงงานประมงเข้าไปใช้บริการโดยคิดค่าบริการแพงเกินจริง หลังจากนั้นจะส่งแรงงานให้กับนายหน้า เพื่อส่งแรงงานลงเรือประมงใช้หนี้ค่าบริการที่เกิดขึ้นนับหมื่นบาท

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากแนวตะเข็บชายแดนว่า พื้นที่ “ปากน้ำ” ยังเป็นปลายทางของขบวนการขนแรงงานเถื่อน ลักลอบนำแรงงานชายชาวกัมพูชามาทำงานในเรือประมงอีกด้วย โดยนายหน้าอ้างกับแรงงงานว่า งานประมงเป็นงานที่ไม่ต้องทำบัตร ถ้าทำงานบนบก อาจจะถูกตำรวจจับกุมได้ แรงงานบางส่วน จึงต้องจำยอมทำงานบนเรือประมงโดยไม่สมัครใจ

จังหวัดสมุทรสาคร
จังหวัดสมุทรสาคร หรือ ที่เรียกติดปากว่า “มหาชัย” เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาการล่อลวงแรงงานประมงมาช้านาน พื้นที่นี้ มีสถานะทั้งต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของปัญหา กล่าวคือ มีขบวนการหาแรงงานประมงในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณศาลหลักเมือง และมีแห่งซ่องสุมเพื่อใช้พักคนเหยื่อก่อนส่งลงเรือประมง ตลอดจนมีท่าเรือประมงที่จะส่งคนลงเรือ

ในพื้นที่นี้ มีนายหน้ารายใหญ่ในวงการค้าแรงงานประมงหลายคน อาทิ นางส.และนาย พ. ซึ่งถือว่าเป็นต้นตำหรับของวงการค้าแรงงาน แม้ว่าจะมีการกวาดล้างและจับกุมนายหน้าในพื้นที่หลายครั้ง แต่ก็ยังพบว่า นายหน้ากลุ่มนี้ได้รับการประกันตัว และยังคงมีพฤติกรรมซ้ำซากในการซื้อขายแรงงานประมงอยู่

นอกจากนี้ยังมีนายหน้าค้าแรงงานข้ามชาติ ชื่อ นาย น. ที่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากการ ค้าแรงงานไทย หันมาค้าแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากเมื่อแรงงานข้ามชาติตกเป็นผู้เสียหายมักจะไม่แจ้งความดำเนินคดี จึงเป็นช่องว่างให้นายหน้าค้าแรงงาน ยังคงแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

สงขลา ชลบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 4 จังหวัดที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ภาคแรงงานประมงขั้นรุนแรง นับจากนี้ต้องติดตามดูว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขอย่างไรต่อไป หรือ จะมีจังหวัดอื่นที่ต้องถูกขึ้นบัญชีดำเพิ่มเติม!!!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net