Skip to main content
sharethis

ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. .... เปลี่ยนสถานะ จากที่เป็นส่วนราชการไปเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ พนง.ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ 

ที่มาภาพ เว็บไซต์ ITM – Information Technology Management - สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

3 เม.ย. 2561 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีมติหนึ่งที่น่าสนใจคือ ครม. มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้  รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม สำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย  แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 9 หมวด  และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 96 มาตรา โดย เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. กำหนดให้ปรับเปลี่ยนสถานะสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จากที่เป็นส่วนราชการไปเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

2. กำหนดให้กิจการของสถาบันไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานสถาบันต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่า ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

3. กำหนดให้สถาบันมีอำนาจในการซื้อ ขาย รับจ้าง สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ  ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน  และจำหน่าย  หรือทำนิติกรรมใด ๆ ตลอดจนถือกรรมสิทธิ์  มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ ในทรัพย์สิน  หรือมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา  หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และจำหน่ายทรัพย์สินทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร รวมทั้งรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุดหนุน  หรืออุทิศให้  และ             สถาบันสามารถกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคล หรือทรัพย์สิน การถือหุ้น  การเข้าเป็นหุ้นส่วน การลงทุนและการร่วมลงทุน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่กิจการของสถาบัน  นอกจากนี้  สามารถกำหนดค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษ   รวมทั้งสวัสดิการ สิทธิประโยชน์และประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในสถาบัน  ทั้งนี้  

ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข  ที่กำหนดในข้อบังคับของสถาบัน  ตลอดจนสามารถปกครอง ดูแล บำรุงรักษา จัดการ ใช้ และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของสถาบัน และที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ 

4. กำหนดให้รายได้ของสถาบันไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น

5. กำหนดให้บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้มาโดยการซื้อด้วย เงินรายได้ของสถาบัน  หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของสถาบัน  หรือได้มาโดยวิธีอื่น ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบัน

6. กำหนดให้ทรัพย์สินของสถาบันที่ใช้เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย  การบริการ ทางวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง รวมทั้ง การบังคับทางปกครอง และบุคคลใดจะยกอายุความหรือระยะเวลาในการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสถาบันในเรื่องทรัพย์สินของสถาบันมิได้

7. กำหนดให้มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของสถาบันกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

8. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินการดำเนินงานของสถาบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net